ปันปัญญา (๑)  :  ต่อเทียน  / pay it forward


 

เมื่อ ๗ ปีที่แล้ว...

ดิฉันได้ไปเริ่มต้นชีวิตการเป็นวิทยากรกระบวนการจัดการความรู้ฝึกหัด (KM Internship program) ที่สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) เป็นเวลา ๒ เดือนเต็ม

 

เมื่อย้อนกลับไปอ่านบันทึกที่เคยเขียนไว้ใน blog ก็ได้พบว่า วันจันทร์ที่ ๓ กรกฎาคม ๔๙ เป็นวันทำงานวันแรก  ภารกิจในวันแรกคือการติดตามไปฟังอาจารย์วิจารณ์บรรยายในหัวข้อ “การบริหารองค์ความรู้” ที่สถาบันจิตวิทยาความมั่นคง ผู้เข้าฟังคือนักศึกษาหลักสูตรการปฏิบัติการจิตวิทยาฝ่ายอำนวยการ รุ่นที่ ๙๙  สำหรับนายทหาร นายตำรวจ ข้าราชการพลเรือน พนักงานรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน  เนื้อหาที่สำคัญคือความเกี่ยวข้องกันของความมั่นคงกับการจัดการความรู้  ที่ให้ความเข้าใจชนิด "พอได้แนว" แต่ยังไม่ได้ความเข้าใจอย่างแท้จริงเพราะการจัดการความรู้เป็นเรื่องของการปฏิบัติ และความเข้าใจนั้นจะเกิดขึ้นได้กับผู้ที่ลงมือปฏิบัติเท่านั้น ซึ่งในที่สุดแล้วก็จะทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดสุขจากการทำงานโดยใช้ความรู้เป็นฐานกันทุกคน http://www.gotoknow.org/posts/37282

 

เมื่อ ๗ วันที่แล้ว...

ดิฉันรับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการสร้างความเข้าใจให้กับ คุณครูกิ๊ฟ – ชุติยา ศรีเศรษฐการ  ที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องงานจัดการความรู้ที่โรงเรียนเพลินพัฒนาเป็นเวลา ๑ สัปดาห์ จำได้ว่าตอนที่คุณครูแจ๊ด - พัชนา มหพันธ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนปัญญาประทีป ขอความร่วมมือมาเมื่อปลายปีที่แล้ว  ดิฉันตอบตกลงในทันที่ และยังได้เล่าให้ครูกิ๊ฟฟังว่าตัวเองก็ได้เรียนรู้วิชาจัดการความรู้จากการไปฝึกปฏิบัติที่ สคส. มาเหมือนกัน  ดังนั้นเมื่อมีโอกาสก็อยากจะต่อเทียนส่องแสงสว่างในเรื่องงานจัดการความรู้ให้กับโรงเรียนอื่นๆ ต่อไปอีก 

 

ในวันที่ไปเรียนรู้จาก สคส. ดิฉันต้องเรียนรู้การจัดการความรู้ข้ามบริบท เพราะไม่มีโรงเรียนที่ทำงานจัดการความรู้เต็มรูปแบบให้เข้าไปศึกษาเรียนรู้  

 

มาถึงวันนี้...

ครูกิ๊ฟสามารถเริ่มต้นเรียนรู้งานจัดการความรู้ จากการสร้างเนื้อสร้างตัวในบริบทของโรงเรียนได้จากหนังสือ โรงเรียนจัดการความรู้ ถอดบทเรียนการจัดการความรู้ของโรงเรียนเพลินพัฒนา ( สคส.สนับสนุนการจัดพิมพ์เผยแพร่) และ เรียนรู้เรื่องของ ทักษะการเรียนรูแหงศตวรรษที่  ๒๑  :   เพลินพัฒนาโมเดล  ทั้งนักเรียนและครูพัฒนาทักษะการเรียนรูดวยตนเอง   ที่นำเสนอวิธีการสร้าง “ชุมชนเรียนรู้”ของโรงเรียนเพลินพัฒนา ( มสส.สนับสนุนการจัดพิมพ์เผยแพร่) ได้จากการอ่านบันทึกประสบการณ์ย้อนหลัง

 

 

 

จากนี้...คือบันทึกการเรียนรู้บางตอนที่เกิดขึ้นกับครูกิ๊ฟใน ๑ สัปดาห์ (๒๗ - ๓๑ ม.ค.๕๗) ที่ครูปัญญาประทีปได้มาฝึกงานแบบเพลินๆ

 

 

ฝึกงานวันแรกแบบเพลินๆ

 

เวลา ๙.๐๐ น. เริ่มด้วยการแนะนำตัว ทำความรู้จักกับพี่ๆในฝ่ายวิชาการ ทุกคนทำงานด้วยความตั้งใจ ไม่ค่อยมีใครว่าง นั่งเล่น เบี่ยงเบนความสนใจไปหาสิ่งบันเทิงหรือของกินแม้คนเดียว ต่างคนต่างมุ่งหน้าทำงานของตนด้วยความสงบ จะมีเสียงบ้างก็ต่อเมื่อเรื่องงานส่วนรวมที่จรเข้ามา...  สังเกตเห็นแต่ความผ่อนคลาย ไม่มีใครเคร่งเครียดเลย งานเขาดึงดูดความสนใจให้จดจ่อ  อยากเรียนรู้ตลอดเวลาเลยหรอเนี่ย เป็นไปได้ยังไง !

 

พี่ใหม่มอบหมายให้ฝึกการบันทึก KM จากงาน PLC ของกลุ่มโรงเรียนทอสี รุ่งอรุณ เพลินพัฒนา และปัญญาประทีป ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๓ ม.ค. ๕๗ ที่ผ่านมา และเล่าให้ฟังว่า งานพี่ใหม่ทำอะไรบ้างแล้วแต่ละวันมีการทำ KM กันอย่างไรในโรงเรียน พี่ใหม่บอกว่าคนทำ KM นั้นมีหน้าที่สร้างความรู้ภาคปฏิบัติ และต้องมีชุดความรู้และความเข้าใจ ถึงจะเห็นว่าสิ่งใดดี ควรจัดเก็บ และวิธีที่จะเข้าใจนั้นต้องลงมือปฏิบัติ แต่หากจะจัดให้มีชุดความรู้ทางการศึกษาทั้งๆ ที่ไม่ได้เรียนมาหรือฝึกวิธีคิดก่อนเขียนนั้น ให้ฝึกจากการฟังเทศน์พระอาจารย์ชยสาโร พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายสงฆ์ของโรงเรียนปัญญาประทีปก่อน เพื่อจะได้พัฒนาแนวคิดทางการศึกษาปัญญาทางธรรม และวิธีการใช้ภาษาไปพร้อมกัน

 

ต่อจากนั้นพี่ใหม่ให้ศึกษาตัวอย่างการเขียนบันทึก KM ของพี่ใหม่จากการดูบันทึกก่อนหน้าที่ครูเขียนมาส่ง และบันทึกหลังจากที่พี่ใหม่ได้ทำการหุงให้สุกแล้ว เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจภาพที่กว้างและลึกขึ้น ซึ่งการเล่าเรื่องในบริบทของ KM นั้นจะต้องทำให้ผู้อ่านทราบความเป็นมาของงาน เห็นภาพรวมรอบๆ ภาพ ก่อนที่จะนำเสนอการเจาะลึกที่ภาพนั้นได้ รวมถึงต้องเล่าให้เห็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนด้วย

 

คนทำ KM นอกจากเป็นนักเขียนเล่าเรื่องมาแบ่งปันใครๆแล้ว ยังจะต้องมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับครูและเด็กๆด้วย  เพื่อที่จะเข้าถึง รับรู้เรื่องราว และสิ่งดีๆได้ตลอดเวลา  ฉะนั้นงาน KM จึงไม่สามารถคาดเดาได้ว่างานเราจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่  แต่ต้องเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมในการเก็บเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ในการเก็บเรื่องราวดีๆ แบบ KM นั้น ให้บันทึกแบบเล่าเรื่อง โดยที่มีเราซึ่งเป็นผู้เล่าอยู่ในสถานการณ์การปฏิบัติจริง แล้วเล่าสิ่งที่เราคิด รู้สึก สิ่งได้เรียนรู้ เล่าถึงผลที่เกิดขึ้น สรุปเป็นสิ่งที่เราจะนำไปประยุกต์ใช้ และอธิบายให้เห็นชัดเจนว่าทำอย่างไร อะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จ

 

โดยปกติ พี่ใหม่มักก็จะเดินเข้าไปชมผลงานเด็ก  ดูการเรียนการสอนในชั้นเรียน หรืออยู่ในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของกลุ่มครู เพื่อสังเกต เก็บชุดความรู้ที่เราเห็นว่าควรค่าแก่การนำไปเผยแพร่หรือจัดการให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นต่อไป

 

นอกจากนั้นการได้แลกเปลี่ยนกับพี่ปาด รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ  หัวหน้าช่วงชั้น หัวหน้าหน่วยวิชา ที่รับรู้เรื่องราวการจัดการเรียนการสอนของคุณครูมาตลอดนั้นก็เป็นผลดีกับการ KM มาก คือ เมื่อได้รับรู้ว่ามีอะไรดีๆ เกิดขึ้นกับกระบวนการเรียนรู้ ก็จะรู้ว่าน่าจะไปทำบันทึก KM เรื่องใด ซึ่งจะทำให้มีการพัฒนา สานต่อ ฉายไฟไปยังสิ่งดีๆ นั้นได้ง่ายยิ่งขึ้น

 

 

หมายเลขบันทึก: 560855เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2014 17:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2014 15:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท