"ธุรจิต"


                                                          "จิตรู้ในจิต จนแจ่มแจ้ง"

                 ชีวิตมีแก่นที่มนุษย์เรียกว่า "จิต" จิตไม่มีตัวตนที่เราจะมองเห็นได้ด้วยสายตา.. จึงยากที่จะสื่อกันด้วยคำว่า "จิต" เพราะเป็นนามธรรม จึงเกิดปัญหาเวลาสื่อสารกัน เพราะผู้ฟังไม่เข้าไปในเรื่องที่สื่อ ซึ่งออกมาจากจิตหรือเจตจำนง เราจึงเรียกว่า "ไม่เข้าใจ" ในสองฐานคือ ๑) ใจของเรื่องนั้นๆ และ ๒) ใจของใจของผู้สื่อ จึงเกิดปัญหาที่เรียกว่า "ไม่เข้าใจ" คำถามที่จะถามคือ จิต คือ อะไร อยู่ที่ไหน และที่สร้างความสับสนให้เราอีกเช่นกัน คำว่า "จิตและใจ" เหมือนกันหรือต่างกัน

                 จิต คือ กระบวนการรับ การรู้ รู้สึก นึกคิด ในระบบสมอง ที่เกิดมาจากสองฐานคือ ๑) ข้อมูลจากภายนอก ๒) จากกระบวนการของระบบประสาท โดยมีศูนย์บัญชาการของมันคือ "สมอง" เพราะสมองคือ แหล่งการเก็บสะสมข้อมูลที่ได้มาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน จนทำให้เรามองเห็นโครงสร้างโลก ชีวิต สรรพสิ่งว่ามีระบบอย่างไรได้  แล้ววัยไหนที่จะเรียกว่า "จิต" จิตเด็กแรกเกิดจนถึง ๕ ขวบจะยังไม่พัฒนาได้สมบูรณ์ อายุ ๖ - ๑๐ ขวบ อยู่ในช่วงกระบวนการสร้างแผนที่โลก และระบบต่างๆให้เป็นโครงข่ายโยงใยในการรับรองการดำเนินชีวิตต่อไป

                 สำหรับเด็กโต วัยรุ่น ผู้ใหญ่ คือ ผู้กำลังพัฒนาจิตจนสมบูรณ์ไปตามลำดับ กระบวนการทั้งหมดนี้อยู่ใน ๓ ฐาน คือ ๑) กาลเวลา ๒) ประสบการณ์ การเรียนรู้ การสะสม ๓) การฝึกฝนหรือควบคุมให้อยู่ในฐานะมนุษย์ โดยอาศัยหลักศาสนา ระเบียบ วินัย ฯ จนนำไปสู่การพัฒนาจิตให้สมบูรณ์แบบขึ้น จะเรียกให้เข้าใจกันง่ายๆเรียกว่า "ตัวตน" ในแง่ศาสนามีความหมายลึกไปกว่านี้

                 ส่วนคำว่า "จิต" และ "ใจ" เหมือนกันหรือไม่ ขอแจงเช่นนี้ คำว่า "จิต" บอกแล้ว ส่วนคำว่า "ใจ" มาจากคำว่า "จัยหรือจย" หมายถึง ส่วนหนึ่งของมนุษย์ที่มีหน้าที่คิด รู้ การตรอง การหาเหตุผล เป็นศูนย์กลาง เช่น คำว่า ธรรมวิจัย (ธรรม+วิ+จัย) คือ การวิเคราะห์ การคิดตริตรองในธรรม วิจัย (วิ+จัย) คือ การสะสม การคิดวิเคราะห์ การหาข้อมูลเพิ่มเติมแต่งให้เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่  ดังนั้น คำว่า ใจหรือจัย จึงหมายถึง การคิดที่ลุ่มลึกในแง่หาความเหตุ หาต้นผล คิดหาผล ไตร่ตรอง วิเคราะห์ เรื่อง ข้อมูลจากที่รับรู้จากภายนอก (โลก)

                 ดูเหมือนเรากำลังดำเนินจิตหรือใจอยู่ตลอดเวลา เพราะนั่นคือ การเป็นตัวตนของตน การคิด การรู้ การวิเคราะห์ การหาเหตุผล ฯ คือ กระบวนการที่ทำงานในใจเราเป็นฐาน ซึ่งเป็นเรื่องกิจกรรมของจิตหรือเป็นเรื่องผลประโยชน์ของจิต ที่คาดหวังผลได้หรือผลเสียของชีวิต ฉะนั้น ชีวิตเราจึงมีงานใหญ่ในเรื่อง "จิต" เป็นเรื่องสำคัญ

                 ปฏิกิริยาหรือพฤติกรรมของเราที่เห็นการใช้จิตเป็นตัวการขับเคลื่อนคือ การคบกัน เวลามีความรัก การทำงาน ภาวะผู้นำ สถานการณ์คับขัน การถูกบีบคั้น ฯ เราจะต้องอาศัยจิตหรือใจเป็นเครื่องวัดว่า มั่นคง แน่นอน มีวุฒิภาวะ เป็นคนหนักแน่น จริงใจ แค่ไหนฯ

                ดังนั้น ผู้เขียนจึงมองว่าเรามีกิจกรรมจิตอยู่ ๕ ฐาน ดังนี้

                          ๑) ฐานการรับรู้จากระบบประสาททั้งห้า

                          ๒) ฐานการรับรู้ กระทบ สัมผัสสิ่งต่างๆ ทางประสาทมาสู่ภายใน

                          ๓) ฐานการแสดงความรู้สึกตอบโต้ หรือแสดงเหตุผลออกไปต่อสิ่งใด หรือบุคลลใด

                          ๔) ฐานการจัดการหรือการบริหารความรู้ ความรู้สึกดังกล่าว ให้อยู่ในกรอบหรือไม่อยู่ในกรอบ อาจแสดงออกแบบด้านลบ หรือด้านบวกก็ได้ หากไม่มีประสบการณ์หรือหลักธรรมดีพอ ก็จะบริหารล้มเหลว

                         ๕) การตามรู้ข้อมูลที่ได้มา การทบทวน การไตร่ตรองในตน ในใจตน และการนำรู้ตัวเอง การรู้เท่าทันตัวเองว่า ทำอะไร ในวิถีชีวิต กิจกรรม แต่ละวันหรือในแง่ปฏิบัติอาศัยหลักสมถะ และวิปัสสนาเรียกว่า "การนำรู้และตามรู้" 

               ฉะนั้น หลักการหรือฐานนี้ มิได้เป็นมาตรฐานแบบสากล เป็นช่องทางหรือเส้นทางที่ผู้เขียนมองเห็นเรามีธุรจิตแบบนี้กันทุกๆ คน แล้วแต่ใครจะมีหลักหรือประสบการณ์ในการบริหารจิตตนเองอย่างไร

--------------<>-----------------

คำสำคัญ (Tags): #จิต#รู้#ใจ
หมายเลขบันทึก: 557479เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2013 09:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ธันวาคม 2013 19:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณบทความดีๆ นะคะ

ทุกๆ วันบริหารจิตใจด้วยการ ฟังดีๆ พูดดีๆ คิดดีๆ มีทัศนคติดีๆ ลดอารมณ์อคติให้น้อยลง ...ไม่ยึดติดอะไรนานๆ

มาแล้วก็ปล่อยไป มาแล้วก็ปล่อยไปค่ะ ...แม้จะทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ไม่ได้หวังผล 100% แต่ก็พยายามค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท