ด้วยทาน ศีล จึงได้มนุษย์และสวรรค์สมบัติ แต่เพราะความเศร้าหมองของสวรรค์ จึงต้องปฏิบัติภาวนา


ทาน ศีล ภาวนา การปฏิบัติที่เป็นไปตามลำดับขั้นสำหรับฆราวาส

การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์นั้นเป็นการปฏิบัติแบบ อนุปุพพปฏิบัติ คือปฏิบัติเขยิบขึ้นไปโดยลำดับ ปฏิบัติจากง่ายไปหายาก ปฏิบัติเป็นขั้นๆไป จึงจะประสบความสำเร็จแก่ผู้ปฏิบัติตามอุปนิสัย

การเผยแพร่พุทธศาสนาในชั้นแรก พระพุทธเจ้าทรงสอนประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ โดยมากเพราะทรงมุ่งจะประกาศพระศาสนา คำสอนจึงเกี่ยวแก่และเหมาะกับนักบวชเนื่องจากในสมัยนั้นมีผู้บวชเพื่อแสวงหาความสงบเป็นอันมาก ครั้นต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาแผ่ถึงฆราวาส จึงทรงผ่อนประโยชน์ลงมาเป็นประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ภายหน้า ที่เลยตาเห็น แต่แม้จะทรงเน้นที่ประโยชน์ทั้งสองนี้ หากผู้ปฏิบัติได้ปฏิบัติตามที่ทรงสอนไว้ โดยเริ่มไปจากการปฏิบัติง่ายๆ แล้วค่อยๆเพิ่มการปฏิบัติให้ยากขึ้นตามความตั้งมั่นของจิตและภูมิของปัญญา ก็จะค่อยๆบ่ายหน้าเข้าหานิพพานอันเป็นจุดหมายของสุดของศาสนาพุทธได้เอง

การปฏิบัติสำหรับฆราวาสนั้น ทรงแสดงหลักง่ายๆไว้ คือบุญวัตถุ ๓ อันประกอบด้วย ทาน ศีล ภาวนา หากบุคคลค่อยๆฝึกตนตามที่ทรงชี้แนะ ก็จะค่อยๆหมุนออกจากวังวนแห่งทุกข์ได้ แม้ว่าใจจะยังอยากอยู่ในภพ ยังไม่อยากนิพพาน แต่หากได้ฝึกไปตามลำดับ ก็จะถึงนิพพานได้เองแม้ว่าจะไม่หวัง

ทาน คือการให้

ศีล คือการฝึกตนด้วยสิกขาบทหรือข้อที่ควรฝึกจนเป็นปกติ เมื่อวิถีชีวิตเป็นปกติ จึงเรียกว่า “มีศีล”

ภาวนา คือการทำสิ่งดีๆให้เกิด ให้มีขึ้น ให้ก้าวหน้า งอกงามขึ้น ซึ่งก็คือการอบรมจิตให้ตั้งมั่น เป็นสมาธิ (จิตตภาวนา) และอบรมปัญญาให้ไม่หลงใหลไปกับอารมณ์ต่างๆ รู้เท่าทันสภาวะ จนเห็นด้วยความเป็นกลาง (ปัญญาภาวนา)

ทำไม??? พระองค์จึงให้ฆราวาสเริ่มต้นปฏิบัติที่การทำทาน

ฆราวาสนั้นมักวุ่นวายกับการทำมาหาเลี้ยงชีพ ดูแลครอบครัว รักษาสิ่งที่ตนหามาได้เพื่อความผาสุกและเพื่อเป็นหลักประกันแก่ตนและบุคคลในครอบครัว จึงเป็นเหตุให้หวงแหนสิ่งที่หามาได้ การทำทานจึงเป็นการฝึกให้คลายจากการหวงจนตระหนี่นี้ พร้อมๆกับที่ฝึกการคลายจากความเห็นว่า เป็น “ของตน

เมื่อมีฝึกการสละ การคลายความตระหนี่ ด้วยการให้อยู่เนืองๆ จึงเกิดการบ่มเพาะเมตตาให้เกิดขึ้นในจิต จิตจึงค่อยๆอ่อนโยนลงด้วยความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข และเมื่อเห็นผู้อื่นทุกข์ก็ปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์ เมื่อปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์ ก็แสดงออกด้วยการให้ ด้วยการขวนขวายช่วยเหลือ ด้วยการร่วมทุกข์สุข ด้วยวาจาและกิริยาอันเป็นมิตร จิตจึงวนเวียนกับการให้กับการมีเมตตาที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ในชั้นต้น การทำทานอันเป็นบุญ ผู้ทำอาจทำด้วยความเห็นคือหวังผลตอบแทนแก่ตน เช่น หวังจะสั่งสมบุญ หวังจะได้ไปเกิดในสวรรค์ได้ หวังจะร่ำรวยเพราะความไม่ประมาทเป็นเหตุ แม้การทำบุญจะทำด้วยความเห็นอย่างนั้นก็นับว่าเป็นความเห็นที่ถูกต้องหรือสัมมาทิฏฐิ เพราะเป็นการเห็นว่าบุญมีผล แม้ว่าจะเป็นสัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกิยะคือมีผลให้ยังวนเวียนอยู่ในโลก เพราะเมื่อเห็นว่าบุญมีผลจึงทำให้มีตัวตนวนเกิดไปรับผลของบุญนั้น บุคคลที่ทำบุญหวังผลก็ยังได้ชื่อว่าเป็นการเริ่มต้นฝึกตนในพระพุทธศาสนาแล้ว

เนื่องจากการทำทานด้วยใจที่บริสุทธิ์ คือ ทำโดยหวังประโยชน์แก่ผู้รับเพียงอย่างเดียว โดยไม่หวังตอบแทนมาสู่ตนนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังที่ได้ตรัสว่า

ทานญฺจ ยุทธญฺจ สมานมาหุ

ท่านกล่าวว่า ทาน และ การรบ เสมอกัน

ผลของทานมีเป็นต่างๆดังคำตรัสเหล่านี้

ททํ มิตฺตานิ คนฺถติ.

ผู้ให้ ย่อมผูกไมตรีไว้ได้

มนาปทายี ลภเต มนาปํ.

ผู้ให้สิ่งที่ชอบใจ ย่อมได้สิ่งที่ชอบใจ

ททํ ปิโย โหติ              ภชนฺติ นํ พหู.

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก     คนหมู่มากย่อมคบเขา

ททโต ปุญฺญํ ปาฑฺฒติ

เมื่อให้ บุญก็เพิ่มขึ้น

สุขสฺส ทาตา เมธาวี                สุขํ โส อธิคจฺฉติ.

ปราชญ์ผู้ให้ความสุข               ย่อมได้รับความสุข

เสฏฐนฺทโท เสฏฺฐมเปติ ฐานํ.

ผู้ให้สิ่งประเสริฐ ย่อมเข้าถึงฐานะที่ประเสริฐ

การทำทานจึงทำให้มีการช่วยเหลือเจือจุน ให้โอกาสแก่ผู้ที่ยังขาด สร้างบรรยากาศแห่งความเป็นมิตรให้เกิดขึ้นในสังคม

การอยู่ร่วมกันในสังคม ต้องมีกฎเกณฑ์เพื่อความสงบเรียบร้อย สิกขาบท ๕ หรือที่เรารู้จักกันในนามศีล ๕ ก็คือกฎเกณฑ์อันเป็นข้อควรฝึกง่ายๆเพื่อให้การอยู่ร่วมกันของคนในสังคมเป็นไปอย่างสงบสุข ในชั้นต้นบุคคลอาจปฏิบัติตามกฎด้วยเกรงความผิด แต่เมื่อบุคคลมีเมตตา ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น จึงมีความพยายามในการฝึกที่จะไม่ละเมิดผู้อื่นทั้งในด้านร่างกายและทรัพย์สิน เช่นไม่รังแกหรือฆ่าเขา ไม่ลักทรัพย์ของเขา ไม่ล่วงเกินคนในครอบครัวของเขา ไม่มีวาจาที่จะก่อให้เกิดความระคางหมางใจ หรือลวงล่อเพื่อประโยชน์ของตน รวมไปถึงระมัดระวังตนที่จะไม่เปิดโอกาสให้ตนขาดสติด้วยของมึนเมา อันจะทำให้ตนล่วงเกินหรือละเมิดผู้อื่นได้ด้วยเจตนาที่จะรักษาตนและรักษาผู้อื่น เมื่อฆราวาสฝึกตนด้วยข้อที่ควรฝึก ๕ อันเป็นข้อควรฝึกเบื้องต้นนี้ วิถีชีวิตของบุคคลผู้ฝึกตนนั้นก็จะเป็นปกติ ไม่มีเรื่องอะไรให้เดือดร้อนทางกายและทางใจ และเมื่อวิถีชีวิตเป็นปกติ ก็เรียกว่าบุคคลนั้นมี “ศีล”

เมื่อคนในสังคมมีเมตตา ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข เคารพสิทธิ์ของกันและกัน ไม่เบียดเบียนกันด้วยการปฏิบัติตนตามสิกขาบท แต่ละคนก็จะเป็นปัจจัยแวดล้อมที่ดีของกันและกันอันเป็นสภาพที่เอื้อต่อการพัฒนาปัญญาทั้งในด้านการพัฒนาวิธีการหาเลี้ยงชีพเพื่อให้เป็นอยู่อย่างเพียงพอแก่ความต้องการในโลก และด้านปัญญาที่จะพัฒนาตนให้พบกับความสงบอันพ้นไปจากโลกสืบไป

ฆราวาสเมื่อทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยสุจริต รักษาทรัพย์ที่หามาได้และใช้สอยอย่างพอเหมาะ ฝึกตนด้วยทาน ศีล จนจิตน้อมไปในทางที่เป็นกุศลเป็นอันมาก ก็จะพรั่งพร้อมด้วยมนุษย์สมบัติและสวรรค์สมบัติ

สำหรับสรรค์สมบัตินั้น สวรรค์ในปัจจุบันก็คือการได้อารมณ์ดีๆทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือได้เสพสิ่งดีๆทางทวารเหล่านี้จนเพลิดเพลินราวกับได้อยู่ในสวรรค์ เช่น สุขจากการได้เห็นรูปตนเองที่ดูงดงามด้วยเสื้อผ้าและเครื่องประดับ ได้เห็นแววตาชื่นชมจากบุคคลรอบข้าง สุขจากการได้ยินเสียงเพลงไพเราะ เสียงสรรเสริญคุณ ความงาม ของตน สุขจากการได้ลิ้มอาหารรสเลิศ สุขจากการได้สัมผัสอ่อนนุ่มจากที่นอนนุ่มหนา จากการโอบกอดด้วยเสน่หาจากคนรัก จากการมีเพศสัมพันธ์ สุขจากการที่มีอะไรดีๆผุดขึ้นมาในใจให้คิดตามต่อ เป็นต้น ซึ่งสุขเหล่านี้ ก็คือกามสุขนั่นเอง แต่ถึงแม้จะเป็นกามสุข ก็นับว่าจำเป็นสำหรับจิต เพราะจิตของบุคคลมีปีติ สุข เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง เพียงแต่ว่าสุขที่มาหล่อเลี้ยงนั้น จะเป็นสุขในลักษณะไหน

ซึ่งความสุขแบ่งได้เป็นสองลักษณะใหญ่คือ สามิสสุข นิรามิสสุข

สามิสสุขหรือสุขอิงอามิส คือสุขที่เกิดจากปัจจัยภายนอก ต้องมีองค์ประกอบมากกว่าหนึ่งจึงจะเกิด ต้องมีเหยื่อล่อจึงจะสุข เช่น หูได้ยินเสียงจากบุคคลอื่นกล่าวชื่นชมตนแล้วเกิดความสุข เป็นต้น ส่วนนิรามิสสุขนั้นเป็นสุขที่ไม่ต้องอาศัยปัจจัยภายนอก แต่เกิดจากความสงบภายในจิตเช่นขณะที่จิตอยู่ในฌานซึ่งบางทีเรียกฌานสุข และสุขสงบที่เกิดจากการรู้ตามที่เป็นจริง จนดับความต้องการอันเป็นตัณหา บางทีเรียกวิมุตติสุข หลุดพ้นจากความเร่าร้อนเพราะตัณหา พบความสงบเย็นหรือนิพพานที่เห็นได้ในปัจจุบัน

สุขอันเกิดจากทาน ศีล จัดเป็นสุขอันชอบธรรมของฆราวาส ซึ่งเรียกว่าคิหิสุข หรือ กามโภคีสุข ซึ่งแบ่งได้เป็น ๔ ชนิด คือ สุขจากการมีทรัพย์อันเกิดจากการขยันหมั่นเพียรของตนและโดยความชอบธรรม สุขจากการใช้จ่ายทรัพย์ คืออิ่มใจว่าได้ใช้ทรัพย์ที่หามาได้ในการเลี้ยงชีพ เลี้ยงผู้ที่ควรเลี้ยง และบำเพ็ญประโยชน์ สุขจากการไม่เป็นหนี้ คืออิ่มใจว่าตนเป็นไท ไม่ติดค้างใคร และสุขจากความประพฤติไม่มีโทษ คืออิ่มใจว่าตนประพฤติสุจริต ใครๆก็ติเตียนไม่ได้ทั้งทางกาย วาจา ใจ

กามสุขอันทำให้เพลิดเพลินราวกับอยู่ในสวรรค์หรือได้สวรรค์สมบัตินั้นใช่ว่าจะมีคุณคือให้สุขเพียงอย่างเดียวเพราะสวรรค์ สามารถปรวนแปรจนเป็นโทษแก่เราได้ ความปรวนแปรจนนำเราไปสู่ความทุกข์นี้จึงเป็น “ความเศร้าหมองของสวรรค์” เหตุที่สวรรค์มีความเศร้าหมองอยู่ก็เนื่องจากสิ่งที่เกิดจากการผสมปรุงแต่งล้วนตกอยู่ใต้สามัญญลักษณะหรือลักษณะที่ทั่วไปแก่สังขาร ดังที่เรารู้จักกันในนามของ ไตรลักษณ์ คือมีความไม่แน่นอน ไม่มั่นคง (อนิจจัง) ไม่สามารถคงอยู่ในรูปเดิมได้ ต้องเปลี่ยนแปร เสื่อมโทรมไป (ทุกขัง) ไม่สามารถบังคับให้เป็นไปตามใจปรารถนาได้ (อนัตตา) หากเราไม่รู้ทันความเป็นไปเหล่านี้ หรือแม้จะรู้แต่ก็ยังหลงยึดอยากให้สิ่งที่เคยให้ความสุขอยู่คงที่ การยึดจนมั่นก็ย่อมพาเราดิ่งลงสู่ความทุกข์

เพราะกามสุข เป็นสุขที่เกิดจากการเสพสิ่งที่น่ายินดีทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จึงต้องมีสิ่งหรือวัตถุให้เสพที่อยู่ภายนอก และมีตา หู ดังกล่าวเป็นอุปกรณ์เราจึงจะเสพได้ เช่น ต้องมีอาหารเราจึงจะได้เสพสุขจากการลิ้มรสด้วยลิ้น ต้องมีบุคคลภายนอกสรรเสริญ เราจึงจะสุขกับการได้ยินคำกล่าวชื่นชมด้วยหู เป็นต้น แต่เพราะสิ่งที่เกิดจากการผสมปรุงแต่งล้วนไม่แน่นอน เมื่อวัยเสื่อมถอย หู ตา ฟ้าฟาง รับรู้ไม่ได้ด้วยเสื่อมไปตามกาล สุขที่เคยได้เสพทางตา หู ก็ย่อมเหือดหาย หากยึดอยู่กับการเสพสุขทางอายตนะเหล่านั้นผู้สูงอายุคงมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขไม่ได้ หรือเมื่อผู้อื่นเปลี่ยนจากชื่นชมเป็นไม่ชอบ คำสรรเสริญที่เคยได้ก็จะเปลี่ยนเป็นคำนินทา หากบุคคลยึดมั่นในเสียงที่เคยได้ ก็ย่อมเป็นทุกข์เมื่อสรรเสริญแปรปรวนไป

เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงความปรวนแปรได้ เพราะการแปรไปเป็นตรงข้าม มีสิ่งหนึ่งก็ต้องมีอีกสิ่งหนึ่งที่ตรงข้ามกัน ธรรมเหล่านั้นคือธรรมประจำโลก หรือ โลกธรรม อันประกอบด้วยธรรม ๔ คู่ คือ ทุกข์ สุข, ได้ลาภ เสื่อมลาภ, ได้ยศ เสื่อมยศ และ สรรเสริญ นินทา

เพราะกามสุขเป็นสุขที่เกิดขึ้นเพราะตัณหาได้รับการสนอง และธรรมชาติของตัณหานั้น เมื่อไม่ได้ก็ไขว่คว้า ครั้นได้มาก็พอใจอยู่เพียงชั่วครู่ จากนั้นก็ชาชิน เบื่อหน่าย ต้องการสิ่งใหม่ที่ดีกว่ามาเสพต่อ หรือต้องการสิ่งเดิมในปริมาณที่มากกว่า ดังนั้นหากปล่อยใจให้ไหลไปตามความต้องการอันเป็นตัณหา บุคคลก็จะพล่านไปกับการแสวงหาจนเกิดทุกข์ ในลักษณะต่างๆ

ตัวอย่างของทุกข์ในด้านความรักฉันหนุ่มสาวหรือ เปมะ ก็เช่น

ทุกข์ใจกับการที่ไม่สามารถหาได้ตามที่แสวง

ทุกข์จากการหวาดระแวงว่าสิ่งที่แสวงจนได้มาจะเปลี่ยนแปลงไป เช่น การถูกแย่งชิง การเปลี่ยนใจ

ทุกข์ใจกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่ได้มาสภาวะ เช่น ความงดงามสิ้นไปเพราะชรา ทรุดโทรมเพราะเก่าคร่ำ หรือการเปลี่ยนใจเพราะธรรมชาติของตัณหา

ทุกข์กับการต้องทนอยู่สิ่งที่ได้มาในระยะเวลาหนึ่ง เช่น การหมดรักในตัวคนรักแล้วแต่ยังต้องทนอยู่ด้วยกัน

ทุกข์จากการขวนขวายปรุงแต่งเมื่อร่างกายที่งดงามร่วงโรยไปตามวัย เป็นต้น

ที่ทำให้ทุกข์ไปต่างๆอย่างนี้ ก็เพราะเพราะสุขที่ได้มา ได้มาจากการพึ่งพิงกับสิ่งที่ปรวนแปรไม่แน่นอน เมื่อสิ่งที่ให้ความสุขไม่แน่นอน ตัวความสุขเองจึงไม่แน่นอนตามไปด้วย บุคคลจึงเวียนวนอยู่กับทุกข์สุข สุขแล้วทุกข์ ทุกข์แล้วสุข อยู่อย่างนี้ จนเหน็ดเหนื่อย น่าหน่าย

ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า

เปมโต ชายเต โสโก           เปมโต ชายเต ภยํ

เปมโต วิปฺปมุตฺตสฺส         นตฺถิ โสโก กุโต ภยํ.

ความโศกย่อมเกิดแต่ความรัก ภัยย่อมเกิดแต่ความรัก

ความโศกย่อมไม่มีแก่ผู้พ้นวิเศษแล้วจากความรัก ภัยจะมีแต่ที่ไหน

ความรักในที่นี้คือความรักแบบเปมะ คือการรักแบบยึดมั่น ยึดมั่นในบุคคลอื่นไว้เป็นของตนเพื่อการดื่มความสุขจากกัน เพื่อการเสพสิ่งดีๆจากกัน จึงนำมาซึ่งความโศกเพราะความเห็นว่าเป็นของตนนั้น

การยอมรับในสามัญญลักษณะจึงจะช่วยให้เรารับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ หรือเปลี่ยนสิ่งที่มีอยู่ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า คือคลายจากการยึดมั่นด้วยความรักแบบเปมะ เป็นการรักแบบกัลยาณมิตร ความรักที่เพียงหวังความเจริญงอกงามของอีกฝ่ายโดยไม่คิดยึดถือ คิดครอบครองไว้เป็นของตน ขณะเดียวกัน ก็ฝึกตนด้วยศีลคือ "สทารสันโดษ" หรือความพึงพอใจแต่ในคู่ของตนด้วย อันเป็นการฝึกจิตไม่ให้ไหลไปตามธรรมชาติของตัณหาในยามที่ความรักแบบเปมะดับลง จึงทำให้สถานภาพของครอบครัวยังมั่นคงอยู่ได้

ด้วยคนทั้งสองเปลี่ยนความรู้สึกว่าตนต่างเป็น "คู่ครอง" ไปสู่ความเป็น "คู่ชีวิต"

การมีความสุขจากการให้ด้วยทาน และสุขจากการเว้นด้วยศีล อันเป็นเหตุให้ได้มนุษย์สมบัติและสวรรค์สมบัติจึงไม่เพียงพอเนื่องจากต้องพิงพึ่งสิ่งอื่นจึงจะมีได้ และหากพึ่งพิงไม่ได้ก็กลับกลายเป็นทุกข์ บุคคลจึงต้องรู้จักการมีสุขจากการไม่พึ่งพิงสิ่งอื่น จากการสงบระงับ เป็นครั้งๆไปบ้าง สุขอย่างหลังนอกจากจะเป็นสุขที่ประณีตขึ้นแล้ว ยังเป็นสุขเย็นในปัจจุบันที่สามารถนำไปสู่ความสงบอย่างถาวรได้อีกด้วย ดังนั้นจึงต้องมีการฝึกในเรื่องของภาวนาทั้งในด้านจิตและปัญญาเพิ่มขึ้นเพื่อให้มีโอกาสได้พบกับ “นิพพานสมบัติ

การฝึกจิตตภาวนา เพื่อให้จิตตั้งมั่นอยู่ในภายใน ไม่ฟุ้งไปกับเรื่องราวภายนอก เป็นสมาธิ จิตจึงได้เสพสุขจากความสงบ ดังที่เรียกว่า “ฌานสุข” บุคคลสามารถได้รับสุขนี้จากการฝึกอบรมกรรมฐานต่างๆและการฝึกสติปัฏฐาน อีกทั้งในยามที่จิตเป็นสมาธิยังสามารถรู้เห็นได้ตามที่เป็นจริงตามพื้นของตน การฝึกจิตจึงมีวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อเป็นบาทฐานของปัญญา เพื่อให้นำจิตที่เหมาะแก่การใช้งานนี้ไปพิจารณาธรรมต่างๆให้เห็นแจ้งต่อไป

การฝึกปัญญาภาวนา เพื่อให้ปัญญารู้เท่าทันสภาวะ ไม่พล่านไปตามตัณหา จิตเห็นแจ้งตามที่เป็นจริงว่าสรรพสิ่งไม่ใช่ตนที่ยึดถือเอาได้ เพราะเป็นเพียงภาวะเกิดดับ ไม่ตั้งอยู่อย่างเที่ยงแท้ถาวร

การปฏิบัติตนด้วยศีล สมาธิ ปัญญา นี้เอง เรียกว่า ไตรสิกขา (ศีลสิกขา จิตสิกขา และ ปัญญาสิกขา)

เมื่อมีภาวนาทั้งทางจิตและปัญญาดังกล่าว ควบคู่ไปกับการประมาณในโภชนะ การสำรวมอินทรีย์ ความเพียรเป็นเครื่องตื่น จิตจึงค่อยๆคลายความเห็นว่า “เป็นตน” ค่อยๆคลายความยึดมั่นจากสิ่งต่างๆ

จึงสงบระงับลงได้ในยามที่จิตร้อนรนด้วยตัณหาหรือเมื่อประสบกับโลกธรรม

อีกทั้งเมตตาที่บุคคลมีเพิ่มขึ้นจากการฝึกด้วยทานและศีลก็ทำให้เกิดธรรมตามมาเช่น

กรุณา

อันเป็นองค์ธรรมหนึ่งในพรหมวิหาร ๔ เช่นเดียวกับเมตตา (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) โดยที่สามองค์ธรรมแรกเป็นคุณสมบัติที่ดีของจิต เป็นเหตุให้มีการขวนขวายช่วยเหลือ ส่วนอุเบกขานั้นเป็นจิตที่วางเป็นกลางกับสิ่งต่างๆเพราะเห็นแล้วด้วยปัญญา

สังคหวัตถุ ๔

การมีเมตตานั้นต้องมีการกระทำตามมา หากเพียงคิดแต่อยู่ในใจ ไม่มีการกระทำตามมาไม่ใช่เมตตาที่แท้จริง เป็นเพียงความคิดว่าน่าเมตตาเท่านั้น

อพยาบาท

ความไม่พยายาท ซึ่งสามารถดับได้ด้วยเมตตาโดยตรงเพราะเมตตาที่ประกอบด้วยโยนิโสมนสิการ

ขันติ โสรัจจะ

ซึ่งขันติโสรัจจะนี้ก็เป็นอีกทางที่ทำให้บุคคลไปสู่การค่อยๆคลายความเห็นว่าเป็นตนลงไปอย่างละมุนละม่อม ซึ่งขันติโสรัจจะนี้เป็นองค์ธรรมที่สำคัญมากเพราะทั้งปิดกั้นอกุศลธรรมใหม่ไม่ให้เกิดและขัดเกลาอกุศลธรรมเก่าไปในตัว

ดังที่ในโอวาทปาฏิโมกข์ พระพุทธองค์ตรัสว่า

ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา

ขันติคือตีติกขาเป็นตบะอย่างยิ่ง

เหตุที่เมตตานำไปสู่ขันติและโสรัจจะก็เนื่องจาก เราต้องมีการติดต่อ มีความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง จึงมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง เมื่อผู้อื่นแสดงอาการไม่ดีต่อเรา เพราะเรามีเมตตา เกรงว่าเขาจะได้รับความกระทบกระเทือนใจ จึงอดกลั้น ทนรับสิ่งที่พบเห็นนั้นไว้ การทนอด ทนข่ม นี้เรียกว่า อธิวาสนขันติ

แต่เมื่อทนกลั้นไว้ จิตใจที่ยังวางลงไม่ได้กลับทำให้เรานั้นเองอัดอั้น จึงต้องมีการพิจารณาให้จิตผ่องใสขึ้น ซึ่งก็คือการพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการให้เห็นด้วยความเป็นสภาพเกิดดับ ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สิ่งที่สามารถบังคับได้ให้เป็นไปตามใจปรารถนา อีกทั้งการฝึกอดทนต่อเขาก็คือเราเมตตาตนเอง เพราะเมื่อเราไม่วาง ผู้ที่ทุกข์ใจก็คือตัวเราเอง จนจิตที่เคยรับรู้สิ่งนั้นอย่าง ยินดีหรือยินร้าย ไม่ชอบใจ กลายเป็นเห็นด้วยความเป็นกลาง หรือ อุเบกขาต่อสิ่งนั้น

การพิจารณาจนจิตกลับมาแจ่มใสได้อย่างเดิมนี้ก็คือโสรัจจะ ดังนั้นเมื่อใดที่ได้พบกับเรื่องเดิม สิ่งเดิมอีกก็สามารถทนได้โดยที่ไม่ต้องกลั้น ไม่ต้องข่ม การทนได้เพราะเห็นด้วยใจเป็นกลางนี้เองเป็นขันติที่ต้องการในพุทธศาสนา มีชื่อเรียกว่า ตีติกขาขันติ

การที่จิตวางเป็นกลางกับเรื่องใดๆมากขึ้น ความสุขก็มีมากขึ้น บุคคลที่ฝึกตนพร้อมทั้งทาน ศีล ภาวนา จึงมีโอกาสได้พบความสุขในทุกลักษณะ คือพบทั้งกามสุข อันเป็นสุขหยาบ พบฌานสุข และ นิพพานสุข อันเป็นสุขประณีต

อีกทั้งศีลที่มี ก็กลายเป็น "อธิศีล" ด้วยเป็นศีลที่ "ถึงใจ" ด้วยไม่ใช่เจตนาเว้นเพราะเห็นแก่โทษ แต่เป็นการเว้นด้วยเมตตาต่อตนเองและผู้อื่นจนการเว้นเป็นไปตามปกติโดยไม่ต้องมีเจตนา

เมื่อบุคคลมีโอกาสได้รับสุขประณีตจึงจะสามารถเปรียบเทียบได้ว่าสุขที่เป็นกามสุขและสุขที่ไม่ใช่เกิดจากกามนั้นแตกต่างกัน กามสุขนั้นแม้ในขณะที่สุขก็สุขแบบลิงโลด กระสับกระส่าย นำไปสู่การยึดมั่นอันนำไปสู่ทุกข์อีกทีหนึ่ง ส่วนสุขประณีตเป็นสุขที่สงบ เย็น และเป็นที่มาของกุศลธรรมอื่นๆอีกมาก เมื่อประจักษ์ว่าสุขประณีตนั้นน่าพอใจมากกว่า มีคติหรือที่ไปดีกว่า ก็จะค่อยๆคลายความพอใจในสามิสสุข เพิ่มพูนการพบสุขประณีตมากยิ่งขึ้น

เมื่อบุคคลเห็นตรงสภาวะ พบสุขประณีตมากขึ้น ความยินดีในกามสุขจะค่อยๆลดถอยลง ความอยากได้สิ่งใดๆที่เกินความต้องการใช้สอยก็พลอยลดถอยลงไปด้วย จึงเกิดสันโดษ คือ พอใจในสิ่งที่มีหรือพึงมี และมักน้อย คือปรารถนาเพียงแต่น้อยตามมา เมื่อพอใจในสิ่งที่พึงมีพึงได้และใช้สอยแต่น้อย จึงไม่โลภอยากได้จนเกินกำลัง อีกทั้งสิ่งที่เกินกว่าจะใช้สอยก็กลายเป็นสิ่งเกินความต้องการ จึงสามารถแบ่งปัน ทำทาน เจือจานผู้อื่นได้มากยิ่งขึ้น

สันโดษคือความพอใจตามที่พึงมีพึงได้นั้น จัดเป็นสันโดษในระดับต้น ส่วนสันโดษในระดับสูงคือการไม่หวังผลได้ต่างๆ เมื่อไม่หวัง แม้ว่าจะได้เท่าไรก็เต็มความหวังในทันที ดังนั้นจึงมีแต่การเพียรทำหรือการไม่สันโดษในเหตุ แต่ไม่หวังผลของการกระทำหรือสันโดษในผล จึงไม่มีความหวังใดๆที่จะมาทำให้เกิดทุกข์ได้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งเสพบริโภค หรือ ผลการปฏิบัติ

จิตจึงหมุนวนกับการทำสิ่งดี กุศลธรรมค่อยๆเพิ่มขึ้นพร้อมๆกับที่อกุศลธรรมและความเห็นผิดไปจากความเป็นจริงค่อยๆลดลงโดยที่ไม่สร้างตัณหาหรือกิเลสใหม่ให้ต้องคอยขูดเกลา เช่น ความปรารถนาจะพ้นไปจากวัฏฏะอย่างรวดเร็วขึ้นมาเพิ่มเติมจนเป็นเหตุให้ไม่สามารถพ้นไปได้

การปฏิบัติในภาวนาจึงค่อยๆ "ยิ่ง" ขึ้น ตามลำดับ จนกลายเป็น อธิจิต และ อธิปัญญา

ด้วยทาน ศีล ภาวนา บุคคลจึงค่อยๆคลายความเห็นว่าเป็น “ของตน” และ เป็น “ตน” ได้โดยที่จิตค่อยๆเห็น ค่อยๆเป็นไป

สมบัติที่แปรปรวนได้ทั้งสองคือมนุษย์สมบัติ และสวรรค์สมบัติ จึงมีเพื่อการอยู่อย่างพอเพียงในโลก และถูกใช้เพื่อเป็นบันไดในการที่จะได้สมบัติที่ถาวรคือนิพพานต่อไป

หมายเลขบันทึก: 559092เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2014 15:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มกราคม 2014 04:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

พี่ตุ๊กตาเขียนบันทึกนี้ด้วยความประณีตมาก น้องต้องอ่านไปอย่างช้า ๆ อย่างมาก

ต้อง copy and paste ไปเก็บไว้อ่านแล้วอ่านอีก

ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ

ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาค่ะ น่ายังคงอยู่ในบรรยากาศของวันขึ้นปีใหม่ ขอทุกท่านมีความสุข สมในสิ่งที่พึงหวังนะคะ

และขอบคุณน้องหมอเล็กสำหรับความเห็นมากค่ะ หวังว่าจะมีความสุข สงบ เสมอนะคะ

สาธุ. เจ้าค่ะ. ขอให้มีความสุขค่ะ. ยายธี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท