การยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศไทย: กระแสสากลกับกระแสภายในประเทศ


                                      การยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศไทย: กระแสสากลกับกระแสภายในประเทศ

                                                                                                                           นัทธี จิตสว่าง

 

          โทษประหารชีวิต นับเป็นโทษที่มีการนำมาใช้ปฏิบัติในสังคมไทยมาเป็นเวลานาน ตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน โดยกล่าวกันว่าเป็นการลงโทษที่มุ่งลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทน ให้สาสมกับความผิดที่ได้กระทำไป อีกทั้งยังเป็นการลงโทษที่มุ่งสร้างความหวาดกลัวต่อผู้ที่คิดจะทำผิด เพื่อให้เกิดการยับยั้งอันจะนำมาซึ่งความสงบเรียบร้อยในสังคม โทษประหารชีวิตจึงถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในยุคที่มีการใช้อำนาจตามประกาศคณะปฏิวัติจะมีการนำโทษประหารชีวิตมาใช้บ่อยครั้ง รวมทั้งมีการประหารชีวิตในที่เกิดเหตุในทันทีที่มีการจับกุมผู้กระทำผิดได้

          อย่างไรก็ตามเมื่อปัจจุบัน แนวคิดในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดเปลี่ยนไป สังคมเริ่มมองถึงปัจจัยต่างๆในสังคม หล่อหลอมขัดเกลาผู้กระทำผิด ประกอบกับกระแสสิทธิมนุษยชนที่เป็นกระแสสากลและแรงผลักดันจากนานาชาติตลอดจนองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ทำให้เกิดกระแสการผลักดันให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิต แม้จะยังไม่ถือว่าเป็นเสียงข้างมากในสังคมไทยแต่ก็ได้รับการยอมรับเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในวงการวิชาการและผู้คนสาขาวิชาชีพต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีกระแสคัดค้านจากภายในประเทศ โดยเฉพาะจากสาธารณชนที่ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกโทษประหารชีวิต ดังนั้น เรื่องการยกเลิกโทษประหารชีวิตจึงเริ่มเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันในสังคมไทยมากขึ้น บทความเรื่องนี้จึงนำเสนอแนวคิด จุดยืน และการเคลื่อนไหวในการผลักดันให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศไทยที่มาจากกระแสสากลและแนวคิดจุดยืน ตลอดจนเงื่อนไขในการต่อต้านของฝ่ายตรงข้ามซึ่งมาจากกระแสภายในประเทศ

 

         

ฝ่ายเสนอยกเลิกโทษประหารชีวิตตามกระแสสากล

          เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าการยกเลิกโทษประหารชีวิตเป็นกระแสสากล เป็นการผลักดันจากกลุ่มหรือองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆรวมตลอดถึงองค์การระหว่างประเทศในระดับสหประชาชาติ ภายใต้กระแสสิทธิมนุษยชนที่ถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่มนุษยชาติจะต้องเคารพโดยไม่มีการแบ่งแยกหรือมีการปฏิบัติที่แตกต่างๆ โดยเฉพาะสิทธิของผู้ต้องสงสัยหรือถูกจับกุมตัวหรือถูกคุมขังหรือเป็นนักโทษประหารที่จะได้รับการปฏิบัติโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ถูกลงโทษด้วยการทารุณโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม

          ดังนั้นในส่วนของฝ่ายที่ต้องการให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตจะเห็นว่าโทษประหารชีวิตเป็นโทษที่ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ในการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ ที่มนุษย์ทุกคนมีสิทธิเสมอกัน โดยไม่คำนึงถึงสถานภาพ ชาติพันธุ์ ศาสนา และสถานะทางกฎหมาย เป็นสิทธิที่ไม่อาจพรากไปจากบุคคลได้ แต่การจะใช้โทษประหารชีวิตย่อมมีความเสี่ยงที่จะเกิดการเลือกปฏิบัติ เพราะส่วนใหญ่ของนักโทษที่ถูกประหารชีวิตคือคนยากจน คนด้อยโอกาสซึ่งไม่สามารถจ้างทนายความที่มีฝีมือเพื่อแก้ต่างให้กับตนเองได้หรือเป็นคนเชื้อชาติ ผิวสี หรือสถานะทางสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ แสดงให้เห็นว่าโทษประหารชีวิตได้ถูกนำมาใช้แบบเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ผิว และสถานะทางสังคม

          นอกจากนี้การใช้โทษประหารชีวิตยังมีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดโดยอาจถูกนำไปใช้กับผู้บริสุทธิ์ เพราะระบบยุติธรรมไม่ว่าประเทศใด อาจมีความผิดพลาดได้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นหากมีการประหารชีวิตไปแล้วก็จะไม่สามารถเรียกชีวิตกลับคืนมาได้แม้ต่อมาภายหลังจะปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกประหารชีวิตนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ตาม

          นอกจากนี้ ในประเด็นเกี่ยวกับการยับยั้งการกระทำผิดของโทษประหารชีวิตที่แสดงให้เห็นว่า โทษประหารชีวิตไม่มีผลในการข่มขู่ ยับยั้ง ที่ทำให้คนเกรงกลัวและไม่กล้าทำผิด เพราะโทษที่หนักจะมีผลในการยับยั้งต่อเมื่อการบังคับใช้กฎหมายมีความแน่นอน รวดเร็ว และเสมอภาค ดังนั้น โทษประหารชีวิตจึงมีผลต่อการยับยั้งการกระทำผิดของบุคคลทั่วไป (ซึ่งไม่ทำผิดอยู่แล้ว) แต่ไม่มีผลในการยับยั้งผู้ร้ายหรือผู้กระทำผิดที่เป็นอาชญากรอาชีพ มีความชำนาญและตัดสินใจทำผิดเพราะคิดว่าตัวเองหลุดรอดหรือผู้กระทำผิดที่มีความโหดเหี้ยมทารุณ ซึ่งกระทำไปแบบไม่ได้คิดไตร่ตรอง หรือมีข้อจำกัดในการคิดไตร่ตรอง เนื่องจากถูกครอบงำจากสภาพแวดล้อมหรือสิ่งเสพติด

          ข้อสำคัญ กลุ่มที่อ้างกระแสสากล มักจะนำแนวโน้มของการใช้โทษประหารชีวิตในประเทศต่างๆทั่วโลกที่มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง ประเทศส่วนใหญ่ได้ยุติการประหารชีวิตไปแล้ว ทั้งในทางกฎหมายและทางปฏิบัติประมาณเกือบ 140 ประเทศ โดยมี 96 ประเทศ ยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท  อีก 9 ประเทศ ยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดอาญาทั่วไปเท่านั้น และ 35 ประเทศ ยกเลิกโทษประหารในทางปฏิบัติ ในขณะที่มีเพียง 58 ประเทศ ที่ยังคงมีบทลงโทษประหารชีวิต โดยประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้วมีอยู่ 2 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ กับ กัมพูชา ทั้งนี้โดยการกดดันจากกระแสสากลจะมาจากองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ ซึ่งจะปรากฏในรูปของรายงานสถานการณ์ประจำปีด้านสิทธิมนุษยชน หรือ การประชุมระหว่างประเทศ ตลอดจนการลงนามในข้อมติต่างๆขององค์กรสหประชาชาติ

 

        

              อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่ต้องการให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศไทย ได้ตระหนักถึงแรงต้านจากสาธารณชนที่ไม่เห็นด้วยและคัดค้านอย่างหนักต่อการยกเลิกโทษประหารชีวิต ดังนั้น การเคลื่อนไหวของฝ่ายนี้จึงหันไปเน้นที่ฝ่ายการเมือง รัฐบาล และองค์กรภาครัฐ เพราะการยกเลิกโทษประหารชีวิต ซึ่งจะต้องดำเนินการโดยรัฐสภาหรือกลไกผลักดันของรัฐบาล ขณะเดียวกันก็ยอมรับในความเป็นไปได้ของการยกเลิกโทษประหารชีวิตว่าจะต้องดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งได้ทำสำเร็จไปแล้วในบางส่วน กล่าวคือ การยกเลิกโทษประหารชีวิตในเด็กและเยาวชน ตลอดจนสตรีมีครรภ์ และการที่ประเทศไทยได้ลงมติ “งดออกเสียง” และไม่คัดค้านต่อข้อมติการพักใช้โทษประหารชีวิตในการประชุมสมัชชาใหญ่ องค์การสหประชาชาติ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 ซึ่งเป็นครั้งแรกหลังจากที่ประเทศไทยลงมติคัดค้านมาโดยตลอด นอกจากนี้ยังมีการจัดทำแผนแม่บทสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2552 – 2556) โดยมีตัวชี้วัดที่ระบุถึงการยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศไทย สำหรับในการดำเนินการต่อไป ฝ่ายที่ต้องการให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตได้มีการดำเนินการในด้านต่างๆ ในการก้าวไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยการผลักดันให้แผนแม่บทสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2556-2561) ที่รัฐบาลจะประกาศอย่างเป็นทางการให้บรรลุตัวชี้วัดต่อความสำเร็จในการดำเนินการตามแผนนี้ให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยเปลี่ยนให้เป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งจะถือเป็นพันธะสัญญาของรัฐบาลที่จะให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตตามแผนแม่บทดังกล่าว นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยลงมติ “งดออกเสียง” หรือ “เห็นชอบ” ในการประชุมของคณะกรรมาธิการของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ ในข้อมติเกี่ยวกับการพักการใช้โทษประหารชีวิต และ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Second Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights) ในโอกาสต่อไป ที่สำคัญคือขอให้ประเทศไทยพักการบังคับโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ คือ ไม่มีการประหารชีวิตจริงให้ครบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป จนถึงปี พ.ศ.2563 ซึ่งจะถือว่าประเทศไทยได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ ในขณะเดียวกันก็เสริมสร้างปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมเพื่อให้เกิดประชามติในอันที่จะนำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตในที่สุด

 

          ฝ่ายคัดค้านการยกเลิกโทษประหารชีวิต : กระแสจากภายในประเทศ

          ในประเทศที่ยังคงมีโทษประหารชีวิต ความพยายามที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิตจะถูกต่อต้านจากสาธารณชนโดยทั่วไป ด้วยเหตุผลตามปัจจัยและสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ เช่น ปัจจัยทางคำสอนในศาสนา ปัจจัยที่เกี่ยวกับความรุนแรงของปัญหาอาชญากรรม และ ปัจจัยเกี่ยวกับทัศนคติของคนในสังคมต่อโทษประหารชีวิต เป็นต้น

          ปัจจัยต่างๆเหล่านี้จัดเป็นกระแสจากภายในประเทศที่ยกมาต่อต้านการกดดันจากกระแสสากล โดยถือว่าในแต่ละประเทศย่อมมีอธิปไตยในการที่จะคงไว้หรือยกเลิกกฎหมายใดๆในประเทศนั้น เพราะแต่ละประเทศ แต่ละสังคมมีความจำเป็น และเหตุปัจจัยที่แตกต่างกันออกไป และหากถ้าจะต้องมีการยกเลิกหรือตรากฎหมายใดๆตามกระแสสากลก็จะต้องอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ร่วมกันของนานาประเทศ แต่กระแสภายในประเทศจะต้านกระแสสากลได้แค่ไหนเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจการเมืองของแต่ละประเทศ

          สำหรับในประเทศไทย กระแสการต่อต้านและคัดค้านการยกเลิกโทษประหารชีวิตจากสาธารณชน ยังคงมีอยู่สูงมาก ผลสำรวจในงานวิจัยหลายครั้ง แสดงถึงเหตุผลของกลุ่มนี้ว่าต้องการให้คงโทษประหารชีวิตไว้เพื่อความสงบเรียบร้อยในสังคม โดยให้โทษประหารชีวิตเป็นเครื่องมือในการยับยั้งการกระทำผิด และตอบแทนผู้กระทำผิดให้สาสมกับความผิดที่ได้กระทำ ซึ่งจะเห็นได้ว่า
เป็นเรื่องทัศนคติและค่านิยมที่ต้องการลงโทษแบบแก้แค้นทดแทนให้เกิดความยุติธรรม โดยเฉพาะต่อผู้เสียหายจากอาชญากรรม ซึ่งควรได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกัน เพราะปัจจุบันมีการดูแลและให้การคุ้มครองสิทธิของผู้กระทำผิดมากกว่าการคำนึงถึงความสงบเรียบร้อยของสังคมและประชาชนผู้บริสุทธิ์โดยส่วนรวม

          นอกจากนี้ ผู้ที่มีความคิดเห็นต่อการต่อต้านการยกเลิกโทษประหารชีวิต ยังมีความเห็นว่าการที่ประเทศต่างๆยกเลิกโทษประหารชีวิตก็เพราะเป็นประเทศที่มีความสงบเรียบร้อย ประชาชนมีวินัย และสภาพความเป็นอยู่ที่ดี ไม่มีปัญหาอาชญากรรมที่รุนแรงและแพร่หลาย การบังคับใช้กฎหมายจึงมีประสิทธิภาพไม่จำเป็นต้องใช้โทษที่รุนแรง ประชาชนส่วนใหญ่จึงสนับสนุนให้บำบัดฟื้นฟูผู้กระทำผิดมากกว่าการลงโทษให้เข็ดหลาบ ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอีกหลายประเทศที่แม้จะประสบกับปัญหาอาชญากรรมที่รุนแรงแต่ก็ยังมีการยกเลิกโทษประหารชีวิตนั้น ก็เพราะเพื่อแลกกับการช่วยเหลือหรือการรับรองจากสหประชาชาติ หรือถูกกดดัน บีบคั้นจากประเทศคู่ค้าที่ใช้ปัจจัยด้านสิทธิมนุษยชนเป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้าแทนการตั้งกำแพงภาษี ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศที่ไม่ยอมยกเลิกโทษประหารชีวิตจะเป็นประเทศที่เป็นมหาอำนาจหรือมีอิสรภาพทางเศรษฐกิจ เช่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน และประเทศในตะวันออกกลาง

          อย่างไรก็ตาม สำหรับในประเทศไทย กระแสการตอบรับให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิต เริ่มมีเพิ่มมากขึ้นจากผู้ที่เคยไม่เห็นด้วยและคัดค้าน เริ่มมีการยอมรับต่อการยกเลิกโทษประหารชีวิตมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ยอมรับอย่างเต็มที่ กล่าวคือ พร้อมที่จะให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิต ถ้าเงื่อนไขบางประการได้รับการแก้ไขหรือบรรเทาลง เงื่อนไขที่สำคัญก็คือ การที่จะต้องทำให้ปัญหาอาชญากรรมในประเทศเบาบางลง ทั้งในด้านปริมาณและความรุนแรง ซึ่งจะทำให้ประชาชนปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อผู้กระทำผิดจากเดิมที่มุ่งแก้แค้นทดแทนให้สาสมกับอาชญากรรมที่ก่อขึ้น โดยใช้วิธีการลงโทษที่รุนแรงมาสู่การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดโดยให้โอกาสในการกลับสู่สังคม นอกจากนี้ยังจะต้องมีการดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมให้มีการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะความแน่นอนในการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษด้วยความรวดเร็ว รวมถึงพัฒนาสังคมให้มีความสงบเรียบร้อย มีสภาพแวดล้อมที่ดีในการที่จะหล่อหลอมและพัฒนาจิตใจของผู้คนให้อยู่ในกฎระเบียบ รวมถึงการปรับเปลี่ยนและขจัดปัจจัยต่างๆที่นำไปสู่สาเหตุของอาชญากรรม เช่น แหล่งอบายมุขต่างๆ ในขณะเดียวกันก็จะต้องมีการให้ความรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนต่อเรื่องการใช้โทษประหารชีวิตอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ

          สำหรับมาตรการระยะสั้นที่จะต้องดำเนินการ หากจะมีการยกเลิกโทษประหารชีวิต คือ จะต้องมีการพัฒนาระบบเรือนจำให้มีความมั่นคงแข็งแรง และมีประสิทธิภาพในการรับรองนักโทษประหารชีวิตที่จะถูกเปลี่ยนโทษมาเป็นจำคุกตลอดชีวิตเพื่อเป็นการยืนยันต่อสาธารณชนว่ามาตรการจำคุกตลอดชีวิตไม่ทำให้ผู้ต้องโทษไปก่อความเดือดร้อนต่อสังคมแม้ขณะอยู่ในเรือนจำ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตจะทำให้จำนวนนักโทษจำคุกตลอดชีวิตเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่พื้นที่ในการคุมขังยังไม่เพียงพอ ดังนั้นจะทำให้ผู้ต้องโทษตลอดชีวิตจะต้องถูกควบคุมตัวในสภาพที่แออัดไปตลอด ซึ่งอาจจะเป็นการทรมานมากกว่าการถูกประหารชีวิต ดังนั้นจะต้องมีการพัฒนาระบบเรือนจำและสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องโทษ ตลอดจนถึงการพัฒนาพฤตินิสัยเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ต้องโทษเมื่อได้รับการปลดปล่อยออกมาแล้วจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับกฎเกณฑ์และเงื่อนไขของสังคมได้

          นอกจากนี้การมีการพัฒนาระบบการดูแลและคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย ในการกระบวนการยุติธรรมให้ทัดเทียมกับการทุ่มเทคุ้มครองสิทธิของผู้กระทำผิด เพื่อให้สาธารณชนเห็นว่า ผู้เสียหายก็ได้รับการดูแล เยียวยา และคุ้มครองสิทธิเช่นเดียวกัน ดังนั้นหากมีการปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวนี้ได้ก็พร้อมที่จะสนับสนุนให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิต หรืออีกนัยหนึ่ง สังคมไทยมีความพร้อมต่อการยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว

 

บทสรุป

          การยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศไทย เริ่มเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากขึ้น โดยการยกเลิกโทษประหารชีวิตเป็นแนวคิดที่มาจากกระแสสากล ที่มีการผลักดันผ่านองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ รวมตลอดถึงประเทศพัฒนาหลายประเทศ โดยผ่านองค์การสหประชาชาติ ในขณะที่การต่อต้านการยกเลิกโทษประหารชีวิตเป็นกระแสที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ที่อ้างความพร้อมตามความจำเป็นและปัจจัยภายในประเทศของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ไม่จำเป็นต้องตามกระแสสากลทุกเรื่องไป ประเด็นเรื่องการยกเลิกโทษประหารชีวิตจึงยังเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอยู่ในสังคมไทย และเป็นการต่อสู้กันของกระแสสากลกับกระแสภายในประเทศ แต่กระแสสากลจะก้าวข้ามกระแสภายในประเทศมาทำให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตได้หรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศนั้นๆ และความจำเป็นทางสภาพสังคมที่จะต้องใช้โทษประหารชีวิตลดน้อยถอยลงนั้นเอง

                                                    ************************

หมายเหตุ ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

หมายเลขบันทึก: 556740เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2013 14:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ธันวาคม 2013 14:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท