BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ปรัชญากฎหมาย เกณฑ์ตัดสินจริยธรรม และการเมืองไทย ๒


กฎหมายธรรมชาติ - ลัทธิคานต์

"กฎหมายธรรมชาติ" สำนักนี้ มีแนวคิดว่า จักวาฬมีกฎระเบียบควบคุมอยู่โดยพระผู้เป็นเจ้าหรือธรรมชาติ กฎระเบียบหรือหลักการต่างๆ ของมนุษย์นั้น จะถูกต้องได้ก็เมื่อไม่ขัดแย้งกับกฎธรรมชาติ ดังนั้น กฎหมายใดก็ตามที่ขัดแย้งกับกฎธรรมชาติ จึงถือว่าไม่ถูกต้อง หรือเป็นโมฆะ แนวคิดนี้ จะมีพื้นฐานมาจากคำสอนทางศาสนาหรือนักคิดทางศาสนา เช่น

เมื่อยุโรปมีการปกครองแบบเจ้าครองนครในปลายยุคกลาง เจ้าครองนครแต่ละเมืองนั้น ต่างก็สะสมเสบียงเพื่อตระเตรียมการทำสงคราม ขณะที่ประชาชนทั่วไป อดอยากหิวโหย จึงไปลักขโมยหรือปล้นพระคลังหลวง ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายของรัฐ... แต่นักบุญโทมัส อะไควนัส บอกว่า ประชาชนเหล่านั้น ไม่ได้ทำผิด เพราะอาหารมีอยู่เพื่อให้มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ได้ และเมื่อมนุษย์อดอยากหิวโหยไปปล้นขโมยอาหารนั้น จึงไม่ผิดกฎธรรมชาติ แต่กฎหมายบ้านเมืองนั้นต่างหากที่ผิด เพราะฝืนกฎธรรมชาติ...

ธรรมนิยามสูตร ของพระพุทธศาสนา มีเรื่องกฎธรรมชาติเหมือนกัน พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระตถาคตจะทรงดำรงอยู่หรือไม่ก็ตาม แต่ธรรมนิยาม คือ กฎแห่งธรรม นี้มีอยู่แล้ว ซึ่งกรรมนิยาม คือ กฎแห่งกรรม ก็จัดอยู่ในกฎแห่งธรรม... เคยอ่านงานของพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) พระเดชพระคุณให้ความเห็นว่า กฎหมายจัดว่าเป็นกฎที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ต้องคล้อยตามกฎแห่งกรรม และท่านใช้คำว่า "กรรมนิยม" จัดเป็นกฎหมาย เพื่อให้ต่างจาก "กรรมนิยาม" ซึ่งเป็นกฎแห่งกรรมตามหลักพระพุทธศาสนา

"ลัทธิคานต์" เป็นแนวคิดจริยศาตร์ที่เริ่มต้นโดย อิมมานูเอล คานต์ ซึ่งต่อมาก็มีผู้นำมาอธิบายและตีความตามความเห็นแต่ละคน จึงเรียกกันว่าลัทธิคานต์ และเฉพาะจริยศาสตร์ ก็มักจะเลียกว่า จริยศาสตร์คานต์... คานต์ เน้นความเป็นสากลและเสรีภาพ โดยบอกว่า "การกระทำที่ถูกต้องก็คือ การกระทำที่เราต้องการให้ทุกคนกระทำอย่างนั้น และการกระทำที่มีคนเป็นจุดหมาย มิใช่มีคนเป็นเพียงเครื่องมือ"

จะเห็นได้ว่า แนวคิดทั้งสองนี้ สอดคล้องกันในความเป็นกฎสากล และเมื่อมาพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบัน การที่จะแก้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของใครบางคนนั้น น่าจะขัดแย้งกับความเป็นสากล และการชุมนุมประท้วงนั้น จัดเป็นเสรีภาพพื้นฐานของความเป็นคน ใช่หรือไม่ ?

เมื่อพิจารณาดูแล้ว หลายท่านอาจเห็นด้วย อย่างไรก็ตาม แนวคิดกฎหมายธรรมชาติและลัทธิคานต์นั้น มีข้อบกพร่องที่ถูกโจมตีหลายประเด็นด้วยกัน ดังจะนำมาเล่าในตอนต่อไป...

หมายเลขบันทึก: 554903เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2013 12:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2013 12:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท