สอนเด็กให้เป็นคนดี : ๙. การให้อภัย (๒) เข้าใจ ให้อภัย และให้โอกาสแก้ตัว


 

          บันทึก ๑๙ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ Teaching Kids to Be Good People : Progressive Parenting for the 21st Century เขียนโดย Annie Fox, M.Ed.   

          ตอนที่ ๙ นี้ ตีความจากบทที่ ๔ How About Letting It Go Already? Releasing Shame, Regret and Contemp   โดยที่ในบทที่ ๔ มี ๔ ตอน   ในบันทึกที่ ๘ได้ตีความตอนที่ ๑ และ ๒ไปแล้ว     ในบันทึกที่ ๙จะเป็นการตีความตอนที่ ๓ และ ๔  

          ทั้งบทที่ ๔ ของหนังสือ เป็นเรื่องการฝึกลูก/ศิษย์ ให้รู้จักให้อภัย   ทั้งให้อภัยตนเอง และให้อภัยผู้อื่น   ไม่ถือเอาความผิดพลาดมาเป็นอารมณ์ที่กัดกร่อนจิตใจ   แต่ถือเป็นการเรียนรู้ 

          ตอนที่ ๓ เป็นเรื่องผิดไปแล้ว ขอโอกาสแก้ตัว    เล่าเรื่องของตัวผู้เขียนเอง ที่ทำหน้าที่ให้คำแนะนำวัยรุ่นที่ถามปัญหาทาง อินเทอร์เน็ตในชื่อ Hey! Terra   โดยมีเด็กผู้หญิงถามว่า ตนได้ทำ masturbation ให้เพื่อนผู้ชายระหว่างนั่งเรียนในชั้น   แต่อยากเลิก   จึงเขียนมาขอคำแนะนำ    ผู้เขียนทำผิด ที่ตอบดุเด็กไปว่า ทำไมจึงทำพฤติกรรมน่าบัดสีเช่นนั้น  

          เด็กตอบกลับมาว่า ตนเขียนมาขอคำแนะนำ เพราะต้องการที่พึ่ง   ไม่นึกว่าจะได้รับคำตอบเช่นนี้    ผู้เขียนจึงเขียนขอโทษกลับไป   และแนะนำให้บอกเพื่อนผู้ชายตรงๆ ว่าตนต้องการเลิกทำสิ่งนั้นแล้ว    และไม่เอามือไปใกล้ตัวเพื่อน   ถ้าเพื่อนถามเหตุผล ก็ให้ตอบเพียงว่า ไม่ต้องการทำสิ่งนั้นอีกแล้ว

          เด็กตอบกลับมาขอบคุณ ๒ วันให้หลัง    และบอกข่าวดีว่า ปัญหาได้จบสิ้นไปแล้ว 

          เรื่องนี้สอนเรา และเด็ก ว่า คนเราทำผิดพลาดได้    แต่ต้องรู้ตัวว่าผิด และดำเนินการแก้ไข   หน้าที่ของพ่อแม่/ครู คือช่วยเหลือเด็กให้ออกมาจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม    หรือ ให้โอกาสแก้ตัว

          พ่อแม่/ครู ควรคุยกับเด็ก เรื่องความเอื้อเฟื้อ เห็นอกเห็นใจต่อกัน ในการให้โอกาสแก้ตัว    ว่าเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของการเป็นคนดี    โดยยกเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตของเด็ก ขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา

          ตอนที่ ๔ ของบทที่ ๔ เป็นเรื่อง ฟังให้ได้ความหมายที่แท้จริง    ยกตัวอย่างลูกชายของผู้เขียนเอง    เมื่อเข้าวัยรุ่น (อายุ ๑๓) พ่อแม่ชวนไปเที่ยวด้วยกัน ลูกปฏิเสธ   โดยให้เหตุผลว่า ไปกับแม่แล้วอึดอัด    เพราะแม่ชอบจุกจิกจู้จี้   

          พ่อแม่คาดหวังให้ลูกมีวุฒิภาวะ  เคารพให้เกียรติผู้อื่น  และมีความรับผิดชอบ   แต่เมื่อลูกทำผิดหรือไม่ได้ดังใจพ่อแม่   ตัวพ่อแม่เองกลับแสดงพฤติกรรมตรงกันข้ามกับที่คาดหวังจากลูก    นี่คือจุดอ่อนของพ่อแม่เอง    คือแสดงอารมณ์เสียเอากับลูกแบบยั้งไม่อยู่ หรือไม่ยั้ง 

          เมื่อเล็ก ลูกจะเคารพเชื่อฟังพ่อแม่   มีพ่อแม่เป็นฮีโร่   แต่เมื่อเข้าวัยรุ่น ก็จะฝึกทักษะการเป็นผู้ใหญ่ หรือการมีอิสระ ด้วยการตำหนิหรือหาจุดอ่อนของพ่อแม่   หรือใช้คำพูดที่กวนอารมณ์ของพ่อแม่

          กลับไปที่ลูกชายอายุ ๑๓ ปี ของผู้เขียนหนังสือ   ที่ปฏิเสธการไปเที่ยวกับพ่อแม่ ด้วยถ้อยคำไม่น่าฟัง    คือโยนความผิดไปให้แม่   ทั้งๆ ที่เหตุผลเบื้องลึก ที่พ่อแม่ต้องเข้าใจคือ   กลัวว่าไปเที่ยวกับพ่อแม่แล้วไปพบเพื่อน   เพื่อนจะนำมาล้อที่โรงเรียนว่าเป็นหนุ่มแล้วยังไม่หย่านม   ยังไปเที่ยวกับพ่อแม่อยู่   ความกลัวนี้จะหายไปเมื่อเด็กพัฒนาความเคารพมั่นใจในตัวเอง    ซึ่งจะช่วยให้เด็กหลุดออกจากอิทธิพลหรือแรงกดดันของเพื่อนๆ (peer pressure)  

          ในกรณีของลูกชายของผู้เขียน โชคดีที่พ่อแม่ไม่ถือสาถ้อยคำไม่รื่นหูของลูกวัยรุ่น   ยังแสดงความรัก ความเคารพต่อความคิดเห็นของลูก   และชวนทำโน่นทำนี่ด้วยกัน   ในที่สุดเด็กก็จะค่อยๆ พัฒนาความเคารพมั่นใจตัวเองขึ้นมา    รวมทั้งพัฒนาความเคารพให้เกียรติผู้อื่นเป็น ซึ่งบทเรียนแรกคือต่อพ่อแม่

          คำถามของหนุ่ม ๑๕  “ผมกับน้องชายอายุ ๑๓ ทะเลาะกันในร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด   น้องเป็นฝ่ายเริ่ม    เราปาซ้อสมะเขือเทศใส่กัน    และไปโดนเสื้อผู้หญิงคนหนึ่ง    แม่ต้องจ่ายค่าเสียหายไป ๔๕ เหรียญ   แม่เรียกพวกเราว่าทารกที่ไม่รู้จักโต   ต่อไปนี้จะเลี้ยงแบบทารก   น้องชายยอมทำตามแม่   แต่ตนกำลังจะเรียนขับรถยนต์ แต่แม่ไม่อนุญาต    อ้างว่า ทารกทำสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำไม่ได้   แม่มีสิทธิห้ามผมไหม   ผมมีสิทธิฟ้องแม่ ที่ทารุณลูกไหม    มีวิธีไหนบ้างที่จะทำให้แม่เป็นแม่ที่ดีกว่านี้”

          คำตอบของผู้เขียน  “ฟังแล้วสรุปได้ว่าเธอและน้องชายหมดความน่าเชื่อถือที่ร้านอาหาร   และน้องชายเป็นฝ่ายเริ่ม   แต่ในฐานะที่เธอกำลังจะโตเป็นผู้ใหญ่   เธอจะต้องฝึกควบคุมตัวเอง    ไม่ทะเลาะกับน้องแบบเด็กๆ   

ในเรื่องการขอใบขับขี่   แม่พูดถูก   คนที่จะขับขี่ยานพาหนะได้ต้องมีวุฒิภาวะ    เพื่อการขับขี่ที่ปลอดภัย    ต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ ไม่วู่วาม   ต้องควบคุมได้ไม่เฉพาะรถยนต์ แต่ต้องควบคุมตนเองได้ด้วย   

          เธอรู้สึกอึดอัดกับแม่   แม่ก็รู้สึกอัดอัดกับความประพฤติของลูกชายทั้งสองคนเหมือนกัน    ในเรื่องฟ้องแม่ต่อศาลนั้น   เธอปรึกษาว่าจะฟ้องแม่ได้ไหม    เธอจะฟ้องศาลว่าแม่เป็นตัวการที่ทำให้ตัวเธอไม่พัฒนาวุฒิภาวะเช่นนั้นหรือ  

คำแนะนำคือ ให้สงบสติอารมณ์ตนเอง    และให้เวลาแม่อารมณ์ดีขึ้น   ในช่วงเวลานี้ หากน้องชายก่อความขัดแย้งอีก จงแสดงให้คนเห็นว่าเธอมีความอดทนอดกลั้น แบบคนที่เป็นผู้ใหญ่   พรุ่งนี้หรือมะรืนนี้ ค่อยไปคุยกับแม่   กล่าวขอโทษแม่   และเสนอขอจ่ายค่าเสียหาย ๔๕ เหรียญเอง    เพื่อแสดงว่าตนยอมรับผิดที่เป็นผู้ก่อเรื่อง    และคุยกับแม่เรื่องการหัดขับรถและขอใบขับขี่   ดูว่าแม่จะต่อรองอย่างไร” 

          ผมสรุปกับตนเองว่า    ทักษะของพ่อแม่/ครู ในการช่วยเหลือและฝึกทักษะของลูก/ศิษย์ วัยรุ่น   ให้พัฒนาทักษะด้านอารมณ์ และความสัมพันธ์กับผู้อื่น    ในฐานะคนที่มีวุฒิภาวะ เป็นเรื่องท้าทายยิ่ง สำหรับสังคมยุคปัจจุบัน    ที่มี peer pressure และ social pressure ที่ไม่เหมาะสมต่อวัยรุ่น มากมาย    

          สังคมวัตถุนิยม ทุนนิยม กำลังทำทารุณกรรมต่อวัยรุ่น เพื่อสร้างผลกำไรทางธุรกิจอย่างบ้าคลั่ง    พ่อแม่/ครู และสังคม ต้องช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ และทางสติปัญญา เพื่อไม่ให้วัยรุ่นตกไปอยู่ใต้อิทธิพลของการโฆษณาชวนเชื่อ   

          การสอนลูก/ศิษย์ ให้เป็นคนดี   หมายรวมถึงการพัฒนาภูมิคุ้มกันนี้ด้วย       

 

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๘ มี.ค. ๕๖

 

      

หมายเลขบันทึก: 551905เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2013 12:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ตุลาคม 2013 12:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วรู้สึกถึงความกล้าของเด็กๆ ที่เขียนจดหมายมาถาม ผมคิดว่าความกล้านี้เป็นวัฒนธรรมของฝรั่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท