เตรียมตัว ก่อนเรียนสันสกฤต (บทที่ 2) หลักการเขียนอักษรเทวนาครี


คราวที่แล้วเกริ่นไปเรื่องพยัญชนะ สระ และเครื่องหมายในภาษาสันสกฤต  ที่เขียนด้วยอักษรเทวนาครี คราวนี้มาเล่าต่อถึงกฏกติกาครับ

วัดสายตาหน่อยครับ

(ขอบคุณภาพจาก http://www.opticalmarketplace.co.uk/img/fullsize/photo303.jpg)

 

1. อักษรเทวนาครีนั้น ใช้หลักการเดียวกับอักษรไทย (ความจริงต้องบอกว่า อักษรไทยใช้หลักการเดียวกับอักษรเทวนาครี เพราะเทวนาครีเกิดก่อน และมีพัฒนาการต่อมาเป็นอักษรอื่นๆ ในเอเชีย รวมทั้งอักษรไทยด้วย) กล่าวคือ มีพยัญชนะ สระ แยกกัน พยัญชนะ ตั้งแต่ ก ถึง ห หรือ ฬ (แล้วแต่ภาษาที่ใช้) โดยเขียนจากซ้ายไปขวา

 

2.หน่วยย่อยที่สุดของการเขียนคือหน่วยพยางค์ อักษรตัวเดียวถือว่าไม่มีเสียง (แต่โดยอนุโลมถือว่า มีเสียงสระอะอยู่ด้วย เช่น ก ออกเสียงว่า กะ) แต่หากไม่ต้องการให้ออกเสียงสระตามหลังพยัญชนะนั้น ก็จะมีเครื่องหมายกำกับไว้เช่น

वर्मन् วรฺมนฺ varman เครื่องหมายข้างใต้ตัว นฺ न เรียกว่า วิรามะ หรือเรียกแบบไทยๆ ว่า วิราม ก็ได้ (ถ้าเป็นอักษรโรมัน ไม่มีปัญหา ไม่มีสระ ก็ไม่มีสระ)

तत् ตตฺ tat (ออกเสียงว่า ตัต) อักษร ต ตัวหน้าถือว่ามีเสียงสระอะตามหลัง เมื่อมี ตฺ ตามมา จึงอ่านว่า ตัต

3. พยัญชนะมีสองแบบคือ พยัญชนะเดียว เช่น ก ข ค ง และพยัญชนะประสม ในกรณีที่พยัญชนะนั้นไม่มีเสียงสระตามมา แต่มีพยัญชนะอื่นตาม เช่น รตฺน रत्न (ratna) กรณีนี้ ต त กับ น न จะประสมเป็นตัวพิเศษ ตฺน त्न (rt)

ตัวพิเศษนั้น มักจะเขียนครึ่งตัว แต่บางตัวก็มีวิธีเขียนเฉพาะ โดยเฉพาะตัวที่ใช้บ่อยๆ เช่น ป प และ ร र เมื่อประสมกัน ปฺร प्र pra

 

4. เล่าไปแล้วว่าสระของเขามีน้อยกว่าของเขา แต่รูปสระนั้นมีสองแบบ คือ สระเมื่ออยู่ต้นคำ จะเป็นสระตัวเต็ม(เรียกว่าสระลอย) กับสระที่ตามหลังพยัญชนะจะเป็นครึ่งตัว (เรียกว่าสระจม) เช่น

อานนฺท ānanda (อักษรโรมัน ตัว ā จะใช้ตัวใหญ่ก็ได้ เพราะเป็นชื่อเฉพาะ) “อา” ตรงนี้จะใช้สระลอย, ส่วนสระ อะ ที่ตามหลัง น ตัวแรกนั้นใช้สระจม ดังนี้ आनन्द (สระอะ รูปจมนั้นไม่ปรากฏรูป)

อาศีรฺวาท āśīrvāda อา ใช้สระลอย, อี ใช้สระจม आशीर्वाद (शी= ศี)

 

 ตารางแสดง สระลอย และสระจม

สระลอย

โรมัน / ไทย

สระจม

อะ a

प pa ป

อา ā

पा pā ปา

อิ i

पि pi ปิ

อี ī

पी pī ปี

อุ u

पु pu ปุ

อู ū

पू pū ปู

ฤ ṛ

पृ pṛ ปฺฤ

ฤๅ ṝ

पॄ pṝ ปฺฤๅ

ฦ ḷ

पॢ pḷ ปฺฦ

ฦๅ ḹ

पॣ pḹ ปฺฦๅ

เอ e

पे pe เป

ไอ āi

पै pāi ไป

โอ o

पो po โป

เอา āu

पौ pāu เปา

 

5. สระทุกตัวที่ประสมกับพยัญชนะ   ไม่ว่าจะเขียนข้างหน้า ข้างบน ข้างล่าง หรือข้างหลัง เช่น

ते (เต, te สระเอ อยู่ข้างบน)

यो (โย, yo สระโอ อยู่ข้างหลัง

हि (หิ, hi สระอิ อยู่ข้างหน้า)

पू (ปู, pū สระอู อยู่ข้างล่าง)

ดังนั้นให้พิจารณาเสียงเป็นสำคัญ อย่าถือตำแหน่ง มิฉะนั้นอาจจะสับสนว่าพยัญชนะประสมสระใด (อีกวิธี ให้ดูอักษรโรมัน จะชัดเจนมาก เพราะสระที่ประสมกับพยัญชนะ จะตามหลังพยัญชนะเสมอ)

พยัญชนะประสมสองตัวแบบอื่นๆ ให้ดูที่นี่ครับ http://en.wikipedia.org/wiki/Devanagari#Biconsonantal_conjuncts

    

6. พยัญชนะประสมนั้น ยังมีแบบที่ประสมมากกว่าสองตัว

สามตัวที่พบบ่อย ได้แก่สฺตฺร (สฺตฺรี) ศาสฺตฺรา, สฺปฺร, หฺมฺน , क्ष्म (ลกฺษฺมนฺ)

สี่ตัว เช่น द्ध्र्य ทฺธฺรฺย นฺทฺรฺย (อินฺทฺริยะ)

โอกาสที่พบพยัญชนะประสมก็เช่น เมื่อต้องแผลงพยัญชนะกึ่งสระ(อิ อี อุ อู) เป็นพยัญชนะ พยัญชนะตัวนั้นจะไม่มีสระ ต้องประสมกับพยัญชนะตัวอื่นต่อไป

 

7.การแบ่งพยางค์

การแบ่งพยางค์ให้ถือเอาสระ, วิสรรคะ และอนุสวาระ เป็นเกณฑ์ คือ เมื่อใดมีสระ/วิสรรค/อนุสวาระ เมื่อนั้นจบหนึ่งพยางค์. ยกเว้นพยางค์สุดท้ายของคำ อาจจบด้วยพยัญชนะก็ได้ (แน่นอนว่า พยัญชนะตัวนั้นไม่มีสระตามมา) เช่น

  • เกฺษตฺราณิ => เกฺษ/ตฺรา/ณิक्षेत्राणि => क्षे/त्रा/णिkṣetrāṇi => kṣe/trā/ṇi

*โปรดสังเกต พิจารณาจากอักษรโรมันจะง่ายกว่า

  • อธฺยายะ อ/ธฺยา/ยะ   अध्यायः => अ/ध्या/यः adhyāyaḥ => a/dhyā/yaḥ

พยางค์สุดท้ายมีสระอะแล้วตามด้วยวิสรรคะแล้วจบคำ จึงนับ ยะ yaḥ เป็นหนึ่งพยางค์

  • รามาณามฺ => รา/มา/ณามฺ रामाणाम्=> रा/मा/णाम् Rāmāṇām => Rā/mā/ṇām

 

8.การเขียนภาษาสันสกฤตด้วยอักษรเทวนาครี จะไม่เว้นวรรค จนกว่าจะสิ้นสุดคำ คำในที่นี้คือ คำเดียวโดดๆ, หรือหลายคำที่อาจเชื่อมกันด้วยวิธีสนธิก็ได้ แต่เสียงกลมกลืนกัน ก็จะเขียนติดต่อกันไปเช่น किम् अर्थम् इदम् เมื่อสนธิแล้ว จะได้ किमर्थमिदं ก็จะเขียนเช่นนั้น (กิมฺ อรฺถมฺ อิทมฺ => กิมรฺถมิทํ) แต่หากเขียนด้วยอักษรโรมัน จะแยกคำตามคำเดิมเท่าที่จะทำได้ kim artham idam. ไม่นิยมเขียน kimarthamidam

 

แบบฝึก

1. ฝึกอ่านอักษรเทวนาครี

का गा ता घा กา คา ตา ฆา

पर तर कर शर ปร ตร กร ศร
प्र त्र क्र श्र ปฺร ตฺร กฺร ศฺร (ศฺ เปลี่ยนรูป เมื่อไม่มีสระตามมา)

योजन भो चोर ओदन โยชน โภ โจร โอทน

आचार्य อาจารฺย शासन ศาสน परम्पराปรํปรา

शास्त्रमारब्धम् ศาสฺตฺรมารพฺธมฺ

स्कन्धादीनारभ्य สฺกนฺธาทีนารภฺย कति กติ

कस्मादित्येवमादिषु กสฺมาทิตฺเยวมาทิษุ

चिन्तास्थानेषु จินฺตาสฺถาเนษุ

कौशल्यकरणार्थम् เกาศลฺยกรณารฺถมฺ

(รฺ เมื่ออยู่หน้าพยัญชนะอื่น จะเขียนเป็นเครื่องหมายโค้งๆ ข้างบนอักษรตัวถัดมา ในที่นี้ รฺ ตามด้วย ถ)

 

2. จงแยกพยางค์ (ตัวไหนอ่านไม่ออก ให้เทียบกับอักษรไทย)

सांकथ्यविनिश्चयानुशंसश्च । สำกถฺยวินิศฺจยานุศํสศฺจ

तत्र ตตฺร

मनस्कारानुशंसः มนสฺการานุศํสะ

शमथानुकूल्याद्विपश्यनावृद्धयानुकूल्याच्च ศมถานุกูลฺยาทฺวิปศฺยนาวฺฤทฺธยานุกูลฺยจฺจ

वेदितव्यः วิเทตวฺยะ

सर्वप्रश्नव्याकरणशक्तियोगाद्वैशारद्यप्रतिलंभतो

สรฺวปฺรศฺนวฺยากรณศกฺติโยคาทฺไวศารทฺยปฺรติลํภโต

หมายเลขบันทึก: 563818เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2014 20:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มีนาคม 2014 21:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

.. อื้อ ....ยากจังเลยค่ะ ขอบคุณค่ ^_^



ขอบคุณครับ ที่นำรถไฟมากฝาก ;)

มาแอบดูคลาส ''สันสกฤตานุบาล'' ^-^

ว่าแต่ครูอย่าลืมไปตรวจการบ้านหนูด้วยนะคะ บทที่สี่สิบสาม..อิอิ

..เฮ้อ..มิน่าเล่า..คนสมัยนี้..เลยไม่รู้ว่า..คนแก่ๆ..ทำไมถึงเป็นไปได้..อย่างนี้...ภาษามันโบราณ..อิอิ

สนุกมากกก ขอบคุณค่ะ

วันนี้ สามารถเรียนได้แค่ 6 ข้อ

เดี๋ยววันหลังมาต่อ ข้อ 7 และแบบฝึกหัดค่ะ

อย่างไรก็ตาม ใน 6 ข้อนี้ที่ทรายเรียน ทรายมีคำถาม 4 ข้อค่ะ

1. वर्मन् ที่อ่านว่า วิราม

อยากทราบว่า เสียง สระอิ มาจากไหนคะ

เพิ่งรู้ว่า ตัวสะกดที่มีเครื่องหมายกำกับมีแบบตัดเสียงออกด้วย ขอบคุณค่ะ ทรายอ่านผิดมาหลายตัวเอย หึหึหึ

2. ตัวสะกดบางคำออกเสียงท้าย บางคำไม่ออกเสียงท้ายนี่ เราต้องจำลักษณะเฉพาะตัว หรือจำเฉพาะค คะ?

เช่น ให้จำว่า त् ออกเสียง / แต่ न् ไม่ออกเสียง

หรือ ให้จำว่า คำว่า "तत्" ให้ออกเสียงตัวสะกด / แต่คำว่า "वर्मन्" ไม่ออกเสียงตัวสะกด

3. ตำแหน่ง र ที่ประสม (ไปอยู่ด้านบน) พอประสมกับคำที่มีสระ ตำแหน่งมันควรอยู่ตรงไหนคะ

จากคำที่ อ. ยกตัวอย่าง आशीर्वाद

ตัวพิมพ์ให้ र्वा อยู่ตรงกลางระหว่าง ว+า แต่ในการเขียนตรงๆ ควรวางตรงไหน หรือเขาไม่ได้ชี้เฉพาะเจาะจง

ขอบคุณมากๆค่ะ เดี๋ยวทรายมาอ่านข้อ 7 ต่อค่ะ

* คำถามมี 3 ข้อนะคะ

ตอนแรก มี 4 ข้อ

แต่พิมพ์ไปสักพัก ตอบคำถามตัวเองได้ เลยเหลือ 3 ข้อค่ะ

สวัสดีครับ

ผมเขียนไม่รัดกุม อิอิ

เครื่องหมาย วิราม คือเครื่องหมายขีดเฉียงใต้ตัวอักษร

वर्मन् คำนี้อ่านว่า วรฺมนฺ , โดยมีเครื่องหมายวิราม อยู่ใต้ตัว न ครับ

คำว่า วิรามฺ สะกดอย่างนี้ विराम

ข้อ 1 เข้าใจผิดนะครับ

อักษรทุกตัว อ่านเหมือนมีสระอะ ยกเว้นเวลาเราเขียนตารางแสดงพยัญชนะเฉยๆ ครับ

त् ก็ไม่มีเสียง ถอดออกมาเป็น ตฺ,

त ถึงจะอ่านว่า ตะ, ถอดมาเป็น ต ไม่มีจุด

तत् อ่านว่า ตัต, ถอดมาเป็น ตตฺ

ดังนั้น ตตฺ และ วรฺมนฺ เสียงท้ายเป็นตัวสะกด, จึงไม่ออกเสียงว่า ตะตะ หรือ วัรมะนะ

แต่ออกเสียงว่า ตัต และ วัรมัน, งงไหม ถ้างงถามมาอีก

(ในภาษาฮินดี เราจะไม่รู้ว่าออกเสียงท้ายยังไง เช่น ราม ออกเสียงว่า รามฺ rām ไม่ใช่ รามะ rāma, แต่ภาษาสันสกฤตกำหนดชัดเจน ว่าเสียงท้ายมีเสียงอะ หรือเป็นตัวสะกด)

ข้อ 2 ก็เข้าใจผิดเช่นกัน

รฺ ปกติจะอยู่เหนือพยัญชนะตัวถัดไป แต่ถ้ามีสระ ตามหลังพยัญชนะนั้น มักจะเขียนเหนือสระ (เพื่อความสวยงามมั้ง) เช่น สระ อา โอ เอา

Thank you.

This looks easy enough for me to follow -- though I wonder how much I can memorize ;-)

ท่าน Sr

นี้ว่าแบบย่อๆ แล้วนะครับ ;)

เข้าใจแล้วค่ะ

ขอบคุณค่ะ

เรียนแบบเงียบ ๆ เหมือนนักเรียนที่นั่งแถวหลัง ๆ ยังพยายามอยู่ค่ะ ขอบคุณอาจารย์มากค่ะ

สวัสดีค่ะ

ขอถามค่ะ

1. วิธีเขียน พยัญชนะประสม (2 ตัว, 3 ตัว, 4 ตัว) มีหลักการเขียนยังไงคะ

2. ร ที่นำหน้าพยัญชนะอีกตัว ให้เขียน พยัญชนะนั้นแล้วเติม โค้งๆ เหนือพยัญชนะนั้น เข้าใจถูกต้องไหมคะ

3. แล้ว ร ที่เป็นพยัญชนะควบกล้ำเขียนยังไงคะ

4. อักษรโรมัน ใช้ font พิมพ์ยังไงคะ ที่ให้มีขีดด้านบน มีจุดด้านล่างน่ะค่ะ ในมือถือจะพิมพ์ยังไงคะ

ขอบคุณมากค่ะ

ขอศึกษาด้วยคนหนึ่งนะครับ...ขอบคุณครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท