ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๖๙. ชื่นใจในการทำหน้าที่ บอร์ด


 

          วันที่ ๒๑ และ ๒๒ พ.. ๕๖ผมได้เสพความชุ่มชื่นหัวใจ    จากการทำงานรับใช้สังคม ด้วยการเป็น บอร์ด ของหน่วยงานที่ทรงคุณค่ายิ่งต่อสังคม ๒ องค์กร

          องค์กรแรกคือ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส ที่มี ศ. นพ. ประเวศ วะสี เป็นประธาน   ดร. เสนาะ อูนากูล เป็นรองประธาน   และกรรมการที่เป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองอีกหลายท่าน    มูลนิธินี้ทำงานมา ๓ ปี   มีการจัดองค์กร และทำงานอย่างมืออาชีพ บวกกับจิตกุศลหรืออาสาสมัคร   ทำงานเพื่อสังคม   

          ดร. เสนาะ ได้แนะนำให้ทีมจากบริษัทปูนซีเมนต์ไทย มาจัดระบบการบริหารงาน   ทำระเบียบข้อบังคับต่างๆ    และระบบตรวจสอบ   ทำให้งานเป็นระบบขึ้นมากอย่างน่าพอใจ   ขั้นตอนต่อไปคือการมีกลไกตรวจสอบ compliance   คือตรวจสอบว่า มีการดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับที่กำหนด   

          กิจกรรมที่ดำเนินการรวมแล้วเป็น วงเงินปีละเกือบ ๔๐ ล้านบาท    โดยที่รายรับกับรายจ่ายพอๆ กัน   แต่เมื่อคิดค่าเสื่อมราคาของอาคาร จะติดลบประมาณปีละ ๑๐ ล้าน   คณะกรรมการจึงมีมติให้ดำเนินการรับบริจาคให้ชัดเจนขึ้น   ซึ่งหมายความว่า ให้อำนวยความสะดวกต่อผู้ศรัทธา และต้องการบริจาค   แต่ไม่มีการกระตุ้นหรือชักชวนให้บริจาค    และคณะกรรมการจัดหาทุนที่นำโดยคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ก็จะไปปรึกษาหารือหาวิธีเพิ่มกองทุนสนับสนุนการดำเนินการ  

          ที่จริง หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ทำงานเทียบมูลค่าแล้ว มากกว่า ๔๐ ล้านอย่างมากมาย   เพราะงานหลายส่วนดำเนินการโดยอาสาสมัคร   โดยอาศัยความสามารถในการเชื่อมโยงเครือข่ายของผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ คือ นพ.​บัญชา พงษ์พานิช

          ผมจึงมีความสุข ที่ได้มีส่วนร่วมเป็นกรรมการ ช่วยกันกำกับดูแลองค์กรสาธารณกุศลแห่งนี้

          องค์กรที่สอง คือ สถาบันคลังสมองของชาติ   ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่ความเข้มแข็งของสถาบันและระบบอุดมศึกษา    ในลักษณะทำงานหารายได้เลี้ยงตัวเอง    โดยได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดินปีละ ๙ ล้านบาท    รวมวงเงินดำเนินการ รายรับรายจ่ายก็เท่าๆ กัน    และเกือบเท่ากับของหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ    องค์กรนี้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ และมีการพัฒนาและวิวัฒนาการในการทำงานดีขึ้นมากมายในช่วง ๔ ปีที่ผ่านมา ที่ ศ. ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง มาเป็นผู้อำนวยการ

          ประธาน บอร์ด ของสถาบันคลังสมองฯ คือ ศ. ดร. พจน์ สะเพียรชัย   และมีกรรมการที่เป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมืองเช่นเดียวกัน    และที่ซ้อนกับของมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส คือคุณหญิงชฎา กับผม  

         ปีนี้มีการเสนอให้ปรับการบริหารงานภายใน เพื่อให้ประหยัด และการตอบแทนพนักงานเป็นไปตามผลประกอบการยิ่งขึ้น    โดยที่มีการวิเคราะห์กิจการเป็น ๓ ชั้น   ชี้ให้เห็นว่าชั้นกลางเป็นงานหลัก  ประกอบด้วย ๒ กลุ่มงาน  ที่เป็นงานหลักและทำงานเลี้ยงตัวเองได้    คืองานกลุ่ม ฝึกอบรมด้านธรรมาภิบาลอุดมศึกษา     กับงานกลุ่ม study visit และ workshop เพื่อพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา

          หน้าที่ของ บอร์ด คือ กำกับดูแลเชิงรุก ใน 3 mode ของการทำหน้าที่ธรรมาภิบาล    เพื่อให้องค์กรทำหน้าที่ยังประโยชน์แก่สังคมได้อย่างแท้จริงตามเป้าหมาย   อย่างน่าเชื่อถือ   และอย่างต่อเนื่องยั่งยืน    3 mode คือ Fiduciary Mode, Strategic Mode, และ Generative Mode

          ผมเคยเขียนเปรียบเทียบการกำกับดูแลองค์กร ๓ แบบ คือ อุดมศึกษา  มูลนิธิ  และธุรกิจ ไว้ ที่นี่ 

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๓.. ๕๖

 

 

หมายเลขบันทึก: 558342เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2014 08:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มกราคม 2014 08:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท