วัดไทยในรัฐกลันตัน


ความเปลี่ยนแปลงทางพุทธศาสนา

 

ความเป็นพุทธพาณิชย์ของวัดไทยในรัฐกลันตัน

เหมือนขวัญ  เรณุมาศ

10/3/2556       

 

                 ปัจจุบันศาสนาพุทธ ได้เผยแพร่อยู่ในหลายประเทศแถบเอเชียจำนวนมาก เช่น ประเทศไทย เวียดนาม  ลาว กัมพูชา พม่า  และมาเลเซีย ฯลฯ ซึ่งในหลายๆ ประเทศมีการสถาปนาให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาหลักประจำชาติ แต่สำหรับในมาเลเซีย ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของชนกลุ่มน้อย และโดยส่วนใหญ่จะอยู่ในรัฐภาคเหนือของมาเลเซีย เช่น เกดาร์ ตรังกานู เปอร์ลิส และกลันตัน

                 สำหรับรัฐกลันตัน เดิมทีนั้นเป็นรัฐที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศสยาม   จนกระทั้งสยามได้ทำสนธิสัญญาเพื่อโอนสิทธิเหนือดินแดนเหล่านี้ให้กับอังกฤษ   สมัยที่อังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคมของมาเลเซียและต่อมาสืบทอดมายังญี่ปุ่น ญี่ปุ่นมีการถ่ายโอนดินแดน 4 รัฐคืนให้กับสยาม จนกระทั่งสงครามยุติลง ดินแดน 4 รัฐทางเหนือที่เป็นประเทศมาเลเซียปัจจุบันก็กลับไปเป็นของอังกฤษตามเดิม และในช่วงที่อังกฤษประกาศให้เอกราชกับมาเลเซียในปี 2500 ดินแดน 4 รัฐทางเหนือที่เคยเป็นของสยามจึงต้องตกทอดไปเป็นของมาเลเซียโดยปริยาย (สมพร ขุนเพชร 2554)

                 ซึ่งรัฐกลันตัน อันเป็น 1 ใน 4 รัฐทางเหนือของมาเลเซียปัจจุบัน เป็นรัฐอนุรักษ์นิยมที่เคร่งครัดในศาสนาอิสลามมากที่สุดในบรรดารัฐต่างๆ ของประเทศมาเลเซีย แต่ประชากรส่วนใหญ่ของรัฐกลันตันนั้นประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย มีทั้งชาวมลายู ชาวอินเดีย ชาวจีน และชาวไทยหรือไทยสยาม “Orang Siam” (สมพร 2554)

                 ชาวไทยมาตั้งถิ่นฐานอยู่เมื่อไหร่นั้น ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการยืนยันอย่างแน่นอน แต่ชาวไทยเหล่านี้มีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง นับถือศาสนาพุทธ และมีวัดไทยถึงจำนวน 20 วัดภายในรัฐกลันตัน ซึ่งวัดไทยเหล่านี้  ยังคงมีการตั้งชื่อแบบไทย เช่น วัดจำปาแก้ว วัดพิกุลทอง และวัดสุคนธาราม ฯลฯ มีคณะสงฆ์ไทย มีการเปิดสอนภาษาไทยบางแห่ง และมีรูปแบบพิธีกรรมแบบไทย แม้ว่าปัจจุบันวัดไทยเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบความเชื่อ  พิธีกรรมและลักษณะสถานไปตามความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมบ้างแล้วก็ตามแต่ก็ไม่ทั้งหมด อีกทั้งความเปลี่ยนทางเศรษฐกิจสังคมโลก ยังเป็นเหตุให้ต้องยอมรับว่า ความเข้มข้นในวัฒนธรรมทางศาสนาพุทธของชาวไทยพุทธในรัฐกลันตันปัจจุบันกับอดีตมีความแตกต่างกันมาก  ทั้งนี้เพราะกระแสความเจริญของโลกทำให้ความสนใจในศาสนาของคนรุ่นใหม่ลดน้อยลง แต่กระนั้นก็ตามวัดไทยต่างๆ ในรัฐกลันตันก็ยังคงดำรงอยู่ได้อย่างยาวนานแม้ชาวพุทธจะไม่ค่อยให้ความสนใจก็ตาม  ซึ่งจากการเก็บข้อมูลและการสังเกตการณ์ของผู้วิจัยครั้งลงเก็บข้อมูลภาคสนาม พบว่า การที่วัดไทยจะดำรงรักษาวัดอันเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาของชาวพุทธในกลันตันไว้นั้น เป็นผลจาก “ความเป็นพุทธพาณิชย์” ของวัด การอาศัยความเชื่อและการทำกิจกรรมในเชิงธุรกิจ  โดยเน้นหนักไปที่ “วัตถุ” ให้เป็นเงื่อนไขในการเรียกปัจจัยทางการเงินให้แก่วัด

                วัดจำเป็นต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้ในการดำรงอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม การดำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมหรือการดำรงอยู่ของวัดยังไม่ใช่ประเด็นหลักที่ผู้วิจัยมีความสนใจที่จะศึกษา     สิ่งที่ผู้วิจัยต้องการจะหาคำตอบจากการศึกษา คือ ความเป็นพุทธพาณิชย์ของวัดไทยในรัฐกลันตัน  นั้นมีความเป็นมาอย่างไร มีความหมายในลักษณะไหน และสามารถโยงโยกลุ่มคนต่างๆ  ให้เข้ามาเกี่ยวข้องได้อย่างไร ทั้งๆ ที่แน่นอนว่า คนแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์  ชาวไทยสยาม  ชาวจีน ต่างก็มีวิถีชีวิตที่แตกต่าง มีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจในระดับที่ต่างกัน     แต่สามารถรวมตัวกันทำกิจกรรมหรือมีส่วนเข้ามาพัวพันกับความเป็นพุทธพาณิชย์ของวัดได้อย่างไร   ซึ่งที่ผ่านมามีนักวิชาการทั้งสายประวัติศาสต์ มานุษยวิทยา และสังคมวิทยาหลายท่านได้ทำการศึกษา ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับวัดไทยในรัฐ กลันตันไว้อย่างน่าสนใจหลากหลายท่าน  อาทิเช่น ผลงานของ

                ไพลดา ชัยศร (2552) ศึกษาเรื่อง “วัดไทยในกลันตัน: การปรับเปลี่ยนมิติทางสังคมและเศรษฐกิจของชุมชนชาวพุทธในรัฐมุสลิม”  ในงานเขียนชิ้นนี้ ผู้เขียน ไพลดา ชัยศร ได้ทำการตีความการเปลี่ยนแปลงของวัดไทยในรัฐกลันตันที่นำไปสู่การเป็นพุทธพาณิชย์ไว้ว่า เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่รวดเร็ว    ทำให้วัดต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ หลายประการ อาทิเช่น กระแสการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กระแสคนเริ่มเข้าวัดน้อยลง  และทำงานตอบสนองความต้องการทางวัตถุมากขึ้น ดังนั้นวัดจึงต้องปรับตัวใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการความเชื่อของผู้คน ส่งผลให้วัดหลายแห่งในรัฐกลันตันมีความพยายามดึงคนเข้าวัดและหารายได้ ส่งผลทำให้วัดเกิดเครือข่ายการทำความเชื่อให้เป็นธุรกิจร่วมกันกับกลุ่มทุนภายนอก โดยการเน้นสร้างถาวรวัตถุขนาดใหญ่และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด เริ่มสร้างตำนาน พุทธาภินิหาร  และความเชื่อทางไสยศาสตร์ เพื่อดึงเงินบริจาคให้มากขึ้น ซึ่งวิถีการปฏิบัติดังกล่าวของวัด เป็นสิ่งที่เรียกว่า “พุทธพาณิชย์”  

                 นิพนธ์  ทิพย์ศรีนิมิต (2554) ในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเรื่อง “ตัวตนทางวัฒนธรรมของคนไทยในรัฐตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย”  และได้บรรยายร่วมกับมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ (2552) เรื่อง “อัตลักษณ์วัฒนธรรมทางพุทธศาสนาจากวัดไทยในตุมปัด รัฐกลันตัน”  โดยท่านได้กล่าวถึงวัดไทยในรัฐกลันตันในปัจจุบันว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปมาก เนื่องจากวัดต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ดังนั้นท่านจึงได้จำแนกวัดไทยไทยรัฐกลันตันในปัจจุบันไว้ 3 ประเภท ดังนี้

                ประเภทแรก  วัดที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากชาติพันธุ์อื่นๆ ในการสร้างและทำนุบำรุงวัด และค่อนข้างเคร่งครัดในการปฏิบัติธรรม ขณะเดียวกันก็ยังคงไว้ซึ่งสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่บ่งบอกความเป็นไทยได้เด่นชัด ตัวอย่างวัดดังกล่าวเช่น วัดพิกุลทองวราราม  และวัดใหม่สุวรรณคีรี เป็นต้น

                ประเภทที่สอง วัดที่ปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์มาเป็นแบบผสมผสาน มีวัฒนธรรมหลากหลายเข้ามาเจือปน เช่น วัดอุตตมารามที่มีความเป็นไทยอยู่แต่มีเจดีย์ศิลปะแบบจีนเข้าไปผสมผสานและวัดแจ้งพุทธาวาส ที่ปรากฏรูปปั้นของเหล่าเทพเจ้าต่างๆ ตามคติความเชื่อของคนจีน ฯลฯ

                ประเภทที่สาม วัดที่มีการเปิดรับและยอมรับวัฒนธรรมอื่นๆ เข้ามาและมีการยึดมั่นในหลักธรรมน้อยลงจนกลายเป็นพุทธพาณิชย์ เหลือศิลปะแบบไทยไว้แค่บางส่วน หรือในบางวัดมีชาวจีนหรือชาติพันธุ์อื่นๆ เข้าไปครอบงำจนไม่เหลือเค้าโครงของความเป็นไทยเลย ซึ่งวัดประเภทนี้จัดเป็นวัดที่ทำลายอัตลักษณ์ความเป็นไทยในด้านพระพุทธศาสนาอย่างเลวร้ายที่สุด เป็นต้น

                อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่างานวิจัยที่เกี่ยวข้องที่ผ่านมา เป็นข้อมูลสำคัญประการหนึ่งที่จะบอกได้ว่า วัดไทยในรัฐกลันตันมีการปรับเปลี่ยน หรือเปลี่ยนแปลงไปในรูปลักษณะใดนับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน  รวมถึงงานของทั้งสองท่านยังเป็นข้อมูลที่สำคัญที่สามารถให้รายละเอียดเรื่องการดำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวไทยสยามในรัฐตอนเหนือท่ามกลางความเปลี่ยน แปลง และการเป็นรัฐมุสลิมได้เป็นอย่างดี แต่งานเขียนของนักวิชาการทั้งสองท่านนี้ ยังไม่สามารถตอบโจทย์ที่ผู้วิจัยต้องการจะทำการศึกษาได้  เนื่องจากผลงานทั้งสองยังไม่มีการศึกษาถึงเนื้อหารายละเอียดความเป็นพุทธพาณิชย์ในวิถีปฏิบัติของชาวพุทธและวัดไทยในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซียไว้อย่างชัดเจนและครอบคลุม    จึงยังไม่สามารถตอบโจทย์ที่ผู้วิจัยมีความสนใจที่จะศึกษาได้      ทั้งนี้ผู้วิจัยจึงมีความสนใจอย่างยิ่งในการศึกษาถึงความเป็นพุทธพาณิชย์ของวัดไทยในรัฐกลันตันว่ามีความเป็นมาอย่างไร มีความหมายในลักษณะไหน  และทำไมถึงสามารถโยงใยกลุ่มคนต่างๆ ให้เข้ามาเกี่ยวข้องได้ ทั้งๆ ที่คนแต่ละชาติพันธุ์ต่างก็มีวิถีชีวิตที่แตกต่าง แต่สามารถรวมตัวกันทำกิจกรรมหรือมีส่วนเข้ามาผัวพันกับความเป็นพุทธพาณิชย์ของวัดได้ ซึ่งเกิดขึ้นได้เพราะเหตุผลใด

                ในการศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของศาสนาในโลกปัจจุบัน ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับการทำให้ศาสนาเป็นเรื่องของธุรกิจของนักวิชาการมากมาย เช่น งานของ

                 Irving Chan Johnson(2012) กล่าวถึง   ความสัมพันธ์ผ่านเส้นเขตแดนระหว่างชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยหรือชาวไทยสยามกับชาวไทยในจังหวัดนราธิวาส ประเทศไทย  ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้  ชาวไทยสยามในหมู่บ้านใหญ่ รัฐกลัน ตันต้องการรื้อฟื้นอารมณ์ความรู้สึกเป็นไทย หรือสร้างตัวตนทางวัฒนธรรมไทยให้กับตนเอง แต่พวกเขารับรู้บางอย่างเกี่ยวกับตัวตนความเป็นไทยผ่านจินตนาการและการดูโทรทัศน์ไทยเท่านั้น     พวกเขาต้องการก้าวข้ามอุปสรรค์เรื่องรัฐชาติในการสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมไทยของพวกเขา ฉะนั้นชาวไทยสยามในหมู่บ้านใหญ่ จึงใช้โอกาสในการทำกิจกรรมต่างๆ บริเวณชายแดนไทยและมาเลเซีย ทั้งกิจกรรมการค้า   ซึ่งโดยมากเป็นกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย  รวมทั้งพยายามเข้าร่วมกิจกรรมงานบุญประเพณี งานขายสินค้าในวัด  และทำกิจกรรมแบบพุทธพาณิชย์ภายในวัดทั้งวัดในรัฐกลันตันและในฝั่งไทย  ทั้งนี้ก็เพื่อปลอมแปลงความรู้สึกความเป็นไทยให้กับพวกเขาเอง ฉะนั้นจากงานของ Irving Johnson จึงเป็นตัวอย่างที่บ่งชี้ว่า การเข้ามาร่วมกันทำกิจกรรมพุทธพาณิชย์ในรูปแบบใดแบบหนึ่งของชาวไทยสยามนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อการสร้างและการดำรงอัตลักษณ์ความเป็นไทยให้กับตัวเอง รวมถึงกิจกรรมพุทธพาณิชย์จะเป็นการช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีงามระหว่างชาวไทยสยามกับชาวไทยนราธิวาสได้เป็นอย่างดีด้วย เป็นต้น

                งานของ Irving Johnson คืองานที่ผู้วิจัยจะใช้เป็นแนวทางตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้  ทั้งนี้ผู้วิจัยมีความคิดเห็นว่าการศึกษาในลักษณะดังกล่าวนี้ ควรจะให้ความสำคัญไปที่การศึกษาตีความ โดยใช้วิธีการ “การตีความ ความหมาย”  ซึ่งผู้วิจัยใช้อ้างอิงตามแนวทางของ คลิฟฟอร์ด  เกียร์ซ (Clifford Geerts)

                คลิฟฟอร์ด  เกียร์ซ อธิบายการตีความ ความหมาย ไว้ว่า   “การที่เราจะรู้จักหรือเข้าใจวัฒนธรรมของคนกลุ่มหนึ่งๆ ได้ต้องดูจากความหมาย การตีความหมาย แปลหรือดึงเอาความหมายที่ซ่อนจากการแสดงออกของคนกลุ่มนั้นๆ ในรูปของสัญลักษณ์ และสำหรับ คลิฟฟอร์ด เกียร์ซ “สัญลักษณ์” หมายถึง การกระทำ เหตุการณ์ คุณลักษณะหรือความสัมพันธ์” (อคิน ระพีพัฒน์ 2551)    นอกจากนั้น คลิฟฟอร์ด  เกียร์ซ ยังเสนอว่าการเขียนบรรยายเรื่องราวของวัฒนธรรม แน่นอนว่าเป็นการเขียนจากสิ่งที่เราเห็น เราอาจจะบอกว่าเราเห็นอะไร แต่การบอกก็เพื่อเป็นการตีความหมายว่ามันหมายถึงอะไร และนี่คือสิ่งที่ เกียร์ซ เรียกมันว่า “Thick description” (ยงศักดิ์  ตันติปิฎก 2553)

{ผลการศึกษายังไม่ได้อัพโหลด}

หมายเลขบันทึก: 553307เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2013 01:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2013 03:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท