รายงานความคืบหน้าประจำสัปดาห์ #1


 

 

เนื่องจากพวกเราได้มาอยู่ที่คลองน้ำเค็มมาประมาณ 1 สัปดาห์แล้ว

จึงสมควรแก่เวลาที่จะสรุปรายงานความก้าวหน้าที่พวกเราได้ทำไว้สักครั้ง

อย่างที่เคยโฆษณาไว้ในบล๊อกก่อนๆ ทุกอย่างจะมาเฉลยที่บล๊อกนี้ค่ะ ^^

 

Salty canal ภูมิใจเสนอ..

ระบบงานค่ะ อาจจะุคุ้นหน้าคุ้นตากันบ้างแล้วในบล๊อกก่อนหน้านี้ (เนื้อหาในกระดานใหญ่)

วันนี้จะมาลงรายละเอียดให้เห็นภาพและชัดเจนมากขึ้นนะคะ

มาเริ่มกันทีละส่วนนะคะ

เริ่มจาก เครื่องมือชุมชน

1) แผนที่เดินดิน

สำคัญมากในการทำงานสุขภาพเชิงรุก ของเราประกอบไปด้วยแผนที่บ้านตามจริง, บ้านเลขที่, ปิงปองตามสีของผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยง

เพื่อให้ง่ายต่อการติดตามการรักษา มีการระบุบ้านผู้ใหญ่บ้านหรือบุคคลสำคัญในชุมชน, อสม. และสถานที่สำคัญในชุมชน

เช่น วัด, รพ.สต., ร้านค้า, สถานที่รวมกลุ่มของชาวบ้าน คือ สนามเปตองและSML (กองทุนหมู่บ้าน)

และสวนชนิดต่างๆ (ระบุชนิดผลไม้) ซึ่งทำให้ทราบถึงลักษณะชีวิตความเป็นอยู่และอาหารการกินของชุมชนเบื้องต้นได้

2) โครงสร้างองค์กรชุมชน

ทำให้ทราบถึงความสัมพันธ์ของผู้นำุชุมชน ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการของในแต่ละหมู่และโดยรวม

ซึ่งเป็นประโยชน์ในการขอความร่วมมือหรือขอความอนุเคราะห์ในการดำเนินกิจกรรมพัฒนาสุขภาพ

3) ปฏิทินชุมชน

ช่วยให้ทราบวิถีชีวิตของคนในชุมชนมากขึ้น ทั้งแบบรายบุคคลและโดยรวม

- รายบุคคล : ส่วนมาก คนอาชีพเดียวกัน มักจะมีกิจวัตรประจำวันที่คล้ายคลึงกัน

เช่น ชาวสวน มักจะอยู่บ้านในช่วงที่แดดร้อน คือ จะออกไปทำงานตั้งแต่เช้าตรู่ พอสายก็กลับมาบ้าน

จนแดดร่มลมตกแล้ว จึงค่อยออกไปสวนอีกครั้ง ซึ่งเราสามารถไปพบชาวบ้านในช่วงดังกล่าวได้ เป็นต้น

- โดยรวม : รู้ว่าในแต่ละเดือนในหนึ่งรอบปี มีกิจกรรมใดเกิดขึ้นในชุมชนบ้าง จะได้วางแผนงานให้สอดคล้อง

เช่น ฤดูเก็บเกี่ยวผลไม้ ชาวบ้านจะยุ่งมาก ไม่ควรจัดกิจกรรม, ผลไม้ออกผล ชาวบ้านจึงกินผลไม้มาก ทำให้น้ำตาลช่วงนั้นสูง เป็นต้น

4) ระบบการแพทย์

- การแพทย์สมัยใหม่ : รพ.สต.คลองน้ำเค็ม, คลินิกรักษาโรคทั่วไป 2 แห่งที่ตลาดพลิ้ว

- การแพทย์พื้นบ้าน : หมอน้ำมนต์ หมู่ 5, หมอสมุนไพร (ลุงย่อม, ลุงปื๊ด), สมุนไพรชาวบ้าน (น้ำมันนวดจากพระ แก้ปวดเมื่อย,

กวาดยา รักษาซางขาวเด็ก แผลในปาก (แต่ไม่ได้ทำนานแล้วเพราะไม่มีเด็ก), ชาสิงหโมราห์ ช่วยลดความดัน, 

ใบขลู่ ช่วยลดความดัน, กระเจี๊ยบ + พุทราจีนต้ม ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด, มะละกอดิบ ต้มเอายาง ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด, 

แป๊ะกำปึง พริกขึ้หนู ฝรั่ง ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

- ยาจีน ซื้อจากร้านกิมหยูในตลาดซุ้ย

- แหล่งที่พึ่งทางสุขภาพอื่นๆ : ร้านขายยาแผนปัจจุบัน มีจำนวนทั้งหมด 4 แห่ง ในตลาดพลิ้ว

- กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ : ชมรมรำไม้พลอง (เลิกไป ~2 ปี), เต้นแอโรบิค

- ตลาดสดในชุมชน : ของสด, ของแห้ง, ขนม, อาหารสำเร็จรูป, เครื่องปรุงรส ค่อนข้างใกล้เคียงกับชุมชนเมืองในจันทบุรี

 

ต่อไปเป็นส่วนของ โครงการ ค่ะ

1) ศึกษาปัญหาชุมชน

เนื่องจากในปีนี้ เราไม่ต้องลงไปหาปัญหาของชุมชนเอง เพราะได้รับประชาพิจารณ์จากพี่ๆอสม.และผู้นำชุมชน

ให้ศึกษาปัญหาเรื่องเบาหวานและความดัน กลุ่มของพวกเราจึงตั้งเป้าหมายว่าจะทำโครงการเรื่องเบาหวานค่ะ

ที่เลือกทำเรื่องเดียว เนื่องจากจะได้กำหนดเป้าประสงค์ให้ชัดเจน วัดผลได้ และมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในผู้ป่วยโรคนี้

โดยกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ป่วยเบาหวาน และกลุ่มเสี่ยงค่ะ

2) ค้นหากลุ่มเป้าหมาย

- วิเคราะห์ข้อมูลจาก Family folder และข้อมูลคัดกรองเบาหวาน

เนื่องจากมีโครงการปิงปองเจ็ดสีเกิดขึ้น ทำให้เกิดการแบ่งผู้ป่วยเบาหวานออกเป็นกลุ่มต่างๆตามสีทั้งเจ็ด

และมีการคัดกรองผู้ป่วยเบาหวาน ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา (ปีงบประมาณ 2557)

ซึ่งได้ตัดคนที่มีชื่อ แต่ตัวไม่อยู่ออก และเพิ่มผู้ที่ไม่มีชื่อ แต่มาอยู่ในชุมชนเข้ามา แล้วเสร็จในบางส่วน

การคัดกรองจะทำในผู้ที่ไม่ได้เป็นเบาหวานหรือความดันโลหิตสูงมาก่อน 

ทำให้พวกเราพอทราบรายชื่อกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยเบาหวานเบื้องต้น

ปัญหาก็คือ ข้อมูลเหล่านี้ถูกต้องแล้วหรือไม่ และผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้ผ่านการคัดกรอง เป็นเบาหวานร่วมด้วยหรือไม่

- ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจริง (ยืนยันข้อมูลและเก็บผู้ที่ตกสำรวจ)

จากปัญหาข้างต้น ทำให้พวกเราต้องการลงไปสำรวจตามบ้าน เพื่อยืนยันข้อมูลที่แท้จริง

โดยให้พี่ๆอสม.นำพวกเราไปในครั้งแรก เพื่อให้คุ้นเคยกับท้องที่

นอกจากการไปดำเนินการด้านโครงการแล้ว ยังเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับคนในชุมชน

ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาและการพัฒนาด้านสุขภาพของคนในชุมชนนี้อีกด้วย

3) ศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนา

เป็นการทำแบบสอบถาม เพื่อหาสาเหตุของปัญหา

แบบสอบถามของพวกเรา แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่

1. ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มเป้าหมาย : ชื่อ, อายุ, เพศ, อาชีพ, รายได้ต่อเดือน, ที่อยู่, สถานที่ทำงาน, ช่วงเวลาทำงาน,

โรคประจำตัวอื่นๆ, ความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง, อายุที่เริ่มเป็นเบาหวาน, รักษาที่ไหน, ระดับน้ำตาลที่เจาะครั้งสุดท้าย

2. แบบประเมินพฤติกรรมเสี่ยง : ถามว่าเคยทำพฤติกรรมดังที่จะกล่าวเป็นความถี่เท่าไรใน 1 สัปดาห์

ตัวอย่างพฤติกรรม เช่น กินจุกจิก, กินขนมหวาน, กินผลไม้รสหวานจัด, ดื่มแอลกอฮอล์, สูบบุหรี่, ออกกำลังกาย,

ซื้อกับข้าวนอกบ้าน, ความถี่ในการตรวจสุขภาพประจำปี เป็นต้น

3. แบบประเมินความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวาน : ถามว่าเห็นด้วยกับข้อมูลที่จะกล่าวหรือไม่ ให้ตอบว่า ใช่, ไม่ใช่

หรือไม่รู้ ตัวอย่างคำถาม เช่น เบาหวานเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม, ภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน เป็นต้น

และหากสงสัยเกี่ยวกับโรคเบาหวาน จะเลือกปรึกษาใคร ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงแหล่งข้อมูลที่ผู้ป่วยจะได้รับ

4. แบบประเมินความสนใจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม : ใช้คำถามปลายเปิดเพื่อให้เกิดการทบทวนตนเอง และเพื่อประเมิน

stage of change ของผู้ป่วย ตัวอย่างคำถามเช่น หลังจากที่รู้ว่าตนเองเป็นโรคเบาหวาน/เป็นกลุ่มเสี่ยงแล้ว ท่านเคยปรับเปลี่ยน

พฤติกรรมสุขภาพของตนเองอย่างไรบ้าง (ใช้ตัดว่าเป็นขั้นเมินเฉยหรือลังเลหรือไม่), สิ่งใดบ้างที่ทำให้ท่านอยากปรับเปลี่ยน

พฤติกรรมสุขภาพ, ปัจจัยเสริม/ปัจจัยขัดขวางในการเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพได้แก่อะไรบ้าง เป็นต้น

และข้อสุดท้าย เป็นการทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับการมาร่วมกิจกรรม

ถามว่า หากมีกิจกรรมอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพ ท่านยินดีจะเข้าร่วมหรือไม่ (หากยินดี จะสะดวกเวลาใด)

4) วิเคราะห์ข้อมูล

จากการรวมรวมแบบสอบถามและนำมาวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่มีความรู้ดี

แต่ไม่มีความตระหนัก เปรียบได้กับระยะ 'เมินเฉย' ใน Stage of change

และผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่อยู่ในปิงปองสีเขียวเข้มและเหลือง (เท่าๆกัน)

แต่มีปิงปองสีส้มมากเกินที่ควรจะเป็น คือประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วยทั้งหมด

5) นำเสนอและสรุปสาเหตุของปัญหา

จากผลการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า สาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น คือ กลุ่มเป้าหมายมีความรู้ดี

แต่ไม่มีความตระหนักในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ

จึงทำให้มีผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่เกิดขึ้น และผู้ป่วยเบาหวานเดิมเกิดภาวะแทรกซ้อน

6) วางแผนแก้ไขปัญหากับชุมชน

เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายมีความรู้ดีอยู่แล้ว แต่พฤติกรรมของคนเราไม่ได้ถูกกำหนดโดยความรู้

ผู้ป่วยรู้ว่าอะไรดี แต่ไม่อยากทำ รู้ว่าอะไรไม่ดี แต่อดใจทำไม่ได้

พวกเราจึงคิดว่าการให้ความรู้คงไม่เกิดประโยชน์เท่ากับการให้ความตระหนักในกลุ่มเป้าหมายนี้

ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเปลี่ยน stage of change จากระยะ 'เมินเฉย' เป็นระยะ 'ลังเล' ซึ่งอาจพัฒนาไปสู่ขั้นที่สูงกว่าต่อไป

พวกเราจึงคิดทำโครงการเกี่ยวกับการสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพขึ้น

(ตรงนี้แหละมั้ง ที่อ.วีระ บอกว่าไม่เหมือนใคร ตรงที่ไม่เน้นให้ความรู้ แต่เน้นให้แรงจูงใจ)

โดยแบ่งย่อยออกเป็น

1. กิจกรรม "ปรับพฤติกรรม เปลี่ยนความคิด นำชีวิต พิชิตเบาหวาน" โดยจะจัดกิจกรรมในวันที่ 13 ม.ค. 2557

เวลา 16.30 น. ที่รพ.สต.คลองน้ำเค็ม โดยตัวกิจกรรมจะแบ่งออกเป็นช่วงต่างๆตามหลักการจัดกิจกรรม

ซึ่งจะล้อไปตามขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม 4 ขั้นตอน ดังนี้

    • ขั้นทบทวนตนเอง ;
      • Stage of change : เราใช้คำถามในแบบสอบถามให้กลุ่มเป้าหมายได้ทบทวนตนเอง

และประเมิน stage of change ดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้น

      • ความรู้ความเข้าใจ : ประเมินโดยใช้แบบสอบถาม และทบทวนอีกครั้งด้วยการเล่นเกมตอบคำถามชิงรางวั
      • วงจรความเคยชิน :
        • สิ่งเร้า - กินก๋วยเตี๋ยว, มีขนมหวานอยู่ในบ้าน, ฤดูผลไม้ออกผล
        • พฤติกรรมอัตโนมัติ (ตามลำดับ) - เติมเครื่องปรุงโดยไม่ชิมก่อน, กินขนมหวาน, กินผลไม้ตลอดวัน
        • รางวัล (ตามลำดับ) - รสชาติก๋วยเตี๋ยวอร่อยถูกปาก, ได้กินขนมหวานแสนอร่อย, มีผลไม้กินเพลินๆ
    • ขั้นสร้างแรงจูงใจ : ใช้กิจกรรมเข้าคู่้ จับคู่พฤติกรรมกับผลที่จะเกิด (เชื่อว่าผู้ป่วยมีความรู้ดีพอที่จะจับคู่ได้อยู่แล้ว)

เพื่อให้ผู้ป่วยตระหนักว่า ที่เป็นอยู่ มันเป็นปัญหาอย่างไร, ถ้าไม่เปลี่ยน จะเกิดอะไรตามมา (แรงจูงใจเชิงลบ)

และหากเปลี่ยนแล้ว จะได้อะไร (แรงจูงใจเชิงบวก)

    • ขั้นจัดทำแผนการเปลี่ยนแปลง : หลังจากเล่นเกมสนุกสนาน เพื่อละลายพฤติกรรมแล้ว

ก็จะดำเนินเข้าสู่ช่วง Cool down โดยใช้กิจกรรม "ปณิธานชีวิต" (อาจเปลี่ยนชื่อให้เข้าใจง่ายกว่านี้ค่ะ)

คือจะให้กลุ่มเป้าหมายจัดกลุ่มกันประมาณ 3 คน โดยในกลุ่มจะประกอบไปด้วยกลุ่มเป้าหมาย และนิสิตแพทย์หรืออสม.

อย่างน้อย 1 คน จะให้แต่ละคนตั้งปณิธานในระยะ 3 วันของตนเอง (เลือกปณิธานระยะสั้น เพื่อให้เป็นเป้าหมายที่ไม่ยาก

จนเกินไป โอกาสสำเร็จสูง ซึ่งหากสำเร็จ ก็เป็นเหมือนการให้รางวัลหรือแรงจูงใจเชิงบวกกับกลุ่มเป้าหมาย)

โดยนิสิตแพทย์จะช่วยดูปณิธานของกลุ่มเป้าหมายให้ตั้งเป้าให้ชัดเจน วัดติดตามผลได้ มีความเป็นไปได้ ไม่ยากหรือง่ายเกินไป

และตอบโจทย์ชีวิตของคนนั้นๆ โดยในกิจกรรมนี้ นิสิตแพทย์เองก็ต้องตั้งปณิธานชีวิตของตนเองด้วย เสมือนหนึ่งเป็นสมาชิก

ของกลุ่มปณิธานนั้น

จุดประสงค์ของการให้มารวมกลุ่มกัน คือการให้สมาชิกกลุ่มได้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการทำให้ปณิธานทั้งของตนเอง

และของสมาชิกคนอื่นในกลุ่มสำเร็จ อาจหาวิธีการ หรือ หา SMS (คำพูดบอกตัวเอง) ตามแต่สมาชิกในกลุ่มจะตกลงกัน

และเมื่อ 3 วันผ่านไป ปณิธานของกลุ่มไหนสำเร็จ (ต้องสำเร็จทุกคนในกลุ่ม) ก็จะได้รับรางวัลปณิธาน

    • ขั้นแบ่งปันประสบการณ์ : วันที่รวมกลุ่มกันในวันที่ 3 ของปณิธาน เพื่อดูว่าของใครสำเร็จนั้น

ก็จะให้ผู้ที่ทำสำเร็จได้มีโอกาสเล่าเรื่องความสำเร็จ, ความท้าทายระหว่างสามวัน และชื่นชมซึ่งกันและกัน

เสมือนเป็นการให้รางวัลทางจิตใจกับตัวเองที่ทำสำเร็จ สามารถเป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชม และเป็นการให้กำลังใจกับผู้อื่นอีกด้วย

หลังจากที่ปณิธาน 3 วันผ่านไป ก็จะดำเนินปณิธานที่ยาวกว่านี้ไปอีกเรื่อยๆ จากปณิธานระยะสั้นเป็นปณิธานระยะยาว

ซึ่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ Stage of change พบว่า คนทั่วไปจะผ่านการขึ้นๆลงๆ 3-4 ครั้ง กว่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมได้สำเร็จ

ถือซะว่า ปณิธานชีวิตเป็นกิจกรรมที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายได้สัมผัสกับการขึ้นๆลงๆของ stage of change ทำให้ในอนาคต

มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพมากขึ้น

 

2. กิจกรรมอื่นๆ

    • กิจกรรมเสียงตามสาย "เบาหวานน่ารู้ สู่ชุมชนบ้านคลองน้ำเค็ม" มาพร้อมความรู้คู่ความสนุก ปลุกความคิด

พิชิตใจตนเอง เพราะเราเชื่อในความคิดที่ว่า อยากอยู่เพื่อดูแลคนที่เรารัก ต้องรู้จักรักและดูแลตัวเองก่อน

ออกอากาศทุกวัน เวลา 10.30 น. และ 15.00 น. 

    • กิจกรรมออกกำลังกายด้วย "มณีเวช" โดยปณิธานพัฒนาตนเองของนิสิตแพทย์อยู่ในอันนี้ด้วยค่ะ

คือ จะผลัดกันขึ้นไปนำออกกำลังทุกเย็น

    • เพลงให้ความรู้เบาหวาน ตามหลัก 3อ. 2ส. ตอนนี้เพลงเสร็จแล้วค่ะ เอา Teaser ไปฟังเล่นๆกันก่อนนะคะ

https://www.mediafire.com/?2chjom9agg81lv3

 

ทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่พวกเราประคบประหงมกันมาตลอด 1 สัปดาห์กว่าๆ ค่ะ

หากมีข้อแนะนำ หรือคำติชมใดๆ ก็ช่วยชี้แนะด้วยนะคะ

พวกเราอยากให้สิ่งที่พวกเราตั้งใจทำ เป็นประโยชน์กับชาวบ้านที่น่ารัก ที่ีดีกับพวกเรามากๆนี้ จริงๆ

 

ปล. ยาวเนอะ อย่าเพิ่งเบื่ออ่านกันนะคะ :)

 

"Salty canal"

หมายเลขบันทึก: 558883เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2014 05:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มกราคม 2014 05:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

... ทำแผนที่ชุมชน ได้สวยมากค่ะ .... ขอบคุณค่ะ ....


ขอบคุณที่สรุปให้ทุกขั้นตอน

ตอนนี้กำลังเตรียมการแก้ปัญหา

(เป็นการapplyความรู้สู่การลองทำ)

ระหว่างลองทำฝากสังเกตและเรียนรู้ข้อดีข้อเสียของวิธีการนั้นๆด้วย

รอดูอย่างตื่นเต้นครับ

ปล.ผมเรียนให้อ.ประเวชทราบ อาจารย์อาจมาให้ความเห็น

ไงฝากต้อนรับอาจารย์ด้วยนะครับ

Dr. Ple : ขอบคุณค่าาาา,, คนทำมีกำลังใจทำงานอีกเยอะเลย :)

หมอมุ่ยครับ : ได้เลยค่ะ,, อาจารย์ ^^

เหมือนฟังการนำเสนอเลย

ต้องบอกว่า......สุดยอดค่ะ

เพลงน่าสนใจ

ติดหู หรือจะหาท่าเต้นประกอบเพลง

เป็นท่าออกกำลังกายดี

ขอบพระคุณค่ะ,, อาจารย์

เรื่องท่าเต้นประกอบเพลง เดี๋ยวต้องมีแน่นอนค่ะ เพิ่มสีสันและความน่าสนใจให้กับเพลง ^______^

ส่วนเรื่องเอาไปประยุกต์ใช้กับกิจกรรมอื่นๆ พวกเราจะหาทางพามันไปให้ได้มากที่สุดค่ะ ไหนๆก็ทำขึ้นมาแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท