สุขภาพดี วิถีเชียงกลาง


หลายครั้งเมื่อเรานึกถึงสุขภาพ เราก็มักนึกถึงหมอ นึกถึงโรงพยาบาลจนลืมไปว่าสุขภาพเป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของวิถีชุมชน หมอ โรงพยาบาล เป็นเพียงปลายทางของสุขภาพที่ป่วยแล้ว แต่สุขภาพจริงๆ ขึ้นอยู่กับวิถีการกิน การอยู่ การเป็นของชาวบ้าน เป็นเรื่องที่เขาต้องรู้และจัดการให้เหมาะสมกับบริบทของชุมชนเอง

การสร้างสุขภาพตามวิถีชุมชนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่บุคลากรสาธารณสุขและผู้เกี่ยวข้องพึงเข้าใจ เพราะชุมชนดำรงอยู่มาอย่างยาวนาน ผ่านการจัดการตนเอง มีการปรับตัวของชุมชนเองไปตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป หลายครั้งเราคิดว่าต้องไปสร้างนั่นสร้างนี่ให้ชาวบ้าน โดยที่ไม่ได้เกิดจากความต้องการที่แท้จริงของชุมชน ก็กลายเป็นเพียงกระแส ไฟไหม้ฟางที่เกิดขึ้นแล้วก็มอดไปการให้ชุมชนได้คิดและจัดการสุขภาพของตนเองตามวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนเอง โดยที่บุคลากรเพียงเข้าไปหนุนเสริม นี่เป็นเป้าหมายสูงสุดของการพึ่งตนเองทางด้านสุขภาพ

ตำบลเปือ อำเภอเชียงกลาง เป็นตัวอย่างของชุมชนที่เริ่มจัดการสุขภาพของตนเองตามวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน ไม่เอาหมอว่า แต่เอาชุมชนว่า เริ่มจากการนำเอาข้อมูลสุขภาพมาคุยกัน วิเคราะห์ร่วมกัน แล้วนำไปสู่การกำหนด “ธรรมนูญสุขภาพ” ของตำบลที่ผ่านการเห็นพ้องต้องกันของประชาคม นำไปสู่การจัดการตามแนวทางร่วมกัน โดยมีแกนนำ ๘๒ คน เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนในตำบล ทุกหมู่บ้าน มีการประชุมสรุปความก้าวหน้าของงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทุกเดือน

การออกกำลังกายตามวิถีที่หลากหลาย มีถนนสายสุขภาพรอบหมู่บ้านที่ชาวบ้านออกมาเดินในตอนเช้า ไม่ต้องไปสร้างสนามกีฬา ไม่ต้องมีอุปกรณ์อะไร เพียงแค่เดินเร็วๆ กันไปรอบๆ หมู่บ้าน ตามประสาชาวบ้านที่เรียกว่า “เดินไล่เหล่า” หมายถึงวิธีการเดินไล่ล่าสัตว์ในป่าแบบดั้งเดิมของชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมีการออกกำลังกายตามวิถี เช่น รำไม้พลอง รำมวย รำวงมะเก่า เปตอง เป็นต้น

อาหารปลอดภัย มีสารวัตรอาหารดูแลสุขาภิบาลอาหารให้ได้มาตรฐานในงานเลี้ยงของชุมชนทุกหมู่บ้าน

ปลูกผักปลอดสารพิษ เริ่มจากทุกครัวเรือนปลูกผักปลอดสารพิษกินกันในครัวเรือน

กาดสีเขียว(ตลาดสีเขียว) เป็นการนำผลผลิตผักปลอดสารพิษที่เหลือกินมาขาย ในตลาดที่สร้างขึ้นเอง ณ โรงพยาบาลเชียงกลาง ทุกวันพฤหัสบดี โดยมีการควบคุมผลิตภัณฑ์ที่ขายด้วยกลุ่มผู้ขายเอง มีสนง.เกษตรอำเภอ และสาธารณสุขให้การสนับสนุน

ตัวอย่างของอำเภอเชียงกลาง เป็นตัวอย่างของการเริ่มต้นการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอ(DHS) ที่เริ่มจากการทบทวนปัญหาผู้ป่วยแออัดในโรงพยาบาล แล้วนำไปสู่การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง และนำไปสู่การส่งกลับผู้ป่วยไปดูแลที่รพ.สต.ที่ผ่านการเตรียมพร้อมของบุคลากรและครุภัณฑ์เวชภัณฑ์ที่พร้อม โดยมีรพ.เป็นพี่เลี้ยงคอยหนุนเสริมพลังอำนาจของรพ.สต.ให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น เห็นคุณค่าของหมออนามัย ชาวบ้านยอมรับ และนำไปสู่การคิดร่วมกันของชุมชนในการที่จะลดโรค ป้องกันการเกิดโรครายใหม่ ผ่านธรรมนูญสุขภาพชุมชน

งานมหกรรมสุขภาพดี วิถีเชียงกลาง สานมิตรภาพเครือข่ายสุขภาพอำเภอ ณ ลานโพธิ์วัดหนองแดง เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๖ เป็นการแสดงพลังให้เห็นว่าชุมชนเอาจริง เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องคนเขา และเขาจะทำต่อให้ยั่งยืน

............................................................................

ขอบคุณเรื่องราวดีดีจากอำเภอเชียงกลาง และอำเภอข้างเคียงที่มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้กำลังใจ

ขอบคุณมิตรภาพ รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และอาหารพื้นถิ่นที่ให้ได้ชวนชิมอย่างเอร็ดอร่อย พร้อมกับฟัง ชม เรื่องราวดีดีที่สร้างพลังใจในการทำงานต่อไป

หมายเลขบันทึก: 557390เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2013 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2015 15:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เล่าได้เห็นภาพละเอียดนะคะคุณพ่อน้องซอมพอ น่าสนใจมาก เป็นแนวคิด แนวทางที่น่าศึกษา นำมาพัฒนาอำเภอสระใครบ้าง ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท