แรงงานและค่าจ้างในอิสลาม


แรงงานในอิสลาม

แรงงานในอิสลามมีการพูดถึงมากกว่า 1,400 ปีมาแล้ว อัลกุรอานได้เล่าถึงประวัติศาสตร์ของท่านนบีก่อนหน้านี้หลายท่านที่เคยเป็นแรงงาน เช่น นบีดาวูดที่เป็นแรงงานช่างฝีมือด้านการทำเสื้อเกราะโดยพระองค์อัลลอฮได้ตรัสไว้ในบทสะบะอฺ โองการที่ 11 ความว่า “เจ้าจงทำเสื้อเกราะและทำห่วงของมันให้ได้สัดส่วน[1]  และพวกเจ้าจงทำความดีเถิดแท้จริง ข้านั้นรู้เห็นสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ”นอกจากนั้น นบีนุฮ ก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่อัลลอฮฺบัญญัติไว้ในบทฮูด โองการที่ 37 ความว่า “และเจ้าจงสร้างเรือต่อหน้าเราและตามคำบัญชาของเราและอย่ามาพูดกับข้า ถึงบรรดาผู้อธรรม แท้จริงพวกเขาจะถูกจมน้ำตาย” นบีมุหัมมัดในช่วงที่อาศัยอยู่กับลุงของท่านที่มีฐานะทางการเงินไม่ค่อยจะดีนัก ประกอบกับเป็นครอบครัวใหญ่จะต้องหาเลี้ยงดูลูกหลานหลายคน จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องหารายได้มาจุนเจือครอบครัวและสร้างความมั่นคงให้แก่ลูกๆ หลานๆ ที่อยู่ในความดูแลให้ได้รับความสุข วันหนึ่งนบีมุหัมมัดได้ไปสมัครงานเป็นลูกจ้างของเศรษฐีนีเคาะดีญะฮฺ เป็นลูกจ้างควบคุมกองคาราวานพาณิชย์ไปยังเมืองชีเรีย การค้าขายของมุหัมมัดในครั้งนั้นประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และได้กำไรอย่างมหาศาลซึ่งสร้างความประทับใจแก่เคาะดีญะฮฺเป็นอย่างมาก (http://www.cis.psu.ac.th/fathoni/lesson /muhummud/)

แรงงานในอิสลามจำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมาย อิสลามได้อนุญาตให้มุสลิมทำงานเป็นลูกจ้างของคนต่างศาสนิกได้ด้วยเงื่อนไข 3 ประการ ดังนี้คือ 1. ต้องเป็นงานที่อนุญาตให้มุสลิมทำ 2. ต้องไม่เป็นการช่วยเหลือเขาในสิ่งที่นำอันตรายกลับคืนสู่ชาวมุสลิม 3. ต้องไม่เป็นงานที่ทำให้เกิดความน่าเกลียดแก่ชาวมุสลิม และในทางตรงกันข้าม (มุหัมมัด อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์, 2552: 4)การว่าจ้างคนต่างศาสนิกมาเป็นผู้ใช้แรงงานงานสามารถกระทำได้เนื่องจากอิสลามยังให้สิทธิของชนต่างศาสนิกด้านการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยมีหลักการชี้แจงว่า การมีสัมพันธภาพที่ดีกับพวกเขา พวกเขาจะได้รับการปฏิบัติดี ความเอื้ออาทรและเมตตา ตราบใดที่ไม่เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าพวกเขาได้ตั้งตนเป็นศัตรูกับอิสลามและชาวมุสลิมอย่างชัดแจ้ง (ศอลิหฺ หุสัยน์ อัลอายิด, 2548: 130) การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันบ่งบอกถึงอิสลามเป็นศาสนาแห่งสันติภาพดังที่อัลลอฮได้ขนานนามศาสนานี้ว่า “อิสลาม” อันมีรากศัพท์จากคำว่า “อัส-สิลมฺ” อันหมายถึง “สันติภาพ” (อิสมาอีล ลุตฟี จะปะกียา, 2547: 21)

หน้าที่ของผู้ใช้แรงงาน (ลูกจ้าง) ในอิสลามจะมีมากกว่าผู้ใช้แรงงานทั่วไป เช่น ในขณะที่ปฏิบัติงานตามคำสั่งของนายจ้างยังต้องรับผิดชอบในคุณธรรมที่ต้องปกป้องทรัพย์สินและผลประโยชน์ของนายจ้างอีกด้วย และในส่วนของนายจ้างก็เช่นเดียวกัน (Mannan, 1995: 116-117) นอกจากนั้น อิสลามได้ให้ความสำคัญต่อสิทธิของแรงงานโดยเฉพาะในเรื่องของการมอบหมายงานที่สะดวกง่ายดาย การจ่ายค่าจ้างตามสิทธิที่ผู้ใช้แรงงานพึงได้รับอย่างรวดเร็ว เหมาะสม เป็นธรรม และไม่อนุญาตให้มีการขูดรีดแรงงาน

มีรายงานจากอิบนูมาญะห์ ว่าท่านนบี (ศ็อล) กล่าว

ความว่า “เป็นหน้าที่ของนายจ้างที่ต้องใช้งานลูกจ้างในสิ่งที่เขาจะทำได้อย่างสะดวกง่ายดาย และจงอย่าใช้งานลูกจ้างที่ยากลำบากอันนำไปสู่การเสียสุขภาพ

อิสลามได้ให้ความสำคัญในสิทธิของแรงงานโดยเฉพาะเมื่อแรงงานได้ทำงานให้แล้ว ทางนายจ้างจำเป็นต้องจ่ายค่าจ้างเป็นของแลกเปลี่ยนโดยต้องมีการจ่ายค่าจ้างตามความเหมาะสมและเป็นธรรม หากนายจ้างไม่ปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นการปฏิบัติที่อธรรมต่อลูกจ้างหรือผู้ใช้แรงงาน ในหะดิษกุดซีได้พูดถึงบุคคล 3 ประเภทที่เป็นที่รังเกียจของอัลลอฮฺ หนึ่งในนั้นก็คือ นายจ้างที่ได้มอบหมายงานให้ผู้ใช้แรงงาน (ลูกจ้าง) ไปปฏิบัติแต่นายจ้างไม่ได้ทำการจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้ใช้แรงงานดังกล่าว (Qardhawi, 1995: 403 - 404) หะดิษรายงานโดยบุคอรีว่า ท่านนบี (ศ็อล) กล่าวไว้

ความว่า “กลุ่มคนสามประเภทที่อัลลอฮฺประกาศเป็นศัตรูในวันกียามัต (วันสิ้นโลก) กลุ่มแรกคือ ผู้ที่ได้ทำการสัญญากับข้า (อัลลอฮฺ) หลังจากนั้นเขาได้ทำการปฏิเสธในสัญญาดังกล่าว กลุ่มที่สองคือ ผู้ซึ่งได้ทำการขายคนไทที่ไม่ใช่ทาสแล้วนำเงินดังกล่าวไปใช้จ่ายและบริโภค กลุ่มที่สามคือ ผู้ซึ่งได้มอบหมายงานให้ผู้ใช้แรงงานไปทำและผู้ใช้แรงงานก็ได้ปฏิบัติตามคำสั่ง หลังจากทำงานแล้วนายจ้างไม่ได้ทำการจ่ายค่าจ้างให้กับผู้ใช้แรงงานดังกล่าว

                                          (รายงานโดยบุคอรี)

 

[1] กอตาดะฮฺกล่าวว่า อัลลอฮทรงทำให้เหล็กอ่อนโดยไม่ต้องใช้ไฟหลอมหรือค้อนทุบตี และเขาเป็นคนแรกที่ประดิษฐ์คิดทำเสื้อเกราะ

 

ต่อ.............

หมายเลขบันทึก: 556665เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2013 14:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2013 14:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท