แนะนำรูปแบบการแสดงหนังตะลุง


เป็นสังเขป เผื่อว่าท่านผู้อ่านบางท่าน ที่ไม่เคยดูหนังตะลุง ได้ยินแต่ชื่อ ไม่รู้ว่าหนังตะลุงเป็นอย่างไร เขาเล่น (แสดง) กันอย่างไร และต้องขออภัยต่อท่านที่เป็นชาวใต้ ซึ่งเคยดูก่อนที่จะถึงบทละครหนังตะลุง (แสดงนิยายหนังตะลุง) ขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับหนังตะลุงพอและรู้เรื่องหนังตะลุงดีอยู่แล้ว
โรงหนังและอุปกรณ์ โรงหนังตะลุงต้องยกเสาสี่เสา (จะเพิ่มอีกสองเสากับรอดอีกหนึ่งตัวก็ได้เพื่อความแข็งแรง) ขนาดกว้าง 2.30 เมตร ยาว 3 เมตร พื้นยกสูงเลยศรีษะ และลาดต่ำมาข้างหน้าเล็กน้อย หลังคาแบบเพิงหมาแหงน กั้นด้านข้างและด้านหลังอย่างหยาบๆ (ใช้ทางมะพร้วก็ได้) ทำช่องประตูด้านหลังพาดบันใดขึ้นโรง ด้านหน้าใช้ลำไม้ไผ่คาดไว้สี่ด้าน สำหรับผูกหนวดรามขึงจอหนัง จอหนังทำด้วยผ้าขาวรูปสี่เหลี่ยมขนาด 1.8 เมตรคูณ 2.3เมตร มอบริมสี่ด้านด้วยผ้าสีแดง, น้ำเงินขนาด 4-5 นิ้ว มีหูรามเย็บไว้เป็นระยะโดยรอบ มีเชือกผูกติดหูรามยาวประมาณ 2.5 ฟุตเรียกว่าหนวดราม สำหรับผูกดึงขึงจอให้ตึง ภายในโรงวางหยวกกล้วย ด้านหน้าชิดจอยาวประมาณ 2 เมตร สำหรับปักรูปออกจอ ด้านข้างทั้งซ้าย ทั้งขวา วางหยวกกล้วยสำหรับปักรูปพักไว้ เพื่อสดวกในการหยิบไปแสดง บนหัวเสาด้านหน้าแขวนรูปสำคัญๆ หรือรูปศักดิ์สิทธิ์ไว้ แขวนดวงไฟ(สมัยก่อนใช้ตะเกียงเจ้าพายุ) ไว้ตรงช่วงกลางจอ ห่างจากจอประมาณ 1 ศอก ใช้วัสดุทึบแสง (กระดาษแข็ง) ขนาดประมาณ 7 คูณ 8 นิ้ว บังข้างหลังดวงไฟเพื่อให้แสงส่องไปยังหน้าจอมากขึ้น และบังแสงเข้าตานายหนังด้วย เพราะนายหนังนั่งแสดงอยู่หลังดวงไฟ
รูปหนังตะลุง หนังตะลุงคณหนึ่งๆ มีรูปประมาณ 150-200 ตัว และรูปสำคัญที่ทุกคณะต้องมีได้แก่ ฤาษี, พระอิศวรทรงโค, ปรายหน้าบท (รูปกาศ), เจ้าเมือง (กษัตริย์) ,มเหสี(ราชินี), เจ้าชาย, เจ้าหญิง, นางสนม, ชายหนุ่ม, หญิงสาว, เทวดา, ยักษ์, เสนาอำมาตย์, ตัวตลก รูปเหล่านี้จะมีหน้าตาทำนองเดียวกันทุกคณะ นอกจากนี้ยังมีรูปเบ็ดเตล็ดอีกส่วนหนึ่งตามนิทานหรือนิยายที่จะเล่น เช่น ต้นไม้ ภูเขา ช้างม้า วัวควาย หมา แมว นก เสือ สิงห์ รูปทั้งหมดเก็บไว้ในแผงหนัง นอกจากรูปศักดิ์สิทธิ์ใส่ถุงเก็บไว้เป็นพิเศษต่างหาก
ดนตรี มีทับหนึ่งคู่ โหม่งหนี่งคู่ กลองตุ๊กหนึ่งลูก ฉิ่งหนึ่งคู่ กรับหนึ่งอัน (เคาะกับรางโหม่ง) ปี่ และซอ แต่ปัจจุบันใช้เครื่องดนตรีสมัยใหม่เข้าไปเสริมและบางคณะใช้ประยุกต์แทนของเดิมก็มี แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องมี่ ทับ, โหม่ง และฉิ่งเป็นหลักอยู่เหมือนเดิม
ตั้งเครื่อง เบิกโรง เริ่มพิธีด้วยนายหนังตีกลองนำ ลูกคู่บรรเลงเพลงเชิดเรียกว่าตั้งเครื่อง จากนั้นนายแผงแก้แผงออกเอารูปวางไว้ให้เป็นระเบียบ นายหนังทำพิธีเบิกโรง

งานทั่วไปใช้หมากพลู 9 คำ เทียน 1 เล่น เงินเบิกโรง 12 บาท มาวางหน้านายหนัง นายหนังว่าชุมนุมเทวดา เอารูปฤาษี, ปรายหน้าบท, เจ้าเมืองปักบนหยวก ร้องเชิญครูให้มาคุ้มครอง ขอที่ตั้งโรงจากพระภูมิและนางธรนี เสกหมาก 3 คำ ซัดทับ 1 คำ เหน็บตะเกียง(ดวงไฟ) 1 คำ เหน็บหลังคาโรง 1 คำ ป้องกันเสนียดจัญไร เสร็จแล้วลูกคู่ตีเครื่อง (ดนตรี) โหมโรง (ถ้าเป็นงานอัปมงคลเช่นงานศพต้องเพิ่มของสำหรับเบิกโรง คือ เสื่อ(สาด) 1 ผืน หมอน 1 ใบ และหม้อน้ำมนต์ 1 ใบ )
โหมโรง เป็นการเล่นดนตรีล้วนๆ บางท้องถิ่นเรียกหนังลงโรง (หมายถึงลงมือแสดง) เดิมที่ใช้เพลงทับ ใช้ทับตีนำมีเพลงที่เล่นเช่น เพลงเดิน, ถอยหลังเข้าคลอง,เพลงยักษ์,เพลงสามหมู่ ,นางออกจากวัง, นางเดินป่า, สรงน้ำ, เจ้าเมืองสั่งการ, ยกพล,ยักจักสัตว์, กลับวัง, ต่อมาเล่นเพลงปี่ ใช้ปี่นำเป็นหลัก เริ่มด้วยเพลงพัดชา, ลาวสมเด็จ, เขมรปี่แก้ว, เขมรปากท่อ, ลาวดวงเดือน,จีนแส, ชายครั่ง, สุดสงวน, นางครวญ, สบัดสบิ้ง, เขมรพวง, ชนีร้องไห้ ปัจจุบันโหมโรงด้วยเพลงพัดชา ต่อจากนั้นบรรเลงเพลงลูกทุ่งทั้งสิ้น
ออกลิงขาว ลิงดำหรือออกลิงหัวค่ำ สมัยนี้ยกเลิกไปแล้ว นำเสนอเป็นความรู้แก่คนรุ่นหลังถึงการเล่นหนังตะลุงสมัยโบราณ
ออกฤาษี มีลีลาการเชิดรูป เพื่อคารวะครูและปัดเป่าเสนียดจัญไรต่างๆ วิธีเชิดใช้ไม้เท้าล่อจอ ทางมุมขวา มุมซ้าย ตรงกลาง จุดละครั้ง แล้วเหาะผ่านจอจากขวาไปซ้าย ถอยหลังช้าๆจากซ้ายกลับมาขวา เชิดท่องโรง เป็นทำนองเดินช้าๆ เดินบ่างสามขุม ทำนองเร่งกระชับ ใช้ไม้เท้ายันไปหน้าถอยหลังสลับกัน เชิดเหาะไปกลับซ้ายขวา 3 ครั้ง ปัดรูปกลางจอร่ายมนตร์เริ่มด้วยตั้งนะโม 3 จบแล้วตั้งสัคเคชุมนุมเทวดาต่อด้วยกล่าวธรณีสาร ขึ้นต้นด้วย “โอมสิทธิการครูอาจารย์ท่านสอน ให้กูมาตั้งฟ้าตั้งดิน ตั้งพระอินทร์ตั้งพระพรหม ตั้งพระยม ตั้งพระกาลท่านทั้งสี่ ตั้งพระฤาษีนารอด ยอดปิฎกและกรรไตร....... ฯลฯ ......... โอมนะโมพุทธัสกำมะจัดออกไป โอมนะโมธัมมัสกำมะจัดออกไป โอมนะโมสังฆัส กำมะจัดออกไป อย่าได้เข้ามาใกล้ เข้ามาไม่ได้ ในปัญจะเสมามณฑล บัดนี้
ออกรูปฉะ ปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว เสนอไว้เพื่อเป็นความรู้แก่ชนรุ่นหลัง
ออกรูปพระอิศวรทรงโค (ออกโค) เพื่อบูชาพระอิศวรเทพเจ้าแห่งการบันเทิง เริ่มด้วยเชิดรูปให้ผ่านจอส่วนบนช้าๆ พอเป็นเงารางๆ เชิดให้เห็นความมีอำนาจของศิวะเทพ และความพยศของโคทรง แล้วปักรูปกลางจอร่ายมนตร์ “โอม นะ ข้าจะไหว้พระบาทเจ้าทั้งสามพระองค์ พระอิศรผู้ทรง พระยาโค อุสุภราชฤทธิรอน เบื้องขวาข้าจะไหว้ พระนารายณ์สี่กร

ทรงครุฑพระเหิรจร พระชินรินทร์เริงรงค์ เบื้องซ้าย ข้าจะไหว้ท้าวจตุพักตรผู้ทรง พระมหาสุวรรณเหมหงส์ ทรงศักดิ์พระอิทธิฤทธิ์เรืองนาม ............................... ฯลฯ ...................................... ศรี ศรี สวัสดีมีชัย เล่นสถานแห่งใด มีลาภล้นโดยหวัง และขอให้มีจิตตาพลัง ห่อ หุ้ม คุม ขัง อันตราย อย่าให้มีมา บัดนี้”
ออกรูปรายหน้าบท (รูปกาศ) เป็นตัวแทนนายหนัง รูปชายหนุ่มถือดอกบัว ร้องกลอนสั้นๆ เป็นทำนองไหว้พระก่อน แล้วเชิดรูปออกจอ ทำท่าสวัสดี เชิดรูปในท่าเดินสักครู่ แล้วปักรูปในท่าสวัสดีว่ากลอนไหว้ครู สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และผู้ที่นับถือ ฝากเนื้อ ฝากตัว
ออกรูปบอกเรื่อง ส่วนมากใช้รูป อ้ายขวัญเมืองเป็นรูปบอกเรื่อง เป็นตัวแทนนายหนัง แนะนำตัวนายหนังและคณะ ที่อยู่ที่ติดต่อ ฝากเนื้อฝากตัว บอกเรื่องที่จะแสดง อวยพรผู้ชม
เกี้ยวจอ ปักรูปเจ้าเมืองกับมเหสีหันหน้าหากัน แล้วว่ากลอน จะเป็นคติสอนใจ หรือชมธรรมชาติ หรือพรรนาความในใจอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้
ตั้งเมืองหรือตั้งนามเมือง ว่ากลอนโดยสมมุติขึ้นเป็นเมืองๆหนึ่ง ตามนิยายที่จะแสดงชื่อเมือง พระนามเจ้าเมือง พระนามมเหสี และต้องมีรูปเจ้าเมืองกับมเหสีปักอยู่หน้าจอด้วย ว่ากลอนบรรยายสภาพบ้านเมืองและเหตุการณ์ต่างๆ ตามเรื่องราวในนิยาย
ต่อจากนั้นก็แสดงเรื่องเป็นฉากๆไปจนจบเรื่อง หรือจนหมดเวลาตามที่กำหนดไว้กับเจ้าภาพ ถ้าไม่กำหนดไว้ก็ถือเวลาตามเวลาอันควร ส่วนมากเลิกเวลาเที่ยงคืน (สมัยก่อนเลิกตอนรุ่งสาง) โดยการกล่าวคำอำลาและ ให้พรผู้ชม จะว่าเป็นคำกลอนหรือคำพูดก็ได้ ส่วนมากจะว่าเป็นกลอน
อันดับต่อไปนี้ เชิญท่านพบกับ นิยายหนังตะลุง ในเรื่อง “แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” ขอเริ่มจาก ปรายหน้าบท (รูปกาศ) บทไหว้ครู เชิญติดตาม.

 

ข้อมูล/ อุดม หนูทอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดนตรีและการละเล่นภาคใต้
ภาควิชา ภาษาไทยและภาษาตะวันออก ม.ศ.ว. สงขลา

 

หมายเลขบันทึก: 551480เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2013 10:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ตุลาคม 2013 10:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ไปพัทลุงมาครับ

แต่ไม่ได้ไปเยี่ยมพ่อเขียน

เสียดายจัง

แบบนี้ต้องไปใหม่ครับ

เสียดายผมติดภาระกิจ   บ้านพ่อเขียนก็อยู่ไกล้กันครับ ที่บ้านพ่อเขียน เป็นแหล่งความรู้ของเรา ชาว ศวพถ.ที่  อาจารย์ชายขอบชวนมามาเรียนรู้ประจำ ครับอาจารย์ขจิต 

ขอบคุณบังมากครับที่มาแจ้งให้ทราบ

- ทั้งชีวิต ไม่เคยได้ ดูหนังตะลุง จริง ๆ สด สด สักครา....

- เคยดู แต่ใน ทีวี และสารคดี เบื้องหลังการจัดทำ บางส่วน....

- ศิลปกรรม ที่ทรงคุณค่า และ เสน่ห์ ....แห่งชาวใต้ โดยแท้...

ขอบพระคุณ ที่กรุณา  มาถ่ายทอดค่ะ

ขอขอบคุณ   คุณวอญ่า

              คุณจอย

             คุณนงนาทสนธิสุวรรณ

              คุณตุ๊ก น่ารัก

             คุณบุษยมาศ

             คุณนกทะเล

             คุณขจิต ฝอยทอง

             คุณอักขณิช

     ขอบคุณทุกท่านที่มาให้กำลังใจครับ

้้เคยดูหนังตะลุงสมัยเด็ก ๆ จ้ะ  ชอบมาก ๆ จ้ะ  เดี๋ยวนี้ไม่มีให้ดูแล้ว

ขอบคุณค่ะพ่อ  เห็นพ่อมีความสุขก็ดีใจค่ะ

ลองให้พ่อหนูเบสต์บอกวิธีใส่เพลงในบันทึกซิค่ะ

 

น้อง ดร.ขจิต และท่าน วอญ่า ...คุณพ่อใจดีค่ะ แวะไปบ้านบางแก้วได้เสมอค่ะ

ขอขอบคุณ   คุณพงศธร  เหล่าสกุล

                คุณมะเดื่อ

                คุณ ดร.พจนา  แย้มนัยนา

          ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท