ไก่เทคนิคเลือกไก่ให้ปลอดภัย


เลือกไก่ให้ปลอดภัย

 

 

 นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผอ.ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ บอกว่า

     ไก่เป็นเนื้อสัตว์ที่ถูกบริโภคมากเป็นอันดับต้นจึงมีสิ่งที่ควรระวังในเรื่องสุขภาพไว้พอสมควร ในต่างประเทศได้มีการรณรงค์เรื่องนี้มานานมาก อย่างในสหรัฐอเมริกา นพ.สจ๊วต บี. เลวี เป็นผู้ศึกษาเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะในไก่มานานหลายปี คุณหมอเลวีได้ประมาณว่ามีการใช้ยาถึง 15-17 ล้านปอนด์ต่อปี

ส่วนในบ้านเราต้องขอบคุณคุณหมอ และวงการแพทย์ที่ได้มีการพูดคุยเสวนาในเรื่องฮอร์โมนในเด็กกับเรื่องไก่ในเวทีต่าง ๆ มาโดยตลอดในฐานะที่ตรวจคนไข้ และได้ไปประชุมในวงวิชาการหลายที่ก็มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องไก่นี้มามาก ตัวผมเองก็ได้พูดคุยกับทางผู้ผลิตไก่

ทำให้ได้มุมมองครบทั้ง 3 มิติของไก่ คือในแง่ของการแพทย์ ธุรกิจและสุขภาพของผู้บริโภค

ตัวผมเองก็เป็นผู้หนึ่งซึ่งบริโภคไก่ และเห็นลูกหลานคนไทยของเรากินไก่กันมาก จึงอยากฝากข้อคิดเรื่องสุขภาพในการกินไก่ไว้เพื่อให้การบริโภคไก่ครั้งต่อ ๆ ไปของท่านกินได้อย่างอร่อยและ “สบายใจ” ในเรื่องไก่มีสิ่งที่ต้องทราบก็คือ เนื้อไก่ต่อ 1 ขีดในตลาดมีส่วนประกอบหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

- น้ำ

- โปรตีน

- ไขมัน

- แคลเซียม ธาตุเหล็กและโซเดียม

- วิตามิน เช่น วิตามินเอ วิตามินบี ในเนื้อไก่ส่วนใหญ่ที่เราห่วงคือโปรตีนกับไขมัน

 ดังนั้นสิ่งสำคัญในการรับประทานไก่ก็ คือคอยปรับสมดุลไม่ให้สารอาหารเหล่านี้เกิน เช่น ถ้ามื้อนี้กินปีกไก่กับน่องไก่ที่หนังเยอะแล้ว มื้อหน้าก็ควรรับประทานส่วนอกบ้าง อย่างนี้ท่านก็จะรับประทานไก่ได้อย่างสบายใจ แต่นี่เป็นแค่ภายนอกที่พอจะมองเห็นได้ ทว่าไก่ยังมีสิ่งที่มองไม่เห็นอีกเป็นสิ่งที่อยู่ในใจคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านเกี่ยวกับสารเคมีในไก่

ในวันนี้จึงขอนำเทคนิคการ “ระวัง” ในเรื่องไก่ให้ปลอดภัยก่อนรับประทาน

ซึ่งมีเทคนิคการระวังก่อนเปิบและสิ่งที่ท่านต้องถามหากไม่แน่ใจดังต่อไปนี้

 

1. ระวังยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อที่ใช้ในไก่ ขอให้เลือกฟาร์มที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง เพราะยาปฏิชีวนะที่ใช้ฆ่าเชื้อนี้มีมากชนิดที่ตกค้างอยู่ในตัวไก่ และผ่านมาที่ผู้บริโภคได้ ส่วนหนึ่งทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพไตและตับ ส่วนหนึ่งทำให้เกิดการ “ดื้อยา” ขึ้นมาได้หากบริโภคบ่อยเกินไป เคยมีกรณีที่เป็นข่าวในประเทศมาเลเซียว่ากระทรวงสาธารณสุขตรวจพบยาปฏิชีวนะในเนื้อไก่คือยา “ไนโตรฟูแรน” ที่ทางสำนักข่าวบีบีซีรายงานว่าเกี่ยวข้องกับการเกิด “มะเร็ง” ด้วย

 

2. ระวังจุดเลือด บอกถึงความไม่สด ให้ดูจุดเลือดแดงที่เนื้อไก่ ทั้งอก ตะโพก น่องและตามตัว เทคนิคง่าย ๆ คือ ระหว่างที่เลือกไก่ด้วยคีมเหล็กที่ผู้ขายจัดไว้ให้ ก็คอยสังเกตตอนพลิกชิ้นไก่ให้ดีว่ามี “จุดเลือด” คล้ายรอยเลือดออก เก่า ๆ หรือไม่ รวมถึงเนื้อไก่ดูชอกช้ำไม่สดเท่าที่ควรหรือเปล่า

 

3. ระวังอย่าบ่อยเกิน อาหารทุกชนิดไม่ควรรับประทานบ่อยเกินไป เพราะถ้ามีสารตกค้างอย่างยาปฏิชีวนะหรือฮอร์โมนท่านอาจเป็นคนเดียวที่ได้รับมากที่สุด หากท่านเป็นผู้นิยมรับประทานไก่ก็ขอให้ “สลับ” เป็นเนื้อขาวอย่างอื่นบ้าง เช่น ปลา กุ้ง ปลาหมึกหรือเต้าหู้ก็ยังได้ หากต้องการกินไก่บ่อยก็ขอให้ลดหนัง ลดเครื่องในและเลือกกินอกไก่

 

4. ระวังเรื่องปรุง การปรุงไก่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สุขภาพไม่ดีได้ บางทีไม่ได้เป็นเพราะไก่ แต่เป็นเพราะการปรุงของเรานี่เอง เช่น ทำไก่ชุบแป้งทอดน้ำมันท่วมทุกวัน กินไก่ย่างหนังกรอบเกรียมหรือปรุงไก่จนรสจัดไปทำให้ได้ โซเดียม ไขมัน และ น้ำตาล ในปริมาณมหาศาลเกินที่ต้องการต่อวัน

 

5. ระวังเรื่องหนังไก่ ไก่เป็นเนื้อสุขภาพจริง แต่สิ่งที่ต้องคอยดูคือ “หนังไก่” เป็นส่วนที่อร่อย ใคร ๆ ก็ชอบรวมถึงตัวผม แต่เป็นส่วนที่ไขมันเยอะที่สุด ส่วนที่มีหนังมากได้แก่ ปีก คอและสะโพก สำหรับท่านที่มีไขมันในเลือดสูงควรระวังไว้ให้ดี ถ้าเอาให้ปลอดภัยคือ “ติดหนังบ้าง” ยังพอไหว

 

การเลือกซื้อไก่ในต่างประเทศนั้นเขาละเอียดถี่ถ้วนมาก มีผู้แนะข้อสังเกตไว้ว่าให้เลือกไก่ที่เลี้ยงในฟาร์มเปิดและเลี้ยงแบบธรรมชาติปราศจากสารเคมีเพราะจะทำให้ได้ปริมาณคอเลสเตอรอลต่ำในขณะที่ได้วิตามินจากเนื้อไก่เต็มที่และที่สำคัญคือ มีไขมันดีโอเมก้าสามสูงกว่าไก่ฟาร์มทั่วไป สุดท้ายนี้ขอฝากข้อสรุปง่าย ๆ ในเรื่องการกินไก่ให้ปลอดภัยได้สุขภาพดีไว้ 3 ประการได้แก่ ไม่ทานบ่อยเกินไป เลือกวิธีปรุงให้ดี เช่น ไก่อบ ไก่ต้ม, ไก่ตุ๋น, ไก่ย่างไม่เกรียมจัด และท้ายสุดคือเลือกไก่ที่ไม่มียาปฏิชีวนะปนเปื้อน

 

ขอบคุณ การเลือกไก่ให้ดีต่อสุขภาพโดยนพ.กฤษดา ศิรามพุช

            จากหนังสือพืมพ์เดลินิวส์ นวพรรษ บุญชาญ รายงาน

 

 

อาหารที่ทำด้วยไก่ที่ปรุงเองที่บ้านก็พอจะระวังได้ แต่ถ้าเป็นอาหารที่ซื้อก็ระวังไม่ได้ อาหารที่จำหน่ายทำด้วยไก่มีมากๆ ไม่ว่าจะร้านเล็กร้านใหญ่ร้านดังๆมีชื่อก็ทำด้วยไก่ เมื่อถูกปรุงแล้วเรามองไม่เห็นบางเรื่องที่ต้องระวัง  ความเสี่ยงของผู้ที่ไม่ได้ทำอาหารเองก็ยังมีสูงนะคะ  ไก่ทอดไก่ย่าง ฯ พอสุกแล้วก็เหมือนๆกันหมด ยิ่งมีทั้งแป้งหุ้ม หนังหุ้มเนื้อไก่มันไก่ก็ยิ่งอร่อยใช่ไหม ปฏิบัติตามคุณหมอบอกแนะนำยาก ยิ่งเป็นอาหารยอดฮิตของเด็กๆ ผู้ผลิตอาหารไก่ขายทุกรูปแบบควรทราบสิ่งที่ไม่ดีของไก่ก่อนปรุงมาเป็นอาหารขายให้ผู้ซื้อ สำคัญไม่น้อยทีเดียวแล้วมีสักกี่ผู้ขายที่จะทำเพื่อผู้ซื้อบ้าง แล้วจะมีสักกี่คนที่จะงดอาหารไก่ เพียงแค่มองน้ำมันที่นำมาทอดไก่รวมกับไขมันไก่ หนังไก่ บางร้านก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคได้อีกเช่นกัน พึ่งระวังอาหารที่มีไก่กันดีๆนะคะ

 

ด้วยความปรารถนาดี กานดา แสนมณี

วันเสาร์ที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ ๒๕๕๗

 

หมายเลขบันทึก: 561736เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2014 16:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2014 16:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

มีเทคนิคน่าสนใจ ผมพยายามลดไก่ของชอบเท่าที่จะทำได้ ขอบคุณมากครับผม

ไก่ทอด ของโปรดครับ ช่วงนี้พยายามลดๆ ลง โดยเฉพาะ ทานหนังไก่น้อยลง

ขอบคุณนะคะ บันทึกนี้ดีมากค่ะ

เคยดูหนังสารคดีการเลี้ยงไก่ในฟาร์มปิดสงสารไก่มากๆค่ะ...ดูแล้วไม่อยากกินเลย แต่หมอก็แนะนำให้กิน ดีกว่ากินเนื้อหมูเพราะมี cholesterol น้อยกว่า

ขอบคุณความรู้เรื่องไก่ ของพี่กานดาค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท