เสวนาคณบดี มวล. ครั้งที่ 3/2557 : เรื่องดีๆ ของสำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ


น่าชื่นชมที่ผู้บริหารและคณาจารย์ของสำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มี concern และได้ใช้ความรู้เฉพาะทางสาขาวิชาในการทำงานเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยและท้องถิ่น โดยนักศึกษาได้ร่วมเรียนรู้ไปด้วย ที่สำคัญนักศึกษาได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง

วันที่ 5 มีนาคม 2557 

การเสวนาวันนี้มีสำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบเป็นเจ้าภาพ ก่อนการประชุมเราได้ชมนิทรรศการผลงานของนักศึกษา หลากหลายรูปแบบ น่าประทับใจ

 

นิทรรศการเล็กๆ

 

ผศ.เอกพงษ์ จุลเสนีย์ คณบดีสำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มอบหมายให้อาจารย์ภริตพร แก้วแกมเสือ นำเสนอการจัดการเรียนการสอนในสาขาสถาปัตยกรรมและสาขาการออกแบบอุตสาหกรรม ในสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ มีการเชิญอาจารย์พิเศษที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งในเชิงวิชาชีพและผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่นมาสอน มีการเรียนแบบโครงงานที่ต้องมีการออกแบบและลงมือปฏิบัติจริง รวมทั้งการศึกษาดูงานนอกสถานที่ การจัดหลักสูตรนี้ต้องอาศัยความร่วมมือทางวิชาการ และความร่วมมือกับนักศึกษา

ในการเรียนเกี่ยวกับอาคาร การก่อสร้างอาคาร จะต้องเริ่มจากความต้องการการใช้ ออกแบบ space เริ่มจากเล็กๆ ไปสู่ใหญ่ พอจะจบก็ต้องทำ thesis ซึ่งจะมีการศึกษาพื้นที่จริง ความต้องการจริง แล้วมีการนำเสนอ ตัวอย่างเช่น Light weight structure workshop เริ่มจากมีสถาปนิกจากบริษัทแห่งหนึ่งมาสร้างแรงบันดาลใจ ออกแบบโครงสร้าง ทำข้อต่อของไม้แต่ละชิ้น ทดสอบความแข็งแรง เขียนแบบ เข้า shop ตัดไม้ คำนวณ... นักศึกษาทำเองทุกอย่าง

 

งาน Light Weight Structure

 

โครงการโรงแรมในเมือง

 

สถานฟื้นฟูผู้ป่วยเรื้อรัง

 

ในสาขาการออกแบบอุตสาหกรรม มี 3 กลุ่มวิชาคือ

  • การออกแบบผลิตภัณฑ์ไม้และยาง เช่น เฟอร์นิเจอร์ ของเล่น
  • การออกแบบบรรจุภัณฑ์และสื่อประชาสัมพันธ์ เช่น บรรจุภัณฑ์ ป้าย/สัญลักษณ์ สื่อ
  • การออกแบบหัตถอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์จะหลากหลาย เช่น โคมไฟ กระจูดที่กางเป็นเสื่อได้ อิฐที่ใช้ตกแต่ง ชุดเซรามิก

มีโครงการที่ร่วมมือกับ Anita Thai Silk พิมพ์ลายผ้าแล้วนำไปทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ การออกแบบเหล่านี้ต้องกำหนด mood ของงานก่อน แล้วจึงออกแบบลายผ้า การทำงานของนักศึกษาเป็นการทำงานร่วมกันทั้งรุ่นน้องรุ่นพี่

 

ผลิตภัณฑ์จากผ้าพิมพ์ลาย

 

เซรามิก

 

บรรจุภัณฑ์

 

ด้านกิจกรรมนักศึกษา มีค่ายสถาปัตย์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการโปรโมทสำนักวิชาฯ อีกส่วนเป็นกิจกรรมให้นักศึกษาได้ทำ มีการส่งประกวดผลงาน และการจัดนิทรรศการต่างๆ

การบริการวิชาการมีหลายประเภท เป็นงานบริการแก่ภายในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภายนอก เช่น เอาโจทย์จากชุมชนมาให้นักศึกษาทำงาน ปรับปรุงสินค้าอุตสาหกรรมให้เหมาะกับสภาพปัจจุบัน

การวิจัยมีหลายแนวเช่น การอนุรักษ์ การวางผังพื้น วัสดุ การถักทอ บทความวิชาการก็ทยอยทำ ส่วนด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมก็สอดแทรกอยู่ในรายวิชา บูรณาการกับการเรียนการสอน เช่น การรวบรวมลวดลายการจักสาน

มีการเผยแพร่ข้อมูลของสำนักวิชาฯ ทั้งทาง website และ facebook

อาจารย์วิรุจ ถิ่นนคร ได้นำเสนอโครงการบริการวิชาการแก่จังหวัดนครศรีธรรมราช “การปรับปรุงภูมิทัศน์ในเขตพื้นที่ CORE ZONE วัดพระธาตุวรวิหาร : การเตรียมการเพื่อเข้าสู่มรดกโลก” ซึ่งเป็นงานออกแบบเชิง landscape

วัดพระธาตุวรวิหารกำลังรอการขึ้นบัญชีพิจารณาการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น การเป็นมรดกโลกมีข้อกำหนดและหลักเกณฑ์อะไรบ้าง วัดฯ เข้ากับข้อใด UNESCO จะดูว่า “มีคุณค่าอย่างไร” “มีการดำเนินการอนุรักษ์และมาตรการควบคุมอย่างไร”

สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ รับงานส่วนหนึ่งมาทำ เอามาบูรณาการกับการเรียนการสอน นักศึกษาได้ร่วมเรียนรู้ด้วย ในการทำงานมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องต่างๆ งานออกแบบอาศัยทั้งอาจารย์ของสำนักวิชาฯ อาจารย์พิเศษ และผู้ทรงคุณวุฒิ มีคณะที่ปรึกษา ในการทำงานต้องศึกษาหลายเรื่อง เช่น สภาพภูมิศาสตร์ ผังเมือง ประตูเมือง ฯลฯ ทำกรอบพื้นที่ผังแม่บทโครงการ ดูว่าพื้นที่ภายในวัดและด้านนอกวัดมีอะไรที่ไม่เหมาะ และได้เสนอจังหวัดไป 6 พื้นที่

อาจารย์วิรุจได้นำเสนอว่าเมื่อดำเนินการ เช่น จัดกลุ่มวัตถุ/สิ่งก่อสร้าง ย้ายสิ่งที่บดบังทัศนียภาพ รักษาพื้นราบให้เป็นโทนสีเดียวกัน รักษาพื้นทราย ฯลฯ แล้วพื้นที่ต่างๆ จะมีหน้าตาเป็นอย่างไรด้วย  Animation ซึ่งเป็นผลงานของนักศึกษาปี  3 ปี 4

ต่อจากนั้นอาจารย์กิตติ เชาวนะ ได้นำเสนอผังบริเวณและแง่คิดเกี่ยวกับการพัฒนาทางกายภาพของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตามแนวทางการออกแบบผังสถาบันอุดมศึกษา (Campus Planning) ที่คำนึงถึงภารกิจหลักทุกด้านและผู้ใช้ ซึ่งระหว่างนี้เป็นการเสนอแนวคิด มีภาพสถานที่ดีๆ อื่นๆ ประกอบให้เห็น หากทำได้จริงคงจะดีมากๆ

เราได้ความรู้ เช่น ระยะการเดิน หากจะต้องเดินเกิน 5 นาที คนจะไม่เดิน ระยะทางยาวๆ ของเราต้องมีการตัดตอน... ปกติห้องสมุดควรอยู่ระหว่างหอพักและอาคารเรียน เป็นต้น ประเด็นนี้ดิฉันคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของการออกแบบต่างยุคสมัยกัน การออกแบบมหาวิทยาลัยให้มีหน้าตาแบบที่เห็นอยู่นี้ทำมานานกว่า 20 ปีแล้ว จะรื้อทำใหม่คงจะไม่ได้ แต่ควรจะพัฒนาปรับปรุงให้ดีกว่าเดิม 

น่าชื่นชมที่ผู้บริหารและคณาจารย์ของสำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มี concern และได้ใช้ความรู้เฉพาะทางสาขาวิชาในการทำงานเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยและท้องถิ่น โดยนักศึกษาได้ร่วมเรียนรู้ไปด้วย ที่สำคัญนักศึกษาได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง

วัลลา ตันตโยทัย

บันทึกเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2557

 

หมายเลขบันทึก: 563392เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2014 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มีนาคม 2014 13:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท