พระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. ที่เขตรอยต่อระหว่างจังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง


     จ.ป.ร. เป็นพระปรมาภิไธยย่อในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จ ย่อมาจากพระปรมาภิไธยประโยคแรก คือ “มหา-จุฬาลงกรณ์” ส่วน ปร มาจากคำว่า “ปรมราชาธิราช” ในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศ ได้จารึกพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. ไว้ ณ สถานที่ที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินถึง สำหรับในจังหวัดชุมพรพบจารึก จ.ป.ร. ที่เกาะลังกาจิว ที่ถ้ำเขาเงิน และที่เขตรอยต่อระหว่างจังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ตำบล จ.ป.ร. อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง  

      สำหรับพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. ที่ตำบล จ.ป.ร. จารึกเมื่อปี ร.ศ.๑๐๙ หรือ พ.ศ.๒๔๓๓ ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระ-จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสแหลมมลายูทางฝั่งตะวันตก โดยได้เสด็จออกจากกรุงเทพเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๓ โดย เรือพระที่นั่งสุริยมณฑล และมีเรือพระที่นั่งอุบลบุรพทิศไปรอรับเสด็จที่เมืองระนอง เรือพระที่นั่งสุริยมณฑลได้มาขึ้นฝั่งที่ปากน้ำชุมพร เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน จากนั้นจึงได้เสด็จมาตามคลองท่าตะเภา และได้ประทับแรม(นอนค้างคืน)ที่พลับพลาบริเวณตำบลท่าตะเภา เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ได้เสด็จออกจากบ้านท่าตะเภาโดยเสด็จทางสถลมารค(ทางบก) โดยมีม้าเป็นพระราชพาหนะ ในการเสด็จครั้งนั้นได้กล่าวถึงเส้นทางที่เสด็จผ่านและสถานที่ที่แวะประทับ(แวะพัก) ซึ่งขบวนเสด็จของรัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จผ่านตำบลกรอกธรณี บ้านวังไผ่ วัดขวาง บ้านดอนปลาหมอ บ้านนา บ้านเขาปูน บ้านนาปรือ บ้านมรพต บ้านถ้ำสนุก และได้ประทับเช้า(แวะพัก) ที่บริเวณสวนของอำแดงนุ้ยซึ่งอยู่ใกล้กับวัดถ้ำสนุก ระหว่างทางได้ประทับร้อน(แวะพัก)ที่บกแพะ(บกแปลว่าฝั่งคลอง) ออกจากบกแพะได้ข้ามคลองชุมพร ๒ แห่ง คือ ที่ท่าแซะ และที่หาดพม่าตาย และได้ประทับแรม(นอนค้างคืน)ที่พลับพลาบ้านท่าไม้ลาย วันที่ ๒๑ เมษายน เสด็จออกจากพลับพลาท่าไม้ลาย ผ่านบริเวณตำบลกลางบก ย่านเสื้อเต้น หาดประ ข้ามคลองที่ท่าศาล ซึ่งเป็นพื้นที่แขวงเมืองชุมพรต่อกับเมืองกระ และได้ประทับเช้า ณ พลับพลาท่าศาล ออกจากท่าศาลได้ประทับนั่งบนหลังช้าง และผ่านบริเวณ ตร่อน้ำ-แบ่ง ซึ่งมีหินก้อนใหญ่บนที่โล่งในบริเวณนั้นและได้จารึก จ.ป.ร. ลงบนหิน ซึ่งการจารึกพระปรมาภิไธยย่อในครั้งนั้นได้ถูกกล่าวถึงใน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง “ระยะทางเสด็จพระราชดำเนิรประพาสทางบกทางเรือรอบแหลมมะลายู รัตนโกสินทรศก ๑๐๙” ความว่า

      “ในกลางที่แจ้งนี้เป็น ตร่อน้ำแบ่ง มีศิลาก้อนใหญ่จมดินครึ่งหนึ่งมีก้อนเล็กซ้อน ซึ่งเห็นจะเป็นหินลอยทั้งสองก้อน ให้เขามาหาไว้จะจารึก เห็นก้อนใหญ่จะศูนย์ยากกว่า จึงให้กลิ้งก้อนเล็กลงเสีย ให้กรมสรรพสิทธิ์เขียน จ.ป.ร. อย่างอัฐ กับกรมสมมตเขียน ๑๐๙ มอบเครื่องมือให้ผู้ช่วยเมืองไชยาอยู่เราะให้แล้วรอเขียนอยู่ ๗ มินิต เดิรทางต่อมา”(ระยะทางเสด็จพระราชดำเนิรประพาสทางบกทางเรือรอบแหลมมะลายูรัตนโกสินทรศก ๑๐๙ ๒๔๗๕ : ๒๘)

       การเสด็จประพาสแหลมมลายู ร.ศ.๑๐๙ คราวนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชนิพนธ์ซึ่งได้กล่าวถึงเส้นทางที่เสด็จผ่าน โดยได้ทรงบรรยายถึงลักษณะภูมิประเทศ สถานที่ราชการ วัด และบ้านเรือนของราษฎร รวมถึงวิถีชีวิตของคนในช่วงเวลาดังกล่าว และได้กล่าวถึงชื่อสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดชุมพร เช่น ตำบลท่าตะเภา ทุ่งตีนสาย เขานาพร้าว บ้านถ้ำสนุก และบ้านท่าไม้-ลาย เป็นต้น ซึ่งชื่อสถานที่ที่ได้ทรงบรรยายนั้นยังคงปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี้   พระราชนิพนธ์เรื่อง “ระยะทางเสด็จพระราชดำเนิรประพาสทางบกทางเรือรอบ แหลมมะลายู รัตนโกสินทรศก ๑๐๙” จึงถือเป็นเอกสารที่ทรงคุณค่าสามารถบอกเล่าถึงเรื่องราวในอดีตของจังหวัดชุมพรได้ สำหรับเรื่องราวของสถานที่อื่น ๆ ในจังหวัดชุมพรที่ถูกกล่าวถึงในเอกสารนั้นจะนำเสนอในโอกาสต่อไป ซึ่งผู้อ่านที่สนใจสามารถติดตามอ่านได้ในจดหมายข่าวพิพิธภัณฑ์   

 

เอกสารอ้างอิง                                                                                                                       

- พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. ระยะทางเสด็จพระราชดำเนิรประพาสทางบกทางเรือรอบแหลมมะลายู รัตนโกสินทรศก ๑๐๙. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๗๕. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ พ.ศ.๒๔๗๕).                

- กระทรวงมหาดไทย, สำนักงานจังหวัดชุมพร. ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดชุมพร. กรุงเทพ : อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๘.

หมายเลขบันทึก: 555298เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2013 18:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ธันวาคม 2013 19:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท