ธรรมรัต
พระมหา ธรรมรัต อริยธมฺโม ยศขุน

มุมมองเรื่อง "รัฐ" ตามแนวพุทธ


มุมมองเรื่อง “รัฐ” ตามแนวพุทธ

                  รัฐ (State)  มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า ประเทศ และ ชาติ  เพราะคำทั้ง ๓ นี้มีความหมายที่มีจุดร่วมกันแต่ในขณะเดียวกันก็มีจุดที่แตกต่างกัน ความสำคัญของคำว่า “ประเทศ” เน้นอยู่ที่ดินแดนและสภาพภูมิศาสตร์  ส่วนคำว่า “ชาติ” เน้นอยู่ที่ประชาชน ความรู้สึกนึกคิดและผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชน   ส่วนคำว่า “รัฐ”  ได้มีผู้ให้คำอธิบายความหมายไว้แตกต่างกันออกไป   เช่น  J.W. Garner  ได้ให้ความหมายไว้ว่า  รัฐ คือ ชุมชนของมนุษย์ที่มีบุคคลจำนวนมาก  ซึ่งได้ทำการครอบครองดินแดนแห่งหนึ่งเป็นการถาวร แน่นอน เป็นเอกราช ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมจากภายนอก “มีรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ให้ความเคารพและยอมรับ”[๑]  แมกซ์  เวเบอร์ ( Max Waber) อธิบายว่า

                รัฐในสมัยปัจจุบัน  คือ  ที่รวมของอำนาจในด้านต่าง ๆ ในรูปของสถาบันเพื่อผูกขาดการใช้กำลังโดยธรรม   ซึ่งเป็นวิธีการครอบงำภายในดินแดนที่มีอาณาเขตแน่นอน  บรรดาผู้นำจึงได้รวบเอาเครื่องมือการบริหารไว้ในมือเพื่อใช้ให้บรรลุจุดหมายนี้[๒]

จรูญ  สุภาพ ได้อธิบายความหมายของรัฐว่า

รัฐ คือ ชุมชนที่มีอำนาจอธิปไตย มีอิสรภาพ  มีความสามารถที่จะแก้ไขข้อบกพร่องและอำนาจบังคับบัญชาภายในรัฐได้  รวมทั้งมีอำนาจที่จะต่อต้านอำนาจภายนอกที่เข้ามาก้าวก่ายในกิจการภายในของรัฐ รัฐควรจะมีบทบาทในการให้ความยุติธรรม ในการแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างประชาชน    การป้องกันชุมชนให้พ้นจากการกระทำที่รุนแรง และเพิ่มพูนเสริมสร้างสวัสดิสาธารณะ[๓]

               พอที่จะสรุปความหมายของรัฐได้ว่า  “รัฐคือชุมชนแห่งมนุษย์ ซึ่งตั้งมั่นอยู่ในดินแดนที่มีอาณาเขตที่แน่นอน ภายใต้อธิปไตยอันเป็นอิสระ  มีการปกครองเป็นระเบียบ เพื่อสวัสดิภาพของชนในสังคม”[๔] จากความหมายนี้เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับในทางพุทธจักร หรือหากมองในมุมมองของพุทธศาสนา เป็นการศึกษาแบบประยุกต์  หากนำแนวคิดทางรัฐศาสตร์มาเปรียบเทียบ  ก็อาจจะทำให้มองเห็นว่า  “พุทธจักร”  เปรียบได้กับรัฐ ๆ หนึ่งนั่นเอง  เพราะพระพุทธเจ้าทรงนำเอารัฐในอุดมคติมาก่อตั้งเป็นรูปธรรมขึ้น  โดยมีสังคมสงฆ์เป็นชุมชนตัวอย่าง

               คำว่า “รัฐ” ตรงกับภาษาบาลีว่า  รฏฺฐ  แปลว่า ประเทศ หรือ แว่นแคว้น[๕]  ส่วนมากแล้วในพระไตรปิฏกฉบับภาษาไทยมักจะใช้คำว่า “แคว้น”  มากกว่าคำว่า รัฐ  แต่คำว่ารัฐก็มีใช้เหมือนกัน เช่นคำว่า มคธรัฐ[๖] เป็นต้น   นอกจากศัพท์ว่าแคว้นแล้ว  ศัพท์อื่น ๆ ที่ใช้ในความหมายว่า รัฐ ที่ใช้ในพระไตรปิฏกยังมีอีกหลายคำ เช่น มหาชนบท ราชธานี มหานคร พระนคร เมือง เป็นต้น  หากจะลองวิเคราะห์เปรียบเทียบแนวคิดเรื่องรัฐในแนวพุทธกับแนวคิดทางรัฐศาสตร์  พอจะเปรียบเทียบได้ดังนี้

.๑  องค์ประกอบของรัฐ : องค์ประกอบของพุทธจักร

                 “แนวความคิดเกี่ยวกับความหมายของรัฐยังหาข้อยุติยังไม่ได้  ทั้งนี้เพราะมีผู้ให้คำนิยามมากมายว่า  รัฐนั้นควรจะหมายความว่าอย่างไร  ความยุ่งยากสับสนมาจากแนวหรือวิธีการคิดของนักคิดต่าง ๆ”[๗]   แต่จากคำนิยามความหมายต่าง ๆ ทำให้สามารถแบ่งองค์ประกอบที่สำคัญของรัฐออกได้เป็น ๔ ประการ คือ ประชาชน ดินแดน รัฐบาล และอำนาจอธิปไตย  ซึ่งองค์ประกอบทั้งสี่นี้  เมื่อนำองค์ประกอบของพุทธจักรมาศึกษาเปรียบเทียบแล้ว  จะเห็นได้ว่ามีส่วนที่คล้ายคลึงกันอย่างมากทีเดียว  อย่างที่กล่าวแล้วว่า  พุทธจักร คือ รัฐในอุดมคติที่พระพุทธเจ้าทรงก่อตั้งให้เป็นรูปธรรมขึ้น  เป็นรัฐที่มีลักษณะพิเศษ  มีเป้าหมาย นโยบาย และหลักการที่แตกต่างจากรัฐทั่ว ๆ ไป   องค์ประกอบทั้งสี่นั้นจะได้พิจารณาในรายละเอียดต่อไป

               ๑)  ประชาชน (Population) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของรัฐ  เพราะประชาชนเป็นผู้สร้างวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี และแบบแผนการบริหารการปกครองของรัฐ  ประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถทำให้รัฐเจริญรุ่งเรืองหรือเสื่อมโทรมได้  สิ่งที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับประชาชน คือ จำนวน เชื้อชาติและวัฒนธรรม ประเภทและชนชั้น ที่สำคัญคือคุณภาพของประชากร   ในทางพุทธจักรประชาชนก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากที่สุดเหมือนกัน  เพราะถ้าไม่มีประชากรพุทธจักรก็กำเนิดขึ้นมาไม่ได้   ประชากรในทางพุทธจักรเรียกว่า  “บริษัท ๔”[๘] ประกอบไปด้วย

              - ภิกษุบริษัท  คือ  บุรุษที่ออกบวชเป็นพระภิกษุ ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและสอนให้ผู้อื่นปฏิบัติตามด้วย  พระภิกษุในยุคแรก ๆ ของพุทธกาลนั้น จะเป็นภิกษุได้ก็ด้วยพระดำรัสของพระพุทธเจ้าว่า “จงเป็นภิกษุมาเถิด  ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด”[๙] ต่อมาเมื่อมีผู้ขอบวชมากขึ้น  พระพุทธองค์จึงทรงประทานอนุญาตให้คณะสงฆ์ทำการบวชให้แทน  ซึ่งการรับประชากรเข้าหมู่โดยวิธีที่พระพุทธองค์ทรงรับเองนั้นเรียกว่า  “เอหิภิกขุอุปสัมปทา”  การที่คณะสงฆ์เป็นผู้ทำการคัดเลือกและรับเข้าหมู่นั้นเรียกว่า  “ญัตติจตุถกรรมอุปสัมปทา”

            - ภิกษุณีบริษัท คือสตรีที่มีศรัทธาออกบวชเป็นพระภิกษุณีหรือนักบวชที่เป็นสตรี  ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากภิกษุบริษัทนานพอสมควร  คือ ประมาณตอนต้นมัชฌิมโพธิกาล โดยมีพระนางปชาบดีโคตมีเป็นพระภิกษุณีรูปแรก

            -  อุบาสกบริษัท  คือ ฆราวาสผู้ชายที่นับถือพระพุทธศาสนา  และปฏิบัติตนตามหลักศีล ๕ ศีล ๘ หรือศีลอุโบสถ   เป็นผู้ที่เข้าใกล้พระรัตนตรัย

            - อุบาสิกาบริษัท คือ สตรีที่เป็นฆราวาสและปฏิญาณตัวเป็นพุทธศาสนิกชน  มีคุณสมบัติคือการปฏิบัติตามหลักศีลธรรมเหมือนกับอุบาสก

             นอกจากบริษัทสี่แล้วยังมีสามเณรและสามเณรีอีกด้วย  พุทธจักรจะเจริญหรือจะเสื่อมโทรม  ก็ขึ้นอยู่กับบริษัททั้งสี่นี้เป็นสำคัญ  เช่นเดียวกับความเจริญหรือความเสื่อมของรัฐที่ประชากรเป็นตัวแปรสำคัญ   พระพุทธองค์ตรัสว่า  “ศาสนาของตถาคตจะเจริญหรือเสื่อมย่อมขึ้นอยู่กับพุทธบริษัททั้งสี่ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา”[๑๐] ประชากรในพุทธจักรนั้นไม่ว่าจะมาจากชนชั้นวรรณะเชื้อชาติเพศผิวพรรณที่แตกต่างกันอย่างไรก็ตาม ทุกคนมีสิทธิในการบรรลุธรรมได้อย่างเท่าเทียมกัน  ขึ้นอยู่กับการบำเพ็ญบารมีของแต่ละบุคคลเองว่าจะถึงระดับใด  และเมื่อปฏิบัติถึงขั้นสูงสุดก็ย่อมได้รับความสุขจากวิมุตติรสเท่าเทียมกัน  ดังพุทธพจน์ที่ว่า  “เสมือนเช่นน้ำ ไม่ว่าจะไหลมาจากแม่น้ำคงคา ไม่ว่าจะไหลมาจากแม่น้ำยมุนา  หรือไม่ว่าจะไหลมาจากลำธารใด ๆ  ก็ย่อมเป็นทะเลฉันนั้น”[๑๑]

           ๒)  อาณาเขตหรือดินแดน (Territory)      การที่รัฐจะจัดตั้งสังคมของตนขึ้นเป็นรัฐได้นั้น  นอกจากจะมีประชากรแล้วยังจะต้องสามารถครอบครองดินแดนถิ่นที่อยู่เป็นของตนอย่างเป็นหลักแหล่ง  มีอาณาเขตที่แน่นอน และเป็นที่ยอมรับของรัฐอื่น ๆ ว่ามีรัฐนั้นๆ อยู่จริงไม่โดยทางพฤตินัยก็โดยทางนิตินัย  หรือทั้งสองอย่าง  ทางพุทธจักรก็มีสังฆมลฑลซึ่งอยู่ภายในรัฐ  เป็นดินแดนที่ได้รับอนุญาตหรือได้รับพระราชทานจากพระราชาให้เป็นสถานที่อยู่จำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์   ซึ่งเรียกว่าวัดหรืออาราม  มีขอบเขตที่แน่นอนเป็นที่ยอมรับกันทั้งในทางนิตินัยและพฤตินัย   โดยเฉพาะในประเทศไทย วัด หรือ พุทธสถาน  เป็นดินแดนที่จัดเป็นเอกเทศจากฝ่ายอาณาจักร  เป็นศาสนสมบัติไม่ต้องเสียภาษีถึงแม้ว่าจะตั้งอยู่ภายในรัฐก็ตาม

              ๓)  รัฐบาล  (Government)  คือ   องค์กรหรือหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่ปกครองและบริหารกิจการภายในรัฐ  เพื่อจัดระเบียบและดำเนินการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม  เป็นองค์กรสำคัญที่ทำให้รัฐดำเนินไปในทิศทางใด  เป็นผู้กำหนดนโยบายและวางแนวทางให้กับรัฐ  รวมทั้งเป็นตัวแทนของรัฐในการติดต่อกับรัฐอื่น ๆ รัฐบาลเป็นสถาบันหลักทางการเมือง  มีหน้าที่หลักในการสร้างและรักษากฎหมายเพื่อความยุติธรรมและความสงบสุขของบ้านเมือง   ส่วนในทางพุทธจักรก็มีองค์กรบริหารหรือองค์กรปกครองสูงสุดเช่นเดียวกัน  ในสมัยพุทธกาลมีพระพุทธเจ้าเป็นองค์พระประมุขทรงมีฐานะเป็นพระธรรมราชา  มีพระสารีบุตรเป็นพระธรรมเสนาบดี   มีพระมหาโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวกฝ่ายซ้ายช่วยในด้านการปกครอง   ส่วนในประเทศไทยสมัยปัจจุบันมีองค์กรบริหารสูงสุดที่เรียกว่า  “มหาเถรสมาคม”  มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นองค์พระประมุขสูงสุด  มีหน้าที่ในการบริหารปกครองและออกกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ไม่ขัดต่อหลักของพระธรรมวินัย    รวมทั้งเป็นผู้ควบคุมและบังคับให้เป็นไปตามพระธรรมวินัยและกฎระเบียบนั้น ๆ

                 ๔)  อำนาจอธิปไตย  (Sovereignty)  หมายถึงอำนาจสูงสุดในการปกครอง และการบริหารของรัฐที่ชอบด้วยกฎหมาย   มีลักษณะถาวร แสดงออกในรูปของการบังคับบัญชาผู้ที่อยู่อาศัยภายในรัฐนั้น ๆ โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ  อำนาจอธิปไตยนั้นมีความสำคัญยิ่ง  เพราะจะเชื่อมโยงไปถึงรัฐธรรมนูญของรัฐนั้น ๆ ด้วย  เป็นเครื่องแสดงความเป็นอิสระหรือความเป็นเอกราช  อำนาจอธิปไตยอาจตั้งอยู่บนรากฐานของอำนาจบังคับหรือความยินยอมของประชาชน   ในทางพุทธจักรมีพระธรรมวินัยเปรียบดังกฎหมายรัฐธรรมนูญมีอำนาจสูงสุดที่ใครจะล่วงละเมิดมิได้   ถ้าหากมีผู้ล่วงละเมิดก็สามารถจะลงโทษหรือบังคับให้กระทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งตามพุทธบัญญัติได้  โดยเฉพาะในประเทศไทยในทางพุทธจักรมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์   ที่ให้อำนาจคณะสงฆ์บริหารปกครองกันเอง  สามารถกำหนดนโยบายหรือออกกฎข้อบังคับใด ๆ ก็ได้ที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัยและกฎหมายของรัฐ

                จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบที่สำคัญของรัฐทั้ง  ๔  คือ  ประชาชน  ดินแดน  รัฐบาล  และอำนาจอธิปไตย  เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับในทางพุทธจักรแล้วนับว่ามีส่วนที่สอดคล้องกันอย่างมาก  คือ    องค์ประกอบของพุทธจักรประกอบไปด้วยบริษัททั้งสี่ซึ่งเป็นประชากร     มีอาณาเขตหรือสังฆมลฑลอยู่ภายในรัฐที่แน่นอน  มีองค์กรบริหารสูงสุดในสมัยปัจจุบันก็คือมหาเถรสมาคม  มีอำนาจอธิปไตยคือกฎหมายของรัฐรับรองและมีพระธรรมวินัยเป็นธรรมนูญสูงสุดของสังฆมลฑล    พอที่จะกล่าวได้ว่าพุทธจักรก็คือรัฐ ๆ หนึ่งนั่นเอง ที่มีเป้าหมาย นโยบาย ที่แตกต่างจากรัฐทั่ว ๆ ไป  

                แต่นี้เป็นเพียงการนำหลักรัฐศาสตร์มาลองเปรียบเทียบให้เห็นเป็นเบื้องต้นเท่านั้น  แต่องค์กรพุทธศาสนาไม่ถือว่าเป็นรัฐ และไม่อาจจะนำมาเปรียบเทียบกับรัฐในทางโลกได้ เพราะมีเป้าหมายเพื่อการพ้นทุกข์ ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่ออำนาจและผลประโยชน์  แต่คำสอนของพระพุทธเจ้ามีทุกระดับ ทั้งในระดับโลกิยธรรม คือ ธรรมที่ใช้สำหรับโลกปัจจุบันนี้  และโลกุตรธรรม คือหลักธรรมชั้นสูงสำหรับผุ้มุ่งความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง   ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใช้จะอยู่ในระดับใด แล้วเลือกเฟ้นหลักธรรมมาปรับใช้ให้เหมาะกับระดับของตน  ก็จะสำเร็จประโยชน์ตามมุ่งหวังทุกประการ

 อ้างอิง

[๑] ชลธิชา  ศาลิคุปต์ , สังคมและการเมือง (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ ว. เซอร์วิส , ๒๕๓๙ ) , หน้า ๑๙๕.

[๒] คณะกรรมการกลุ่มผลิตชุดวิชาสังคมศึกษา ๖ , สังคมศึกษา ๖ (รัฐศาสตร์สำหรับครู) หน่วยที่ ๑ - ๘ ( นนทบุรี : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช , ๒๕๒๗ ) , หน้า ๖๖.

[๓] เรื่องเดียวกัน หน้า ๖๖.

[๔] สิน  สภาวสุ , ทางรอดของมนุษย์ชาติ ( กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสมัย , ๒๕๒๖ ) , หน้า ๑๙.

[๕] สุชีพ  ปุญญานุภาพ , พจนานุกรมศัพท์พระพุทธศาสนา ไทย-อังกฤษ และ อังกฤษ-ไทย ( กรุงเทพฯ : เกษมบรรณกิจการพิมพ์ , ๒๕๑๔) , หน้า ๓๐๗.

[๖] ที.ม. ๑๐ / ๑๕๒ / ๑๐๓.

[๗] จรูญ สุภาพ , หลักรัฐศาสตร์( พระนคร : สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช , ๒๕๑๔ ) , หน้า ๒๑.

[๘] องฺ.จตุก. ๒๑ / ๑๒๙ / ๑๓๒ - ๑๓๓.

[๙] พระราชธรรมนิเทศ (ระแบบ ฐิตญาโณ) , ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
( กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย , ๒๕๓๖ ) , หน้า ๖๔.

[๑๐] พระอุดรคณาธิการ (ชวินทร์ สระคำ) , ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในอินเดีย(กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย , ๒๕๓๔) , หน้า ๑๖๙.

[๑๑] ม.ม. ๑๓ / ๒๕๙ / ๒๕๖.

หมายเลขบันทึก: 554385เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2013 15:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2013 15:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

รัฐ ตามปรัชญาอิสลาม

หมายถึงถิ่นที่อยู่ของสรรพสิ่งที่อัลลอฮ์ สร้างขึ้นมา โดยมีสังคมพลวัตร กำกับดูแล

หน่วยในรัฐ ทั้งสิ่งมีชีวิต และ ไม่มีชีวิต มีภาระหน้าที่ มีสัญญาว่าจะดำรงการกตัญญูรู้คุณอัลลอฮ์ และ จะไม่ลืมอัลลอฮ์

แต่มนุษย์หลุดลอดจากมดลูกแม่ ลืมทุกคนก่อน จากนั้น หน้าที่อันชอบธรรมของพ่อแม่นั่นเอง ที่จะตักเตือน จากนั้นเมื่อพ่อแม่พ้นจากการตักเตือน พี่น้องมนุษย์(ลูกหลานจากมนุษย์คู่แรกของโลกที่เป็นพี่น้องกัน) ก็ต้องมีภาระหน้าที่ต่อกัน ต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท