ธรรมรัต
พระมหา ธรรมรัต อริยธมฺโม ยศขุน

ตอบคำถามท้ายบทที่ ๒


ตอบคำถามวิชาประวัติวรรณคดีบาลี บทที่ ๒

โดยพระมหาเอกกวิน ปิยวณฺโณ (อะซิ่ม) เลขที่ ๒ ปี ๓ พุทธศาสตร์

๑. พระไตรปิฎกมีความเป็นมาอย่างไร ? จงอธิบายให้ละเอียดโดยยกหลักฐานประกอบ

          ในสมัยพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ พระสาวกองค์สำคัญๆซึ่งมีความฉลาด (พยตฺโต) มีความสามารถ (สมตฺโถ) ทรงจำพระธรรมวินัยได้อย่างแม่นยำทำหน้าที่ในการท่องจำทรงจำแบบมุขปาฐะ จนเกิดเป็นสำนักท่องจำพระสูตร ท่องจำพระวินัยซึ่งเป็นที่นิยมกันโดยทั่วไป เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีการบันทึกจารึกจดจารเป็นตัวหนังสือแต่อย่างใด ต่อมาภายหลังพุทธปรินิพพาน พระสาวกเหล่านั้นจึงรวบรวมพระธรรมวินัยซึ่งกระจัดกระจายอยู่นั้นรวบรวมเข้าให้เป็นหมวดหมู่เดียวกันที่เรียกกันว่า การทำสังคายนา ซึ่งถือว่าเป็นบ่อเกิดของพระไตรปิฎกอันมีกำเนิดและพัฒนาการมาจากหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า “พุทธพจน์” ซึ่งแบ่งเป็น ๓ ตอน คือ ปฐมพุทธพจน์ มัชฌิมพุทธพจน์ และปัจฉิมพุทธพจน์

          พระอุทานที่พระพุทธองค์ตรัสเปล่งออกครั้งแรกเมื่อแรกตรัสรู้ ณ มหาโพธิบัลลังก์ว่า

          “เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้น ย่อมดับไปเพราะมารู้ธรรม (โพธิปักขิยธรรม) พร้อมทั้งเหตุ”

          “เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่ เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้น ย่อมสิ้นไปเพราะได้รู้ความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย”

          “เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่ เมื่อนั้น พราหมณ์นั้น ย่อมกำจัดมารและเสนามาร (กาม) เสียได้ ดุจพระอาทิตย์อุทัยขึ้นส่องท้องฟ้าให้สว่างไสว ฉะนั้น” จัดเป็น ปฐมพุทธพจน์

          คำสอนที่พระพุทธองค์ตรัสเตือนเหล่าภิกษุในพรรษาที่ ๔๕ ซึ่งเป็นพรรษาสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพขณะทรงประชวรอย่างหนัก ก่อนพุทธปรินิพพานว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงทำหน้าที่ให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาทเถิด” จัดเป็น ปัจฉิมพุทธพจน์ พระสัทธรรมอันประกาศอมตธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ตลอด ๔๕ พรรษา ซึ่งอยู่ระหว่างปฐมพุทธพจน์และปัจฉิมพุทธพจน์นั้น จัดเป็น “มัชฌิมพุทธพจน์”

          พุทธพจน์เหล่านี้ได้รับการรวบรวมและรักษาสืบทอดกันมาในสิ่งที่เรียกว่า “คัมภีร์” ซึ่งในพระพุทธศาสนา เรียกคัมภีร์ที่รักษาคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระศาสดาของพระพุทธศาสนาว่า “พระไตรปิฎก” คัมภีร์พระไตรปิฎกมีประวัติความเป็นมาโดยสังเขป ดังนี้

          สมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นั้น พระองค์ทรงเทศนาโปรดเวไนยสัตว์และทรงบัญญัติสิกขาบทต่างๆ ตามเวลาและสถานที่ที่แตกต่างกัน คำสั่งสอนเหล่านั้นในช่วงต้นพุทธกาลเรียกว่า “พรหมจรรย์” ซึ่งพระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า ได้แก่ “ศาสนพรหมจรรย์” คือ คำสอนในพระพุทธศาสนาทั้งหมดที่รวมลงในไตรสิกขา ดังพระวาจาที่ตรัสในครั้งที่จะส่งพระอรหันตสาวก ๖๐ องค์เพื่อไปประกาศ พรหมจรรย์ ว่า “ จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย          เทวมนุสฺสานํ เทเสถ ธมฺมํ อาทิกลฺยาณํ มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลฺยาณํ สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ เกวลปริปุณฺณํ     ปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ ปกาเสถ ” ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชน เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จงแสดงธรรม มีความงามในเบื้องต้น (งามด้วยอธิศีลสิกขา) งามในทามกลาง (งามด้วยอธิจิตสิกขา) และงามในที่สุด (งามด้วยปัญญาสิกขา) จงประกาศ พรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์”

          ช่วงกลางก็มีใช้เรียกขานคำสอนดังกล่าวข้างต้นว่า “ธรรมและวินัย” ดังมีพุทธวจนะตรัสตอบพระอานนท์พุทธอนุชาก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพานในพรรษาที่ ๔๕ อันเป็นพรรษาสุดท้ายแห่งการเสด็จประกาศพระพุทธศาสนาของพระองค์ว่า “อานนท์ โดยที่เราล่วงลับไปแล้ว ธรรมและวินัยใด ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย”

          ต่อมาสมัยหลังพุทธกาล คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งเรียกว่า “ธรรมและวินัย” นั้น พระอรหันต์สาวกทั้งหลายได้รวบรวมรักษาไว้ด้วย “การสังคายนา”หมายถึง การประชุมสงฆ์จัดระเบียบหมวดหมู่พระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้จนสรุปเป็นมติที่ประชุมว่า พระพุทธองค์ทรงสอนไว้อย่างนี้แล้วก็มีการท่องจำถ่ายทอดต่อกันมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

          การสังคายนาพระธรรมและวินัยมีขึ้นหลายครั้งและจำนวนการนับการสังคายนาก็แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา การสังคายนาที่ทุกฝ่ายยอมรับตรงกัน ได้แก่การสังคายนา ๓ ครั้งแรกในประเทศอินเดีย และในการสังคายนา ๓ ครั้งนั้น ครั้งที่ ๑-๒ มีบันทึกอยู่ในพระไตรปิฎก แต่ไม่ได้พูดถึง “พระไตรปิฎก” หากใช้คำว่า “ธมฺมวินยสงฺคีติ” แปลว่า การสังคายนาพระธรรมและวินัย แสดงว่า พระพุทธพจน์นั้นยังไม่มีการจัดแบ่งเป็น “ปิฎก” หากเรียกรวมๆ ว่า “ธรรมและวินัย” ต่อมาในช่วงระหว่างสังคายนาครั้งที่ ๒ กับครั้งที่ ๓ นี้เองที่มีผู้สันนิษฐานว่า “ธรรมและวินัย” ได้แตกแขนงออกเป็น ๓ หมวด เรียกว่า      “ติปิฎก หรือ เตปิฎก” คือ พระธรรม ได้แตกออกเป็น พระสุตตันตปิฎก กับ พระอภิธรรมปิฎก ส่วนพระวินัย คงเป็น พระวินัยปิฎก แม้ในพระอภิธรรมปิฎกเอง คัมภีร์สมันตปาสาทิกาอรรถกถาพระวินัยปิฎก ก็กล่าวว่า พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระประธานสงฆ์ในการสังคายนาครั้งที่ ๓ ได้แต่งคัมภีร์กถาวัตถุ และผนวกเข้าเป็นหนึ่งคัมภีร์ในพระอภิธรรมปิฎก ๗ คัมภีร์ แสดงว่าพระไตรปิฎกครบสมบูรณ์ทั้ง ๓ ปิฎกก่อนการสังคายนาครั้งที่ ๓ และก่อนสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เพราะในพระไตรปิฎกไม่มีข้อความใดกล่าวถึงพระเจ้าอโศกเลย จึงกล่าวได้ว่าพระไตรปิฎกมีระยะแห่งการพัฒนาการมาจนสำเร็จเป็นรูปร่างสมบูรณ์ ในสมัยหลังพุทธกาล คือ ในพุทธศตวรรษที่ ๓ นี้เอง โดยเป็นผลงานที่เกิดจากการสังคายนาพระธรรมและพระวินัยของเหล่าสาวก ของพระพุทธเจ้าหลังจากพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานนานแล้ว

          การสังคายนาพระไตรปิฎก หมายถึง การทบทวนตรวจสอบ ซักซ้อมกันในการที่จะรักษาพระไตรปิฎกของเดิมซึ่งพระมหากัสสปเถระได้สังคายนาไว้ในการสังคายนาครั้งที่ ๑ เมื่อ ๓ เดือน ภายหลังพุทธปรินิพพานการสังคายนาครั้งนั้น เริ่มมีตั้งแต่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ดังในปรากฏปาสาทิกสูตร ทรงเคยปรารภกับพระจุนทะว่า “ธรรมทั้งหลายที่เราแสดงไว้แล้วเพื่อความรู้ยิ่ง บริษัททั้งหลายพึงพร้อมเพรียงกันประชุมสอบทานอรรถะกับอรรถะ พยัญชนะกับพยัญชนะในธรรมนั้นแล้วพึงสังคายนากันเพื่อให้พรหมจรรย์ตั้งอยู่ได้นานเพื่อประโยชน์สุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” ก่อนพุทธปรินิพพาน พระสารีบุตรเถระได้ทำสังคายนาเป็นตัวอย่าง ดังปรากฏในสังคีติสูตร ซึ่งท่านแสดงวิธีการสังคายนา โดยประมวลหลักธรรมทั้งหลายที่มีจำนวนข้อเท่ากันรวมไว้เป็นหมวดเดียวกัน เช่น ประมวลหลักธรรมจำนวน ๑ ประการ เข้าเป็นหมวดหนึ่ง เรียกว่า ธรรมหมวดละ ๑ เป็นต้นไปจนถึง หมวดละ ๑๐ การสังคายนาพระธรรมและวินัย ได้มีการริเริ่มและดำเนินการจัดทำอย่างจริงจังหลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน โดยมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธานดำเนินการ

          การสังคายนาพระไตรปิฎกหรือการสังคายนาพระธรรมและพระวินัยของพระพุทธเจ้าในอดีตเป็นต้นมาที่ควรทราบมี ๙ ครั้ง ๓ ครั้งแรกกระทำในประเทศอินเดีย ๔ ครั้งถัดมากระทำในประเทศศรีลังกา และ ๒ ครั้งสุดท้ายกระทำในประเทศไทย

๒. พระสาวกองค์ใดบ้างในสมัยพุทธกาลที่มีผลทำให้เกิดพระไตรปิฎก ?

          ก่อนพุทธปรินิพพาน พระสารีบุตรเถระได้ทำสังคายนาเป็นตัวอย่างได้ ดังปรากฏในสังคีติสูตรซึ่งท่านแสดงวิธีการสังคายนา โดยประมวลหลักธรรมทั้งหลายที่มีจำนวนข้อเท่ากันรวมไว้เป็นหมวดเดียวกัน เช่น ประมวลหลักธรรมจำนวน ๑ ประการ เข้าเป็นหมวดหนึ่ง เรียกว่า ธรรมหมวดละ ๑ เป็นต้นไปจนถึง หมวดละ ๑๐ การสังคายนาพระธรรมและวินัย ได้มีการริเริ่มและดำเนินการจัดทำอย่างจริงจังหลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน โดยมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธานดำเนินการ

          ในพระสุตตันตปิฎกมีหลักฐานชี้ชัดว่าพระสาวกที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรวบรวมพระธรรมและพระวินัยทำให้พระไตรปิฎกเกิดขึ้นมีดังต่อไปนี้

          ๑. พระอานนท์ ผู้ซึ่งได้รับตำแหน่งพุทธอุปัฏฐากและได้ทูลขอพระจากพระพุทธองค์ ๘ ประการซึ่งในประการที่ ๘ ถือว่ามีความสำคัญต่อการรวบรวมพระไตรปิฎก คือ ถ้าพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมอันใดในที่ลับหลังข้อพระองค์ “เมื่อเสด็จกลับมาแล้วพระองค์โปรดแสดงธรรมนั้นแก่ข้าพระองค์ด้วย” และพระพุทธองค์ทรงอนุญาตพรทั้ง ๘ ประการนั้น ท่านได้รับการยกย่องจากพระศาสดาว่า มีความจำดี สดับตรับฟังมาก เมื่อหลังพุทธปรินิพพานท่านก็ได้รับหน้าที่ในการวิสัชชนาพระธรรมทั้งหมดในคราวปฐมสังคายนา

          ๒. พระอุบาลี ภายหลังที่ท่านบวชแล้วมีความสนใจกำหนดจดจำพระวินัยเป็นพิเศษ ดังมีเรื่องเล่าในพระวินัยปิฎกว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องวินัยแก่ภิกษุแล้วทรงสรรเสริญพระวินัย และยกย่องสรรเสริญพระอุบาลีเป็นอันมาก พระภิกษุจึงพากันไปเรียนพระวินัยจาพระอุบาลี และในพระวินัยปิฎกมีพุทธภาษิตตรัสโต้ตอบกับพระอุบาลีในปัญหาข้อวินัยมากมาย เป็นการเฉลยข้อถามของพระเถระ เรียกชื่อในหมวดนี้ว่า อุบาลีปัญจกปัญหา มีหัวข้อสำคัญ ๑๔ เรื่อง ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ พระอุบาลีได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบคำถามเกี่ยวกับพระวินัยปิฎก นับว่าท่านมีความเกี่ยวข้องกับพระวินัยปิฎกโดยตรงท่านหนึ่ง

          ๓. พระมหากัสสปะ ผู้ทรงธุดงค์คุณ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้วท่านได้ชักชวนภิกษุสงฆ์ทำการสังคายนา คือ ร้อยกรองหรือจัดระเบียบพระธรรมและวินัย นับว่าท่านมีความสำคัญยิ่งในการทำให้เกิดพระไตรปิฎก พระมหากัสสปะทำหน้าที่เป็นประธานสงฆ์ในคราวปฐมสังคายนา โดยท่านเป็นผู้ถามทั้งวินัยและพระธรรม ซึ่งพระอานนท์ตอบปัญหาธรรม ส่วนพระอุบาลีวิสัชนาวินัย

          ๔. พระโสณกุฏิกัณณะ ได้สาธยายพระสูตรเฉพาะพระพักตร์พระพุทธองค์ถึง ๑๖ สูตร ปรากฏความในนอัฏฐกวรรค พระพุทธองค์ทรงอนุโมทนาสรรเสริญความทรงจำและท่วงทำนองการกล่าวธรรมอันไพเราะสละสลวย ซึ่งท่านอาจไม่ได้เกี่ยวกับการสังคายนาพระไตรปิฎกโดยตรงแต่เป็นหลักฐานชี้ให้ทราบว่า ในสมัยนั้นก็มีสำนักทรงจำพระสูตรและพระวินัยอยู่แล้ว

          ๕. พระจุนทผู้เป็นน้องชายพระสารีบุตร มีความปรากฏในพระสูตรเล่มที่ ๑๑ หน้าที่ ๑๒๘-๑๕๖ ว่า ท่านได้เห็นนิครนถนาฏบุตรผู้เป็นอาจารย์แห่งลัทธิเชนสิ้นชีวิตแล้ว ภายหลังสาวกก็แตกสามัคคีกันเพราะเห็นไม่ตรงกันในสิ่งที่ผู้เป็นอาจารย์กล่าวสอนเนื่องจากไม่มีหลักฐานยืนยันว่าอาจารย์ของตนได้กล่าวไว้อย่างไร ท่านจึงเข้าไปปรึกษาพระสารีบุตรและเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ พระองค์ได้ตรัสความหลายๆประการแต่มีประการที่สำคัญคือ ตรัสรับสั่งให้พระจุนทะรวบรวมสุภาษิตและสังคายนาคือจัดระเบียบทั้งโดยอรรถและพยัญชนะเพื่อให้พรหมจรรย์ตั้งมั่นยั่งยืนต่อไป จึงนับว่าเป็นที่มาของพระไตรปิฎกโดยแท้

          ๖. พระสารีบุตร ปรากฏความในสังคีติสูตร เล่มที่ ๑๑ หน้า ๒๒๒-๒๘๗ ว่า เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรสิ้นชิตและสาวกแตกสามัคคีกันแล้ว ค่ำวันหนึ่งพระพุทธองค์ได้ประทานอนุญาตให้พระสารีบุตรแสดงธรรมแทนพระองค์ พระสารีบุตรได้แนะนำให้รวบรวมร้อยกรองพระธรรมวินัยโดยแสดงตัวอย่างการจัดหมวดหมู่ธรรมะเป็นข้อๆ ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๑๐ ว่ามีธรรมอะไรอยู่ในหมวด ๑ หมวด ๒ หมวด ๓ จนถึงหมวด ๑๐ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสรับรองว่า ข้อคิดและธรรมะที่พระสารีบุตรแสดงนี้ถูกต้อง

๓. จงกล่าวถึงลักษณะภาษาในพระไตรปิฎกพอได้ความ

          ลักษณะภาษาที่ใช้ในพระไตรปิฎก ภาษาที่ใช้ในพระไตรปิฎกนั้น คือ ภาษาบาลี ลักษณะภาษาบาลีในพระไตรปิฎกมี ๒ ลักษณะ คือ

          ๑. คาถา คือ คำประพันธ์ร้อยกรอง ที่ส่วนมากต้องการ ครุ ลหุ บางทีต้องตัดต่อคำเพื่อความไพเราะและสะดวกในการออกเสียง เรียกว่าคณะฉันท์ คาถาหรือคำร้อยกรองมีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก คำสอนของพระพุทธเจ้าส่วนมากเป็นคำประเภทร้อยกรอง หรือคติพจน์สั้นๆ เช่น ธรรมบท เป็นคาถาร้อยกรองที่ไม่มีร้อยแก้วเจือปนเลย

          ๒. ร้อยแก้ว คือ ลักษณะภาษาที่ไม่มีหลักบังคับแบบร้อยกรอง ใช้คำเรียงตามกันเข้าตามหลักไวยากรณ์ให้ได้ความหมายตามประสงค์ก็เป็นอันใช้ได้ เพราะร้อยแก้วมีในพระไตรปิฎกด้วย นักปราชญ์ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า บทร้อยแก้วในพระไตรปิฎกนั้นเติมเข้ามาในภายหลังโดยพระธรรมสังคาหกาจารย์ผู้รวบรวมพระพุทธพจน์ เช่น “เอวมฺเม สุตํ เอกํ สมยํ ภควา สาวตฺถิยํ วิหรติ ” แปลว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในเมืองสาวัตถี เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 556664เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2013 14:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2013 14:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ยินดีที่สนทนาธรรม..แต่

ยินดีที่พบผู้กล้าหาญในการสนทนาธรรม (ซึ่งหายากมากๆ)

แต่ท่านอย่าหวาดกลัวเราไปเสียก่อนการเบ้าใจ เข้าถึง และ พัฒนา เสียล่ะ เพราะมันเกิดขึ้นแล้วจริงคือ การวางเฉยเพราะกล้วว่า

เมื่อความจริงเข้ามาสู่สมอง พยากรณ์ที่เคยอาศัย ต้องระเห็ดออกจากสมองไป ในระหว่างสับสนนั้น มีภาวะอสูรเกิดขึ้น

พญามารจะเข้าแทรกแซงความรักของเรา แทรกแซงความเป็นพี่น้องมนุษย์ของเรา สามมัคคีธรรมจากไป สันติธรรมก็จากไป

สุจริตธรรม ยุติธรรม ปัญญาธรรม กตัญญูธรรม สมดุลยธรรม ขันติธรรม ศีลธรรม นิติธรรม สาระธรรม ฯลฯ หายไปง่ายๆ

เนื่องจากการอ่อนแอ ตอ่อนด้อยต่อความสามารถของพญามาร ทำให้มีผู้เดินทางอ้อมค้อม เดินเสี่ยงตกแถงที่พระพุทธเจ้าเข้าแถวนั้นอยู่

พลาดโอกาศต่างๆไปมากมาย เพียงการรู้ไม่เท่าทันพญามาร หลงไปตกใต้อานัติของพญามาร

เรามิได้เอายศฐานะใดใดมาข่มขู่ใคร เราไม่เอาสิ่งตอบแทนใดใดจากท่านและผู้พบสาร มันคือ กตัญญูธรรม และภาระหน้าที่ทั้งหมด

บุญก็ไม่เอา เหตุที่ไม่เอา เพราะ ที่บ้านไม่มีที่จะเก็บแล้ว เดี๋ยวจะไปเบียดเบียนทางเดินของพ่อแม่เปล่าๆ ฮา... เจริญธรรม

ให้สังเกตุว่า ประเทศไทย มีผู้ถูกอบรมด้วยปรัชญาพุทธ มากถึงแทบจะ90% (ในระบบโรงเรียน และ สังคมโดยรอบ)

แม้จะมีผู้ที่ในบัตรประชาชนนับถือศาสนพุทธ อยู่ประมาณ 80% ก็ตาม

แต่ในเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ในแง่ลบที่เกี่ยวกับด้านความกตัญญู และ การระงับอารมณ์ทางกามรมณ์ ผู้ที่ก่อการนั้น แทบ100%

ที่เป็นชาวพุทธ เช่น ลูกฆ่าแม่ ฆ่าพ่อ การผิดประเวณีจนมาเป็นคดีความ เป็นปัญหาเชิงประจักษ์ เพราะเหตุอะไร น่าจะลองช่วยกันสืบ

เราสังเกตุว่า หลักการศาสนาไม่ค่อยสอนเรื่องการผิดเนื่องเพศสักเท่าไร ทนายบุญ นายหน้ามหาบุรุษ ก็เลี่ยงเรื่อนี้ ไม่ร่อยพูด แล้วเรื่อง ลูกฆ่าพ่อแม่นั้น ก็อาจจะมาจากการสอนผิดๆในปรัชชญานี้ก็เป็นได้ คือ สุข ทุกข์ หลุดพ้น บุญ ทาน ปละที่สำคัญ อนุญาติให้จิตไปฝึกเนรคุณต่อผู้ให้ออกซิเจนพระพุทธเจ้าหายใจได้นั่นแหละที่เป็นจุดใหญ่ ไปเฉยเมยเรื่องนั้น เฉยเมยเรื่องการขโมยออกซิเจนจากพระเจ้าเสพ อย่างนี้เป็นต้น

รู้ตัว หรือ จำนนนั้น มิใช่เรื่องใหญ่ ที่ได้มายาก หากเราเปิดกว้าง ไม่ปิดกั้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท