พี่เลี้ยงของชีวิต


ชีวิตผมโชคดีที่มีโอกาสพบเจออาจารย์ผู้ใหญ่ที่ดีหลายท่าน เรียกว่าเป็นกุศลของชีวิตก็ได้

คำสอนหรือกระทั่งวลีจากการพูดคุยในบางครั้งมันจับใจจนต้องบันทึกเอาไว้

 

อาจารย์ธาดา ยิบอินซอย ท่านเคยเรียกหัวหน้าภาควิชาและผมไปนั่งคุย เพื่อหารือเรื่องการตายของสตรีตั้งครรภ์ของภาคใต้เรา มันมากกว่าที่อื่น

ท่านถามว่า "คนท้องในภาคใต้ตายไปสักคนหนึ่ง เรา (หมายถึงม.อ.) ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบหรือไม่" ประโยคนี้เพียงประโยคเดียว เราถึงกับซึ้ง เพราะมันจริงอย่างที่อาจารย์ถาม ถ้าเราพอใจกับตัวเลขชี้วัดบางอย่าง คนตายที่นราธิวาสก็เป็นเรื่องของแม่ตายที่นราธิวาส แล้วเราอยู่ที่นี่จะเกี่ยวอะไร คำตอบคือเกี่ยว และเกี่ยวอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะ position ที่มีเรา (หมายถึง สงขลานครินทร์) ขึ้นมาก็เพื่อช่วยแก้ปัญหาสาธารณสุขของคนใต้ คนที่อยู่ที่นราธิวาสก็เพื่อนเรา ลูกศิษย์เรา คนใต้ก็เป็นคนของเรา คนนราธิวาสก็เป็นของเรา เป็นต้น ดังนั้นไม่เกี่ยวไม่ได้

หรือหากจะบอกว่า คนท้องมาตายที่เรามาก นั่นก็เพราะเรารักษาแต่โรคหนัก คนจะมาตายที่เราก็สุดวิสัย ถ้าจะอ้างแบบนี้ก็กรุณากลับไปอ่านข้างบนอีกครั้ง ก็จะเข้าใจ

ดังนั้น หลังจากการพูดคุยครั้งนั้น เราจึงมีงานทำเพิ่มขึ้นอย่างหนัก มีมาตรการต่างๆมากมายร่วมกับ MCH board ของจังหวัด มีการจัดระบบการส่งต่อที่เอื้อต่อการทำงาน เอื้อเฟื้อต่อกัน สนุกเป็นที่สุดตลอดเวลาเกือบ ๔ ปี ของการทำงานเป็นรองหัวหน้าภาควิชาในตอนนั้น

 

อาจารย์อุดม ชมชาญ เป็นอีกท่านหนึ่งที่คุยด้วยแล้วสนุก ท่านเป็นนักบริหาร เป็นนักแก้ปัญหา และชอบมองการทำงานเป็นเกม (อันนี้ผมรู้สึกเอง)

วันหนึ่งท่านได้พูดกับผมว่า "เป็นผู้บริหารน่ะ อย่าหวังว่าจะรวยขึ้น มีแต่จนลง จนลง"

ฟังไปหัวเราะไป เพราะไม่ต้องตีความหรือหาความหมายมากนัก และมันก็เป็นจริงอย่างที่อาจารย์ว่ามา ซูฮกครับ

 

อาจารย์สุธรรม ท่านเคยสอนผมขณะที่เป็นรองหัวหน้าภาควิชา "เคร่งครัดที่ตน ผ่อนปรนที่คนอื่น" นัยว่า เมื่อมีกฎเกณฑ์อะไรออกไปแล้วนั้น เราต้องปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดี แต่หากคนอื่นจะบิดเบี้ยวไปบ้างก็ให้เรานิ่ง ไม่จำเป็นต้องใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ดังกล่าวเพื่อก่อให้เกิดโทษจนมากเกินไป

การตรงเวลาเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่อย่าไปว่าเขามากไปหากเขาจะมาสายบ้าง

ทำหน้าที่ของเราให้เรียบร้อย แล้วอย่าไปมองคนอื่นมากกว่ามองตัวเอง ตำหนิตัวเองก่อน

เวลาออกตรวจผู้ป่วย ก็จัดการเรื่องของเรา อย่าไปสนใจว่าใครจะมาไหม มาตอนไหน ตรวจคนไข้ไปกี่คน

และอีกหลายตัวอย่างมากที่ใช้วิธีคิดอย่างที่อาจารย์สอนมาแล้วรู้สึกเป็นสุขในใจ บางคนอาจจะเห็นแย้ง ว่ามันไม่ถูกไม่ควรที่จะไม่ตำหนิติเตียน แต่อย่าลืมนะครับ ว่าผมใช้คำว่า "บ้าง" มิใช่ "เป็นนิจ" เรื่องนี้ หากพูดถึงการเป็นหัวหน้า หัวหน้าที่ดีก็ยังคงมีหน้าที่ และมีความจำเป็นที่จะต้องคอยดูแลลูกน้องให้ยึดถือระเบียบ ต้องให้คุณให้โทษได้อย่างเป็นธรรม เช่นเดียวกัน

 

เป็นดั่งนี้ ก็เลยเขียนมาให้อ่าน ใครมีเรื่องดีๆก็เอามาแบ่งกันบ้าง จักเป็นพระคุณครับ

หมายเลขบันทึก: 554131เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2013 18:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2013 18:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

"เคร่งครัดที่ตน ผ่อนปรนที่คนอื่น"....เป็นข้อคิด ที่ดีีมากๆนะคะ ... ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณครับสำหรับขุมทรัพย์ทางปัญญาที่ค้นหาได้จากที่แห่งนี้ครับ

ขอบคุณขุมทรัพย์ทางปัญญาที่พบเจอได้ ณ ที่แห่งนี้ครับ

ขอบคุณที่แบ่งปันเรื่องราวดีๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท