"เกิดไม่มีกาย ตายไม่มีศพ"


                                                “เกิดไม่มีกาย ตายไม่มีศพ”

             สังคมแห่งการเรียนรู้จาก การดู การฟัง การกินทุกวันนี้ เป็นไปตามอำนาจกิเลสจริงๆ เราใช้อายตนะไม่ค่อยคุ้มกับการสูญเสียเวลาเลย จึงทำให้เรา ลูกหลานเราไม่ค่อยได้สร้างสรรค์ ความคิด และปัญญาใหม่ๆขึ้นมา เพราะมัวแต่เสพการดู การฟังอย่างไม่รู้ค่าของมัน สมองเราจึงไม่ค่อยได้รับสิ่งกระตุ้นใหม่ๆ สมองจึงตายแบบทื่อๆ ทางพระพุทธศาสนากล่าวว่า การพัฒนา จะต้องอาศัยการฝึกฝนทางปัญญา ทางสมาธิ คือ รู้จักควบคุมตัวเองให้เกิดประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ ทางพระเรียกว่า การภาวนา คือ การพัฒนาปัญญาให้เกิดขึ้นอย่างแยบยล 

               นี่คือ การพัฒนาสมอง ความคิด ให้เจริญขึ้น ไม่ย่ำอยู่กับที่ ไม่ตายอยู่กับที่ วันนี้ ตั้งหัวข้อเรื่องเอาไว้ค่อนข้างยาก เพื่อจะได้รับเอาเนื้อหา คำสอนของพระพุทธเจ้าที่ถูกต้อง หัวข้อเรื่องมีชื่อว่า “เกิดไม่มีกาย ตายไม่มีศพ” ซึ่งอาจจะไม่เหมาะสมกับกาลเทศะมากนัก เพราะกล่าวถึงเรื่อง ความเป็น ความตาย แต่เรื่องนี้ พระพุทธเจ้าได้ให้ความสนพระทัยอย่างมาก ตั้งแต่พระองค์ยังเป็นเจ้าชายอยู่นั้น ก็ได้พบเทวทูต๔ นั่นคือ จุดพลิกผันต่อพระทัยของพระองค์ทีเดียว แม้ในพระไตรปิฎกพระพุทธเจ้าก็ได้กล่าวถึงอย่างมากที่สุด จะว่าเป็นเรื่องไม่น่าคิดก็กระไรอยู่

             อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านกลับมองว่าไม่ดีเมื่อเห็นศพ หรือพูดถึงเรื่องตาย กลับว่าเป็นเรื่องไม่เป็นมงคลเลย ที่จริง เรื่องนี้ พระพุทธเจ้าพูดเรื่องการเกิด การดับเอาไว้มากที่สุด โดยเฉพาะในพระอภิธรรม ที่เป็นเช่นนั้น เพราะว่า ชาวพุทธ (ชายขอบ) ที่ไม่เข้าใจในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้มากนัก

            ฉะนั้น ชาวพุทธอาจเห็นว่า การเกิด การตายเป็นเรื่องที่ขัดกัน แต่ถึงกระนั้น เราเองทุกคนก็ไม่มีทางหลีกเร้นได้เลย จึงเป็นเรื่องที่เราควรหันมาให้ความใส่ใจในการเรียนรู้ การใช้โยนิโสมนสิการในวิถีชีวิตในแต่ละวัน เพื่อให้เกิดความสว่างในตัวเองให้ได้ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ว่า เมื่อเกิดมาแล้วไม่มีการแก่ ไม่มีการเจ็บ การตาย เมื่อไหร่ก็ตาม เมื่อมีกาย เมื่อนั้นก็ต้องมีแก่ ชรา ตาย และเรียกว่า ศพ เพราะว่าเรามีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นั่นเอง เมื่อเรามีธาตุขันธ์ ๔ ร่างกายก็ก่อเกิดรูปร่างขึ้นมา แน่แน่นอนว่า เมื่อมีกาย ก็มีแก่ มีตาย เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะทางที่สุดคือ ตาย เป็นเรื่องที่เราหวาดกลัว ถ้าถามว่า ทำไมเราจึงต้องเกิด คำตอบคือ เพราะมีเหตุปัจจัยนั่นเอง

            การดับ แต่เราไม่อยากดับนั้น เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น เราจึงต้องแสดงท่าทีโดยการเดินเข้าไปหามันอย่างมีปัญญา แสดงออกอย่างมีเป้าหมาย มิใช่ปล่อยให้มันเกิดเอง หรือปล่อยไปตามยถากรรม เพราะการเกิดนั้น มาจากเหตุปัจจัยที่มาจากเราเองนั่นคือ

          (๑) เกิด เกิดคือ การผุด การเคลื่อนออก การเสวย การยึด การแสดง การเกิดมาจากถูกบีบคั้น เพื่อให้แสดงภาวะเช่นนั้นๆออกมา ลักษณะการเกิดมี ๒ ประการคือ เกิดเป็นรูปธรรม เกิดเป็นนามธรรม การเกิดที่เป็นรูปธรรมนั้น มาจากการเกิดโดยมีมวลสารมีรูปร่างเป็นพยานให้มองเห็น เช่น มนุษย์เกิด ก็จะมีรูปร่าง ลักษณะเป็นมนุษย์ คือ มีแขน มีขา มีหัว มีลำตัว นี่คือ รูปมวลสารที่เป็นพยานให้มองเห็น ส่วนสัตว์อื่นๆก็มีรูปร่างที่แตกต่างกันไปตามเผ่าพันธุ์ เมื่อเกิดมาแล้วก็อาศัยการกิน อาหารคือ ตัวเร่งให้ร่างกายเติบโต เมื่อเติบโต ร่างกายก็เคลื่อนไปสู่อีกภาวะ นั่นคือ แก่ ชราและที่สุดก็ตายไป ส่วนสัตว์อื่นๆ ก็แก่ชรา ตายไปตามกาล ตามเผ่าพันธุ์ ที่มีอายุไข ตามสายพันธุ์นั้นๆ ไม่ว่าสั้นหรือยาว สุดท้าย คือ ที่หมายเดียวกันคือ “ตาย”

             อาหารมีคุณลักษณ์สองอย่างคือ เร่งให้ร่างกายเติบโต และเร่งให้ร่างกายไปสู่การตายเร็วขึ้น เมื่อเรากิน เราก็เจริญเติบโต เป็นหนุ่ม เป็นสาว เป็นคนวัยกลางคน เป็นคนชราและตายในที่สุด เมื่อตายเราเรียกว่าร่างนั้นว่า “ศพ” นั่นเพราะว่าเรามีร่างกายที่ประกอบด้วยธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม เมื่อร่างกายเสื่อมลงร่างกายก็เน่า มีกลิ่นเหม็น สลายกลับสู่ธรรมชาติเหมือนเดิม แต่คนเราเมื่อ เห็นซากศพ หรือร่างกายที่เป็นศพ เรามักจะแสดงอาการรังเกียจ น่ากลัว บางทีเราก็ใส่ความเชื่อว่า นี่ภาวะที่เป็นอัปมงคลสำหรับการดำรงชีพ

             ดังนั้น สัญลักษณ์ใดๆที่เกี่ยวข้องกับงานศพ เรามักจะไม่นำมาเก็บที่บ้าน หรือไม่นำเข้าบ้าน เราเลยไม่เห็นสาระจากงานศพ หรือร่างที่เป็นศพ ที่ร่างกายของคนเรา เมื่อตายแล้วกลายเป็นศพนั้น เพราะเรามีร่างกายที่ประกอบด้วยธาตุต่างๆนั่นเอง เมื่อธาตุนั้นเสื่อมสภาพลง ร่างก็กลายเป็นอีกสภาพหนึ่ง คือ แก่ ชรา ตาย เรียกว่า เกิดแล้วเป็นศพ ทีนี้ทางเกิดของร่างกายของสัตว์ ของมนุษย์นั้น มี๔ ทางคือ พวกหนึ่งเกิดมาจาก ครรภ์ เช่น มนุษย์ที่เราอยู่ในท้องแม่ ๙ เดือน สัตว์ก็อาศัยท้องแม่เกิดเช่นกัน พวกหนึ่งเกิดมาจากไข่ เช่น สัตว์เดรัจฉาน ที่ออกลูกมาเป็นไข่ แล้วค่อยฟักเป็นรูปร่างภายหลัง พวกหนึ่งเกิดมาจากเถ้าไคล หรือโคลนตม ส่วนมากจะเป็นสัตว์พวกที่มองไม่เห็น หรือสัตว์ตัวเล็ก อาศัยสิ่งที่ชื้นแฉะเป็นแหล่งเกิด และพวกสุดท้ายคือ พวกที่เกิดเอง เช่น พวกเปรต เทวดา พวกนี้ไม่มีร่างกาย แต่อาศัยกรรมหรือบุญที่ตัวเองสร้างมา แล้วเสวยผลของตัวเอง พวกนี้จะเกิดทันทีไม่มีที่อยู่แน่นอน และเรามองไม่เห็น

             เพราะฉะนั้น ๔ พวก คือแหล่งกำเนิดหรือช่องทางของสัตว์ที่เกิด เมื่อเราทราบแล้วว่า ทางเกิดของสัตว์แล้ว เราอาจจะสงสัยว่า แล้วสัตว์เหล่านี้มีอะไรเป็นสาเหตุให้เกิดขึ้น พระพุทธศาสนาสอนว่า เราเกิดมา ไม่ได้เกิดมาลอยๆ หรือไม่ได้เกิดมาแบบบังเอิญ แต่มีเหตุมีปัจจัย ฉะนั้น สาเหตุการเกิด ขอประมวลเอาไว้มี ๕ ก ดังนี้

      ๑) "กรรม" คือ ผลลัพธ์ที่เราเกิดมาจากการกระทำที่เราได้สร้างไว้แล้วแต่ชาติก่อนและเราได้สร้างเอาไว้แล้วในชาตินี้ คือ อดีตที่ล่วงมานั่นเอง นั่นคือ มันจึงเป็นผลดลให้เราได้เกิดมา เช่น พระพุทธเจ้ากล่าวว่า สัตว์ย่อมเป็นไปตามกรรมอีกอย่างคือ ผลกรรมในปัจจุบันขณะ อันนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันเช่น การคิดของสมอง การเคลื่อนไหวของหัวใจ ย่อมมีผลต่อกายในปัจจุบันขณะ

     ๒) "กิน" คือ เมื่อเราปฏิสนธิลงในครรภ์ของแม่แล้ว เราก็ได้อาหาร สารธาตุต่างๆ จากที่แม่กินข้าวปลาอาหาร ผลไม้ พืชผัก อาหารนี่เองที่เร่งกระตุ้นให้เราเจริญเติบโต จนครรภ์ของแม่เราแคบลง พอครบ ๙ เดือน เราก็คลอดออกมา

     ๓) "กาม" คือ การเกิดกามมาจาก ตัวการที่เราไม่เห็นสายส่งของมัน แต่มันกระตุ้นให้เราดิ้นรนกวัดแกว่งต่างๆ นาๆ เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่คือ บ่อหรือแหล่งการเกิดทางใจ แล้วนำมาสู่การยึดติด แล้วแสดงกรรมทางกาย เกิดภพ เกิดชาติ ไม่มีสิ้นสุด เกิดวิถีเวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไป ตัวที่ผลักดันอยู่เบื้องหลังคือ อวิชชา นั่นเอง

      ๔) "กาล" คือ ในขณะเราอยู่ในครรภ์ของแม่เรากินแล้วเราก็ต้องรอ โดยอาศัยวันเวลาให้ร่างกายเราเติบโต รอเวลาให้ถึง ๙ เดือน เพื่อให้ระบบต่างๆในร่างกายเราได้สร้างเซลล์ให้สมบูรณ์ก่อน นั่นคือ เวลาเท่านั้น ที่จะทำได้

       ๕) "กฎ" คือ ในระบบของสรรพสิ่งนั้น มีระบบที่เตรียมตัวไว้แล้วอย่างตายตัว กฎที่เราอาศัยที่เห็นชัดเจนนั้นคือ กฎแห่งกรรม กฎนิยาม กฎเวลา กฎการเกิด การดับ กฎแห่งแรงโน้มถ่วง เมื่อวิญญาณปฏิสนธิลงครรภ์แม่แล้ว นั่นเรียกว่า เกิดแล้ว

        นี่คือ สาเหตุแห่งการนำไปสู่การ ตาย หรือการดับ เป็นไปไม่ได้ที่เกิดแล้วไม่ตาย เมื่อเกิด ต้องตายแน่นอน นี่คือ กฎแห่งธรรมชาติ ที่สาธิตให้เรารู้ อยู่ในหลักหลักปฏิจสมุปบาท ดังนั้น สาเหตุที่ทำให้เราเกิด ดังที่กล่าวแล้ว มันก็จะช่วยให้เราได้ร่างที่สมบูรณ์ขึ้น เมื่อเราได้กายนี้แล้ว ผลที่เกิดมาก็คือ มันเป็นภาระที่ยิ่งใหญ่ที่เราจะต้องบริหาร จัดการ หรือ ปรับปรุง รักษาสืบไป เพราะเมื่อร่างกาย เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา เราก็ต้องหล่อเลี้ยงมันด้วยอาหาร ชำระล้าง ดูแลรักษา ระมัดระวังอีกด้วย

        ในขณะเดียวกัน เมื่อร่างกายที่เราดูแลอยู่นี้ เราก็เติม เสริมสิ่งต่างๆเข้าไปด้วย คือ ลมหายใจอาจจะมีเชื้อโรคเข้าไปในปอดด้วย กินอาหารก็อาจจะมีเชื้อโรค สารพิษเข้าสู่ร่างกายด้วย ผิวหนัง ก็อาจจะได้รับสารพิษทางอากาศ แสงแดด ฝุ่นผงธุลีต่างๆที่มีโรคเข้าสู่ผิวหนัง นอกจากนี้ก็ยังมี ฤดูกาล แดด ลม ดิน ฟ้าอากาศบีบคั้น กดดันให้ร่างกายเกิดความผิดปกติอีกเช่นกัน ไม่เพียงแต่แค่นี้ ทางใจ ทางอารมณ์ ก็ยังบีบคั้นให้ร่างกายเกิดความเครียด เกิดความกดดัน ทำให้ร่างกายพลอยสูญเสียความสมดุลไปด้วย อาจจะเกิดโรคทางจิตตามมาอีก ภาระที่เรารับผิดชอบต่อตัวเองนี้เองที่เราอาจจะเกิดความท้อแท้ เบื่อหน่าย เครียด กดขี่จิตใจ คิดมาก ทำให้สภาพร่างกายแก่ ชราลงได้ การกิน การสืบพันธุ์ การดู การเล่น การเดิน การทำงานฯลฯ ล้วนแต่สร้างความเสื่อมให้แก่สังขารร่างกายทั้งสิ้น จึงเกิดความแก่ชราลง เกิดความเจ็บป่วย เกิดความเครียดทางจิตใจ ในที่สุดก็จบลงที่ ความตาย แล้วกายก็เน่า ผุพัง สลายไปตามธรรมชาติของมัน มันมีเหตุ มีปัจจัยของมันอย่างนี้

       (๒) "ตาย" ตาย คือ การดับ การสลาย การสิ้นใจ สิ้นชีพ เคลื่อนไม่ได้ การตาย เรารู้สึกถึง ความโดดเดี่ยว ความกลัว ความสงสัย ความสลด ความไม่น่าปรารถนา น่าสยะแสยง ส่วนคนที่คุ้นเคยกับความตาย จะรู้สึกว่า ความตายคือ เรื่องธรรมดา เรื่องปกติ จนบางครั้งมองความตายเป็นเรื่องชาชินเกินไป ทำให้ไม่รู้แก่นแท้และสาระภาวะของมัน เพราะเห็นแต่ศพ นั่นคือ ความตาย แต่ไม่ได้มองถึงตัวสภาวะธรรมที่เป็นอยู่ มีอยู่ ของมัน อย่างสัปเหร่อ อาจจะมองว่า ศพแต่ละศพคือ ท่อนไม้ที่จะต้องไหม้ด้วยฝีมือของตน แต่มองไม่ทะลุร่างที่เรียกว่าศพนี้ จึงไม่เกิดความรู้สึกน่ากลัว น่ารังเกียจใดๆ และก็ไม่เห็นคุณลักษณ์ความจริงทางตาในด้วย เห็นแต่ตานอก กาย คือ ศพ เมื่อมีกายก็ต้องมีศพแน่นอน เพราะกฎของกลไกธรรมชาติมีจุดจบที่ความตาย

         เมื่อไหร่ก็ตามมีการเกิด นั่นพึงเตรียมใจไว้ว่า มีศพแล้ว คนที่เห็นศพบ่อยๆ เช่น คนเก็บศพ คนผ่าศพ คนเผาศพ คนพิจารณาศพ อาจจะไม่เห็นสายสืบ สายใยของวงจรศพก็ได้ ยอเว้นคนที่ได้เก็บศพ พวกที่นานๆ เจอศพสักศพ ย่อมจะเกิดความสลด เกิดวิตก เกิดการคิดแตกยอด เกิดความสงสัยแล้วคิดโยงหาต้นสายปลายเหตุได้ คนเช่นนี้คือ ผู้ที่จะพบศพอย่างถึงแก่น เพราะฉะนั้น จะเป็นศพอะไรก็ตาม จุดสำคัญคือ สาวไปหาจุดเริ่มต้นให้ได้ จะพบที่มาที่ไปของความจริงที่อิงอยู่อย่างน่าคิด ความตาย มีรูปแบบตายอยู่ ๒ อย่างคือ ตายแบบไร้รูปกายและตายแบบมีกาย ตายแบบไร้รูปกายก็คือ สภาวะที่เป็นส่วนที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งด้วยธาตุ ๔ แต่มีการปรุงแต่งโดยอาศัยอายตนะเป็นแดนเกิด อาศัยกิเลสเป็นตัวยักย้าย ถ่ายเท เพื่อให้เห็นความเคลื่อนไหวหรือ การยึดมั่น และปล่อยวาง กิริยาอาการของการเกิดแล้วตายภายในนี้มีลักษณะดังนี้

        ตาเห็นรูป (นี่เกิดแล้ว) เกิดรูปร่างความอยาก อยากได้ อยากมี อยากเป็นขึ้นมา (เจริญเติบโต) แล้วพอเจอสิ่งใหม่ เวลาใหม่ สถานการณ์ใหม่ ใจก็เริ่มละทิ้งสิ่งเก่า (เริ่มแก่ชราลง) แล้วปล่อยทิ้งสิ่งเดิมไปยึด ไปอยากสิ่งใหม่ (นี่คือ ความตายเกิดขึ้นแล้ว) โดยมีใจเป็นผู้แสดงสาธิต การตายแบบนี้ เกิดง่าย ตายเร็ว แต่เกิดไม่เห็นซาก ไม่เห็นศพ เวลาแก่ เวลาชราก็ไม่เห็น และเวลาตายก็ไม่เห็น จึงหาศพไม่เจอ เพราะมันไว มันเร็ว กำหนดรู้ยาก เวลาปฏิบัติเขาจึงให้ดูจิต ให้ดูการเคลื่อนไหวของมัน เพื่อจะรู้ ได้เห็น การเกิด การแก่ ชรา และการตายของมันให้ชัดเจน การตายแบบนี้เหมือนเป็นการสาธิตให้รู้ การตายแบบข้ามภพ ข้ามชาติโดยทีเดียว นี่คือ เกิดไม่มีกาย ตายไม่มีศพ

        ส่วนการตายที่มีศพเราคุ้นเคยกันดี นั่นคือ เราเกิดมามีรูปร่างสังขารเป็นพยาน แล้วเราก็บริหาร บำรุง ดูแลรักษามันอย่างดี ด้วยการกิน การพักผ่อน การออกำลัง การตรวจเช็คสุขภาพ ในขณะเดียวกัน มันก็แสดงสาธิตความจริง คือ เติบโต เปลี่ยนแปลง จากวัยสู่วัย เก็บสะสมโรค ความชราภาพเพิ่มขึ้น ความเสื่อมก็ลดลงเรื่อยๆ โดยที่เรามองไม่เห็น แต่กลับมองเห็นความงาม ความใหญ่โต ความแข็งแรง ความน่าหลงไหลทางกายแทน ทางของกายคือ เปลี่ยนแปลง แก่ชรา เจ็บป่วยและสิ้นสุดที่ความตาย อาการของความชราที่จะบ่งบอกให้รู้ว่า ใกล้ตายนั่นคือ หนังเหี่ยว ฟันหลุด กำลังถอย ตาพร่า ผมหงอก หูตึง กินไม่ค่อยได้ เดินไม่ตรง หลงๆลืมๆ หอบง่าย เหนื่อยง่าย ที่สุดอวัยวะร่างกายก็เสื่อมสภาพลง ประสิทธิ์ภาพในการทำงานก็น้อย ลมหายใจก็ค่อยถอนๆไปทีละน้อยๆ เวลานั้น ร่างกายพร้อมที่หลอมละลายตัวเอง ไปสู่สภาพเดิม

        การที่เรามีลมหายใจ มีชีวิตนั้น เพราะเรากำลังฝืนธรรมชาติ เพราะเรามีใจ เป็นตัวควบคุม มีลมพยุงมวลสารเอาไว้ มีการบริหารให้อยู่ในรูปชีวิต จิตใจ ร่างกายจึงเหมือนฝืนทางธรรมชาติ เช่น เวลาเราเดิน ทรงตัว หายใจ เลือดสูบฉีดทั่วร่างกาย เวลาทำงาน ฯลฯ เมื่อกายลิ้นลม สิ้นชีวิต กายก็เริ่มสาธิตงานของมันเองให้เราเห็น คือ ขึ้นอืด เขียวช้ำ น้ำเหลืองไหล เน่าเหม็น เป็นน้ำ ละลายเหลือแต่โครงกระดูก นี่คือ ซากศพซากกาย ที่ไหลลื่นไปตามเส้นทางของมัน ไม่มีใครฝืนหรือต้านมันได้ เมื่อรู้แล้วว่า ตายคือ เมื่อมีกายเป็นพยาน เมื่อมีกายก็มีศพ มีเน่า

        ส่วนทางที่ความตายเกิดมีอยู่ ๓ ทางคือ ๑) สิ้นลมหายใจ เราขาดลมเราจึงไร้ชีวิตที่จะอยู่ต่อไป เพราะลมคือ พลังแห่งชีวิต ๒) หมดบุญ หมดกรรม เรามีชีวิตอยู่ คนส่วนมากบอกว่า เพราะเรามีบุญ สร้างบุญมา สะสมกรรมดี เมื่อตายเพราะ เราหมดบุญ หมดกรรมนั่นเอง ๓) สิ้นกาย เมื่อลมหมด บุญหมด ร่างกายหมด ไม่มีที่จะอยู่ กายแตกสลาย ความตายก็มาเยือน กาย มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การแก่ ชรา และตายลง เราจึงเรียกว่า ศพ การเกิด การดับที่แสดงอยู่ตั้งแต่อดีต มาถึงปัจจุบันและจะยังแสดงต่อไปในอนาคตนี้ มันมีสาเหตุ มีปัจจัยที่ทำให้กายเป็นไปตามกติกาของมัน หากเราไม่สืบสาวเอาเหตุ เอาผลมันให้รู้ เราก็จะหมดความทางคุมมันได้ และก็จะถือว่า มันคือ ธรรมชาติๆ ต่อไป โดยไม่หาทางคิดวางหลัก วางท่าทีต่อมันแต่อย่างไรเลย สิ่งที่ทำให้เราตาย มาจาก ๖ ก ดังนี้

        ๑) "กิน" เมื่อมีชีวิต ก็ต้องมีการการกิน การกินก็จะช่วยให้ร่างกายเติบโต เมื่อเติบใหญ่ ก็เป็นชนวนให้เกิด ความแก่ชรา เมื่อชรา ก็เป็นสาเหตุให้เกิดความตาย อย่างหนีไม่พ้น

        ๒) "กาม" เมื่อมีชีวิต ก็มีอวัยวะคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่คือ กลุ่มที่เกิดอาการดิ้นรน แสวงหาสิ่งที่ต้องการ หากไม่ได้ก็แสดงความร้ายออกมา นำไปสู่การฆ่า การทำลายกัน นี่คือ ช่องทางการตายง่ายๆ

       ๓) "กรรม" มีกาย ก็มีแรง มีพลังงานที่จะแสดงการกระทำออกมา แรงจากกายมีพลังงามาก สามารถใช้แรงกายฆ่าแกงกัน ข่มขืนกัน แย่งชิงกัน แรงจากคำพูด ก่อให้เกิดความโกรธแค้น เพราะการด่า การโต้เถียงกัน ส่วนแรงจากใจ คือ แรงอารมณ์ ศักดิ์ศรี ทิฎฐิ ความเห็น อาจนำมาซึ่งมรณภัยได้ทั้งสิ้น

       ๔) "แก่" แน่นอนว่า เมื่อมีกาย ร่างกายต้องโน้มน้อมไปสู่ความแก่ชรา ความชรา ก็มีแรงโน้มไปสู่การตาย

       ๕) "กาล" กายจะเติบโตได้ ก็เพราะอาศัยกาลเวลา ๙ เดือนที่อยู่ในครรภ์ เราไม่อาจจะข้ามจากวัยเด็กไปสู่วัยชราได้ นั่นหมายความว่า เราจะต้องรอให้กาลเวลากำหนดเอง แม้แต่ความตาย เวลาคือ ผู้กำหนดจังหวะของเรา กฎ ร่างกายเกิดมา นั่นเพราะอาศัยกฎที่ช่วยให้เราเติบโต

       ๖) "กฎ" คือ กฎต่างๆ เช่น กฎแห่งกรรม" กฎแห่งวันเวลา กฎของแรงโน้มถ่วง กฎแห่งชีวิต กฎของธรรมนิยาม ฯลฯ ล้วนแต่หล่อหลอม ตะล่อมให้เราเข้าข่าย ติดกับดักทั้งสิ้น ดักที่เราจะต้องประสบที่ยิ่งใหญ่คือ ความตาย เพราะฉะนั้น กฎ คือ อำนาจที่ยิ่งใหญ่ เช่น กฎปฏิจสมุปบาท เป็นต้น นอกจากนี้ การตาย เรายังพบว่า มีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามสถานะ เราจะพบว่า ศพที่เราเห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์รายวันนั้น มีอาการตายที่แตกต่างกัน มีสาเหตุที่แตกต่างกัน ซึ่งพอกล่าวได้คือ

          "ตาย" เพราะฆ่าตัวเอง ทุกวันนี้ มนุษย์ถูกบีบคั้น ถูกกดดัน ถูกธรรมชาติลงโทษ หรือสังคมที่เลวร้าย เราอยู่ไม่ได้ กายแย่ เพราะโรคภัย ตายดีกว่า ถูกคนอื่นรังแกข่มเหง ก็อยากตาย หนีอายก็ฆ่าตัวตายเช่น

               -คนอื่นฆ่า เมื่อเราอยู่กับสังคม แน่นอนว่าเราจะต้องได้รับผลกระทบที่เสี่ยงต่อการเป็นอยู่อย่างมาก เราไม่ฆ่าเขา เขาก็ฆ่าเรา เราทะเลาะกัน แย่งสิ่งของกัน ขัดผลประโยชน์กันก็ฆ่ากัน ชีวิตทุกชีวิตจึงมีสิทธิ์ตายได้

                -ตายเพราะบังเอิญ มีความตายที่เราไม่ได้รู้ล่วงหน้า ตายแบบกระทันหัน ตายแบบไม่รู้ตัว ตายเพราะจังหวะ ตายเพราะดวง เพราะบังเอิญมาประสบเคราะห์กรรม บางทีก็เกิดจากความประมาทเอง

                -ตายเพราะธรรมชาติ อันนี้เราไม่สามารถกำหนดล่วงได้ว่า ธรรมชาติจะเกิดพลิกผันอย่างไร เกิดผลอะไรบ้าง อาจจะเกิดอุกาบาตหล่นชนโลก หรืออาจจะเกิดแผ่นดินไหว แม้แต่ธรรมชาติที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของเราเอง เรายังไม่รู้เลย

                -เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ การตายที่เกิดจากการเจ็บป่วยนี้ก็เช่นกัน ในร่างกายของเรา ภายในจริงๆ เราก็ยังไม่รู้ว่า มีโรคอะไรบ้าง จะเสี่ยงตายเมื่อไหร่ยังไม่รู้เลย เช่น โรคหัวใจ โรคลมชัก โรคหอบหืด โรคมะเร็ง ล้วนแต่เป็นพาหะที่สามารถนำเราไปสู่การตายได้อย่างฉับพลัน

                -แรงกรรม ความตายที่เกิดจากแรงกรรม บางทีก็ส่งผลอย่างอัศจรรย์ กรรมที่เราทำบางครั้งเหมือนติดปีก ตายเพราะกรรมจึงมีให้ปรากฏอยู่บ่อยๆ ทั้งหมดนี้ คือ ลักษณะการตายที่เรากำหนดเอง คนอื่นกำหนด และไม่ได้เกิดจากเราเอง แต่เกิดมาจากสิ่งที่เหนือการควบคุม และการตายแบบนี้ ส่วนมากมาจาก การอาศัยกายเป็นพยานในการตาย คือ มีศพนั่นเอง

         ส่วนการตายที่ไร้ศพ คือ จิตที่คิด เรามองไม่เห็น มองไม่ทัน จิตคิด ยึดติดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง วันๆหนึ่งมันเกิด มันดับมากมาย แต่เราไม่รู้ว่า มันเกิด มันเจิรญ มันแก่ มันชราภาพลงและตายในที่สุดอย่างไร คนปกติ จะไม่ค่อยรู้ แต่สำหรับคนที่ผ่านการฝึกจิต ฝึกฝนตนเองย่อมจะพอมองเห็นรอยต่อนี้ แม้แต่วินาที เรายังไม่เห็นการเกิด การแก่ การตาย ภายในจิตของเราเลย เป็นเรื่องน่าคิด และมันละเอียดมาก มากจนเรากำหนดเอาไม่ทัน แม้ว่ามันไม่มีศพ

          อย่าลืมว่า มันสามารถก่อเชื้อ สืบสกุลไปหาภพ หาชาติต่อไป ในลักษณะข้ามภพ ข้ามชาติได้อีกด้วย ฉะนั้น ปุถุชน กับพระอริยบุคคล จึงมีการกเกิด การตายที่แตกต่างกัน ปุถุชน เกิดแล้ว สืบไปสู่การเวียนว่ายตายเกิด แล้วดับ แล้วเกิด-ดับ ไม่จบสิ้น ส่วนพระอริยบุคคลเกิดครั้งเดียว ตายครั้งเดียว หากเห็นการเกิด การแก่ การดับอยู่ภายในได้ เราก็จะพบคำตอบ การเกิด การแก่ การชรา การตาย ทางสังขารร่างกายนี้ได้ ส่วนท่าทีที่เราจะแสดงออกต่อ การเกิดและการตายคือ

                 ๑) เรียนรู้ศึกษาทางอายตนะให้มากและมีสติ

                 ๒) ทดสอบทางที่เรียนมา คือ นำมาปฏิบัติดู มีหลักในการครองใจให้ได้

                 ๓) ใช้ปัญญาสออดส่อง ด้วยหลักโยนิโสมนสิการ คือ วิเคราะห์ วิจารณ์อย่างแยบคายในตัวเอง 

            สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นแนวทางให้เราทั้งหลายเป็นกรอบในการคิดทบทวนความจริง ตามหลักขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สอนเอาไว้

           กล่าวโดยสรุป คำว่า "เกิดไม่มีกาย" หมายถึง ปรากฏการณ์ทางจิต ที่คิดไปตามเรื่องต่างๆ ในภพของมัน ซึ่งมีลักษณะเป็นไปตามกฎคือ เกิดขึ้น ดำเนินไป และสิ้นสุดลง  การเกิดเช่นนี้ ไม่มีรูปกายให้ตาเห็น เพราะเกิดภพ เกิดชาติภายใน ส่วน "ตายไม่มีศพ" หมายถึง การคิดแล้วแก่แล้วหมดสภาพลง ความคิดใหม่ก็ผุดขึ้นอีก อาการเช่นนี้เป็นการตายของความคิดอยู่ทุกๆวัน ไปจนกระทั่งจบสิ้นภพใหญ่คือ ร่างกายหยาบนั่นเอง

---------------<>-----------------

คำสำคัญ (Tags): #เกิด#ตาย#ไร้#ศพ
หมายเลขบันทึก: 555058เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2013 07:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ธันวาคม 2013 14:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณมากครับ ได้เรียนรู้มากขึ้นครับผม

จะมีสักกี่คนบนโลกนี้ ที่เข้าใจอย่างจริงจังและนำมาปฏิบัติค่ะ สำหรับพี่ ๆ คิดว่า ตนเองกำลังปฏิบัติอยู่นะ :):) เพียงแต่ไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ แอบนึกสงสัยตัวเองบ้างว่า ทำไมเราไม่เหมือนคนอื่น :):)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท