"ท่านสื่อสาร แบบใด"


                  ชีวิตของเราดูเหมือนจะเกี่ยวข้องอยู่กับ "ตนเอง สิ่งต่างๆ และภาษา" เป็นกิจกรรมใหญ่ๆ ทีเดียว ในเส้นทางของชีวิตแต่ละคนที่ครองตนอยู่บนโลกมา จนเติบใหญ่ ข้อมูลที่เราได้ มันจมซ่อนอยู่ในธนาคารข้อมูลคือ "สมองทั้งสิ้น" แล้วเราสื่อสารหรือนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้อย่างไร เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่เราสื่อสารจากข้อมูลมาแล้วล้วนเป็นอดีตทั้งสิ้น แล้วแต่ใครจะจำได้ลึกหรือตื้นอย่างไร (ต้องไปเรียนญาณวิทยาถึงจะรู้) ผู้เขียนเลยคิดลำดับเรื่องที่เราใช้ภาษาใน ๕ กรอบนี้ (ดูสิว่า ใครจะอยู่ในกรอบใดอะ)

                 ๑) กรอบแห่งประสบการณ์ (Experience Frame) กลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์ชีวิต การเผชิญอุปสรรค มีกิจกรรมโลก ชีวิต ฯ มามาก ทำให้มีข้อมูลมากไปด้วย การแสดงออกจึงต้องอาศัยฐานจากประสบการณ์มาเล่า กรอบนี้ รวมเอาประสบการณ์ใหม่ๆ ล่าสุดด้วย (วินาที นาที ชั่วโมง วัน ที่เพิ่งผ่านมา จนเลยไปถึงอดีตหลายๆปีที่ผ่านมาด้วย)

                ๒) กรอบทัศนะ (View Frame) กลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่แสดงความเห็น ทัศนะ ข้อคิด ฯ ซึ่งมาจาก ๒ ทางคือ คิดเองและถูกกระตุ้นให้คิด การคิดจึงแสดงออกมาด้วยข้อความภาษาสดๆ ในปัจจุบัน กรอบนี้รวมถึง กลุ่มนักคิด นักเขียน นักใฝ่รู้ หาสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ

                ๓) กรอบชี้แจง (Explanation Frame) กลุ่มนี้ เป็นนักชี้แนะ นักประชาสัมพันธ์ อธิบาย แถลงการณ์ นักข่าว นักพรีเซ้นต์ นักโฆษณา ฯ เพื่อให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงตามเอกสารหรือแหล่งข้อมูล หรือตอบโต้ แก้ต่างๆ เรื่องราวต่างๆ ทั้งอดีต ปัจจุบัน

                ๔) กรอบคำสอน (Teaching Frame) กลุ่มนี้ เป็นการให้ความรู้ ความจริง ความถูกต้อง ทั้งทางโลกวิสัย และทางธรรมนัย กรอบกลุ่มนี้คือ นักวิชาการ ครู พระ หมอ ผู้นำ ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ ซึ่งอาจคาบเกี่ยวกลุ่มที่หนึ่งด้วย

                ๕) กรอบบำบัด ( Healing Frame) กลุ่มนี้ เป็นการสื่อสารแบบเคยคุ้นชินหรือเพียงอุทาน หรือเพียงรำพึง รำพัน ที่สื่อสารกันในชีวิตประจำวันที่ไม่เป็นทางการ สื่อออกตามแต่จะคิด รู้สึก สนุก สนาน เพลิดเพลิน ฯ กรอบนี้ รวมไปถึง กิจกรรมประจำวันเล่นๆ สนุก ไม่ได้จริงจัง ขำๆ ตลกเล่นคำเท่านั้น เพื่อบำบัดตนเองหรือสร้างบันเทิงให้เกิดขึ้นในกลุ่ม

                 ดังนั้น ท่านอยู่ในกลุ่มใดบ้าง หรือจะเหมาหมดเลย กรอบนี้ มิได้ตายตัว อาจมีกรอบอื่นๆ ได้ ลองแชร์ความคิดเห็นกันมาดู ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เราได้ใช้เป็นลักการ ในการสื่อสารให้ตรงเป้าหมายเจตจำนงของตน และให้สอดคล้องกับคนอื่นได้ครับ -----------------<>--------------------

คำสำคัญ (Tags): #สื่อสาร#กรอบ
หมายเลขบันทึก: 557040เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2013 08:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ธันวาคม 2013 15:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

การลงมือทำ ก่อเกิดเป็นปัญญา..คือที่มาของ "ปัญญาปฏิบัติ"
คำสอนเองก็ในทำนองเดียวกัน ก็ล้วนเกิดจากประสบการณ์ หรือปัญญาปฏิบัติ คำสอนในอีกสถานะเป็นประหนึ่งมรดกทางสังคมของคนเราเลยทีเดียว..

ขอบคุณสาระดีๆ ในบันทึกนี้นะครับ

ขอบคุณแผ่นดินครับ "ปัญญาปฏิบัติ" คำนี้ ทำให้ผมคิดไปได้หลายคนทีเดียวครับ ๑) ศ. วิจารณ์ พานิช บอกว่า "ความรู้แบบแพะชนแกะ" (KM) หมายถึง การนำความรู้ด้านทฤษฎีมาเป็นหลักและลงมือปฏิบัติจึงเกิดปัญญา ๒) แนวคิดของในหลวงชัดเจนที่นำเอาหลักทางสายกลางมาเป็นหลักปฏิบัติ จนนำไปสู่ความแนวคิดเอาตัวรอด นี่คือ "ปัญญาชาวบ้าน" (ปรัชญาชาวบ้าน) ๓) แนวคิดนี้ในปรัชญา ค้านท์ เน้นความรู้เกิดขึ้นสองทาง ความรู้ก่อนและความรู้หลัง (posterio knowledge) ซึ่งนำสู่ความรู้แบบหยั่งรู้ตน (Intuition) ๔) แนวคิดของ จอฮ์น ดิวอี้ ที่นำแนวคิดของ วิลเลี่ยม เจม มาขยาย เป็นแนวไปสู่การปฏิบัติไปสู่ปัญญา (Learning by doing) ๕) พระพุทธเจ้าก็ฝึกทดสอบด้วยการลงมือฝึกฝนก่อนเกิดปัญญา (Insight)

ดังนั้น "ปัญญาปฏิบัติ" (Practical Intelligence) นี้ อาจมาจากการบูรณการก็ได้นะครับ เพราะ “ชีวิต” คือ ศูนย์กลางในภาคปฏิบัติและทดสอบ ที่พร้อมเสมอที่จะรองรับกับหลักการทั้งปวงของนักคิดทั่วไป

ขอบคุณสำหรับข้อคิดเห็นครับ

สำหรับความเห็นของไอดินฯ คิดว่า รูปแบบของการสื่อสารใน 5 แบบที่คุณ ส.รัตนภักดิ์กล่าวถึง อาจจะขึ้นอยู่กับบริบทและวัตถุประสงค์ของการสื่อสารในแต่ละครั้ง มากกว่าที่จะขึ้นอยู่กับบุคลิภาพของผู้สื่อสาร อย่างเช่น ไอดินฯ เอง ในการเขียนบันทึกใน GotoKnow ในแต่ละเรื่อง จะสื่อสารอยู่ใน ๔ กรอบ ได้แก่ ๑) กรอบแห่งประสบการณ์ (Experience Frame) ๒) กรอบทัศนะ (View Frame) ๓) กรอบชี้แจง (Explanation Frame) และ ๔) กรอบคำสอน (Teaching Frame)

ทั้งนี้ในการเขียนเรื่องหนึ่งๆ จะใช้มากกว่า 1 กรอบ ซึ่งส่วนใหญ่จะมักจะมีกรอบ ๑ และ/หรือกรอบ ๒ ร่วมด้วยเสมอค่ะ อย่างเช่น ถ้าเป็นเรื่องที่มุ่งเสนอความรู้ ก็จะใช้กรอบ ๔ เป็นหลัก แทรกด้วยกรอบ ๑ และ ๒

หรือถ้าเป็นเรื่องที่มุ่งเสนอแนวคิด ก็จะใช้กรอบ ๒ เป็นหลัก แทรกด้วย กรอบ ๑ และกรอบ ๓ เป็นต้น ค่ะ

ครับอ.ไอดินฯ ผมเห็นด้วยครับ ... ผมรู้สึกว่าเวลาเราอยากสื่อ อยากแสดงความเห็นตนเอง หรือกับใคร ที่ไหน ผมว่าเราควรตั้งเจตจำนงก่อน (เหมือนอ.ว่าละครับ) ว่า สื่อเพื่ออะไร ลึก ตื้น กรอบ เป้าหมาย อะไรไว้ในใจคร่าวๆ ก่อน มิฉะนั้น ก็จะกลายเป็นแค่กรอบ ที่ ๕ ที่นี่ G2K คือ แหล่งบันทึกสาธารณะ (ขออภัยทุกท่าน) เป็นเวทีให้เราได้แสดงความคิด ความเห็น ประสบการณ์ร่วมกันในทางสร้างสรรค์ มิใช่แค่รำพึง รำพันเล่นนะครับ (ความเห็นส่วนตัวครับ :ลางเนื้อชอบลางยาครับ) อีกอย่าง การตอบโต้สื่อสารในกรอบเล็กๆท้ายบันทึกนี้ ก็ยิ่งสร้างแรงกระเพื่อมทางความคิด เหมือนประชุมความคิดกัน ปฏิสัมพันธ์กันด้วยคำพูด แง่คิด ส่งสื่อถึงกัน (การสื่อสารแบบสองทาง) ผมเคารพอ. ไอดินฯ ในฐานะผู้มีประสบการณ์ชีวิต คำคม ปรัชญา ชีวทัศน์ ทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคม และในฐานะผู้นำวิญญาณแห่งมนุษย์ (ครู) ครับ ฉะนั้น ผมอยากได้แนวคิด หลักการ ปรัชญา มุมมอง โลก ชีวิต สังคม จิต อารมณ์ความรู้สึกร่วม ฯ ของอ. ไอดินฯ และขอให้เป็นadviser ด้านการเขียนด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

ดิฉันใช้ผสมผสานกันไปค่ะ ตามความเหมาะสมค่ะ...

ทำให้ดู อยู่ให้เห็น ปฏิบัติให้เป็น ขำๆ รำพันเป็นบางคราค่ะ

เพราะคนที่เราสื่อสารด้วยมีหลายหลาก มากมายเลยค่ะ

ประสบการณ์ที่เคยเรียนรู้คนแต่ละคนมาก่อน จะบอกเราว่าควรจะสื่อสารกับคนๆ นั้นอย่างไรค่ะ

ไม่มีกฏตายตัวค่ะ มองเชิงบวกไว้สร้างสรรค์ แต่ไม่ลืมมองเชิงลบไว้บ้างไว้ระวังค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ไม่มีกฏตายตัว มองบวก ในแง่ลบนิดๆ เออ น่าคิดนะ.. ขอบคุณlily

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท