ขออภัย


"ขออภัย"

การขออภัยเป็นกิริยา และเป็นการภาวนาอีกแบบหนึ่ง เป็นทักษะที่ต้องตั้งใจจะฝึกฝนและจะมีประโยชน์มาก อาจจะทำได้ยากกว่าการขอบคุณเพราะเหตุผลบางประการ แต่คุณานุประโยชน์นั้นเป็นอนันต์

"อภัย" มาจาก อ (ไม่) กับ ภย (กลัว หรือทำให้กลัว) อภัยคือการทำให้ไม่กลัว และมีนัยยะว่าผู้ให้อภัยก็จะต้องไม่กลัวด้วย เมื่อไรก็ตามที่มีบริบทที่สร้างความกลัวขึ้น เมื่อนั้นการขออภัยจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จิตอันครองสติได้สามารถที่จะ ฝึกฝนและเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองได้

@จะขออภัย ต้องเห็นทุกข์ของผู้อื่นก่อน
คนที่จะเอ่ยคำขออภัย หรือสามารถที่จะคิดขออภัย จะต้องมีทักษะในการ "ทบทวน" มองชีวิตตนเอง และ "เห็น" ความสัมพันธ์ของการดำเนินชีวิตตนเองกับหนทางชีวิตของผู้อื่น การเห็น "ความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยง (interconnectedness)" นี้เป็นเงื่อนไขในการเข้าใจวงจรแห่งการกำเนิด (dependent origination หรือ ปฏิจจสมุปบาท) เมื่อเราพบว่าการกระทำของเรา ทั้งกายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรม ทำให้ผู้อื่นเกิดทุกข์ เกิดความกลัว เรานำมาทบทวนแล้วเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ จึงไปขออภัย เพื่อให้คนๆนั้นปราศจากทุกข์ ปราศจากความกลัวอีกต่อไป

@จะขออภัย ต้องวิพากษ์ความพร่องของตนเองได้
อุปสรรคอย่างหนึ่งต่อการขออภัย คือการมองเห็นความ "บกพร่อง" ของตนเองก่อน จะโดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็แล้วแต่ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราจะไม่ทำอะไรถ้าหากเรา "มองไม่เห็น หรือไม่ยอมรับ" เราไม่ควรจะกลัวการเห็นความพร่องนี้ และถือเป็นโอกาสอันนี้ที่จะสำนึก เพื่อที่เราจะไม่ทำผิดซ้ำอีก ตรงกันข้ามถ้าหากเรากลัวที่จะยอมรับว่าเรานี้ยังบกพร่อง เรานี้ยังมีเรื่องไม่งดงาม ไม่ดีงามอยู่ และทำเสมือนว่าเราสมบูรณ์แล้ว ดีแล้ว เราก็จะยังคงทำผิดซ้ำๆ ความพร่องนั้นจะมีแต่ลึกมากขึ้น แผลใหญ่ขึ้น และลุกลามมากขึ้น

@จะขออภัย เป็นการฝึกทักษะของจิตกรุณา
การเห็นความทุกข์ ความกลัวของผู้อื่นเป็นการหมายรู้ แต่จะให้เกิดการกระทำ เราจะต้องมีทัศนะที่ "ต้องการให้ผู้อื่นบรรเทาทุกข์ บรรเทาความกลัว" ขึ้นมาก่อน เราจึงจะเกิดกิริยา และจิตกรุณานี้เองที่เป็นรากฐานของ "จิตสาธารณะ หรือจิตอาสา" อันเป็นกระดูกสันหลังของสังคมแห่งการเยียวยา

@จะขออภัย เป็นการฝึกมโนทัศนะแห่งการรักที่จะเรียน
การขออภัยที่สมบูรณ์แบบ ไม่เพียงเป็นการเยียวยาเท่านั้น หากเป็นโอกาสทองที่จะเกิดการเรียนรู้ พัฒนาจิตใจ ภาวนาให้เห็นความสัมพันธ์และสาเหตุที่มาของทุกข์ ของกลัว ของเกลียด ของสุข ของสันติ เมื่อเราไม่กลัวที่จะเห็นความพร่องของตัวเอง เราก็จะเกิดความต้องการแก้ไข และนำเอาบทเรียนเหล่านี้มาพัฒนาตนเอง

@จะขออภัย เป็นการอยู่กับความกลัว และบ่มเพาะความกล้าหาญ
คนปกติจะกลัวที่จะพบความน่าเกลียด ความบกพร่องของตนเอง แต่เมื่อเราสามารถเห็น และอยู่กับความกลัวนี้ได้นานพอ ก้าวข้ามความรู้สึกกลัวนี้ไปได้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดนิยามแห่งความกล้าหาญ ไม่ปฏิเสธความจริง เกิดเป็นครรลองแห่งชีวิตที่มีสัจจะเป็นสรณะ

คนที่กระทำผิดต่อผู้อื่นก็ดี ต่อตนเองก็ดี ต่อครอบครัว ต่อชาติบ้านเมือง เป็นเพราะขาดความกล้าหาญที่จะมองเห็นความบกพร่องของตนเอง ยิ่งกลัว ยิ่งกลบเกลื่อน เสแสร้งว่าไม่ได้บกพร่อง เมินเฉยต่อความทุกข์ของผู้ที่ถูกกระทำ ชาด้านต่อความรู้สึกของคนรอบข้าง เมื่อขออภัยไม่เป็น จะเกิดเป็นวิถีชีวิตที่เต็มไปด้วย "ภย หรือ ภัย" มองเห็นสิ่งต่างๆคอยจะคุกคามตนเองตลอดเวลา

สุดท้าย ความกลัวทำให้เกิดความเกลียดชัง ความเกลียดทำให้เกิดโทสะ และโทสะทำให้เกิดความทุกข์

เราจงฝึกทักษะการขออภัย ให้ทักษะนี้มาเป็นอาภรณ์ประดับชีวิตของเรา เป็นชีวิตที่มีสัจจะ และปราศจากความกลัวกันเถิด

สกล สิงหะ
เขียนที่หน่วยชีวันตาภิบาล โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
๙ นาฬิกา ๔๐ นาที วันจันทร์ที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
วันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะเส็ง

คำสำคัญ (Tags): #การขออภัย
หมายเลขบันทึก: 561317เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2014 09:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2014 09:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับ

-ขออภัย...

-มีความหมายนะครับ..

-ขอบคุณความหมายดีๆ ที่มอบให้นะครับ..

ขออภัยปฏิรูปก่อนได้ไหม ขจัดขยะออกไปบ้าง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท