ความตายที่งดงาม ๑


๑๐ ปีแล้วที่พี่พร หรือคุณสุภาพร พงศ์พฤกษ์ จากพวกเราไปเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๖

เครือข่ายพุทธิกาจะจัดงานเวทีเสวนาและ workshop

"เผชิญความตายอย่างสงบ: เรียนรู้ผ่านการจากไปของสุภาพร พงศ์พฤกษ์"

6 พฤศจิกายน 2556
ณ ห้องสมุด 100 ปี เสม พริ้งพวงแก้ว และหอประวัติศาสตร์สุขภาพ ชั้น 1
อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี

ผมไม่สามารถไปร่วมได้ ก็เลยขออนุญาตเอาบทความที่ผมเขียนถึงพี่พรมาลงไว้ที่นี่

 

ความตายที่งดงาม 

             ผมมักจะพูดถึง "ความตายที่งดงาม" เวลาสอนนักศึกษาหรือถูกเชิญไปอภิปรายอยู่บ่อยครั้ง แล้วคอยสังเกตปฏิกิริยาของผู้ฟัง ซึ่งจะมีอากัปกิริยาต่างๆ กัน ส่วนใหญ่เฉยๆ บางคนพยักหน้าเห็นด้วย บางคนตีสีหน้าฉงนสงสัย บางคนถึงกับมาสารภาพว่า..ฟังแล้ว รู้สึกว่ามันน่ากลัวมากกว่าเดิมเสียอีก กิริยาเหล่านี้สะท้อนมุมมองเรื่องความตายของแต่ละคนซึ่งแตกต่างกัน   สำหรับตัวผมเอง ผมเชื่อว่า หากเราช่วยกันทั้งผู้ดูแล คือ ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงผู้ใกล้ชิด แพทย์ พยาบาล และผู้ซึ่งกำลังเผชิญหน้าอยู่กับความตายเอง เราจะสามารถทำให้ความตายเป็นสิ่งที่งดงามได้ และความตายของผู้หญิงคนหนึ่งที่ผมรู้จักก็เป็นเช่นนั้น..พี่พร หรือคุณสุภาพร พงศ์พฤกษ์ ผู้ซึ่งเรียกผมเข้าไปใกล้ๆ ที่เตียง แล้วหยิบงานเขียนของพี่ในคอลัมน์นี้ให้ ก่อนจะบอกว่า "พี่ต้องยกเลิกการเขียนคอลัมน์นี้แล้ว เพราะเขียนต่อไปไม่ไหว อยากจะเชิญหมอช่วยเขียนสำหรับฉบับต่อไป" พี่พรเน้นคำว่าเชิญทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จนผมรับปากออกไปโดยที่ยังไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะทำได้หรือเปล่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในคืนวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๔๖ หรือประมาณ ๑ เดือนก่อนที่พี่พรจะจากพวกเราไป และเป็นที่มาของบทความเรื่องนี้ของผม

            ต้นเดือนมิถุนายน ๒๕๔๖

            พี่พรเริ่มปวดสะบัก เบื่ออาหาร แน่นท้อง ไม่ถ่ายและ "ลมติด" ผมจึงแวะไปเย่ียมเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่่พี่กลับจากการรักษากับแม่ย่า..แม่ชีที่พี่เคารพมากที่นครศรีธรรมราช โดยเตรียมยาระงับปวดไปให้เพราะคิดว่ามะเร็งของพี่คงเริ่มลุกลามไปถึงกระดูกแล้ว

            คืนนั้นผมได้รับ e-mail ของจอห์น (จอห์น แมคคอนเนล) จากอังกฤษ บอกว่ากำลังจะมาแถวเมืองไทยช่วงเดือนกันยายน แล้วอยากมาอยู่เป็นเพื่อนพี่ช่วงที่ว่า หรืออาจเร็วกว่านั้น..ถ้าจำเป็น โดยจะยกเลิกงานอื่นทั้งหมด   ผมตอบจอห์นไปว่า เราคาดเวลาของผู้ป่วยแต่ละคนไม่ค่อยได้เพราะมักจะผิดเป็นประจำ แต่ถ้าดูจากอาการแล้ว พี่พรคงจะมีเวลาอีกประมาณ ๓ ถึง ๖ เดือนเท่านั้น สิ่งหนึ่งที่ผมบอกจอห์นไปด้วยคือ ผมรู้สึกว่าพี่พรดูเปลี่ยนไปบ้างจากที่เคยพบกันเมื่อต้นปี ไม่ใช่เรื่องร่างกายที่มองเห็นจากภายนอก แต่น่าจะเป็นความคิด ..สิ่งที่อยู่ภายใน จากคนที่ยกประสบการณ์ของตนเองเล่าสอนผู้อื่นให้คิดตามด้วยน้ำเสียงแจ่มใส เปลี่ยนมาเป็นสอบถามอาการต่างๆ จากผมอย่างละเอียด ผมคิดว่าพี่พรค่อนข้างกังวลกับอาการที่คุกคามตนเองครั้งนี้อยู่เหมือนกัน และกำลังต้องการกำลังใจและจิตวิญญาณจากเราทุกคน จอห์นตอบกลับมาแทบจะทันทีเลยว่า เขาเริ่มทำสิ่งนั้นแล้ว ขณะนั้น...จากประเทศอังกฤษ

            ระยะทางและกาลเวลาไม่อาจปิดกั้นความห่วงใยและปรารถนาดีของมิตรแท้ได้เลย

            ก่อนนอน ผมหยิบหนังสือคิริมานนทสูตรที่พี่พรให้ตอนปีใหม่ปีนี้ขึ้นมาอ่านเป็นครั้งแรก รู้สึกว่าอ่านยากมาก แต่จับประโยคหนึ่งได้ก่อนจะหลับไป

            ..เมื่ออยากรู้ว่าเราจะได้รับความสุขในสวรรค์ หรือจะได้รับความทุกข์ในนรก

ก็สังเกตใจของเราในเวลาที่ยังไม่ตายนี้   เมื่อยังเป็นคนอยู่ สุขหรือทุกข์มากเท่าใด

แม้ตายไป ก็คงมีสุขหรือทุกข์มากเท่านั้น ไม่พิเศษกว่ากัน..

            วันรุ่งขึ้น ผมโทรศัพท์ไปถามอาการ เสียงที่พี่เรียกว่า..การรายงาน..มาตามสายโทรศัพท์ ฟังดูแจ่มใสขึ้นกว่าเมื่อวานชัดเจนเหมือนเสียงพี่พรคนเดิมว่า "หลังกินยาแก้ปวดของหมอไปแล้ว หลับยาวมาก.." พี่ลากเสียงยาวมากเป็นการยืนยันความยาวของมัน "..วันนี้ลุกเดินได้ ผายลม แล้วถ่ายออกมากองเบ้อเร่อ" ผมหายห่วงกับอาการที่คล้ายลำไส้อุดตันของพี่ไปได้ ดีใจว่ายาระงับปวดและ"ยาดี" จากแดนไกลของจอห์นได้้ผล พี่พรบอกอีกว่า วันเสาร์ที่จะถึงนั้น อานันทะเพื่อนชาวศรีลังกาจะนิมนต์พระจากศรีลังกามาสวดพระปริตรให้ ผมเลยถือโอกาสขอไปฟังด้วย พี่ก็อนุญาตด้วยความยินดี

            พอถึงวันเสาร์ ผมชวนพี่พยาบาลไป ๒ คน คือ พี่แอ๊ด (คุณวัลภา ฐาน์กาญจน์) เพื่อนสนิทของพี่พรสมัยเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย กับพี่ฟ่ง(คุณกานดาวศรี ตุลาธรรมกิจ) พยาบาลหน่วยรังสีรักษาและมีประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายมากที่สุดคนหนึ่ง   เราเตรียมของขวัญชิ้นเล็กๆ ไปคนละชิ้น ตั้งใจจะเป็น"ผู้ให้"กันเต็มที่ แต่พอเอาเข้าจริงๆ กลับเป็นตรงกันข้าม พี่พรกลับเป็นผู้ให้เรามากกว่า โดยแปลบทสวดและคำสนทนาของหลวงพี่ให้เราฟัง สรุปความว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์เคยทรงสวดพระสูตรนี้ให้พระที่อาพาธ และทรงให้พระรูปอื่นสวดให้พระองค์เองเมื่อทรงพระประชวรด้วย จึงเป็นธรรมเนียมของชาวศรีลังกาจนถึงปัจจุบันท่ี่ยังนิมนต์พระภิกษุมาสวดให้ผู้ป่วยถึงที่บ้าน โดยจะสวดทั้งหมดสามจบด้วยกันแล้วทำน้ำมนต์ให้ดื่มหรือล้างหน้า   วันนั้นหลวงพี่สวดคิริมานนทสูตรที่ผมเคยอ่านแล้วแต่ไม่ค่อยเข้าใจนักให้พี่พรด้วย ทำให้รู้ว่าแก่นของพระสูตรน้ี้อยู่ที่การรู้จักปล่อยวางเพราะความไม่เที่ยงของสังขาร จึงเป็นการเตือนสติให้ตระหนักถึงธรรมชาติแห่งชีวิตและยอมรับอย่างสงบ หาใช่มนต์วิเศษที่จะช่วยให้เราหนีพ้นความเจ็บป่วยหรือความตายได้ไม่

            ก่อนกลับ หลวงพี่หยิบอาหารเสริมชนิดชงดื่มยี่ห้อดังของบ้านเรากระป๋องหนึ่งออกมาจากย่าม แล้วมอบให้พี่พร บอกว่าอุตส่าห์นำติดตัวมาจากศรีลังกา คงจะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยอย่างพี่เขาบ้าง ผมเฝ้าดูอากัปกิริยาของทั้งผู้ให้และผู้รับอย่างอิ่มเอิบใจในความงดงามเบื้องหน้า ฝ่ายหนึ่งคือพระภิกษุ..ผู้ให้ ผู้ไม่เพียงแต่ให้สิ่งที่ชุบชูจิตใจและจิตวิญญาณเท่านั้น แต่ยังเป็นห่วงเป็นใยเรื่องทางกายอีกด้วย อีกฝ่ายคือผู้ป่วย..ผู้รับ ผู้ที่เริ่มรู้จักรับอย่างเปิดใจ เปิดโอกาสให้ผู้อื่นช่วยเหลือ

            พี่พรเป็นผู้ให้เสมอ และมักจะเกรงใจเมื่อต้องเป็นผู้รับในยามเจ็บป่วยครั้งนี้ การเปิดใจ เปิดโอกาสที่จะเป็นฝ่ายรับบ้าง จึงนับเป็นก้าวย่างที่สำคัญของชีวิต พี่พรเล่าให้ฟังว่า ท่านสันติกโรเคยวิเคราะห์และสอนว่าพี่มีบุคลิกเป็นผู้ให้เพื่อให้คนยอมรับ เลยชอบปฏิเสธที่จะรับจากคนอื่น โดยลืมไปว่าผู้ให้เขาตั้งใจให้ เต็มใจที่จะให้ มีความสุขที่จะให้ แล้วทำไมถึงปฏิเสธความปรารถนาดีนั้นเสีย

            ผู้ให้และผู้รับ..ไม่ใช่การได้หรือเสีย แต่เป็นการเติมเต็มให้แก่กันทั้งสองฝ่าย ผมได้ประจักษ์ถึงความงดงามของความสัมพันธ์นี้ ตลอดระยะเวลาบนเส้นทางสุดท้ายของพี่พร ซึ่งยังคงครองตนเป็นได้ทั้งผู้ให้และผู้รับตามจังหวะแห่งกาละที่ดำเนินไปอย่างไม่หยุดนิ่ง

            ปลายเดือนสิงหาคม

            ขาของพี่พรอ่อนแรงลงจนลุกไปไหนไม่ไหวต้องนอนอยู่กับเตียงตลอดเวลา และเริ่มปัสสาวะไม่ออกเพราะมะเร็งลุกลามไปกระดูกสันหลัง เป็นอัมพาตจากไขสันหลังถูกกดทับ..สัญญาณที่ไม่ดีเลยสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง หลังจากที่ต้องสวนปัสสาวะให้พี่ติดต่อกัน ๒ ครั้ง ผมจึงมีเรื่องสำคัญที่ต้องคุยกับพี่อย่างจริงจัง ผมทราบดีว่าพี่พรมีแนวโน้มจะปฏิเสธการแพทย์สมัยใหม่โดยเฉพาะ..โรงพยาบาล แต่พี่ก็ได้เปิดกว้างรับผมที่เป็นแพทย์สมัยใหม่และยาที่ช่วยบรรเทาอาการต่างๆ มาระดับหนึ่งแล้ว ในฐานะแพทย์รักษามะเร็ง ผมรู้ดีว่าการแพทย์สมัยใหม่มีประโยชน์อย่างไรสำหรับผู้ป่วยในสภาพเช่นนั้น จะเกิดผลข้างเคียงและต้องใช้เวลาในการตรวจรักษามากน้อยเพียงใด และจะเกิดอะไรต่อไปในอนาคตหากเราไม่รีบรักษา ข้อมูลถูกผมถ่ายทอดให้พี่พรซึ่งตั้งใจฟังและสอบถามผมอย่างใคร่ครวญจนไม่มีประเด็นไหนสงสัยอีก ในที่สุดพี่ก็ตัดสินใจไม่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อไปกับตนเอง..ตามธรรมชาติ

            การตัดสินใจของพี่พรครั้งนั้นสำคัญมาก เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนที่จะก้าวเดินต่อไปบนทางสองแพร่ง ผมเองอยากให้พี่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามพื้นฐานเดิมของผมเหมือนกับแฟ่น(คุณภารดี ปรีชาวิทยากุล) พยาบาลอีกคนที่สนิทกับพี่ และเป็นคนโทรศัพท์ตามผมไปที่บ้านเพราะพี่ปัสสาวะไม่ออก แต่ผมก็ต้องเคารพความคิดของพี่มากกว่า..เพราะนี่เป็นเส้นทางชีวิตของพี่เอง พี่พรบอกผมว่า "รู้สึกสบายใจกว่า ที่อยู่บ้าน" เราจึงตกลงกันที่จะดูแลพี่ต่อที่บ้าน คงต้องเน้นคำว่า "เรา" เพราะเมื่อเป็นความต้องการของพี่แล้ว ผมก็ไม่ขัดแย้งอีก มุ่งเป้าเป็นการดูแลที่บ้านให้พี่รู้สึกสบายที่สุด

            ผม e-mail ถึงจอห์น เล่าเรื่องการตัดสินใจของพี่พรและบอกเขาด้วยว่า ถึงเวลาที่เขาควรจะมาเมืองไทยตามที่ตั้งใจไว้ได้แล้ว

            สองสามวันหลังจากการตัดสินใจครั้งนั้น ก็มีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ผมคิดว่าเรามาถูกทางแล้ว พี่แอ๊ด พี่ฟ่งและผมได้ไปเยี่ยมพี่พรตรงกับวันที่แม่ย่าแวะมาเยี่ยม วันนั้นพี่พรถูกพอกด้วยสมุนไพรจนตัวดำไปหมดและถูกแม่ย่านวดเพื่อเยียวยา ซึ่งพี่มาเล่าให้ฟังทีหลังว่า นวดแรงมาก เจ็บ..แต่ต้องทน เพราะนวดแล้วรู้สึกดีขึ้นมาก.. นอกจากนวดแล้ว แม่ย่าก็ยังทำพิธีกรวดน้ำให้ด้วย เสียงสวดมนต์ของแม่ย่านั้นแจ่มใสเกินกว่าน้ำเสียงของหญิงชราในวัย ๙๐ กว่าจนน่าประหลาดใจ ในความรู้สึกของผมเองซึ่งไม่เคยได้ยินการสวดแบบนี้มาก่อนยังคิดว่ามันไพเราะมากทั้งน้ำเสียงและทำนอง พี่ฟ่งถึงกับขออัดเทปเอาไว้ ตั้งใจจะเก็บไว้ให้พี่พรและผู้ป่วยคนอื่นๆ ฟัง สำหรับตัวพี่พรเองแล้ว ผมคิดว่า..นั่นคือวันที่ดีท่ีสุดวันหนึ่งของพี่เลย นึกอยู่ในใจว่าถ้าพี่เข้าโรงพยาบาลไปก่อน เหตุการณ์ดีๆ ความปิติและความทรงจำดีๆ ที่พี่มีต่อการมาเยี่ยมของแม่ย่า คงจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น

            ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สั่งสมและถ่ายทอดสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ผสานกับแรงศรัทธาที่คนๆ หนึ่งมีต่อสิ่งนั้น สามารถประคับประคองและยกระดับจิตวิญญาณให้สูงขึ้น จนสามารถเผชิญหน้ากับความเสื่อมถอยทางร่างกายได้อย่างสง่างาม

            ผมได้สัมผัสกับจิตวิญญาณของพี่พรที่สูงกว่าผมนัก เมื่อผมตั้งคำถามกับพี่ในวันนั้น เกี่ยวกับการต้องนอนเปิดเผยทรวงอกทั้งสองข้าง เพราะก้อนมะเร็งที่เต้านมซ้ายมีน้ำเหลืองไหลออกมาเป็นครั้งคราว แล้วจะแห้งติดเสื้อถ้าสวมไว้ ว่า "ผมรู้ว่าพี่ไม่คิดอะไร แต่พี่ว่าคนที่มาเยี่ยมพี่จะรู้สึกอย่างไร" พี่พรจึงเล่าเรื่องตอนไปรักษาตัวที่ถ้ำในจังหวัดนครศรีธรรมราชให้ฟังว่าก็ต้องอยู่ในสภาพอย่างนั้น นั่งเปิดหน้าอก บางครั้งชาวบ้านเปิดประตูผิดเข้ามาเห็น "..ก็ไม่เห็นตกอกตกใจอะไร เขาเห็นเป็นเรื่องธรรมดา แถมอวยพรให้หายไวๆ อีกด้วย..​   ..ตอนกลับมาบ้าน พี่ก็ต้องเลือกคนที่เข้ามาเยี่ยม แล้วก็ถือโอกาสเฝ้าสังเกตปฏิกิริยาเขา บางคนเฉยๆ บางคนก็ทำตาโต..​"         

            ๓๐ สิงหาคม

            จอห์นมาถึงพร้อมกับสิ่งที่เราเรียกว่า "พรมวิเศษ" หรือ "magic mattress" ซึ่งก็คือที่นอนลมที่ใช้สำหรับปูเตียงเพื่อป้องกันแผลกดทับในผู้ป่วยอัมพาต เขาขอบริจาคมันมาจากสถานพยาบาลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่เขาไปทำงานเป็นอาสาสมัคร แล้วอุตส่าห์พับเก็บใส่กระเป๋าเดินทางโดยแทบจะไม่ได้ใส่เสื้อผ้าของตนเองมาเลย พี่พรถูกใจกับที่นอนใหม่อันนี้มากเพราะรู้สึกนอนสบายกว่าเดิม จอห์นได้มันมาถูกจังหวะเวลาจริงๆ เพราะพี่พรเริ่มมีแผลกดทับเล็กๆ บริเวณก้น และที่นอนลมของโรงพยาบาลก็ไม่มีเหลือให้เรายืมเลย           

            วันนั้นพี่ฟ่งเอาเทปเสียงสวดของแม่ย่าเปิดให้พี่พรฟัง..บทระลึกพระคุณแม่ ช่วงหนึ่งผมเห็นพี่ซึ่งนอนหลับตาฟังอยู่ตลอด ลืมตาขึ้นมามีน้ำตาคลอเบ้า ผมใช้มือแตะต้นแขนของพี่แล้วบีบเบาๆ สัมผัสนั้นไม่ใช่สัมผัสของหมอกับผู้ป่วย แต่เป็นสัมผัสของมนุษย์ที่พึงปฏิบัติต่อกันในช่วงเวลาอย่างนั้น รู้สึกภูมิใจที่ได้รับการยอมรับจากพี่พรให้มาเป็นหนึ่งในผู้ดูแลร่วมกับคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพี่ยา จอห์น เพชร เกษและเอก                       

            จอห์นมาถึงได้ไม่กี่วัน เพชร..น้องที่ดูแลพี่พรอยู่ประจำต้องกลับบ้านที่กาญจนบุรี พี่สุรภี(คุณสุรภี ชูตระกูล) เพื่อนสนิทอีกคนจึงต้องทิ้งงานทุกอย่างมาแทน ช่วงนั้นพี่บอกเราว่า..รู้ตัวดีว่าอยู่ในระยะสุดท้าย เพราะอาการทางกายทรุดลงตามลำดับ ทั้งอัมพาต ปัสสาวะอุจจาระเองไม่ได้ ยอกกลางหลังและต้นคอ และเริ่มหายใจติดขัด จนต้องเตรียมถังออกซิเจนเผื่อไว้ และยืมเตียงผู้ป่วยจากโรงพยาบาลมาเพื่อจะได้ขยับตัวพี่ขึ้นนั่งอย่างกระทบกระเทือนน้อยที่สุด แต่สภาพจิตใจของพี่กลับเป็นตรงกันข้าม ช่วงเวลานั้นนับเป็นช่วงที่พี่พรมีสีหน้าแช่มชื่น รอยยิ้มสดใสกว่าเดิมนัก คงจะเป็นเพราะได้กัลยาณมิตรสำคัญคือจอห์นและพี่สุรภีนั่นเองที่มาอยู่ด้วย เสริมกับกำลังใจจากคุณแม่ ญาติพี่น้องและเพื่อนๆ รวมทั้งกระแสจิตและความปรารถนาดีจากทั่วทุกมุมโลกที่ต่างหลั่งไหลเข้ามา ความงามของภาพถ่ายบนบัตรอวยพรหลากสีปรากฏอยู่ทั่วผนังไม้ของบ้านถั่วพู

            ๘ กันยายน

            วันแรกที่พี่พรเริ่มต้องใช้ออกซิเจนที่เราเตรียมไว้ผ่านสายเล็กๆ ทางจมูกทั้งสองข้าง ผมจึงเล่าวงจรของอาการเหนื่อยหอบให้พี่ฟัง นั่นคือ เวลาเราหายใจไม่สะดวก บางคนจะตื่นตระหนก ซึ่งก็จะยิ่งต้องใช้ออกซิเจนมากขึ้น แล้วก็จะยิ่งเหนื่อยมากขึ้นไปอีก ถ้าเราสามารถตัดวงจรตื่นกลัวด้วยสติ ก็จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ พี่พรสามารถรับมือกับอาการนี้ได้เป็นอย่างดี คงเป็นเพราะมีพื้นฐานการเจริญสติของตนเองอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามนั่นก็เป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่แสดงว่า พี่พรจะช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลงเรื่อยๆ ผมบอกกับพี่ไปว่า "พี่อยากให้พวกเราทำอะไรให้ก็บอก พี่เป็นเหมือนกับ conductor พวกผมจะเป็นนักดนตรีเล่นตามให้"

            พี่พรสามารถใช้ช่วงเวลาที่ยังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์นั้น มอบหมาย จัดการกิจที่พึงกระทำของตน ได้พบ กล่าวคำขอบคุณ ขอโทษ และให้อภัยกับบุคคลต่างๆ ที่พี่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย และนำพวกเราบรรเลงเพลงชีวิตท่อนสุดท้ายของพี่เองจนจบลงได้อย่างไพเราะ สง่างาม

            ๑๐ กันยายน

            พี่แอ๊ดหาช่างมาช่วยตัดและสระผมให้พี่พรบนเตียง ผมสั้นทรงทันสมัยเหมือนนางเอกภาพยนตร์เรื่องกุมภาพันธ์ทำให้ใบหน้าของพี่สดชื่นขึ้นมาก มีเสียงหัวเราะและรอยยิ้มบนใบหน้าของพี่และพวกเราทุกคน มันเป็นบรรยากาศแห่งความสุข..มันเป็นเช่นนั้น

            คนเราสามารถเผชิญหน้ากับความตาย ที่เราหวาดกลัวกันมากที่สุด อย่างมีความสุขได้ด้วยหรือ

            พี่พรแสดงให้เราเห็นว่าสามารถเก็บเกี่ยวความสุขบนเส้นทางสุดท้ายนี้ได้ และเผชิญหน้ากับมันอย่างกล้าหาญด้วยการตั้งคำถามผมในวันนั้นว่า "อาการเหนื่อยนี้ มันจะเป็นอย่างไรต่อไป"

            "พี่จะต้องใช้ออกซิเจนมากขึ้น มากขึ้น เพราะปอดพี่ทำงานน้อยลง แล้วถึงที่สุด ถ้าอยู่ในโรงพยาบาล บางคนก็จะต้องใส่เครื่องช่วยหายใจไปตลอด แต่ถ้าไม่ใส่แล้วอาการมากขึ้นไปอีก ก็ต้องให้ยานอนหลับไปตลอด เหมือนกัน เพราะถ้าตื่นขึ้นมาตอนไหน ก็จะเหนื่อย" ผมกล้าอธิบายฉากที่ผู้ป่วยและญาติหลายคนไม่อยากฟัง หมอหลายคนไม่อยากพูดถึงให้พี่พรฟังราวกับเป็นเรื่องธรรมดา ผมรู้ดีว่านี่เป็นจังหวะที่ดีที่สุดที่จะคุยเรื่องนี้..เมื่อผู้ป่วยเปิดใจ เป็นฝ่ายเริ่มก่อน ยอมรับและแสดงท่าทีอยากรู้ข้อมูลเพื่อวางแผนเตรียมตัวและจิตใจ ดังนั้นจึงไม่มีอะไรที่ต้องปกปิดหรือพูดลับหลังกันอีก แต่..ผู้ป่วยอย่างพี่พรก็หาไม่ได้ง่ายนัก

            พี่พรนอนฟังคำอธิบายยืดยาวของผมอย่างสงบและไตร่ตรอง เรารู้ว่าพี่ไม่ใส่ท่อช่วยหายใจอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ผมยังค่อนข้างกังวลคือเรื่องยานอนหลับ เพราะการใช้มัน จะทำให้การเจริญสติของพี่ทำได้ยากขึ้น วันนั้นพี่ไม่พูดอะไรมากแต่บอกว่าคิดเรื่องการขอโทษคุณแม่ได้เรื่องหนึ่ง คนที่ร้องไห้ใหญ่เลยกลับเป็นแคลร์..เพื่อนจากออสเตรเลียที่แวะมาอยู่ด้วยหลายวัน

            ๑๑ กันยายน

            หลวงพี่ไพศาล วิสาโลมาเยี่ยมพี่พร ความที่ท่านต้องรับนิมนต์ไป"เยี่ยม"ผู้ป่วยใกล้เสียชีวิตอยู่เนืองๆ ประโยคแรกที่ได้ยินตอนพบกัน ด้วยน้ำเสียงปนอารมณ์ขันอย่างรู้จิตใจกันดี คือ "ตกใจมั้ย ที่เห็นหน้าอาตมา"

            ไม่มีความตกใจปรากฏบนใบหน้าของพี่พร มีแต่ความอิ่มใจกับการได้พบพระที่เคารพและเคยร่วมงานกันมา

            เย็นวันนั้น พี่พรบอกว่า ..เมื่อคืนเพลียและหลับสนิทมาก ตื่นเช้าจึงคิดถึงเรื่องมรดก ได้คุยกับคุณแม่และคุณน้าว่าส่วนหนึ่งอยากจะให้หลาน ส่วนหนึ่งบริจาคให้องค์กรการกุศล ไม่บริจาคให้วัดและโรงพยาบาล เพราะมีคนให้มากแล้ว..   ผมเข้าใจความประสงค์ของพี่ดี จึงคล้อยตามไป "เงินพี่ ผมไม่เอาหรอก ผมขอที่นอนลมอันนี้อันเดียวก็พอแล้ว" ผมหมายถึงที่นอนลมที่จอห์นเอามาจากประเทศอังกฤษ

            พี่พรยังเล่าเหตุการณ์สำคัญให้ฟังต่อ ..ตอนที่แม่ย่ามาเยี่ยมเคยบอกไว้ว่า พี่เดิมเป็นเทวดา หนีลงมาตกระกำลำบาก เพราะเป็นผู้เอาแต่ใจตนเอง เลยคิดได้ว่าคงต้องขอโทษคุณแม่เรื่องนี้เสียที เมื่อเช้าตอนที่ขอโทษ ก็เลยร้องไห้กันใหญ่

            "พี่เป็นคนเอาแต่ใจตัวเอง พี่เป็นใหญ่ จะทำอะไรก็ทำ.."

            "..เราก็ยังดี ที่เอาแต่ใจตนเอง แต่ก็ไม่ได้ทำให้แม่เดือดร้อน"

            ฟังน้ำเสียงหลายคนในวงสนทนา คงคิดคล้ายๆ กันว่า เราทุกคนล้วนมีเรื่องทำนองเดียวกันนี้ทั้งนั้น และก็ยังไม่เคยได้คลายปมดังกล่าว จึงมีคนพูดออกตัว ยอมรับเช่นกัน

            ก่อนกลับ หลวงพี่ไพศาลสวดโพชฌงค์ให้พร้อมคำแปล ซึ่งเน้นย้ำเรื่องการพิจารณาสังขารอย่างมีสติ ได้ยินเสียงพี่พรพูดว่า "แหม.. มีทีเด็ดตอนจบ"   วันนั้นพี่พรยอมยกเลิกการจำกัดคนมาเยี่ยม "ให้ได้มาเห็นอย่างที่พี่เป็น" พลวงพี่ไพศาลก็เสริมว่า ให้เขาได้มา"ฝึกงาน"ก็ดี

            ผมตั้งใจชวนจอห์นกับแคลร์ไปฟังเปียโนการกุศลในวันรุ่งขึ้น เพราะเห็นเขาไม่เคยออกไปไหนเลยตั้งแต่มาดูแลพี่พร จึงอยากให้พักผ่อนเสียบ้าง ตอนแรกจอห์นแสดงท่าทีสนใจอยากไปเพราะชอบอยู่แล้ว แต่พอรู้ว่าพี่สุรภีต้องกลับกรุงเทพฯ เขาก็เปลี่ยนใจทันทีอย่างหนักแน่น เลือกที่จะให้เวลากับพี่พรมากกว่าความบันเทิงของตนเอง   ส่วนพี่สุรภีนั้นก็ใช้ประโยค "หมอยังไม่ได้ทานน้ำ" ดึงตัวผมไปคุยท่ีห้องครัวด้วยความเป็นห่วงพี่พรเช่นกันว่า "พี่จะต้องกลับไปเคลียร์งาน ตอนพี่มา พี่ทิ้งทุกอย่างมาเลย ..แต่พรจะเป็นอย่างไรบ้าง" ผมตอบคำถามท่ีตอบยากจริงๆ ข้อนี้ไปว่า "ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน คงจะประมาณหนึ่งเดือน แต่ถ้ายังไงผมจะบอกผ่านจอห์น"

            วันนั้น นอกจากจะได้ข้อคิดและหลักธรรมจากหลวงพี่ไพศาลแล้ว ผมยังได้ประจักษ์ถึงความงดงามแห่งกัลยาณมิตรภาพของมนุษย์เราอีกด้วย ความห่วงใย การหยิบยื่นสิ่งที่ตนมีให้แก่กัน..อย่างไม่มีเงื่อนไข

            ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมตัวเองถึงหายเหนื่อยทุกครั้งหลังกลับจากบ้านพี่พร ทั้งๆ ที่เจองานหนักมาทั้งวัน เพราะพลังแห่งมิตรภาพที่ได้สัมผัสนี้เอง ที่เป็นสมือนน้ำหล่อเลี้ยงจิตใจ มีเผื่อแผ่เพียงพอสำหรับทุกคน แม้จะเป็นเพียงผู้พบเห็นเท่านั้นก็ตาม ตรงกันข้ามกับเรื่องวัตถุ ที่หากจะต้องแบ่งปัน ก็คงแบ่งกันได้ไม่ทุกคน

            ผมนึกนิยามใหม่ของคำว่า"เพื่อนตาย"ได้ ขณะขับรถกลับว่า คงไม่ถึงกับต้องตายแทนกันหรอก ขอแค่มาอยู่กับเรา ตอนเรากำลังจะตายแบบนี้ก็พอแล้ว ..เอ..พอถึงคราวของเราเอง เราจะมีพระดีๆ เพื่อนดีๆ อย่างนี้บ้างหรือเปล่าหนอ

            ๑๕​ กันยายน

            ผมกำลังจะลาพักผ่อนยาว เพราะรู้สึกเหนื่อยล้า ใจไม่เป็นสุขจากภาระงานในช่วงนั้น จึงตั้งใจจะไปบอกพี่พรว่าคงหายหน้าไปหลายวัน พอไปถึงบ้านถั่วพูก็สังเกตเห็นบางอย่างที่เปลี่ยนไป ห้องไม่เปิดไฟสว่างที่เพดานเพราะพี่รู้สึกแสบตา ความสลัวของบรรยากาศทำให้ทุกอย่างดูสงบนิ่ง..อบอุ่น ความรู้สึกของผมขณะนั้นมันเหมือนเวลาเข้าไปในโบสถ์ที่เงียบสงบ ใจผมผ่อนคลายลงอย่างประหลาด

            พี่พรมอบกล่องไม้แกะสลักที่ได้มาจากอเมริกาให้ผม "หมอคงไม่ว่านะ พี่กำลังหัด detach ตอนนี้มีอะไรก็ให้จนหมด" ผมรับ"ของขวัญ"ที่พี่ให้มาทั้งที่อยู่ในมือและในใจ ไม่ว่าพี่จะรับรู้หรือเปล่าว่าอารมณ์ของผมเป็นอย่างไรขณะนั้น แต่ตัวอย่างที่พี่แสดงให้ผมเห็น มันทำให้ผมฉุกคิดและตระหนักถึงคุณค่าของการปล่อยวาง ระงับอารมณ์ได้เป็นอย่างดี ..แม้กระทั่งป่วยหนัก พี่พรก็ยังสามารถสอนการเยียวยาจิตใจผมได้อย่างวิเศษ

            ผมนั่งลงข้างเตียงพี่ ตรงข้ามกับจอห์น เราหัวเราะกันเรื่องสูตรลดความอ้วนของเขาโดยการมาดูแลผู้ป่วยอย่างพี่พรที่ได้ผลชะงัดนัก สักพักใหญ่ๆ พี่ก็ผล็อยหลับ ผมคุยกับจอห์นต่อเรื่องโทสะ ความโกรธ

            ตัดสินใจยากนักว่าใครย่ำแย่กว่ากัน ระหว่างคนที่ทุกข์กายแต่ใจสงบ กับอีกคนที่สุขกายแต่ใจร้อนรน

หมายเลขบันทึก: 551742เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2013 19:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ตุลาคม 2013 19:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณบันทึกดีๆ ครับคุณหมอ

จะอ่านตอนต่อครับ...

ใกล้..ท่านเข้าไปอีก..อ่านหนังสือที่ท่านแปล..คิดบวก..กับท่าน..ทะไลลามะ..(เป็นข้อคิด..ในหน้าโกทูโน)..ขอบพระคุณอย่างสูงที่ให้โอกาศ..สัมผัส..ท่าน..สุภาพร พงค์พฤกษ์...เจ้าค่ะ...(..ท่านคงอยู่ในสุขคติภพกับมรณะสติ..ที่เรา..ควรเรียนรู้)

 

  • ผมเติบโตจากประสบการณ์ครั้งนี้นหลายเรื่องครับ
  • ทุกคนมีวันเวลาของตนเองทั้งนั้นนะครับ เพียงแต่เราจะใช้มันอย่างไรเท่านั้น

ขอบคุณ​สำหรับบันทึกดีๆของอาจารย์คะ​

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท