ยามเฝ้าแผ่นดิน โดย ศ. ดร. เขียน ธีระวิทย์


ประเทศไทยนั้นมีรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรค่อนข้างจะสมบูรณ์ตามมาตรฐานสากลแล้ว แต่ที่เรามีวิกฤตการเมืองซ้ำซากนั้น เป็นเพราะเรามีปัญหาพิเศษ คือเรามีนักการเมืองที่เป็นโรคจิตชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า psychopathy คือเป็นคนบ้าเงิน-บ้าอำนาจ โลภมากสุดๆ ใช้อำนาจเงิน-อำนาจการเมืองนั้นอย่างขาดหิริโอตตัปปะ ละเมิดกติกา-กฎหมายที่มีอยู่เพื่อประโยชน์ของตัวและพรรคพวก และมีความชำนาญพิเศษในการซ่อนเร้นความจริงให้อยู่ภายใต้ภาพหลอนที่ดูสวยอย่างสนิทแนบเนียน จนคนทั่วไปจับผิดได้ยากประกอบกับสังคมไทย ยังมีคนยากจนมากที่ยังไร้เดียงสา ถูกหลอกถูกซื้อตัวได้ง่าย รัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 และกฎหมายลูกได้จัดตั้งองค์กรอิสระต่างๆ ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบอำนาจรัฐ แต่ก็สู้อำนาจเงิน-อำนาจการเมืองไม่ได้

อนาคตของ กปปส : ยามเฝ้าแผ่นดิน

 

            ข้าพเจ้าเคยแสดงความคิดเห็นไว้ในโอกาสต่างๆ หลายครั้งแล้วว่าประเทศไทยนั้นมีรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรค่อนข้างจะสมบูรณ์ตามมาตรฐานสากลแล้ว แต่ที่เรามีวิกฤตการเมืองซ้ำซากนั้น เป็นเพราะเรามีปัญหาพิเศษ คือเรามีนักการเมืองที่เป็นโรคจิตชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า psychopathy คือเป็นคนบ้าเงิน-บ้าอำนาจ โลภมากสุดๆ ใช้อำนาจเงิน-อำนาจการเมืองนั้นอย่างขาดหิริโอตตัปปะ ละเมิดกติกา-กฎหมายที่มีอยู่เพื่อประโยชน์ของตัวและพรรคพวก และมีความชำนาญพิเศษในการซ่อนเร้นความจริงให้อยู่ภายใต้ภาพหลอนที่ดูสวยอย่างสนิทแนบเนียน จนคนทั่วไปจับผิดได้ยากประกอบกับสังคมไทย ยังมีคนยากจนมากที่ยังไร้เดียงสา ถูกหลอกถูกซื้อตัวได้ง่าย  รัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 และกฎหมายลูกได้จัดตั้งองค์กรอิสระต่างๆ ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบอำนาจรัฐ แต่ก็สู้อำนาจเงิน-อำนาจการเมืองไม่ได้ ปัญหาสำคัญคือกลไกในการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ทำตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้  ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนจะต้องใช้อำนาจอธิปไตยของตนเข้าไปควบคุมกลไกในการบังคับใช้กฎหมายโดยตรง เป็นมาตรการสุดท้าย นั่นคือจัดตั้งเป็นองค์กรภาคเอกชน ทำหน้าที่เป็น “ยามเฝ้าแผ่นดิน” แทนประชาชน ดังจะกล่าวต่อไปในบทความเรื่องนี้

  1. หลักการและเหตุผล

ประชาธิปไตยของไทยล้มลุกคลุกคลาน และเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ มากมาย ผ่านการปฏิวัติ-รัฐประหารมาหลายครั้ง ทุกครั้งก็จะต้องล้มล้างรัฐธรรมนูญ โทษว่ารัฐธรรมนูญบกพร่องต่างๆ นานา แล้วก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พูดถึงการปฏิรูปการเมืองซ้ำซาก แต่ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง ไม่นานการเมืองก็เข้าสู่วงจรอุบาทว์ดังเดิม หรือเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม

ปัญหาที่สำคัญส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราแก้ปัญหาไม่ถูกจุด “เกาไม่ถูกที่คัน” เราลองมาช่วยกันออกแบบโครงสร้างอำนาจของรัฐเสียใหม่ โดยให้ประชาชนเป็นยามเฝ้าระวังนักการเมือง-ข้าราชการ-ตำรวจ-ทหาร ที่กินเงินเดือนของประชาชน แต่ทุจริต ไม่ทำงานตามที่กฎหมายกำหนด

ถามว่า “ยามเฝ้าแผ่นดิน” ที่ว่านี้มีต้นแบบที่ไหนในโลกหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่มี” เพราะในโลกนี้คนที่มีอำนาจเงิน-อำนาจการเมือง และเป็นโรคจิต psychopathy นั้นหาได้ยาก เราจึงต้องมีกลไกพิเศษภาคเอกชนมาใช้กับสถานการณ์ของไทยโดยเฉพาะ

  1. พันธกิจของยามเฝ้าแผ่นดิน

2.1   ตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายของรัฐ ดูว่าบุคคลหรือหน่วยงานทุกภาคส่วนของรัฐ รวมทั้งรัฐวิสาหกิจและบริษัททั้งหลายว่าได้ปฏิบัติตามกฎหมายถูกต้องชอบธรรมหรือไม่

2.2   เมื่อพบว่ารัฐธรรมนูญ กฎหมาย และระเบียบต่างๆ ที่สัมพันธ์กับสิทธิและหน้าที่ของเอกชนนั้นมีจุดอ่อน-ช่องโหว่-ขาดความสมบูรณ์ ก็ควรเสนอให้องค์กรที่มีอำนาจแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ทันต่อเหตุการณ์เสมอ โดยจะต้องติดตามให้ดำเนินการอย่างรวดเร็ว

2.3   ตรวจสอบ-ส่งเสริมหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ให้ยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงานบุคคล งานการเงิน และงานบริการชุมชน

2.4   เมื่อพบว่าผู้ใด (หรือองค์กรใด) ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการการเมือง ข้าราชการพลเรือน-ทหาร-ตำรวจ ทำผิดรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือกฎระเบียบของทางราชการ ให้ถือเป็นภารกิจในการติดตามเอาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีให้ถึงที่สิ้นสุด

            ยามเฝ้าแผ่นดินสามารถรักษาผลประโยชน์ให้แก่ประชาชนและประเทศชาติอย่างไร? ยกตัวอย่างเมื่อครั้งทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี กรณีสังหารหมู่ชาวมุสลิมที่มัสยิดกรือเซะ การใช้กำลังสลายการชุมนุมของชาวมุสลิมที่ตากใบ บัดนี้เวลาผ่านไปเกือบสิบปีแล้วยังไม่มีใครหรือหน่วยงานใดเอาตัวผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบมาดำเนินคดีแต่อย่างใด

            กรณีทำนองนี้ ถ้ามีกลไกยามเฝ้าแผ่นดินภาคประชาชนประจำจังหวัดหรืออำเภอที่เกิดเหตุ ให้ถือเป็นภาระที่จะต้องติดตามตลอดกระบวนการ ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ให้ทำการดำเนินคดี ตรวจสอบสำนวนคดีว่าทำเรื่องฟ้องร้องตามความเป็นจริงหรือไม่ ตามจี้ให้ทำงานโดยมิชักช้า เช่นเดียวกัน เมื่อเรื่องไปถึงศาล ถ้าพบว่าใคร “ปล่อยเกียร์ว่าง” หรือ “เตะถ่วง” ให้ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. กล่าวหาบุคคลหรือหน่วยงานว่าปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

            ผลที่จะได้รับก็คือ คนทำผิดกฎหมายต้องรับโทษ ญาติมิตรของผู้ตายและบาดเจ็บใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะไม่หันไปสนับสนุนผู้ก่อการร้าย หรือผู้แบ่งแยกดินแดนดังที่เป็นอยู่ ประชาชน-ครู-ทหาร-ตำรวจ ผู้บริสุทธิ์ก็ไม่ต้องตายและบาดเจ็บจำนวนมากเช่นนั้น ทรัพย์สินที่เสียหายจากการระเบิดก็จะไม่เกิดขึ้นเป็นรายวันดังที่เป็นอยู่

  1. องค์กร การจัดตั้งและบุคลากร

3.1   ให้ กปปส. ในขณะนี้เริ่มเป็นแกนนำในการจัดตั้ง เครือข่าย การตรวจสอบอำนาจรัฐภาคเอกชน โดยจะใช้ชื่ออะไรอื่นก็ได้ตามแต่จะตกลงกัน

3.2   บุคลากรขององค์กรตรวจสอบอำนาจรัฐภาคเอกชนนี้ล้วนเป็นอาสาสมัครที่ไม่รับเงินเดือน

3.3   การจัดตั้งองค์กร สาขา และเครือข่ายทั่วประเทศให้ขานรับกับพันธกิจที่จะต้องทำตามข้อ 2 คือสามารถตอบสนองความต้องการของงานด้านการรับเรื่อง ร้องเรียน สืบสวนสอบสวน ร้องเรียนหรือฟ้องร้อง ฯลฯ เรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระ รวมทั้งรัฐวิสาหกิจ และบรรษัทธุรกิจเอกชนด้วย

3.4   เชิญชวนสื่อมวลชน สภาทนายความ กลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ องค์กรพัฒนาชุมชน และองค์กรเอกชนที่ไม่เป็นฝักเป็นฝ่ายของพรรคการเมืองเข้าร่วมงาน หรือเป็นพันธมิตร ในฐานะต่างๆ ตามแต่จะตกลงกัน มีระบบการตรวจสอบการทำงานขององค์กรนี้ให้โปร่งใส ปราศจากอคติ

  1. ปรัชญาในการทำงาน

4.1   ยึดถือคุณธรรม หลักกฎหมาย และสันติวิธี เป็นหลักการในการทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

4.2   ส่งเสริมความสามัคคี-ความปรองดองในการต่อสู้กับศัตรูของประชาชน

4.3   ไม่เป็นฝักเป็นฝ่ายทางการเมือง แกนนำองค์กรในระดับต่างๆ จะต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ผู้ร่วมงานในฐานะอื่นที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองจะต้องพิสูจน์ตัวให้เห็นว่าเป็นคนมีคุณธรรมที่มีความเที่ยงธรรมในการทำงานสาธารณะ

4.4   ปฏิบัติต่อพรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ และบุคคลหรือคณะบุคคลที่มีความขัดแย้งกันโดยยึดถือความถูกต้องเป็นหลัก ไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่ง

4.5   ส่งเสริมธรรมาภิบาล คนทำความดี ป้องกันคนชั่วที่จะเข้าไปทำงานทางการเมือง

4.6   ใช้ศิลปในการจูงใจฉันมิตรอย่างละมุนละม่อมก่อน จนไม่มีทางเลือกจึงใช้พลังกดดันทางสังคม และกล่าวหาฟ้องร้องเป็นคดีความ โดยมีลำดับจากเบาไปหาหนัก

4.7   พัฒนาองค์กรของตนให้ปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล โดยผลิตเอกสารความรู้เกี่ยวกับงานแจก และมีการประชุมอบรมจริยธรรมให้สมาชิกพัฒนาตนเองเป็นครั้งคราว

  1. แผนงาน งานหลักและงานรอง

5.1   ให้แกนนำ (จะเรียกอะไรก็ตาม) กำหนดแผนงานประจำปี (รวมทั้งแผนงาน 2, 3, 4 ปีด้วย) โดยผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ขององค์กร

5.2   ในการทำงานนั้น ให้จัดลำดับความสำคัญ และความเร่งด่วนไว้ด้วย งานหลักที่สำคัญมากก็เช่น การตรวจสอบ ตามจี้เอาผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้แทนระดับต่างๆ ไม่ใช่ปล่อยให้คนทำผิดกฎหมายเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่ จนกระทั่งเป็นรัฐมนตรีเป็นแรมปี หรือจนหมดสมัยจึงตัดสินว่าผิดหรือไม่ผิด

            ตัวอย่างการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ซึ่งเราได้ ส.ส. ฝูงแกะเข้าไปนั่งในสภา พรรคเพื่อไทยและส.ส.ของพรรคทำผิดกฎหมายกันเกือบทั้งหมด แต่กลไกของรัฐ ตำรวจ ก.ก.ต. ไม่ทำอะไรเลย ถ้ามียามเฝ้าแผ่นดินภาคประชาชน พวกเขาน่าจะจัดการกับนักการเมืองและเจ้าพนักงานที่ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ได้ดังนี้

            ให้อาสาสมัครของยามเฝ้าแผ่นดินประจำเขตเลือกตั้งจับตาดูพรรคการเมือง และผู้สมัคร ส.ส. ที่มีคะแนนนิยมนำในอันดับที่อาจจะได้รับเลือกตั้งในแต่ละเขตว่าได้ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่

(1)พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 53 ส่วนหนึ่งบัญญัติว่าห้ามผู้สมัครหรือผู้ใดจัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณได้เป็นเงิน

            เมื่อตรวจดูป้ายโฆษณาหาเสียง คำพูดบนเวทีของผู้สมัคร ใบปลิวหาเสียง สื่อมวลชนทุกประเภทจะได้ข้อสรุปว่า พรรคเพื่อไทยและผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคส่วนมากทำผิดกฎมายแน่นอน มีความผิดตามกฎหมายฉบับเดียวกัน มาตรา 137 ว่า ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี นอกจากนั้น ถ้า ก.ก.ต. และอัยการสูงสุด ดำเนินคดีอย่างตรงไปตรงมาตามมาตรา 94 (1), 94 (2) และ ม. 95 ศาลรัฐธรรมนูญอาจวินิจฉัยให้ยุบพรรคได้

(2) หาหลักฐานอื่น ๆ ที่กฎหมายระบุว่าเป็นความผิด เช่น พรรคการเมืองและผู้สมัคร ส.ส. จะใช้เงินหาเสียงเลือกตั้งเกินที่กฎหมายกำหนดไว้ตามมาตรา 50 และตามประกาศของ ก.ก.ต. ไม่ได้ ปรากฏว่าผู้สมัคร ส.ส. ส่วนมากทำผิดกันทั้งนั้น

กรณีเหล่านี้ให้แมวมองเก็บหลักฐานทั้งหมดที่หาได้ ทำสำเนาเก็บไว้ให้เรียบร้อย เอาไปแจ้งให้ ก.ก.ต. ดำเนินคดี (ตาม ม. 95) ถ้า ก.ก.ต. ไม่รับแจ้ง หรือรับแจ้งแล้วไม่ดำเนินคดีตามกฎหมาย ก็ไปแจ้ง ป.ป.ช. กล่าวโทษ ก.ก.ต. ว่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีฯ และถ้า ก.ก.ต. หรืออัยการสูงสุด “เตะถ่วง” หรือทำเรื่องล่าช้า ก็ให้แจ้ง ป.ป.ช. ดำเนินคดีในทำนองเดียวกัน

 

6. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

ไม่ว่า”สภาประชาชน”ที่เสนอโดย กปปส.นั้นจะเกิดได้หรือไม่ก็ตาม และการเลือกตั้งส.ส.จะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังการปฏิรูปก็ตาม ถ้ามวลชน” 9 ธันวามหาสามัคคี”ภายใต้การนำของแกนนำ กปปส. สามารถแปรสภาพเป็นองค์กรภาคเอกชนที่มีเครือข่ายเฝ้าระวังองค์กรภาครัฐได้ทั่วประเทศ จะสามารถทำงานใหญ่ที่การชุมนุมใหญ่และการปฏิวัติ-รัฐประหารครั้งก่อนๆ ไม่สามารถทำได้สำเร็จดังนี้

 

6.1 สามารถสืบทอดเจตนารมณ์ของขบวนการต่อต้านระบอบทักษิณ” 9 ธันวามหาสามัคคี”ได้ ใครหรือพรรคการเมืองใดก็ตามที่จะมาเป็นรับบาลโดยคิดคดทรยศต่อชาติ ก็ต้องเผชิญกับพลังต่อต้านจากมวลชนจนต้องร้องไห้อีก

6.2 ถ้า กปปส. แปรสภาพเป็นองค์กรภาคเอกชน คนพันธุ์ทักษิณ- เสื้อแดง ก็จะต้องยอมรับโดยดุษณียภาพ เป็นการสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ ขจัดปัญหาความขัดแย้งยืดเยื้อจากการที่ฝ่ายหนึ่งได้อำนาจจัดตั้งรัฐบาล ฝ่ายตรงข้ามก็จะตั้งแง่ปลุกระดมพลต่อต้านอย่างยืดเยื้อ

              6.3 ถ้าแกนนำ กปปส. เลิกทำงานการเมืองในระบบพรรค อุทิศตนมาทำงานสานเจตนารมณ์ “9 ธันวามหาสามัคคี”ต่อในฐานะยามเฝ้าแผ่นดิน พวกเขาจะมีคุณูปการมากกว่าการเป็นผู้นำพรรคการเมืองมาก จะทำงานเพื่อธำรงรักษาความถูกต้องเพื่อชาติโดยรวม ซึ่งสามารถทำได้อย่างเป็นอิสระเที่ยงธรรมได้ดีกว่าอยู่ในองค์กรภาครัฐหรือสังกัดพรรคการเมือง

             6.4 สามารถทำงานสำคัญที่สุดในสังคมไทยเพราะปัจจุบันนี้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายไม่ทำงานตามอำนาจหน้าที่กันอย่างแพร่หลายเป็นงานหลักของการปฏิรูปการเมือง ส่วนการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายและรัฐธรรมนูญเป็นงานรอง

             6.5 จะสามารถช่วยกำจัดและป้องกันคนโกง เช่น คนในระบอบทักษิณให้เกิดขึ้นมาใหม่ สังคมจะย่างเข้าสู่ยุคแห่งการปรองดอง มีความสงบเรียบร้อย และปราศจากการทำรัฐประหาร

 

7. การเงินและงบประมาณ

ในเบื้องต้น องค์กรภาคเอกชน ยามเฝ้าแผ่นดินนี้ ดำเนินงานโดยอาสาสมัครทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์โดยไม่มีค่าตอบแทน รายจ่ายสำนักงานและการปฏิบัติงานภาคสนาม สนับสนุนโดยเงินบริจาคของผู้มีจิตศรัทธา

 

หมายเหตุ

ข้อความที่เสนอแนะไว้ในเอกสารนี้ เป็นเพียงตุ๊กตาสำหรับปรับปรุงให้สมบูรณ์ขึ้น เพื่อประโยชน์ในการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น

 

 

เขียน ธีระวิทย์

17 ธันวาคม 2556

 

หมายเลขบันทึก: 556714เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2013 07:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ธันวาคม 2013 07:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท