ธรรมรัต
พระมหา ธรรมรัต อริยธมฺโม ยศขุน

หลักรัฐประศาสนศาสตร์ตามแนวพุทธ


หลักรัฐประศาสนศาสตร์ตามแนวพุทธ

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระคุณสมบัติยอดเยี่ยมหลายประการ  เช่นที่มีในพระไตรปิฏกก็มีถึง ๙ ประการ  ที่เรียกว่าพระพุทธคุณ ๙[๑]เช่น อรหํ เป็นพระอรหันต์ สมฺมาสมฺพุทฺโธ  เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ  เป็นต้น   นอกจากนี้ยังมีพระคุณสมบัติอื่น ๆ อีกมากมาย  โดยเฉพาะพุทธวิธีในด้านบริหารและปกครอง  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระคุณสมบัติของนักบริหารและนักปกครองชั้นยอดของพระพุทธองค์   เพราะพระคุณสมบัติในด้านนี้ของพระองค์นั่นเอง  จึงทำให้พระองค์สามารถประกาศพระพุทธศาสนาได้อย่างรวดเร็ว  เป็นปึกแผ่นมั่นคงสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ 

คำว่า  บริหาร  ตรงกับภาษาบาลีว่า  “ปริหร”  เป็นคำที่แสดงความหมายถึงลักษณะของการปกครองว่า  เป็นการนำสังคม หรือ หมู่คณะให้ดำเนินไปโดยสมบูรณ์ นำหมู่คณะให้พัฒนาไปพร้อมกัน   ปริหร อาจบ่งความหมายถึงการแบ่งงาน  การกระจายอำนาจ  หรือ  การที่สมาชิกในสังคมมีส่วนร่วมในการปกครองหมู่คณะก็ได้  ในพระไตรปิฏกมักจะใช้คำว่า  ปริหร กับกลุ่มสังคม เช่น  “อหํ  ภิกฺขุสงฺฆํ  ปริหริสฺสามิ  เราจักปกครองภิกษุสงฆ์”[๒] เป็นต้น 

การบริหาร (Administration)  เป็นคำที่มีความหมายคล้ายคลึงหรือเหมือนกับคำว่า  การจัดการ (Management)  นอกจากสองศัพท์นี้ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันแล้ว  ยังมีศัพท์อื่น ๆ อีกมากที่นำมาใช้สับสนปนเปกันไป เช่น การบริหารรัฐกิจ สาธารณบริหารหรือ รัฐประศาสนศาสตร์[๓]ซึ่งถือว่าเป็นสาขาหนึ่งของรัฐศาสตร์ หน้าที่ของนักบริหารนั้นมีอยู่หลายประการด้วยกัน  แต่เมื่อสรุปตามหลักอักษรย่อภาษาอังกฤษ  POSDC[๔]  ก็สรุปได้เหลือห้าประการ คือ

         ๑) การวางแผน (Planning) หมายถึงการกำหนดนโยบายและมาตรการอันเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

         ๒) การจัดองค์การ (Organizing) คือ การกำหนดตำแหน่งสายบังคับบัญชาในองค์การ  ว่ามีตำแหน่งอะไรบ้าง  แต่ละตำแหน่งมีอำนาจหน้าที่อย่างไร เป็นต้น

        ๓) การแต่งตั้งบุคลากร (Staffing) หมายถึงการสรรหาบุคลากรมาบรรจุแต่งตั้งในตำแหน่งที่กำหนดไว้  ตามหลักแห่งการใช้คนให้เหมาะกับงาน

       ๔) การอำนวยการ (Directing) หมายถึงการกำกับสั่งการ และมอบหมายให้แต่ละฝ่ายได้ปฏิบัติงานตามแผนที่วางไว้

        ๕) การควบคุม (Controlling) หมายถึงการติดตามดูว่าแต่ละฝ่ายปฏิบัติงานไปถึงไหน มีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้นในที่ใด  และที่สำคัญคือการป้องกันมิให้ย่อหย่อนต่อหน้าที่ ละทิ้งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่

เมื่อนำหน้าที่ของนักบริหารมาศึกษาถึงพุทธวิธีในการบริหารแล้ว  จะเห็นได้ถึงพระคุณลักษณะของนักบริหารของพระพุทธองค์ได้เป็นอย่างดี คือ

            ๑) การวางแผนหรือการกำหนดนโยบาย   หลังจากที่พระพุทธองค์ตรัสรู้แล้วก็ทรงพิจารณาทบทวนธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้นั้นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง บริบูรณ์ดีแล้ว นานถึง ๗ สัปดาห์  หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงเริ่มวางแผนในการเผยแผ่พระศาสนา  ว่าจะไปโปรดใครก่อนเป็นอันดับแรก   เพราะธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้นั้นเป็นธรรมะที่ยากและลึกซึ้ง   หากคนที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อนก็คงจะเข้าใจไม่ได้  เมื่อพระองค์ทรงวางแผนอย่างนั้นแล้วก็เสด็จไปโปรดตามที่ทรงวางแผนเอาไว้โดยเสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ก่อน   เพราะเป็นผู้ที่เคยบำเพ็ญเพียรมาก่อน เคยปฏิบัติพระองค์มาก่อนคงพอที่จะเข้าใจได้   ผลจากการแสดงธรรมครั้งแรกนั้นก็ทรงประสบผลสำเร็จ  คือมีผู้รู้ตามเห็นตามธรรมะที่พระองค์ทรงประกาศและได้ขอบวชเป็นพระสงฆ์สาวกรูปแรกของพระองค์  นั่นก็คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ  และหลังจากนั้นไม่นาน  ก็มีผู้ขอบวชและตรัสรู้ตามถึง ๖๐ รูป  พระองค์ทรงเห็นว่ามีพุทธสาวกมากเพียงพอที่จะทำการเผยแผ่พระศาสนาให้กว้างขวางต่อไปแล้ว  จึงได้ประกาศพุทธศาสโนบาย  กำหนดเป้าหมายในการประกาศพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจนว่า  จะประกาศพระพุทธศาสนาไปเพื่อเป้าหมายอะไร   พุทธศาสโนบายที่ทรงประกาศนั้นก็คือ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย     เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวงทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์แม้พวกเธอก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวงทั้งที่เป็นของทิพย์ทั้งที่เป็นของมนุษย์   พวกเธอ จงเที่ยวจาริก  เพื่อประโยชน์และความสุขแก่คนหมู่มาก  เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์      พวกเธออย่าได้ไปรวมทาง เดียวกันสองรูป  จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น  งามในท่ามกลาง งามในที่สุด  จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ  พร้อมทั้งพยัญชนะ ครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์  สัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลี คือกิเลสในจักษุน้อย  เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม  ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมี  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย    แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม[๕]

พุทธศาสโนบายของพระพุทธองค์นั้นทรงมีเป้าหมายชัดเจนว่า  ให้พระสงฆ์สาวกไปเผยแผ่พระศาสนาซึ่งเรียกว่าพรหมจรรย์  คือแบบอย่างแห่งการดำรงชีวิตอันประเสริฐ เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลและความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พระสงฆ์สาวกทั้ง ๖๐ รูปนั้นต่างก็รับพุทธศาสโนบายไปปฏิบัติ  เพียงระยะเวลา  ๙  เดือนหลังจากการตรัสรู้   พระพุทธองค์ทรงมีพระอรหันตสาวกมากกว่า ๑,๒๕๐ รูป และที่เป็นฆราวาสได้ดวงตาเห็นธรรม ปฏิญาณตนถึงพระรัตนตรัยมากกว่า ๑๒๐,๐๐๐ คน   และผู้ที่มาปฏิญาณตนเป็นพุทธสาวกนั้นมีทุกชนชั้น  ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ ข้าราชการ นักปราชญ์ เจ้าลัทธิ และประชาชนทั่วๆ ไป   จากผลสำเร็จในการประกาศพระศาสนาที่ใช้ระยะเวลาไม่นานหลังจากการตรัสรู้  เป็นการแสดงให้เห็นถึงพระคุณสมบัติของนักบริหารชั้นยอดของพระองค์  ที่ทรงทำงานอย่างมีการวางแผน มีการกำหนดนโยบาย และเป้าหมายที่ชัดเจนแน่นอน

              ๒)  พุทธวิธีในการบริหารองค์กร และ การบริหารงานบุคคล   ในการบริหารองค์กรนั้น พระพุทธองค์ทรงมีความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการรับสมาชิกเข้าสู่องค์กร  หรือสถาบันสงฆ์  ในยุคแรก ๆ  พระองค์ทรงคัดเลือกสมาชิกที่เข้าใหม่เอง  คือ  ทรงอุปสมบทแก่ผู้ที่ต้องการที่จะอุปสมบทด้วยพระองค์เอง  แต่ต่อมาก็ทรงมอบอำนาจให้สงฆ์เป็นผู้จัดการ  และได้ทรงกำหนดคุณสมบัติของสมาชิกที่จะเข้าใหม่ไว้อย่างเข้มงวดรัดกุม   เช่น ผู้ที่จะอุปสมบทนั้นจะต้องเป็นผู้ชายมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป  และเป็นคนที่มีอวัยวะสมบูรณ์ไม่พิกลพิการ ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ[๖] ไม่เป็นคนที่มีชื่อเสียงไม่ดีเช่นเป็นโจร[๗]ไม่เป็นคนที่ทำความผิดหนีอาญาแผ่นดิน มีเครื่องหมายติดตัว เช่น  มีรอยสัก ถูกเฆี่ยนหลังลาย[๘]เป็นต้น

                       เมื่อมีคุณสมบัติครบถ้วนแล้วก็จะต้องมีผู้รับรองหรือผู้ที่พิจารณาคัดเลือกว่าสมควรจะบวชหรือไม่  นั่นก็คือพระอุปัชฌาย์และพระสงฆ์ตามที่ทรงกำหนดไว้  คือ ไม่ต่ำกว่า ๑๐ รูปในเขตที่มีพระพอเพียง  และไม่ต่ำกว่า ๕ รูป ในเขตที่มีพระหายาก   หลังจากรับสมาชิกใหม่เข้ามาแล้ว     จะต้องอยู่รับการศึกษาอบรมในสำนักของอุปัชฌาย์หรืออาจารย์อย่างน้อย ๕ ปี  ซึ่งเรียกว่าการถือนิสัย[๙] ถึงแม้ว่าจะครบห้าปีแล้วก็ตาม  ถ้ายังมีความรู้หรือมีความประพฤติที่ยังไม่เพียงพอที่จะปกครองตัวเองได้แล้ว  จะต้องอยู่ศึกษาต่อไปจนกว่าอาจารย์หรืออุปัชฌาย์เห็นว่ามีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเป็นนิสัยมุตตกะ  คือ ไม่ต้องถือนิสัยในสำนักของอุปัชฌาย์อาจารย์  เพราะมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะรักษาตัวเองได้แล้ว   เพราะว่าผู้ที่ยังไม่มีความรู้และมีภูมิธรรมที่ยังไม่เพียงพอนั้น  อาจจะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ตนเองและหมู่คณะได้ นอกจากนี้ยังทรงบัญญัติให้พระภิกษุสงฆ์ประชุมกันทุกกึ่งเดือน  เพื่อตรวจสอบความประพฤติของตนเองว่ามีข้อผิดพลาดบกพร่องตรงไหนบ้าง  และจะได้ปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น

                          ตามหลักรัฐประศาสนศาตร์  การบริหารงานที่ดีจะต้องมีการแบ่งมอบงานให้ข้าราชการหรือฝ่ายบริหารต่าง ๆ รับผิดชอบไปตามความรู้ความสามารถ  จะต้องแต่งตั้งบุคลากรให้เหมาะกับงาน  ซึ่งเกี่ยวกับด้านนี้พระพุทธองค์ก็ทรงจำแนกหรือแบ่งงานออกเป็นแผนก ๆ  เช่นเดียวกัน ทรงแต่งตั้งพระภิกษุให้ทำหน้าที่ด้านต่าง ๆ ตามความเหมาะสม เช่นพระสารีบุตร ซึ่งเป็นผู้ที่มีสติปัญญา  มีความแตกฉานในพระธรรมคำสอน   บางครั้งมีผู้มาทูลถามปัญหากับพระพุทธองค์ แต่พระพุทธองค์ทรงให้ไปถามพระสารีบุตร  เมื่อพระสารีบุตรตอบแล้วพระองค์ก็ทรงเปล่งสาธุการว่า   ถ้าพระองค์ตอบเองก็เหมือนกันกับที่พระสารีบุตรตอบ  พระองค์ทรงแต่งตั้งให้พระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา  หรือถ้าเรียกกันในสมัยปัจจุบันก็ได้แก่ ผู้ช่วยฝ่ายวิชาการนั่นเอง ส่วนพระโมคคัลลานะนั้นเป็นผู้ที่มีความสามารถในการแก้ปัญหาต่าง ๆ  มีอิทธิฤทธิ์ มีความเฉียบขาด เฉียบแหลม  ทรงแต่งตั้งให้เป็นพระอัครสาวกฝ่ายซ้าย  ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยฝ่ายบริหาร  และยังมีพระเถระอื่น ๆ ที่ทรงแต่งตั้ง เช่น พระอุบาลี ทรงมอบหมายให้ทำหน้าที่ในการตัดสินอธิกรณ์ถึง ๓ เรื่อง คือ เรื่องพระกุมารกัสสปะ[๑๐] เรื่องพระภารุกัจฉกะ และเรื่องพระอัชชุกะ  เพราะพระอุบาลีเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในพระวินัย[๑๑]  ได้ศึกษาพระวินัยจากสำนักของพระพุทธองค์โดยตรง  ในการยกย่องพระสาวกก็เช่นเดียวกัน  พระองค์ทรงยกย่องตามความรู้ความสามารถ   ที่เรียกว่าทรงแต่งตั้งเอตทัคคะ  เช่น  พระปุณณมัณตานีบุตร เป็นผู้ที่แสดงธรรมได้อย่างยอดเยี่ยม  พระองค์ทรงยกย่องให้เป็นเอตทัคคะด้านธรรมกถึก[๑๒]   เป็นต้น

                     นอกจากนี้พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่ต่อสุขทุกข์ของพระสาวก  หรือของสมาชิกในองค์กรอย่างใกล้ชิด  เช่นในสมัยหนึ่งมีภิกษุรูปหนึ่งอาพาธด้วยโรคท้องเสีย  เธอนอนจมอุจจาระปัสสาวะของตนอยู่  ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จพร้อมกับพระอานนท์ผ่านไป  ทรงทอดพระเนตรเห็น  จึงเสด็จเข้าไปหาแล้วทรงสอบถามถึงอาการป่วย  ทรงรับสั่งให้พระอานนท์ไปหาน้ำมาแล้วพระองค์ก็ทรงอาบน้ำ  ชำระร่างกายให้กับพระภิกษุรูปนั้นจนสะอาด  ยกเธอขึ้นนอนบนเตียงเสร็จแล้วก็ทรงเรียกประชุมสงฆ์   และบัญญัติพระวินัยว่า

            "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มารดาบิดาผู้จะพึงพยาบาลพวกเธอก็ไม่มี    ถ้าเธอไม่พยาบาลกันเอง  ใครเล่าจักพยาบาล      ดูก่อนภิกษุทั้งหลายผู้ใดจะพยาบาลเรา  ก็พึงพยาบาลภิกษุไข้เถิด  ถ้ามีอุปัชฌายะ…ถ้ามีอาจารย์…ถ้ามีสัทธิวิหาริก…ถ้ามีอันเตวาสิก…ถ้ามีภิกษุร่วมอาจารย์ ภิกษุร่วมอาจารย์พึงพยาบาลเธอตลอดชีวิต จนกว่าจะหาย ถ้าไม่มีอุปัชฌายะ  อาจารย์  สัทธิวิหาริก  อันเตวาสิก   ผู้ร่วมอุปัชฌาย์หรือผู้ร่วมอาจารย์  สงฆ์พึงพยาบาลเธอ  ถ้าไม่พยาบาลต้องอาบัติทุกกฎ[๑๓]

               พระคุณลักษณะในข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับนักบริหารที่ดี  เพราะผู้ที่เป็นผู้บังคับบัญชาต้องมีความเอาใจใส่ต่อสุขทุกข์ของผู้ใต้ปกครอง ตามภาษิตที่ว่า  “ดีใช้  ไข้รักษา” คือเมื่อยามผู้ใต้ปกครองปกติก็สามารถมอบหมายงานต่างๆ ให้ทำได้  เมื่อยามเจ็บป่วยหรือไม่สบายก็จะต้องเอาใจใส่ดูแล ไต่ถามหรือช่วยเหลือตามสมควร   ผู้ปกครองหรือผู้บริหารที่มีคุณลักษณะเช่นนี้  ย่อมจะได้รับการเคารพนับถือจากผู้ใต้ปกครองอย่างจริงใจ

                   ๓. พุทธวิธีในการอำนวยการและการควบคุม   ในการเผยแผ่พระศาสนาในสมัยพุทธกาลนั้น   พระพุทธองค์ทรงเป็นผู้อำนวยการเอง  ปัญหาต่าง ๆ จึงมีน้อย  ถึงมีพระองค์ก็ทรงจัดการได้อย่างเรียบร้อย  พุทธวิธีในการบริหารของพระองค์นั้นทรงยึดถือหลักการหรือธรรมะมากกว่าบุคคล    มีพระพุทธพจน์ที่แสดงให้เห็นถึงการที่พระองค์ทรงยึดถือหลักการ (ธรรมะ) มากกว่าตัวบุคคล คือ

               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย     พวกเธอจงมีตนเป็นที่พึ่งเถิด      อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลยจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด  อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย

          ดูก่อนอานนท์…ธรรมและวินัยใดอันเราแสดงไว้แล้ว     บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ    ธรรมและวินัยอันนั้น  จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยกาลล่วงไปแห่งเรา[๑๔]

               ในพุทธศาสนานั้น พระวินัยที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้เป็นหลักการสูงสุด พระองค์ทรงยึดหลักความถูกต้องเป็นสำคัญ หากพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งทำผิดพระวินัย พระองค์ก็จะทรงบอกว่าผิดไม่มีการยกเว้นว่าผู้นั้นจะเป็นใคร เช่นพระติสสะซึ่งเป็นโอรสของพระปิตุจฉาของพระองค์เอง  ท่านบวชเมื่อตอนมีอายุมากแล้ว  และยังมีมานะความถือตัวว่าเป็นโอรสของกษัตริย์  เมื่อเห็นพระอาคันตุกะซึ่งเป็นพระที่มีอายุพรรษามากกว่าตน   มาเฝ้าพระพุทธเจ้า  แต่ท่านก็ไม่ได้ทำสามีจิกรรมคือการต้อนรับ มีการลุกไหว้ เป็นต้น เมื่อพระอาคันตุกะเหล่านั้นประณาม   ท่านก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้า  แต่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า  พระติสสะเป็นฝ่ายผิดและให้เป็นผู้ขอขมาโทษต่อพระอาคันตุกะเหล่านั้น[๑๕] เป็นการแสดงถึงการยึดถือหลักความถูกต้องเป็นสำคัญ  โดยไม่เห็นแก่หน้าหรือเลือกปฏิบัติ 

               พระองค์ทรงใช้อำนาจในการบริหารทั้ง ๓ แบบ  คือ อัตตาธิปไตย โลกาธิปไตย และ ธัมมาธิปไตย  ตามความเหมาะสม  แต่จะทรงเน้นถึงธัมมาธิปไตย  คือ การถือธรรม  ความถูกต้องเที่ยงธรรมเป็นใหญ่  สิ่งใดที่พระองค์ทรงเห็นว่าถูกต้อง เที่ยงธรรม แม้จะขัดกับฐานะของพระองค์เองและเป็นการฝืนกระแสของสังคม  พระองค์ก็ทรงยืนหยัดอย่างเหนียวแน่น  เช่น  ในเรื่องการยกเลิกระบบวรรณะอย่างสิ้นเชิงในพระพุทธศาสนาทั้งๆ ที่พระองค์เองทรงถือกำเนิดในวรรณะกษัตริย์ และทรงประกาศพระศาสนาในท่ามกลางศาสนาพราหมณ์ ที่เน้นและเคร่งครัดในเรื่องระบบวรรณะเป็นอย่างยิ่ง

                   ในองค์กรใดก็ตามเมื่อมีการขัดแย้งเกิดขึ้นในองค์กร  ผู้ปกครองจะต้องเป็นผู้ลงมาไกล่เกลี่ยหรือแก้ไข  พระพุทธองค์ก็เช่นเดียวกัน  เมื่อเกิดมีความขัดแย้งแตกความสามัคคีกันของพระภิกษุชาวโกสัมพี[๑๖]   พระองค์มิได้ทรงนิ่งนอนพระทัย  ตอนแรกทรงฝากพระดำรัสเตือนมากับพระภิกษุให้มาบอกแก่พระภิกษุชาวโกสัมพีถึงสองครั้ง  แต่พระภิกษุเหล่านั้นมิได้เชื่อฟัง  ในวาระที่สามทรงเสด็จมาด้วยพระองค์เอง   แต่พระภิกษุเหล่านั้นก็ยังหาเชื่อฟังไม่  สุดท้ายพระองค์ทรงลงโทษด้วยการเสด็จหลีกออกจากหมู่พระภิกษุเหล่านั้น       เสด็จไปประทับอยู่เพียงพระองค์เดียวที่ป่าปาริไลยกะ เมื่อประชาชนทราบข่าวว่าพระภิกษุเหล่านั้นทะเลาะกันจนพระศาสดาเสด็จหลีกไป   ก็ไม่ทำบุญให้ทานแก่พระภิกษุเหล่านั้น  จึงทำให้พระภิกษุชาวโกสัมพีสำนึกผิด  และเดินทางไปทูลขอขมาต่อพระพุทธองค์  

                   ในการควบคุมสมาชิกในองค์กร  พระองค์ก็ทรงบัญญัติพระวินัยเอาไว้ให้เป็นกรอบปฏิบัติสำหรับพระภิกษุสามเณรในพุทธศาสนา  ไม่ว่าจะมาจากชนชั้นวรรณะใดแต่เมื่อเข้ามาสู่พระธรรมวินัยของพระองค์แล้ว   ก็จะต้องอยู่ภายใต้กรอบหรือพระวินัยอันเดียวกัน  จึงทำให้องค์กรมีเอกภาพ  มีความเสมอภาค  มีภราดรภาพ  และในการบัญญัติพระวินัยของพระองค์นั้น  พระองค์มิได้บัญญัติขึ้นตามที่ทรงพอพระทัย  แต่จะทรงบัญญัติก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นและเหตุนั้นเป็นที่ตำหนิติเตียนของประชาชนบ้าง เป็นเรื่องไม่เหมาะสมบ้าง พระองค์จึงทรงห้ามการกระทำนั้น ๆ ถ้าใครขืนทำลงไปก็เป็นความผิดมีโทษตามพุทธบัญญัติ

                ดังนั้นจะเห็นได้ว่าพระคุณลักษณะในด้านการบริหารของพระพุทธองค์นั้น  สามารถที่จะนำมาใช้ในสังคมปัจจุบันได้เป็นอย่างดี  เพราะพระคุณสมบัติของการเป็นนักบริหารชั้นยอดนี้เอง  พระพุทธศาสนาจึงได้กลายเป็นสถาบันอันเป็นปึกแผ่นมั่นคงดำรงอยู่ในอินเดียเหนือได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว  และยังแผ่กระจายไปยังนานาประเทศ  และองค์กรที่พระองค์ทรงก่อตั้งขึ้นก็คือองค์กรสงฆ์   ก็ยังมีความเจริญมั่นคงสืบเนื่องจนถึงทุกวันนี้

 

อ้างอิง

[๑] ม.มู. ๑๒ / ๙๕ / ๔๙.

[๒] ที.ม. ๑๐ / ๙๓ / ๘๖.

[๓] สร้อยตระกูล  (ติวยานนท์) อรรถมานะ , สาธารณบริหารศาสตร์  พิมพ์ครั้งที่ ๓ ( กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , ๒๕๔๐) , หน้า ๒.

[๔] พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) , คุณธรรมสำหรับนักบริหาร  พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพนายสำคัญ ศังวนิช (ไม่ปรากฎสถานที่พิมพ์ , ๒๕๓๘) , หน้า ๑๐-๑๑.

[๕] วินย. ๔ / ๓๒ / ๓๒.

[๖] วินย. ๔ / ๑๐๑ / ๑๑๗.

[๗] วินย. ๔ / ๑๐๓ / ๑๒๑.

[๘] วินย. ๔ / ๑๐๖ - ๑๐๗ / ๑๒๒ - ๑๒๓.

[๙] วินย.  ๔ / ๑๑๕ / ๑๒๘.

[๑๐] วินย.  ๑ / ๗๘ / ๕๒.

[๑๑] องฺ.เอก. ๒๐ / ๑๔๙ / ๒๕.

[๑๒] องฺ.เอก.  ๒๐ / ๑๔๖ / ๒๔.

[๑๓] วินย.  ๕  / ๑๖๖ / ๑๘๐.

[๑๔] ที.ม. ๑๐ / ๑๔๑ / ๑๒๓.

[๑๕] มหามกุฎราชวิทยาลัย , พระธัมมปทัฏฐคาถาแปล ภาค ๑ พิมพ์ครั้งที่ ๑๓ ( กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย , ๒๕๒๙ ) , หน้า ๕๓ - ๖๓.

[๑๖] วินย. ๔ / ๒๓๘ - ๒๖๐ / ๒๔๕ - ๒๗๗.

 

หมายเลขบันทึก: 554382เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2013 14:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2013 14:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท