"พี่หนาน"
นาย พรพจน์ พี่หนาน เรียงประพัฒน์

แนวคิดการพัฒนาเชิงพุทธที่แฝงในบทมงคลจักรวาลน้อย


ควรจัดให้มีการพัฒนา ๗ อย่างไปพร้อม ๆ กัน คือ พัฒนาอายุ พัฒนาทรัพย์ พัฒนาศรี พัฒนายศ พัฒนากำลัง พัฒนาวรรณะ พัฒนาสุข

๒๒/๑๒/๒๕๕๖

**********

 

แนวคิดการพัฒนาเชิงพุทธที่แฝงในบทมงคลจักรวาลน้อย

            หน่วยงานองค์กรต่าง ๆ ควรให้ความสนใจและลองนำไปปรับใช้หรือบริหารงานของตนได้ตามความเหมาะสม ไม่น่าจะเกิดความยุ่งยากมากจนเกินไป

         คำว่า วัฑฒก เป็นรากศัพท์ภาษาบาลี ที่เมื่อปรับมาเป็นภาษาไทยแล้วก็จะเป็น  วัฒนา หรือ พัฒนา ซึ่งหมายถึง ความเจริญ หรือ ความงอกงาม นั่นเอง ทางพุทธศาสนาต้องการให้เกิดความเจริญทั้ง ๗ ด้าน หรือ ๗ วัฒน์ คือ 

อายุวัฑฒโก  ความเจริญอายุ   อายุหมายถึง เวลาที่ดำรงชีวิตอยู่, เวลาชั่วชีวิต, ช่วงเวลานับตั้งแต่เกิดหรือมีมาจนถึงเวลาที่กล่าวถึง และ ระยะเวลาที่กำหนดไว้  ทำอย่างไรถึงจะพัฒนาชีวิตที่ดำรงอยู่นี้ ให้ถึงเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้อย่างมีคุณภาพ  สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณา คือ

-      พันธุกรรม   ให้การพัฒนารักษาผู้พิการในด้านต่าง ๆ อย่างดี และให้การพัฒนารักษาผู้ปกติอย่างดีเช่นกัน   พันธุกรรมจึงสัมพันธ์กับแพทย์ สถานีอนามัยและโรงพยาบาลโดยพิจารณาที่

  • การเกิด  มีสวัสดิการ หรือพัฒนาการให้กับผู้เป็นมารดา บุตร ผู้ดูแลปฐมพยาบาลหรือเฝ้าไข้อย่างเหมาะสม
  • การแก่  มีสวัสดกิการหรือพัฒนาการให้กับผู้งอายุ อย่างเหมาะสม
  • การเจ็บ  มีสวัสดิการหรือพัฒนาการให้กับผู้ที่บาดเจ็บ หรือที่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม
  • การตาย มีสวัสดิการหรือพัฒนาการให้กับผู้ตายหรือญาติของผู้ตายให้ได้รับอย่างเหมาะสม

-      สิ่งแวดล้อม  บางท่านเกิดในสถานที่ดี ถึงแม้จะมีนิสัยไม่ค่อยได้เรื่อง ก็ยังดีได้ไม่เลวร้ายสักเท่าไหร่ บางท่านเกิดในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี ถึงแม้จะเป็นคนดีอยู่บ้าง  ก็อาจทำผิดพลาดไปกับสังคมที่ไม่ดีได้ ควรให้อภัยและให้โอกาสพวกเขา และดึงเข้ามาเป็นแนวร่วมในการพัฒนาและให้ความช่วยเหลือในด้านการพัฒนาและฟื้นฟูสภาพจิตใจให้คืนกลับเป็นปกติ    

-      ควรพัฒนาสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่อาศัย ปลอดจากมลพิษ สิ่งเสพติดให้โทษ และอบายมุขต่าง ๆ  เช่น ถนนหนทางท่อระบายน้ำในหมู่บ้านสะอาดปราศจากสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอย  ประกาศให้เป็นหมู่บ้านสีขาวปลอดยาเสพติด  และงานศพควรให้มีการยกเลิกการเล่นไพ่ ไฮโล เป็นต้น

-      จัดอบรมและให้มีการปฏิบัติธรรม  ในโอกาสวันสำคัญของชาติ แก่เยาวชน  ผู้ใหญ่ และ ผู้สูงอายุ อย่างสม่ำเสมอ

 

ธนวัฑฒโก  ความเจริญทรัพย์   ทรัพย์ หมายถึง เงินตรา, สมบัติพัสถาน, สิ่งที่มีรูปร่างและอาจไม่มีรูปร่างก็ได้ แต่มีค่าในตัวเอง เช่น มีปัญญาเป็นอริยทรัพย์ 

        ทำอย่างไรให้ประชาชนหรือผู้ใต้บังคับบัญชา มีเงินตรา สมบัติพัสถาน  สามารถใช้จ่ายอย่างพอเพียง ไม่เดือดร้อน  พัฒนาตามหลักทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ๔ (เคยเขียนไว้ใน กรอบแนวคิดการพัฒนาชนบท บันทึกที่ 438855) อันประกอบด้วย

      -  ขยันหาทรัพย์  หมั่นแสวงหาทรัพย์ในทางที่ถูกต้องไม่ผิดศีลธรรม พัฒนาให้เกิดการเพิ่มรายได้

      -  รู้จักการรักษาเก็บออมทรัพย์สินที่หาได้มาอย่างรู้ค่า ไม่สุรุ่ยสุร่าย ฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายเกินตัว พัฒนาให้เกิดการลดรายจ่าย และมีการฝากเงิน

      - รู้จักการเลือกคบคนที่เหมาะสมกับตน ไม่คบคนเลวหรือผู้นำไปในทางเสื่อมเสีย  พัฒนาโดยเสริมเพิ่มปัญญาหรือมุมมองการขยายโอกาสในการทำกิน

      - เลี้ยงชีวิตตามความเหมาะสมไม่ให้ฝืดเคืองหรืออัตคัดขัดสนจนเกินไป  พัฒนาหรือส่งเสริมให้ความรู้ทางธรรมและเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเหมาะสม โดยเน้นว่า “อย่าขาดสติ”

 

สิริวัฑฒโก  ความเจริญสิริ   หมายถึง ผสม, รวม, ศรี, มิ่งขวัญ หรือ มงคล ก็ได้  คือ การพัฒนาให้เกิดความสามัคคี ให้เกิดแต่สิ่งสวยงาม สิ่งดีงาม ก่อให้เกิดความสนุกสนานเป็นมงคล

     -  พัฒนาโดยมุ่งใช้วัฒนธรรมทางศาสนาเป็นศูนย์รวมใจให้ผู้คนหันหน้าเข้าหากัน สามัคคี ทำดีต่อกันและกัน หรือจะพัฒนาเฉพาะบุคคลก็ได้ เช่น เป็นเจ้าภาพงานการผูกข้อต่อแขน  การสู่ขวัญหรือรับขวัญผู้อาวุโส  ผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อบ้านเมือง  ผู้โยกย้ายหรือคืนสู่เหย้า เป็นต้น

     -  พัฒนาโดยการเปิดกว้างให้เกิดการแสดงความคิดเห็น และเกิดการปรึกษาหารือกันให้มากกว่าการรวบอำนาจในกลุ่มคนเพียงไม่กี่คน  โดยถือหลักปรัชญาของจีนที่ว่า “มีมิตรร้อยคนยังว่าน้อยเกินไป มีศัตรูหนึ่งคนนับว่ามากเกินไป”  สร้างขวัญความรักความสามัคคีให้เกิดต่อองค์กร หน่วยงาน ชุมชนหรือหมู่บ้าน

     -  พัฒนาโดยมุ่งก่อให้เกิดความสนุกสนานไม่เครียด เช่น แข่งกีฬา แข่งบั้งไฟ แข่งเรือ วันเฉลิมพระชนม์พรรษา บุญประเพณีต่าง ๆ เป็นต้น  

 

ยสวัฑฒโก  ความเจริญยศ  ยศ หมายถึง ความยกย่องนับถือเกียรติของคน, เกียรติคุณ หรือ เครื่องกําหนดหมายฐานะหรือชั้นของบุคคล 

     - พัฒนาโดยให้ขวัญกำลังใจแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา  โดยการปรับเบี้ย ปรับค่าแรง หรือให้โบนัสตามความรู้ความสามารถอย่างเหมาะสม

     -  พัฒนาโดยการยกย่องหรือปรับตำแหน่งในด้านต่าง ๆ แก่ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชา

     - ยกย่องให้เกียรติผู้มีความรู้ความสามารถ อาจจะไม่เกี่ยวกับงานหลักที่ทำอยู่ เช่น ครูภูมิปัญญาชาวบ้าน ครูที่ช่วยสอนพิเศษ  อาจารย์ที่ช่วยสอนพิเศษ เป็นต้น

     - มอบเครื่องเชิดชูเกียรติที่หน่วยงานหรือองค์กรสร้างขึ้น ให้กับผู้ทำคุณงามความดีแก่หน่วยงานหรือสังคม เช่น  อนุโมทนาบัตร  วุฒิบัตร  ใบประกาศเกียรติคุณ  เหรียญตราสัญลักษณ์ เป็นต้น

 

พละวัฑฒโก  ความเจริญกำลัง   กำลัง หมายถึงสิ่งที่ทำให้เกิดอำนาจความเข้มแข็งหรือ มีแรง ควรให้การพัฒนาในด้าน

     - สถานที่ออกกำลังกาย  สวนสุขภาพ  ลานกีฬา หรือส่งเสริมสนับสนุนอุปกรณ์การออกกำลังกาย อุปกรณ์กีฬาในด้านต่าง ๆ

     - อาหารเพื่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโทษ จัดให้มีข้าวเพื่อสุขภาพ  ตลาดกลางเพื่อชุมชน(ตลาดสด) หรือตลาดปลอดสารพิษ เป็นต้น

     - สาธารสุข ตรวจวัดสุขภาพ ตรวจเชื้อโรคในอาหาร  ตรวจลูกน้ำยุงลาย และสัตว์นำโรคต่างๆ ในหน่วยงาน และชุมชนหมู่บ้าน

 

วัณณวัฑฒโก  ความเจริญวรรณะ  วรรณะ หมายถึง ผิวพรรณ, สี, ชั้นชนหรือ หนังสือก็ได้  แนวคิดการพัฒนาก็ควรที่จะพัฒนาในด้าน

     - ส่งเสริมการทำสปาหรือการนวดแบบแผนไทยและแบบผสมสมัยใหม่

     - ส่งเสริมการบูรณะซ่อมแซมปรับปรุงสิ่งของวัสดุ หรือการทาสีให้สดใสใหม่อยู่เสมอ

     - การให้ความเท่าเทียมกันในด้านต่าง ๆ ไม่เห็นแก่พรรคพวก  แจกข้าวของก็ให้เสมอเหมือนกัน

     - ส่งเสริมการศึกษาเล่าเรียนของเด็กทุกวัย พร้อมทั้งการศึกษาเพื่อสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลหรือองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในชุมชนหรือองค์กร อย่างเป็นระบบหรือเป็นรูปเล่มก็ได้

 

สุขวัฑฒโก  ความเจริญสุข  สุข หมายถึง ความสบายกายสบายใจสบายกายอย่างเดียวไม่สบายใจก็ไม่สุข  สบายใจอย่างเดียวไม่สบายกาย ก็ไม่ชื่อว่าสุข อีกนั่นแหละ

      - ความสบายกายคือ ส่งเสริมหรือพัฒนาให้เกิดการอยู่ดีกินดี ไม่อดอยาก ยากจน นั่นคือการสร้างงาน และสร้างเงินให้พอเพียงกับการใช้จ่าย ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ให้เป็นหนี้หรือมีหนี้น้อยที่สุด เป็นนายของตนเอง ไม่ตกเป็นทาสของใครหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด

        หน่วยงานหรือองค์กรควรให้การพัฒนาด้านต่าง ๆ ดังกล่าวมา ส่งเสริมให้ชาวประชามีที่อยู่อาศัย มีที่ทำกิน มีงานทำ มีเงินใช้ ไม่มีหนี้สินจนเกินตัวและไม่เจ็บป่วยไข้

      - ความสบายใจคือ ความสงบร่มเย็น ผู้คนมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รักสามัคคีเป็นมิตรที่ดีต่อกัน ไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีขโมย ไม่มีผู้ก่อการร้าย ไม่มีการปล้นฆ่าข่มขืน

        หน่วยงานหรือองค์กรควรให้การพัฒนาด้านต่าง ๆ  โดยสรุปคือ การสร้างความมั่นคงต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใต้บังคับบัญชา ลูกน้อง หรือชาวบ้าน  ให้เกิดความมั่นใจ ไม่มีเรื่องราวจนเกิดการกระทบกระทั่ง ทะเลาะวิวาทเกิดขึ้นได้

         แนวคิดดังกล่าวมามองจากหลักการหรือแนวคิดทางพุทธศาสนาเชิงประยุกต์จากบทที่พระให้พรแก่ชาวพุทธที่ชื่อว่า มงคลจักรวาลน้อย  ประกอบกับคำนิยามหรือคำแปลความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒  มาขยายคำ หากท่านใดเห็นว่าเกิดประโยชน์จะนำไปปรับใช้บริหารองค์กร หน่วยงาน หรือชุมชน หมู่บ้าน ก็เชิญตามความสะดวก  นักวิชาการหลายท่านอาจจะรู้หรือเข้าใจแล้วและมีมุมมองที่แตกต่างจากนี้ก็ไม่ว่ากัน  บันทึกนี้ก็เป็นเพียงมุมมองของพี่หนานผู้เขียนคนหนึ่งเท่านั้น  อาจจะไม่มีความลุ่มลึก ลึกซึ้งหรือชัดเจนสักเท่าไหร่  แต่ก็จะขอรับคำวิพากย์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นร่วมจากหลายท่านด้วยความเต็มใจและยินดียิ่ง

 หากทำเป็นแผนผังที่สร้างจากโปรแกรมแนะนำ 7 Edraw Mind Map ก็จะได้ดังนี้ (กำลังทดลองใช้อาจจะยังไม่สมบูรณ์แบบ)

ขอบคุณทุกท่านที่อ่านและสนใจ

ขอบคุณโกทูโนว์

 

หมายเลขบันทึก: 557054เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2013 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ธันวาคม 2013 15:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

โอ้ โฮ เยี่ยมขอนำไปสอนเด็กหน่อยนะคะ

... ขอบคุณบันทึก ที่ให้ความรู้ดีดีนี้ สุขกาย-สุขใจ นะคะ

  • ขอบคุณสมาชิกที่ให้กำลังใจทุกท่านมากครับ
  • ขอบคุณอาจารย์อัญชัญ ที่ชม หากเห็นว่าเกิดประโยชน์ก็ยินดีครับ
  • ขอบคุณอาจารย์หมอ ดร.เปิ้ลที่ให้กำลังใจมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท