สมองฝ่ายสูงกับสมองฝ่ายต่ำ แนวพุทธกับแนววิทยาศาสตร์ทางสมอง


การฝึกสมองส่วนอยู่รอด ง่ายกว่าการฝึกสมองส่วนอยู่ดี การเป็นคนดีมีคุณค่า ต้องฝึกคุณสมบัติต่างๆ ของความเป็นคนดีที่เรารู้กันทั่วไป โดยเฉพาะส่วนที่มีความเสียสละ เห็นแก่ผู้อื่นและส่วนรวม และที่สำคัญที่สุด สามารถควบคุมอารมณ์ที่เป็นฝ่ายต่ำ เพื่ออยู่รอด ในทางวิทยาศาสตร์สมองบอกว่า ต้องฝึกให้การควบคุมสมองจากบนลงล่าง (top down control) สามารถกำกับพลังสื่อประสาทจากล่างขึ้นบน (bottom up control) ได้

 

          เพราะหลังผ่าตัดต้อกระจก ต้องระงับการใช้สายตา ๑ วัน ในวันที่ ๒๔ ธ.ค. ๕๖    ผมจึงเข้าไปฟังธรรมบรรยายของพระธรรมปิฎกที่ www.watyanaves.net/th/album_detail/dhamma-and-education    เลือกเรื่องที่ ๒ ทางแยกแห่งชีวิต ที่เริ่มจากอายตนะ (๑. สายความรู้สึก  ๒. สายความรู้)   ซึ่งเข้าไปฟังโดยตรงได้ที่ www.watyannaves.net/th/clip_detail/252    ซึ่งเป็นธรรมกถาแก่พระนวกะ รุ่นพรรษา ๒๕๓๙ ณ วัดญาณเวศกวัน   ทำให้ผมตระหนักในเรื่องการเรียนรู้ ๒ ขั้ว แนวพุทธ    เปรียบเทียบกับแนววิทยาศาสตร์ทางสมอง    ที่เขียนไว้ในหนังสือ Focus : The Hidden Driver of Excellence  เขียนโดย Daniel Goleman ผู้เขียนหนังสือโด่งดังเรื่อง Emotional Intelligence   

          ผมได้เรียนรู้เรื่องสมองฝ่ายต่ำ กับสมองฝ่ายสูง    ทั้งที่มองจากแนวคิดด้านพุทธศาสนา    กับที่มองจากวิทยาศาสตร์ทางสมอง (neuroscience)    ที่มีความคล้ายคลึงกันมาก 

          ผมขอตีความความรู้จากทั้ง ๒ แหล่ง    ว่ามนุษย์เราต้องมีชีวิตอยู่ได้ - อยู่รอด ต้องอาศัยสมอง ฝ่ายเพื่ออยู่รอด ที่ผมขอเรียกว่าสมองฝ่ายต่ำ    ซึ่งที่จริงแล้วมีคุณค่ามากต่อการดำรงชีวิต   ถ้าไม่มีสมองส่วนนี้ หรือมีแต่ไม่ทำงาน คนเราจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้   แต่หากจะให้ดำรงชีวิตที่ดี เราต้องศึกษาหรือเรียนรู้ เพื่อฝึกสมองฝ่ายสูง    

          พระธรรมปิฎกท่านเรียกสมอง ๒ ส่วนนี้ว่า สมองเพื่ออยู่รอด  กับสมองส่วนเพื่ออยู่ดี

          ในทางวิทยาศาสตร์สมอง   สมองเพื่ออยู่รอดอยู่ลึกเข้าไปตรงกลางสมอง    สมองส่วนอยู่ดี อยู่ที่ผิวส่วนหน้า (ตรงหน้าผาก) หรืออาจเรียกว่าอยู่ข้างบน  

          ตอนเป็นทารก คนเรามีแต่สมองเพื่ออยู่รอดทำงาน   สื่อสารออกไปเป็นเสียงร้อง และพฤติกรรมต่างๆ กระตุ้นสมองส่วนนี้ของพ่อแม่ (อาจเรียกว่าสมองส่วนอารมณ์)    ทำให้พ่อแม่เสียสละมากมายเพื่อเลี้ยงลูกน้อย จนเติบใหญ่

          หลังคลอด สมองของเด็กจะเรียนรู้มากมาย    มีพัฒนาการของทั้งสมอง และเชื่อมโยงกับพัฒนาการ ส่วนอื่นๆ ของร่างกาย    สมองส่วนเพื่ออยู่รอดก็พัฒนา    สมองเพื่ออยู่ดีก็พัฒนา

          การฝึกสมองส่วนอยู่รอด ง่ายกว่าการฝึกสมองส่วนอยู่ดี    การเป็นคนดีมีคุณค่า ต้องฝึกคุณสมบัติต่างๆ ของความเป็นคนดีที่เรารู้กันทั่วไป    โดยเฉพาะส่วนที่มีความเสียสละ เห็นแก่ผู้อื่นและส่วนรวม    และที่สำคัญที่สุด สามารถควบคุมอารมณ์ที่เป็นฝ่ายต่ำ เพื่ออยู่รอด    ในทางวิทยาศาสตร์สมองบอกว่า ต้องฝึกให้การควบคุมสมองจากบนลงล่าง (top down control)    สามารถกำกับพลังสื่อประสาทจากล่างขึ้นบน (bottom up control) ได้ 

          ในภาษาไทยเราเรียกว่า ความยับยั้งชั่งใจ    สมองส่วนบนกำกับความยับยั้งชั่งใจ    สมองส่วนล่างกำกับความพลุ่งอารมณ์    ที่ตามปกติในทางชีววิทยาสมองส่วนล่างทำงานเร็วมาก    เพื่อให้รอดพ้นจากอันตรายรอบด้านสมัยมนุษย์ยังอยู่ในยุคอยู่ในป่า นอนในถ้ำ    มีสัตว์ร้ายรอบด้าน  รวมทั้งอันตรายจากมนุษย์ด้วยกันเอง    แต่ในสังคมมนุษย์ยุคปัจจุบัน ถ้าไม่ฝึกให้สมองส่วนบนกำกับให้แข็งแรง    เราก็จะเป็นคนอารมณ์ร้อน ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่    มีพฤติกรรมต่างๆ แบบคนที่กำกับอารมณ์ของตนเองไม่ได้

          สมองส่วนที่กำกับความยับยั้งชั่งใจ เรียกว่า EF (Executive Function) หรือ Executive Control     การศึกษาที่ดี จะต้องฝึกสมองส่วนนี้ให้แข็งแรง    ให้ top down control มีอำนาจเหนือ bottom up control    นี่คือการฝึกจิต ที่คนทุกคนต้องได้รับการฝึก ชีวิตจึงจะบรรลุสภาพ อยู่ดี

          ถ้าเราไม่ฝึกออกกำลังของวงจรประสาทส่วน “บนลงล่าง” ให้เข้มแข็ง    วงจรประสาทส่วน “ล่างขึ้นบน” ก็จะเป็นเจ้าเรือน    เราจะเป็นคนที่ได้แค่ อยู่รอด    ไม่เป็นคนที่มีชีวิตแบบ อยู่ดี    และที่ร้ายกว่านั้นคือ ในท่ามกลางสังคมที่ “โหดร้าย” ไปอีกแบบของยุคสมัยใหม่    คือเราโดนจ้องจะเอาประโยชน์จากการโฆษณา และจากระบบสังคมที่กระตุ้นสมองส่วนล่างให้ซื้อให้จ่าย หรือที่ท่านพระธรรมปิฎกเรียกว่า ให้เสพ   หากเราไม่มีสมองส่วนบนที่เข้มแข็งรู้เท่าทัน เราก็จะตกเป็นเหยื่อ    ลงท้ายสมองส่วนล่างที่ช่วยให้เรารอดจากการเป็นเหยื่อในบุพกาล กลับพาเราเป็นเหยื่อในกาลปัจจุบัน

          อารยธรรมมนุษย์ ได้ก้าวหน้ามาจนสภาพแวดล้อมของสังคมเอื้อต่อการ อยู่ดี    แต่จะอยู่ดีได้ ต้องมีสมองส่วนบนที่แข็งแรง คือผ่านการฝึกฝน ที่เรียกว่าการศึกษา

          แต่การศึกษาไทย (และในประเทศส่วนมากในโลก) หลงผิด    ไพล่ไปคิดว่าการศึกษาคือการเรียนวิชา    ไม่คิดว่าการศึกษาที่แท้จริงต้องฝึกสมองเพื่อให้เกิดพัฒนาการรอบด้าน (อย่างบูรณาการ) เพื่อการดำรงชีวิตที่ดี หรือเพื่อ อยู่ดี ในสังคมปัจจุบัน

          การเรียนรู้เพื่อชีวิตที่ดี หรือเพื่อ อยู่ดี   ในทางพุทธเรียกว่า ไตรสิกขา    คือการฝึก ศีล สมาธิ และปัญญา    โปรดฟังธรรมบรรยายเองนะครับ    จะเข้าใจเรื่องการฝึกฝนศีล สมาธิ ปัญญา ลึกซึ้งขึ้น    และเชื่อมโยงกับ การเรียนรู้บูรณาการของการศึกษาสมัยใหม่ ที่เรียกว่า การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑   เพื่อให้เกิด ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ได้ดีขึ้น

 

วิจารณ์  พานิช   

 

 

หมายเลขบันทึก: 560203เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2014 08:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มกราคม 2014 08:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สมองฝ่ายสูงกับฝ่ายต่ำถ้าคิดเรื่องดีก็ดีได้ แต่ถ้าคิดชั่วเรื่องร้ายก็สุดทน เช่น ออก พ.ร.บ. นิรโทษ จนนำสู่ความแตกแยก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท