"สัตว์ในตัวเรา"


ได้ยินเด็ก (ชาย) กลุ่มหนึ่งพูดคุยกันเสียงดัง ในคำและความหมายของเด็กสมัยนี้ ดูเหมือนจะเต็มไปด้วยคำหยาบในสายตาผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่จำนวนมากใช้คำที่หยาบโลน และตรงไปตรงมา ในสื่อละคร ภาพยนต์ ตลก ก็มีคำเหล่านี้ดาษดื่น หรือว่า การสื่อสารสมัยนี้มันไม่ตรงจริตตนหรือไม่สะใจตน ที่สะท้อน "ความเต็มเจตน์" (full-will) ของตนจากภายใน จนมันกลายเป็นโรคติดต่อ หรือเลียนแบบกัน แล้วเหมือนจะกลายเป็นคำปกติไป แม้ทางสื่อโลกไซเบอร์ ก็ใช้สื่อเป็นทางระบายด่ากันบนยูทุบหรือรายการทางสื่อของคุณลีน่า จัง เธอจัดรายการแบบด่าไปด้วย หรือว่าภาษาพ่อขุนรามฯ กำลังเป็นที่นิยม จะว่าไปแล้วภาษาลักษณะนี้ มีทุกประเทศ ทุกเชื้อชาติ

ตัวอย่างที่กล่าวมานี้ มันสะท้อนอะไรในสังคมไทยหรือไม่ อันที่จริงพฤติกรรม กระแสโลกเหมือนมันมีตัวนำ และมีตัวตาม เมื่อมันตรงจริตหรือสะใจตามแรงขับภายใน กระแสนั้นก็ไหลออกมา เมื่อเสพติดกันมากก็กลายเป็นรูปแบบที่เคยตัว โดยไม่รู้ตัว สังเกตได้ครอบครัวไหนมีเด็กวัยรุ่น มักจะได้ยินคำหยาบในสไตล์ของกลุ่มนี้ 

มีคำสบถ หยายโลน หยาบกระด้าง หยาบแรง เสียดสี กระแทกกระทั้น เปรียบเปรย เย้ยหยัน ฯ เช่น จะมีคำที่ขึ้นต้นด้วย กู  มึง ไอ้... อี... อวัยวะเพศ ชื่อสัตว์ กิริยาอาการสืบพันธุ์ ตระกูลพ่อแม่ บางส่วนของอวัยวะร่างกาย ฯ นอกนั้นก็มีคำผสม ทั้งไทยและเทศ มากมาย เหล่านี้คือ คำที่สื่อกันทุกมุมของโลก ถ้าจะติดใจก็อาจถามได้ว่า เราไม่ได้เป็นสัตว์เหมือนที่เขาพูดกัน แต่ก็อดไม่ได้ที่จะถามว่า พฤติกรรมมนุษย์ในสังคมวันนี้ แสดงออกเหมือน (Like) สัตว์หรือไม่ ฆ่ากัน กินกัน (ดิบ) แสดงกัน เสพกัน ฯ

หากมองในแง่สร้างสรรค์กับคำเหล่านี้ ก็พออาจวิเคราะห์ได้เล่นๆว่า ตัวเรากว่าจะเกิดมาได้ ก็ได้อาศัยบรรดาสัตว์น้อยใหญ่มาไม่น้อยเหมือนกัน สัตว์ที่ถูกเรากินไปไม่รู้เท่าไหร่ ที่เราเติบโตมาถึงวันนี้ เพราะชีวิตสัตว์เลี้ยงวิญญาณเราก็ว่าได้ สัตว์หมดป่า ล่าไม่ได้ มนุษย์ก็แสดงบทบาทแทนหรือไม่ หากจะมองในแง่หนึ่ง เราก็ถูกหลอมหรือหลอมกันเองจากพฤติกรรม การแต่งตัวสวมเขา แสดงออกเหมือนสิงห์โต เสือ ลิง ฯ

ในทางศาสนาก็มีสิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องเช่น สักยันต์เสือ สิงห์ มังกร นก จิ้งจก งู ฯ ในจีน พระเส้าหลินได้เรียนรู้วิธีต่อสู้จากพฤติกรรมของสัตว์ป่า เพื่อนำเอากิริยาท่าทางเหล่านั้น มาปรับใช้ในการลำมวยหรือเชิงยุทธศิลป์ในตนเอง แม้แต่มวยไทย เช่น จระเข้ฟาดหาง ช้างกระทบ หักฟันปลา ปักษาแหวกรัง ฯ นอกนี้ สัตว์ยังกลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ ของชาติ ของมงคล โชคลางก็มี เมื่อมองภาพรวมแล้ว สัตว์ ธรรมชาติ กฎ พฤติกรรม ตำรา สรรพสิ่ง ฯ ล้วนประมวลลงที่ตัวมนุษย์ทั้งสิ้น นัยว่าจะได้มีพลัง วิเศษ โชคดี มงคล

มองให้ลึกไปกว่านั้น ในทางพระพุทธศาสนากล่าวถึงลักษณะของอวัยวะของมนุษย์เหมือนดั่งนิสัยสัตว์ต่างๆ อย่างน่าคิด เป็นปริศนา ในร่างกายของมนุษย์เป็นแดนเกิดความรู้ การกระทำ การเคลื่อนไหว และมีผลต่อสิ่งภายนอก เพราะเรามีอายตนะภายในอยู่ ๖ ช่องด้วยกันนั่นคือ  ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ อวัยวะเหล่านี้คือ แดนเกิดความรู้ เวทนา ความคิด ปัญญา สังขาร วิญญาณ จินตนาการ ที่รวมเรียกว่า "ใจ" ที่ท่านเปรียบเหมือนสัตว์แต่ละประเภท เพราะอวัยวะเหล่านี้ ทำหน้าที่ต่างกันและมีลักษณะไปตามทิศทางของแต่ละแดนเกิด ท่านเปรียบไว้ดังนี้

๑) "ตา" (จักขุ:eye) เป็นอวัยวะสำหรับมอง การมองเป็นเรื่องใหญ่ของมนุษย์ กิจกรรม ความคิด จินตนาการ ฯ มาจากตามอง ทั้งสิ้น ดังนั้น ตาจึงมักสอดส่องจ้องหาแต่เป้าหมายของตน ไม่ว่าสิ่งดี ไม่ดี ที่ชอบ ไม่ชอบ ไม่อยากมองก็เห็น ไม่อยากเห็นก็เห็น เพราะดวงตาเปิดเสมอ ยกเว้นยามหลับ ดังนั้น พฤติกรรมของเรา จึงถูกตานำพาไปทั้งสิ้น ท่านเปรียบตาเหมือน "งู" เพราะลักษณะของงูคงชอบเลื้อยหาเหยื่อ สำรวจพื้นที่ไปเรื่อยๆ ไม่กลัวอะไร เหมือนกับตาเรา

๒) "หู" (โสต: ear) ของเราเป็นอวัยวะสำหรับฟังเรื่องต่างๆ รับรู้ข้อมูล สิ่งเตือนภัย อะไรที่เพราะ เสนาะหู เราก็ชอบฟัง สิ่งที่ไม่อยากฟังคือ เสียงด่า คำหยาบ คำนินทา คำโกหก เมื่อฟัง ได้ยินก็คิด ก็จินตนาไปต่างๆ นานา แต่โดยพื้นฐาน หูก็ชอบฟังสิ่งดี เพราะๆ เย็นๆ หวานๆ คำชม คำยอ คำสะดุดี ดังนั้น ท่านจึงเปรียบหู เหมือน "จระเข้" เพราะว่าสัตว์ชนิดนี้แช่ในน้ำ ชอบที่เย็น ที่ชุ่ม นิสัยมนุษย์ก็ชอบไปลักษณะเช่นนั้น

๓) "จมูก" (ฆานะ:nose) เป็นอวัยวะสำหรับดมกลิ่น หายใจ ตำแหน่งของจมูกมักจะอยู่ใกล้ปาก เนื่องจากจะได้เตือนภัยเรื่องกลิ่นก่อนเข้าปาก  การแสวงหาอาหารของสัตว์โดยการใช้จมูกหานั้น มีหลายชนิด เช่น นก สุนัข  แมลงวัน มด ฯ ส่วนมนุษย์ใช้จมูกในการดมกลิ่นที่ชอบ ของหอม ของย้อม ฯ กลิ่นน้ำหอมต่างๆ ที่ผู้คนใช้กันเพื่อสิ่งนี้ เพื่อจะดึงดูดคนอื่น สร้างบรรยากาศ สร้างจินตนาการได้ ท่านจึงเปรียบจมูกเหมือน "นก" เพราะนกมักแสวงหาเหยื่อ อาหารได้ไกลด้วยการใช้จมูกดมกลิ่นนั่นเอง

๔) "ลิ้น" (ชิวหา:tongue) ลิ้นเป็นอวัยวะที่รับรส อาหาร ชอบลิ้มรส อร่อย ถูกปาก ถูกใจ เกิดความหลงใหล ใคร่หาของกินอร่อยๆ จนอ้วนบวม เรียกว่า หลงในการรับรสปลายลิ้นของตัวเอง นอกจากรับรสแล้ว ลิ้นยังเป็นอวัยวะสำหรับการพูด การออกเสียงด้วย การพูด การใช้คำด่า นินทา ว่ากล่าวคนอื่นก็เป็นลักษณะหนึ่งของมนุษย์ด้วย ท่านจึงเปรียบ "ลิ้น" เหมือน "สุนัขบ้า" ที่ปากมีแต่อยากพูดอยากด่าคนอื่น เหมือนสุนัขบ้าที่มีอาการน้ำลายไหลเพราะพิษโรคบ้า

๕) "กาย" (ผัสสะ:body) เป็นอวัยวะรูปทรง ที่ครอบคลุมไปด้วยระบบประสาท ที่สามารถรับรู้ได้โดยการสัมผัส แตะต้อง ทั่วร่างกายเรามีขนเพื่อปรับน้ำเหงื่อออก และมีผิวกำพร้าเป็นเกราะป้องกันรังสีและฝุ่นละออง ธุลี เชื้อโรคต่างๆ ในขณะเดียวกัน กายเราก็กลายเป็นที่รองรับมวลกายหรือการสัมผัสอ่อนๆ นิ่มๆ หรือ ร้อน อุ่น เย็น หนาว เราจึงชอบนอนที่นุ่มอ่อน เวลานอนก็ไม่อยากลุก เพราะติดใจ ติดในรสสัมผัส ท่านเปรียบกายเหมือน "สุนัขจิ้งจอก" เพราะมันชอบซุกซ่อนในที่อ่อนนุ่ม อุ่นๆ เพื่อพักผ่อน หลบภัย ในโพรง ดงหญ้า ในถ้ำ

๖) "ใจ" (มโน: mind) เป็นอวัยวะที่ไม่เห็นตัวตน แต่มีอิทธิพลต่อมนุษย์มากที่สุด ท่านว่าใจคือ ประธานการเป็นใหญ่ทั้งหมด ในเรื่องการกระทำ เพราะใจจะเป็นผู้บัญชา จากข้อมูลของสมอง แล้วเลือกว่าจะทำอะไร ซึ่งใจเองก็ไม่ได้ใหญ่หรือเป็นใหญ่ด้วยตัวเอง หากแต่อาศัยแรงกระตุ้นจากสัตว์ทั้งห้าข้างบนช่วย ใจเป็นผู้ตัดสินเท่านั้น ในการติดสินใจ ก็มีผู้แทรกแซงอยู่เช่นกัน คือ กิเลส ตัณหา อวิชชา ดังนั้น ใจจึงถูกแรงกระตุ้นภายนอกและภายในตนเขย่า บีบคั้น ส่งเสริมให้ใจดิ้นรน กวัดแกว่งไปมา จึงทำให้ใจเรา ไม่สงบสุข ชอบไหลตามอนาคต อดีต หรือกิจเฉพาะหน้า  จึงอยู่ไม่นิ่ง ท่านจึงเปรียบใจเหมือน "ลิง" เพราะลิงวอกแวก เหลาะแหละ ว่องไว ไม่อยู่นิ่ง ใจก็เหมือนกัน

ท่านมีวิธีแก้มิให้สัตว์เหล่านี้ นำพาหรือสิงเรา กล่าวคือ "ให้รู้จักการสำรวมอินทรีย์" (be aware) (อวัยวะทั้งหก) ให้อยู่ในกรอบของตัวสติ สัมปชัญญะ (be conscious) เมื่อสัวตว์เหล่าตื่นหรือแสดงอยู่นั่นเอง

ฮือ! จากประเด็นคำหยาบ ของเด็กๆ ใยมาถึงประเด็นเรื่องธรรมละนี่ ดังนั้น เสียงด่า คำด่า คำหยาบ นินทา ฯ ย่อมเกิดคู่โลก เราเพิ่งเกิดมา ย่อมปฏิเสธมิได้ แต่ทางที่พอบริหารได้คือ "ฟังเป็นเสียงเพลง บรรเลงเป็นเสียงธรรม" ในใจดีกว่า หรือถ้าทำยาก ก็ถือซะว่า เราคือ สัตว์มนุษย์ชนิดหนึ่งในโลก

หมายเลขบันทึก: 554381เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2013 13:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2013 20:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท