ธรรมรัต
พระมหา ธรรมรัต อริยธมฺโม ยศขุน

พุทธวิธีการปกครองสงฆ์


พุทธวิธีในการปกครอง

                     การปกครอง คือ การควบคุม ดูแลหมู่คณะให้มีความเป็นอยู่ที่ดี  มีระเบียบวินัย เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของหมู่หรือของสังคมนั้น ๆ  ศัพท์ที่ใช้ในความหมายว่าปกครองในพระไตรปิฏก  เช่น  ปสาส[๑]อภิปาล[๒] เป็นต้น  ในสมัยพุทธกาลนั้นพระพุทธองค์มิได้มีพระดำริที่จะปกครองสงฆ์  ดังพระพุทธดำรัสที่ว่า  “ดูก่อนอานนท์  ตถาคตมิได้มีความดำริอย่างนี้ว่า   เราจักบริหารภิกษุสงฆ์ หรือว่าภิกษุสงฆ์จักเชิดชูเรา  ตถาคตจักปรารภภิกษุสงฆ์แล้ว  กล่าวคำอย่างใดอย่างหนึ่งในคราวหนึ่ง”[๓]

                        ) หลักในการปกครองสงฆ์   การปกครองในสมัยพุทธกาลนั้น  ปกครองโดยอาศัยพระธรรมวินัย   สิ่งสำคัญที่ทรงกระทำในการปกครองก็คือ  การที่ทรงกำหนดระเบียบปฏิบัติสำหรับภิกษุสงฆ์   หรือเรียกว่า ทรงบัญญัติพระวินัย  ซึ่งถือได้ว่าเป็นหลักในการปกครองและบริหารงานคณะสงฆ์  นอกจากวินัยแล้วก็ทรงใช้ธรรมเป็นหลักในการบริหารการปกครองด้วย  ธรรมเป็นคำสอน   วินัยเป็นคำสั่ง  รวมทั้งคำสอนคำสั่งของพระพุทธเจ้าเรียกว่า พระธรรมวินัย   สังฆประศาสโนบาย  หรือ อุบายในการปกครองสงฆ์นี้  ได้แก่การปรับปรุงความคิดเห็นของปัจเจกชนให้ถูกตรงตามหลักพระธรรมวินัย   ให้พระธรรมวินัยปรากฎในตัวบุคคลหรือในตัวปัจเจกชน  ด้วยการมอบกายไว้ภายใต้พระวินัย  แล้วมอบใจไว้ภายใต้พระธรรม   หมายความว่าให้สำเร็จเป็นการปกครองตัวเองขั้นหนึ่งก่อน  แล้วค่อยปกครองหมู่คณะหรือบุคคลอื่นในภายหลัง 

               สิ่งที่จะตัดสินว่าอะไรคือธรรมวินัยนั้น  พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในโคตมีสูตร[๔]โดยใจความว่า   ลักษณะที่จะตัดสินว่าอะไรคือธรรมวินัยของพระองค์นั้น จะต้องเป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด ความปราศจากทุกข์ ความไม่พอกพูนกองกิเลส ความอยากอันน้อย ความสันโดษ ความสงัด การประกอบความเพียร ความเลี้ยงง่าย   ธรรมวินัยเหล่าใดที่มีลักษณะเป็นไปอย่างนี้จึงชื่อว่าเป็นธรรมเป็นวินัยของพระองค์   ถ้าตรงข้ามจากหลักทั้ง ๘ ประการนี้แล้ว  ก็ถือว่าไม่ใช่ธรรมไม่ใช่วินัย ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระองค์  

              การปกครองสงฆ์ในสมัยพุทธกาลยังไม่มีรูปแบบในลักษณะที่เป็นองค์กรบริหารแบบจัดตั้งตามลักษณะขององค์กรบริหารทั่วๆ ไปในปัจจุบัน  แต่เป็นกระบวนการในการทำหน้าที่ของพระภิกษุทุกรูปที่อยู่ร่วมกันในอาวาสหนึ่ง ๆ  ซึ่งมีสิทธิเท่าเทียมกันในการที่จะช่วยเหลือทำหน้าที่ดูแล รักษา และดำเนินการให้ชีวิตความเป็นอยู่ ความคิด คำพูด และการกระทำของภิกษุแต่ละรูปให้เป็นไปตามหลักพระธรรมวินัย  อีกทั้งดูแลชีวิตความเป็นอยู่และกิจกรรมของสงฆ์  ทั้งภายในสังคมสงฆ์เองและที่เกี่ยวข้องกับสังคมภายนอก   ให้ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ  เรียกว่าเป็นการปกครองโดยธรรมวินัย  เป็นไปเพื่อเกื้อกูลทั้งแก่ปัจเจกภิกษุ สังคมสงฆ์โดยส่วนรวม และแก่พระศาสนา  คือ  ทั้งประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวมทั้งภายในและภายนอก

                 การที่พระพุทธองค์ทรงปกครองสงฆ์ โดยการที่ทรงบัญญัติพระวินัยก็ดี  การที่ทรงแสดงธรรมก็ดี  ก็เพื่อประโยชน์และความอยู่ผาสุกแก่หมู่สงฆ์โดยส่วนรวม  มิใช่เพื่อประโยชน์และความสุขของพระองค์เองเลย  เพราะพระองค์ทรงบรรลุประโยชน์และความสุขถึงที่สุดเต็มที่แล้ว  คงเหลือแต่ทรงบำเพ็ญพุทธกิจตามพุทธจริยาเท่านั้น  พระองค์จึงทรงแสดงพระธรรมและทรงบัญญัติพระวินัยที่บุคคล  เมื่อบุคคลมีพระธรรมวินัยปรากฎในใจของตน  ก็ย่อมรู้จักปกครองกายและใจของตนได้อย่างเป็นระเบียบดีงาม  ตามกำลังแห่งพระธรรมวินัยนั้น  เพราะพระธรรมนั้นเป็นระเบียบของใจ พระวินัยเป็นระเบียบของกาย  เมื่อรวมกันเข้าเป็นหมู่คณะก็เป็นหมู่คณะที่ดี  ดังที่พระองค์ทรงยกย่องไว้ในปสาทสูตร[๕] โดยใจความสรุปว่า  

                 บรรดาหมู่คณะใดๆ ในโลก หมู่สาวกของพระองค์เป็นหมู่คณะที่เป็นเลิศ  เพราะเป็นหมู่ที่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย  ซึ่งเป็นเครื่องขัดเกลากิเลสออกเป็นชั้น ๆ  เป็นหมู่คณะที่ละกิเลสได้เด็ดขาดบ้าง ได้บางส่วนบ้าง ซึ่งมีชื่อเรียกต่างกัน คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี เป็นต้น  ซึ่งบุคคลเช่นนี้จะอยู่ในหมู่คณะใด  ก็ไม่นำพาความเสื่อมหรือความยุ่งยากมาสู่หมู่คณะนั้น  กลับนำพาหมู่คณะให้ประสบแต่ความเจริญรุ่งเรืองถ่ายเดียว  ดังนั้นหมู่คณะของพระองค์จึงเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐที่สุดในบรรดาหมู่คณะทั้งหลายในโลก

พระพุทธองค์ทรงวางระบบสังคมสงฆ์บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมกันของพระภิกษุทุกรูป  พระองค์มิได้มีพระประสงค์ที่จะรวมอำนาจการปกครองไว้ที่พระองค์เองหรือพระอรหันต์สาวกรูปใดรูปหนึ่ง  เพราะผู้ที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมจะปกครองสงฆ์นั้น  นอกจากพระพุทธองค์แล้ว  ก็มีเพียงพระอัครสาวกทั้งสอง คือ พระมหาโมคคัลลานะ และ พระสารีบุตรเท่านั้น  ดังพระพุทธดำรัสที่ว่า “ ดีละโมคคัลลานะ  ความจริงเราหรือสารีบุตรและโมคคัลลานะเท่านั้น พึงปกครองสงฆ์”[๖]  

                   ถึงแม้ว่าพระอัครสาวกทั้งสองมีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่สุด  พระองค์ก็มิได้ทรงมอบให้พระอัครสาวกทั้งสองปกครองสงฆ์   ทรงมอบอำนาจให้สงฆ์มีอำนาจหน้าที่ในการปกครองและบริหารงานในขอบเขตของพระธรรมวินัย  ในตอนแรกพระองค์ยังไม่ทรงบัญญัติพระวินัย  เพราะผู้บวชมีจำนวนน้อยและเป็นผู้ที่บวชด้วยศรัทธาจริง ๆ บางครั้งก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ก่อนที่จะบวช  บางครั้งก็เป็นพวกที่ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วบวช  เมื่อบวชแล้วก็บำเพ็ญเพียรจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์เสียส่วนมาก  

                 แต่ต่อมาผู้บวชมีมากขึ้นพระองค์จึงทรงมอบอำนาจให้สงฆ์เป็นใหญ่ในสังฆกรรม โดยมีพระอุปัชฌาย์เป็นผู้นำเข้าหมู่  ผู้ที่บวชเข้ามาก็มีหลายประเภท  คนที่ไม่มีศรัทธาหรือบวชด้วยวัตถุประสงค์อย่างอื่นก็สามารถบวชเข้ามาได้  ซึ่งกลุ่มนี้นั่นเองที่ก่อให้เกิดความยุ่งยากขึ้นในสงฆ์   เมื่อเป็นดังนี้พระองค์จึงทรงบัญญัติพระวินัยโดยสมควรแก่เหตุนั้น ๆ และทรงวางโทษไว้เป็นพุทธอาณา ด้วยการปรับอาบัติหนักบ้าง เบาบ้าง ตามสมควรแก่โทษแก่ผู้ที่ล่วงละเมิด  เพื่อป้องกันความประพฤติเสียหาย   นอกจากนี้ยังทรงแต่งตั้งขนบธรรมเนียมซึ่งเรียกว่า อภิสมาจาร  เพื่อชักนำความประพฤติของภิกษุสงฆ์ให้ดีงาม  พระพุทธบัญญัติและอภิสมาจารทั้ง ๒ ประการนี้รวมเรียกว่า  พระวินัย  เป็นระบอบในการปกครองสงฆ์ตั้งแต่สมัยพุทธกาลเป็นต้นมา

                   พระพุทธบัญญัติที่ทรงตั้งไว้เดิมเรียกว่า มูลบัญญัติ  ที่ทรงเพิ่มเติมในภายหลังเรียกว่า อนุบัญญัติ  ทั้งสองประการนี้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติและแก้ไขด้วยพระองค์เอง   ไม่มีสาวกองค์ใดกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข   ถึงแม้ว่าก่อนที่พระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ทรงประทานอนุญาตไว้ว่า  ถ้าหากสงฆ์ปรารถนาจะถอนสิกขาบทเล็กน้อยก็ให้ถอนได้[๗]  แต่ก็ไม่มีพระสงฆ์สาวกรูปใดที่จะถอน   แม้ในคราวปฐมสังคายนาพระอรหันต์สาวกทั้งหลายก็มีมติที่จะไม่ถอน  พระสงฆ์รุ่นหลัง ๆ ก็ได้รับปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน  อำนาจในการปกครองสงฆ์นั้นเป็นอำนาจที่ได้มาจากพระธรรมวินัย   จุดประสงค์หลักของการปกครองสงฆ์ก็เพื่อรักษาพระธรรมวินัย   และเพื่อประโยชน์แก่สังคมสงฆ์เองตลอดถึงสังคมภายนอกคือหมู่ประชาชนทั่วไปอีกด้วย จะเห็นได้จากวัตถุประสงค์ของการบัญญัติพระวินัยของพระพุทธองค์[๘]ซึ่งมีทั้งหมดด้วยกัน ๑๐ ประการ แต่สามารถสรุปย่อลงได้เหลือห้าประการ[๙]  คือ

     ๑) เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือแก่คณะสงฆ์  แบ่งได้เป็น ๒ ประการ คือ

     - สงฺฆสุฏฺฐุตายะ  เพื่อความยอมรับว่าดีแห่งสงฆ์  คือ เพื่อความดีงามของสถาบันสงฆ์โดยส่วนรวม  ที่จะมีความเรียบร้อย อยู่กันด้วยดี ด้วยการตั้งวินัยขึ้นมาบนพื้นฐานแห่งการยอมรับร่วมกัน  คือ  พระพุทธเจ้าไม่ทรงใช้อำนาจโดยการบังคับฝืนใจ  แต่ทรงบัญญัติสิกขาบทเพื่อผลดีร่วมกันและโดยความยอมรับร่วมกัน

      - สงฺฆผาสุตายะ  เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งสงฆ์ หรือส่วนรวม

   ๒) เพื่อประโยชน์แก่บุคคล

       - ทุมฺมํกูนํ ปุคคลานํ นิคฺคหาย เพื่อกำราบคนหน้าด้าน (ทุมมังกุ ผู้เก้อยาก)

        - เปสลานํ ภิกฺขูนํ ผาสุวิหาราย เพื่อความอยู่ผาสุกของภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก  เพื่อส่งเสริมคนประพฤติดีและกำราบคนประพฤติชั่ว    

     ๓) เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปที่เป็นสังคมใหญ่  เพื่อผลดีแก่จิตใจของประชาชน ทำให้คนมีจิตใจผ่องใส  ด้วยอาศัยความดีงามของพระสงฆ์เป็นสื่อ

          - อปฺปสนฺนานํ ปสาทาย  เพื่อความเลื่อมใสของประชาชนที่ยังไม่เลื่อมใส

          - ปสนฺนานํ ภิยฺโยภาวาย  เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของประชาชนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว

    สองข้อนี้มุ่งเพื่อประโยชน์ของประชาชนเอง  เพราะว่าความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับประชาชนมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ทำให้เขามีจิตใจสงบ  แช่มชื่น เบิกบาน สบาย ผ่องใส เกิดศรัทธามีปิติ และความสุขเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่คุณความดีที่สูงยิ่งขึ้นไป

   ๔) เพื่อประโยชน์แก่ชีวิตมนุษย์เอง  คือ คำนึงถึงผลดีและผลร้ายที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตของมนุษย์  เช่น เรื่องของความดี ความชั่วเป็นต้น  โดยมุ่งที่จะสร้างสภาพที่เอื้อต่อชีวิตที่ดีงาม

    -  ทิฎฺฐธมฺมิกานํ อาสวานํ สํวราย เพื่อปิดกั้นผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน

    - สมฺปรายิกานํ อาสวานํ ปฏิฆาตาย เพื่อป้องกันผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

      ๕) เพื่อประโยชน์แก่พระศาสนา

       - สทฺธมฺมฎฺฐิติยา  เพื่อให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงยั่งยืน

       - วินยานุคฺคหาย เพื่ออนุเคราะห์พระวินัย    เพื่อช่วยค้ำจุนให้ระเบียบแบบแผนและระบบการต่างๆ ให้เกิดมีในการปฏิบัติตามหลักการอย่างหนักแน่นมั่นคง  เป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างยั่งยืน

            กระบวนการในการปกครองสงฆ์จึงเป็นการสร้างสังคมอุดมคติ  นอกจากจะมีพระวินัยเป็นหลักปฏิบัติแล้ว   ยังต้องอาศัยคุณธรรมต่าง ๆ ของพระสงฆ์สาวก เช่น ความเป็นกัลยาณมิตรของกันและกัน  ความหวังดีในทางธรรมต่อกัน ความสามัคคีกันในทางธรรม ความพร้อมเพรียงกันทำหน้าที่โดยเห็นแก่ธรรมเป็นหลัก เป็นต้น  

            นอกจากนี้ยังจะต้องเคารพลัทธินิยมหรือประเพณีของกันและกัน  โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันคือ วิมุตติ   การปกครองสงฆ์นั้นจะต้องยึดถือพระธรรมวินัยเป็นหลัก  แต่เมื่อการปฏิบัติยังไม่ถึงที่สุดก็อาจจะทำให้มีธรรมเนียมนิยมที่แตกต่างกันบ้าง   จึงต้องมีความเคารพในธรรมเนียมของกันและกัน   เพื่อป้องกันความกระทบกระเทือนทางจิตใจ   อันจะเป็นเหตุให้หมู่คณะเกิดการแตกร้าว  เป็นการยึดเหนี่ยวน้ำใจกันไว้ด้วยสามัคคีธรรม  เมื่อการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยเข้าถึงที่สุดแล้ว  ธรรมเนียมนิยมนั้น ๆ ก็จะหายไปเอง  ไม่ถือเอาเป็นสาเหตุของการขัดแย้งวิวาทอันเป็นปัจจัยทำลายความสามัคคีในสังฆมณฑล  เมื่อสรุปถึงหลักการในการปกครองสงฆ์แล้วจะได้ ๓ ประการ คือ

            ๑) ยึดถือพระธรรมวินัยเป็นหลักในการปกครอง แล้วอาศัยคุณธรรมต่าง ๆ ของพระอริยสาวกเป็นเครื่องสนับสนุนเกื้อกูล

             ๒) เคารพธรรมเนียมนิยมของกันและกัน ตามพระธรรมวินัย

             ๓) มุ่งผลคือความสามัคคี และ ความผาสุกของคณะสงฆ์ตามพุทธบัญญัติ

๒. ระบอบในการปกครองสงฆ์  

              การปกครองสงฆ์แต่เดิมมาเป็นการปกครองในทำนองอาจารย์ปกครองศิษย์  บิดาปกครองบุตร อาจารย์มีความเมตตาในศิษย์  บิดามีเมตตาในบุตร  ศิษย์มีความเคารพในอาจารย์  บุตรมีความเคารพในบิดา  ต่างก็เป็นกัลยาณมิตรของกันและกัน   โดยมีพระธรรมวินัยเป็นหลัก  มีพระศาสดาทรงดำรงตำแหน่งในที่เป็นพระธรรมราชา คือ เป็นประมุขสูงสุด  ทรงตั้งอยู่ในฐานะที่เป็นพระสังฆบิดรผู้ดูแลพระภิกษุสงฆ์  ทรงวางระบอบการปกครอง คือ พระวินัย เพื่อให้หมู่สงฆ์เป็นหมู่ที่ดี  ทรงบัญญัติหน้าที่ซึ่งอาจารย์กับศิษย์จะพึงปฏิบัติต่อกันอันเรียกว่า “วัตร” มีอุปัชฌายวัตร สัทธิวิหาริกวัตร อาจาริยวัตร อันเตวาสิกวัตร เป็นต้น  ต่างฝ่ายต่างก็เอาเป็นธุระของกันและกัน  ไม่ปล่อยปละละเลย  เมื่อศิษย์ทำผิดอาจารย์ก็จะลงโทษในฐานะอาจารย์กับศิษย์  หรือ เหมือนกับบิดาลงโทษบุตร   เป็นการลงโทษด้วยความเมตตาเพื่อให้สำนึกในความผิดของตน  จะได้กลับตัวกลับใจจากการประพฤติผิดมาประพฤติให้ถูกต้อง    อาจารย์หรือผู้ปกครองก็จะคอยเป็นผู้แนะนำพร่ำสอนชี้คุณชี้โทษ  ให้รู้ตระหนักถึงเหตุผล  และคอยควบคุมเอาใจใส่    โดยผู้ที่ทำหน้าที่ปกครองนั้นจะต้องตั้งตนให้เป็นตัวอย่างหรือผู้ปกครองที่ดีก่อน  ซึ่งจะเป็นการง่ายขึ้นในการชักนำให้เกิดศรัทธาแก่ผู้ใต้ปกครอง

               การปกครองที่เป็นไปตามระบอบพระธรรมวินัยนั้น  คือ การปกครองคนให้เป็นคนดี  พร้อมทั้งความรู้และความประพฤติ ที่เรียกว่า  ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ  เมื่อคนดีอยู่ในสถานที่ใด   ก็จะเป็นกำลังช่วยทำให้สถานที่นั้น ๆ ให้เจริญได้   สถานที่จะเจริญได้ก็เพราะคนดี  ระบอบการปกครองที่ดีจึงต้องสร้างคนดีให้มีจำนวนมากขึ้น  เพื่อที่จะสืบสานนโยบายในการทำงานต่อไปอย่างไม่ขาดสาย   พระพุทธองค์ทรงสร้างสาวกให้เป็นธรรมทายาท  จึงทำให้เป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบัน

๓. พุทธวิธีในการปกครองสงฆ์ 

            วิธีในการปกครองสงฆ์ของพระพุทธองค์นั้น  ทรงมีหลายวิธี  ซึ่งจะนำมาสรุปได้ก็คือ

             ๓.๑ ปกครองตนหรือฝึกตน   วิธีการปกครองในทางพระพุทธศาสนาก็คือ  การครองตนหรือปกครองตัวเอง  ถ้าปกครองตัวเองไม่ได้ก็ไม่สามารถที่จะปกครองผู้อื่นได้ การที่จะปกครองผู้อื่นได้นั้นต้องปกครองตนเองให้ได้เสียก่อน  ดังพุทธพจน์ว่า  “บุคคลพึงยังตนให้ตั้งอยู่ในคุณอันสมควรเสียก่อน  แล้วพึงพร่ำสอนผู้อื่นในภายหลัง  บัณฑิตประพฤติตนอย่างนี้ จึงไม่เศร้าหมอง”[๑๐] ก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงเป็นผู้ปกครองสงฆ์นั้น  พระองค์ได้ฝึกพระองค์เองมาอย่างสมบูรณ์แล้ว  โดยพระองค์ทรงเริ่มฝึกพระองค์เองมานับชาติไม่ถ้วนก่อนที่จะมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า   ที่เรียกว่าทรงบำเพ็ญบารมี   ซึ่งมีตั้งแต่บารมีขั้นสามัญ ขั้นปานกลาง จนกระทั่งถึงขั้นสูงสุดที่เรียกว่า ปรมัตถบารมี  เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว  พระองค์ก็ทรงตั้งอยู่ในฐานะพระธรรมราชาผู้ปกครองพุทธบริษัท  ทรงเป็นนักปกครองอย่างดีเลิศ ไม่มีนักปกครองใด ๆ ที่จะเสมอหรือยิ่งใหญ่ไปกว่าพระองค์  หลักในการปกครองตนนั้นต้องเป็นไปตามพระธรรมวินัย

                     ๓.๒ ปกครองบุคคลที่สมควรปกครองหรือฝึกบุคคลที่ควรฝึก  บุคคลนั้นมีความแตกต่างกันออกไป   และมิใช่ว่าจะสามารถฝึกให้ดีได้ทุกคนไป  พระพุทธองค์เองก็ทรงไม่สามารถฝึกได้ทุกคน  แต่พระองค์ทรงมีวิธีฝึกหรือวิธีในการปกครองของพระองค์  ดังที่พระพุทธองค์ทรงสนทนากับนายเกสีผู้ฝึกม้า  โดยนายเกสีกราบทูลถามพระพุทธองค์ว่า

         “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ก็พระผู้มีพระภาคเป็นสารถีฝึกบุรุษชั้นเยี่ยม  พระองค์ทรงฝึกอย่างไร?”

          “เหมือนกันแหละเกสี  เราฝึกโดยวิธีละมุนละม่อมบ้าง โดยวิธีรุนแรงบ้าง ทั้งละมุน  ละม่อมและรุนแรงบ้าง”

           “ถ้าฝึกไม่ได้พระองค์จะทำอย่างไร”

            “ถ้าฝึกไม่ได้ เราก็ฆ่าเหมือนกัน…เกสี การฆ่าในความหมายแห่งอริยวินัยนี้ คือ การที่เราไม่ว่ากล่าวสั่งสอน เพื่อนพรหมจารีผู้รู้ก็ไม่ว่ากล่าวสั่งสอน[๑๑]

              ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแม้พระพุทธองค์เองก็ไม่สามารถฝึกหรือปกครองคนได้ทุกคน  การฝึกคนโดยวิธีละมุนละม่อมของพระพุทธองค์ก็ได้แก่ การชี้ให้เห็นสุจริตและผลของสุจริต  การฝึกอย่างรุนแรงของพระองค์คือ  การชี้ให้เห็นทุจริต และผลของทุจริต ให้เห็นนรก เปรต กำเนิดสัตว์เดรัจฉานเป็นต้น   บุคคลที่ปกครองได้ฝึกได้ท่านเรียกว่า  เวไนยสัตว์   การปกครองผู้อื่นนั้นจะต้องปกครองด้วยธรรมะ  คือใช้ธรรมะเข้าไปปราบกิเลสจึงจะสามารถปกครองได้ผลดี

                 .๓ สังคหวิธี   วิธีนี้เป็นอุบายยึดเหนี่ยวจิตใจ  ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการปกครองที่ดี  พระพุทธเจ้าไม่โปรดในการใช้อาชญาเหมือนอย่างกับการปกครองในทางโลก เพราะว่าไม่ว่าบุคคลนั้น ๆ  จะดื้อด้านปกครองยากเพียงใดก็ตาม  ถ้าหากผู้ปกครองเป็นผู้ฉลาดในการยึดเหนี่ยวน้ำใจก็สามารถที่จะทำให้เป็นผู้ที่มีจิตใจอ่อนโยนได้  สิ่งที่ใช้ในการยึดเหนี่ยวน้ำใจก็คือธรรมะ เช่น หลักสังคหวัตถุ ๔  สาราณียธรรม ๖ เป็นต้น

                 ๓.๔ นิคคหวิธี   คือ  การข่มบุคคลที่ควรข่ม  เป็นธรรมดาของหมู่คณะไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม   จะต้องมีคนดีและคนไม่ดี  คนที่ก่อให้เกิดความยุ่งยากในหมู่คณะก็คือคนไม่ดีนั่นเอง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่จะต้องเป็นธุระเพื่อความผาสุกของหมู่คณะหรือประชาชนโดยส่วนรวม  เมื่อใช้วิธีอื่น ๆ ไม่สำเร็จแล้วก็จำต้องใช้นิคคหวิธี  คือ การลงโทษ  ในทางการปกครองสงฆ์เรียกว่า นิคคหกรรม  คือ การลงโทษตามสมควรแก่ความผิด   การลงโทษในทางวินัยนั้นถ้าเป็นความผิดที่ไม่รุนแรง พอที่จะแก้ไขและปรับปรุงพฤติกรรมใหม่ให้ดีขึ้นได้นั้น เรียกว่าสเตกิจฉา  ถ้าเป็นความผิดที่ร้ายแรง ไม่สามารถที่จะขอปรับปรุงแก้ไขใหม่ได้  เรียกว่าอเตกิจฉา เปรียบเสมือนการต้องโทษประหารชีวิตในทางโลกนั่นเอง ตัวอย่างนิคคหวิธีที่พระพุทธองค์ทรงใช้ เช่น  การที่ทรงมีพระพุทธานุญาตให้ลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ ที่มีความถือตัวว่าเคยเป็นผู้ที่รับใช้ใกล้ชิดของพระพุทธองค์มาตั้งแต่ก่อนผนวช ว่า  “ดูก่อนอานนท์…โดยล่วงไปแห่งเรา พึงลงพรหมทัณฑ์แก่ฉันนะภิกษุ ดูก่อนอานนท์  ฉันนะภิกษุจะพึงพูดได้ตามที่ตนปรารถนา  ภิกษุทั้งหลายไม่พึงว่าไม่พึงกล่าวไม่พึงสั่งสอน”[๑๒]

               .๕ ปัคคหวิธี      คือ  การยกย่องคนที่ควรยกย่อง  เพื่อให้บุคคลนั้น ๆ ได้รับขวัญและกำลังใจในการกระทำความดียิ่ง ๆ ขึ้น และเป็นการแสดงให้เห็นถึงการมองเห็นถึงความดีของบุคคลนั้น ๆ  พระพุทธองค์ก็ทรงใช้วิธีนี้เช่นกัน  เช่นทรงยกย่องพระอานนท์ว่า   

            อานนท์เป็นบัณฑิต   ย่อมรู้ว่านี้เป็นกาลเพื่อจะเข้าเฝ้าพระตถาคต    นี้เป็นกาลแห่งภิกษุ  นี้เป็นกาลแห่งภิกษุณี นี้เป็นกาลแห่งอุบาสก นี้เป็นกาลแห่งอุบาสิกา    นี้เป็นกาลแห่งพระราชา  นี้เป็นกาลของราชอำมาตย์  นี้เป็นกาลของเดียรถีย์ นี้เป็นกาลของสาวกเดียรถีย์[๑๓]

               วิธีทั้งห้าประการนี้เป็นพุทธวิธีในการปกครองสงฆ์   แต่หลักการหรือวิธีการที่พระพุทธองค์ทรงใช้มากที่สุดก็คือ  การปกครองตามหลักพระธรรมวินัยนั่นเอง ถ้าหากว่าคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบันนี้ รื้อฟื้นพุทธวิธีการปกครองสงฆ์ของพระพุทธเจ้ามาใช้ในการปกครองคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน จะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ในองค์กรคณะสงฆ์ให้หมดสิ้นไปได้ แทนที่จะใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์  ซึ่งเป็นกฎหมายที่ชาวโลกบัญญัติขึ้นมาให้พระสงฆ์ใช้  ทำให้องค์กรคณะสงฆ์ประสบปัญหามากมายในปัจจุบันนี้

 อ้างอิง

[๑] ที.ม. ฉบับบาลี   ๑๐ / ๑๖๕ / ๑๑๙.

[๒] ที.ปา. ฉบับบาลี  ๑๑ / ๒๗๘ / ๒๑๖.

[๓] ที.ม. ฉบับบาลี   ๑๐ / ๑๖๕ / ๑๑๙.

[๔] องฺ.อฏฺฐก. ๒๓ / ๑๔๓ / ๒๒๑ - ๒๒๒ ; วินย. ๗ / ๕๒๓ / ๒๓๑.

[๕] องฺ.จตุกฺก. ๒๑ / ๓๔ / ๓๔ - ๓๕.

[๖] ม.ม. ๑๓ / ๑๘๙ / ๑๕๕.

[๗] ที.ม. ๑๐ / ๑๔๑ / ๑๒๓ .

[๘] วินย. ๑ / ๒๐ / ๒๖ - ๒๗  , องฺ.ทสก. ๒๔  / ๓๑ / ๖๓.

[๙] พระธรรมปิฏก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) , นิติศาสตร์แนวพุทธ ( กรุงเทพฯ : บริษัทสหธรรมิก จำกัด , ๒๕๓๙ ) , หน้า ๖๒.

[๑๐] ขุ.ธ.  ๒๕ / ๑๕๘ /๕๒.

[๑๑] องฺ.จตุตฺก.  ๒๑ / ๑๑๑ / ๑๑๒ - ๑๑๓

[๑๒] ที.ม. ๑๐ / ๑๔๑ / ๑๒๓.

[๑๓] ที.ม. ๑๐ / ๑๓๕ / ๑๑๗.

หมายเลขบันทึก: 554384เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2013 14:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2013 14:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท