ร้อยเรียงงาน....ร้อยเรียงคน


ภาพประกอบจาก google.com

ย่างเข้าสู่ปีที่ 2 ของการทำงานในมหาวิทยาลัย คำว่า "อาจารย์" ก็ยังเป็นสิ่งที่ฉันไม่คุ้นเคย ย้อนกลับไปนึกถึงปีแรกที่เข้ามาทำงาน ชีวิต จิตใจฉันทุ่มไปที่หนังสือ ทุ่มไปที่เนื้อหาวิชาที่ฉันต้องสอน ความเครียด ความกังวล ที่จะต้องนำสาระสำคัญของวิชาที่มีอยู่มากมาย อัดๆๆ ลงไปในวิชาที่ฉันรับผิดชอบ สอนให้ครบ สอนให้หมด สอนให้จบ นั่นคือเป้าหมายของฉัน ณ ขณะนั้น ทว่าผลสัมฤทธิ์ของการเรียนของนักศึกษาที่ได้มานั้น ไม่ได้เป็นไปอย่างที่ฉันคาดการณ์ไว้ ฉันกลับมาทบทวนตัวเองนี่ฉันพลาดอะไรไปไหม ทำไมนักศึกษาจึงเรียนไม่รู้เรื่อง ทำไมนักศึกษาจึงทำข้อสอบไม่ได้ ฉันก็สอนแบบที่ฉันเรียนมานี่นา มันไม่น่าจะมีอะไรผิดพลาด.....

แล้วฉันก็ได้พบหนทางอีกทางหนึ่ง ฉันได้เข้าอบรมจิตตปัญญาศึกษา ณ ที่แห่งนั้นทำให้ฉันได้ทบทวนตัวเอง ได้ทบทวนอีกความหมายหนึ่งในการทำงาน ในอดีต...ฉันเริ่มต้นงานสอนของฉัน ด้วยจิตใจที่เป็นกังวลต่อความรู้ กลัวว่าฉันจะส่งต่อความรู้ไปยังผู้เรียนได้ไม่พอ สิ่งสำคัญที่สุดของฉัน ณ ตอนนั้นคือเนื้อหา ไม่ใช่ผู้เรียน สิ่งที่ฉันคิดว่าต้องทำให้ดีที่สุด คือส่งต่อความรู้ให้ครบถ้วนมากที่สุด ด้วยวิธีการเดียวกับที่ฉันได้รับมา มันเป็นช่วงเวลาที่ฉันรู้สึกอึดอัด

จิตตปัญญาศึกษาทำให้ฉันได้มองเห็นคน มองเห็นความแตกต่างของแต่ละคน มองเห็นสัมพันธภาพ มองเห็นการเรียนรู้ของแต่ละคนที่ต้องเกิดมาจากภายใน ฉันเริ่มค้นหาแนวทางในการเรียนรู้ ฉันเริ่มมองหารูปแบบ มองหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะทำให้ฉันเข้าถึงผู้เรียนได้ ความกังวลในเนื้อหาค่อยคลายลง เพราะฉันเห็นว่าการเรียนรู้ที่แท้จริงนั้นต้องมาจากภายในผู้เรียน กระบวนการ วิธีการในการนำผู้เรียนเข้าไปสู่ความรู้นั้นต่างหากเป็นเรื่องใหญ่ ภาคการศึกษาที่ 2 ในการสอนของฉัน จึงเป็นเหมือนห้องทดลองเล็กๆ ฉันหันกลับมาเรียนรู้ผู้เรียน ประยุกต์เอาวิธีการการเรียนการสอนแบบต่างๆ เข้ามาใช้ พยายามจดบันทึก(การทดลอง)นี้ไว้ ฉันสนุกกับงานขึ้นมาอย่างมาก สัมพันธภาพระหว่างฉันกับผู้เรียนเกิดขึ้นมา ร้อยเรียงเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ และฉันก็เรียนรู้ว่าไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ไม่มีอะไรที่จะเสียประโยชน์ การก้าวย่างในงานของฉัน จะต้องถูกพัฒนาเป็นวงจรอย่างต่อเนื่่อง เป็นการเรียนรู้ที่จะไม่สิ้นสุด

จนถึงขณะที่บันทึกอยู่นี้ ฉันรู้สึกขอบคุณ รู้สึกดีกับประสบการณ์ที่ผ่านมา แม้ว่าจะไม่สมบูรณ์ แต่ก็คืออีกหนึ่่งสิ่งในการเรียนรู้

หมายเลขบันทึก: 562792เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2014 14:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2014 14:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อาจารย์ พระพรหมคุณาภรณ์ ท่านแปลว่า ผู้ที่ศิษย์พึงประพฤติโดยเอื้อเฟื้อ ครับ

อาจารย์คะ สอนด้วยจิตที่มีความกรุณากับผู้เรียน เค้าต้องได้รับวิชาการและสิ่งดีๆจากอาจารย์แน่นอนค่ะ

ได้อ่านบันทึกแล้ว ดีมากเลยครับ ตรงกับความคิดของผมซึ่งผมพยายามสื่อให้ครูอาจารย์ได้เข้าใจว่าการเป็นครูที่ดี คือการทำให้ลูกศิษย์เกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ครับ คนทุกคนมีความสามารถในการเรียนรู้ ดังนั้นครูจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจกับลูกศิษย์และใช้วิธีการต่างๆที่เหมาะสมกับศิษย์แต่ละคนเพื่อให้เขาเกิดแรงบันดาลใจที่จะเรียนและค้นคว้าด้วยตัวเขาเอง  ไม่ใช่แค่จำและฟังที่ครูสอนในห้องเรียนเท่านั้น ไม่มีใครที่จะสามารถยัดเยียนความรู้ให้กับใครได้ถ้าตัวผู้รับไม่ให้ความสนใจ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท