จดหมายถึงแม่ ฉบับที่ ๖


  

          

                                                                                                                                                     เมืองเชนไน, ประเทศอินเดีย

                                                4  สิงหาคม  2551

กราบเท้า มายังคุณแม่ที่เคารพอย่างสูง

        คุณแม่อยู่ทางบ้านเป็นอย่างไรบ้างครับ  สบายดีหรือเปล่า ส่วนผมอยู่ทางนี้ก็สบายดีเช่นเดิม คุณแม่ไม่ต้องเป็นห่วง พี่ ๆ และหลานทุกคนคงสบายดีนะครับ  ที่ผมเขียนจดหมายฉบับนี้ส่งมาก็ไม่มีอะไรมากหรอกครับ  เพียงแค่อยากเล่าอะไรให้คุณแม่ฟังและต้องการชี้แจงบางอย่างเพิ่มเติมจากที่เคยคุยกับพี่ภาณีทางโทรศัพท์

        เรื่องแรกที่จะเล่าให้คุณแม่ฟังก็คือ เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา  ทางคณะปรัชญา มหาวิทยาลัยมัทราสที่ผมเรียนอยู่  ได้จัดงานเปิดศูนย์พุทธศาสตร์ศึกษา (Center of Buddhist Studies) ในพิธีเปิดศูนย์ อาจารย์ที่ปรึกษาของผมคือ ศ.ดร.โคปาลกฤษณัน เป็นผู้อำนวยการและดำเนินการ  ซึ่งท่านได้เชิญอธิการบดีมาเป็นประธาน  และได้เชิญแขกพิเศษ คือท่านกงศุลใหญ่ของไทยประจำเมืองเชนไน และท่านรองกงศุลใหญ่มาร่วมเป็นเกียรติในงานด้วย ซึ่งท่านทั้งสองก็คุ้นเคยกับผมพอสมควร เพราะผมเคยไปช่วยเหลืองานของท่านหลายครั้ง  ในงานนี้ผมได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ติดต่อประสานงานนักศึกษาไทยในเมืองเชนไนมาร่วมงาน  ซึ่งผมได้ติดต่อนักศึกษาไทยมาร่วมงานทั้งหมด 9 คน เป็นสมาชิกชมรมศิษย์เก่ามหาจุฬาฯ 4 คน อีก 5 คนเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยข้างนอก  และที่น่าประทับใจที่สุด คืองานนี้มีการกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยต่อหน้าโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูป(ยืมไปจากสถานกงศุล)  คนอินเดียให้เกียรติพวกเรามาก โดยให้พระนักศึกษาไทย คืออาจารย์พระมหาบรรจง เป็นผู้จุดธูปเทียนและนำกล่าวบูชาพระรัตนตรัย  จากนั้นก็ให้อธิการบดีกล่าวเปิดงาน พร้อมกับให้ท่านกงศุลใหญ่และรองกงศุลร่วมกล่าวเปิดงาน  ซึ่งพิธีเปิดงานก็ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย  และที่สำคัญคือนี้เป็นครั้งแรกที่กงศุลไทยและนักศึกษาไทยมีบทบาทในมหาวิทยาลัยมัทราส

          อีกเรื่องที่จะเล่าให้คุณแม่ฟังคือการเปลี่ยนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ใหม่  ตอนแรกว่าจะเอาเข้าร้านซ่อม  แต่อาจารย์สาครแนะนำว่าน่าจะวานให้อาจารย์สมศักดิ์มาดูให้เพราะท่านเก่งคอมพิวเตอร์  ผมจึงรบกวนอาจารย์สมศักดิ์มาดูให้ ซึ่งท่านก็มาลงโปรแกรมวินโดว์ 2007 ให้ใหม่ พอลงโปรแกรมไปแล้วปรากฎว่า เมนบอร์ดและซีพียูไม่สามารถรองรับโปรแกรมใหม่ล่าสุดได้เพราะมันเก่ามาก ซึ่งอุปกรณ์สองอย่างนี้ผมยังไม่ได้เปลี่ยนตั้งแต่ซื้อคอมพิวเตอร์มา 7 ปี  กลับไปบ้านครั้งที่แล้วผมเปลี่ยนเฉพาะฮาร์ดดิสเท่านั้น  คอมพิวเตอร์เสียครั้งนี้ผมจึงต้องเปลี่ยนฮาร์ดแวร์ 4 ตัว คือ เมนบอร์ด ราคา 3,100 รูปี ซีพียู ราคา 2,800 รูปี การ์ดจอ ราคา 2,500 รูปี และ แรม 1,000 รูปี รวมทั้งหมดก็ตกประมาณ 9,400 รูปี  เงินที่ผมได้รับมาจากการช่วยงานนิทรรศการสินค้าไทยจึงหมดพอดี  ตอนนี้คอมพิวเตอร์ใช้ได้เรียบร้อยแล้ว  และคาดว่าภายในสองปีนี้มันคงไม่เสียและงานวิทยานิพนธ์ก็คงจะเสร็จ

          อีกเรื่องที่ผมอยากจะชี้แจงคือเรื่่องนัท  ตามที่พี่ภาณีพูดให้ฟังนั้นผมเข้าใจว่าพี่ภาณีไม่สบายใจที่เห็นลูกชายไม่กระตือรือร้นมากเท่าที่ควรและสั่งสอนไม่ได้  และผมก็เห็นด้วยว่าเราควรเข้าไปกระตุ้นให้เด็กมีความมุ่งมั่นมากกว่านี้  แต่เรื่องการสั่งสอนนั้น  ก็มีสิ่งหนึ่งที่เราจะต้องตระหนัก คือ ธรรมชาติของวัยรุ่นที่อยู่ในระหว่าง ม.4-5  ช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากเด็กสู่ผู้ใหญ่  ลักษณะของวัยรุ่นกลุ่มนี้คือ คือ ความเป็นตัวของตัวเอง ความต้องการเป็นอิสระ ต้องการคิดเอง ทำเอง เลือกเส้นทางชีวิตของตัวเอง  ไม่ต้องการการบังคับหรือชี้นำจากใคร  เพราะที่ผ่านมาในช่วงประถมศึกษาและ ม.1-3 พวกเขาจะเชื่อฟังพ่อแม่และครูอาจารย์มาก  แต่พอเข้าสู่มัธยมศึกษา 4-5 พวกเขาจะพยายามคิดเองและคัดค้านความคิดของผู้ใหญ่  เพราะฉนั้นช่วงนี้เราจึงไม่ควรเข้าไปก้าวก่ายอะไรเขามาก  อย่าไปพูดในลักษณะบังคับหรือสั่งสอน เพราะเขาจะไม่ฟัง  แต่ให้พูดด้วยเหตุและผลเพื่อให้เขาตัดสินใจด้วยตัวของเขาเอง อย่าไปยุ่มย่ามกับชีวิตเขามากไป ให้ถอยออกมาสัก 2-3 ก้าว  แต่อย่าละสายตาจากเขาเด็ดขาดเพราะเขาอาจผิดพลาดได้  ช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวตอของชีวิต  ถ้าผิดพลาดหมายถึงชีวิตล้มเหลวทั้งหมด  เพราะฉนั้นอย่าได้ละสายตา คือให้ทราบความเคลื่อนไหวทุกอย่างของเขา  และให้เข้าไปยุ่งเฉพาะเรื่องที่สำคัญหรือจำเป็นเท่านั้น

            และสุดท้ายนี้ คาดว่าจดหมายฉบับนี้คงจะถึงคุณแม่ในช่วงวันแม่ คือ วันที่ 12 สิงหาคม  ผมจึงขอถือโอกาสนี้ใช้จดหมายฉบับนี้ส่งความรักความคิดถึงมาให้คุณแม่  ผมจะตั้งใจพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด  และผมขออ้างอิงเอาคุณพระศรีรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์  จงช่วยอภิบาลรักษาให้คุณแม่มีแต่ความสุขกาย สุขใจ ปราศจากโรคาภัยทั้งปวง และขอให้พี่ ๆ และหลานมีแต่ความสุขและความเจริญ  คิดหวังสิ่งใดที่เป็นไปโดยชอบก็ขอให้สมปราถนาทุกประการ

 

ด้วยความรักและเคารพอย่างสูง

บรรพต   แคไธสง

หมายเลขบันทึก: 551276เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2013 11:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 สิงหาคม 2020 21:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จดหมายเหล่านี้ผมเขียนตอนเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยมัทราสถึงคุณแม่ของผมที่บุรีรัมย์  ผมเขียนเพราะอยากเล่าเรื่องราวที่ผมพบเห็นให้ท่านฟังโดยลืมนึกไปว่าท่านไม่ค่อยเข้าใจเรื่องที่ผมเขียนหรอกเพราะเป็นเรื่องห่างไกลตัวท่าน  แต่ท่านก็ดีใจที่ทราบความเป็นอยู่ของผมและเก็บจดหมายเหล่านี้เอาไว้ทั้งหมด   พอกลับมาทำงานที่เมืองไทยผมได้อ่านจดหมายที่ตนเองเขียนอีกครั้งจึงเข้าใจ  และทุกครั้งที่ประสบปัญหาไม่สบายใจผมก็จะเอาจดหมายเหล่านี้มาอ่าน มันทำให้ผมมีความสุขและนึกถึงภาพที่ตัวเองเคยโลดแล่นอยู่ที่อินเดีย  มันเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ผมคงหาไม่ได้อีกแล้ว  เป็นชีวิตที่มีรสชาติและสีสันมาก แม้ว่ามันจะเป็นช่วงชีวิตที่ผมต้องต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคมากที่สุด แต่มันมีความสุขเมื่อคิดย้อนกลับไป ใช่ครับเป็นอะไรที่ลืมไม่ลง  และผมก็คิดว่าเรื่องราวเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นบ้าง  จึงตัดสินใจเขียนบันทึกลงในgotoknow

สำหรับศูนย์พุทธศาสตร์ศึกษาของมหาวิทยาลัยมัทราสในปัจจุบันยังดำเนินการอยู่และมีการจัดกิจกรรมทางวิชาการอยู่เสมอ  แต่ไม่ได้อยู่ในการดูแลของคณะปรัชญาเพราะหลังจากอาจารย์ที่ปรึกษาของผมเกษียรอายุราชการก็ไม่มีใครสานงานต่อ  ศูนย์นี้จึงไปอยู่กับภาควิชาศาสนาเชน เพราะคนอินเดียมองว่าเป็นปรัชญาฝ่ายนาสติกะเหมือนกัน(คือไม่ยอมรับคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์) ทั้งที่ความเป็นจริงที่รัฐทมิฬนาดูมีชาวพุทธอยู่มาก น่าจะไม่น้อยกว่า ๙ ล้านคน  แต่ที่รัฐนี้ความเชื่อในศาสนาฮินดูโดยเฉพาะนิกายไศวะสิทธันตะมีความเข้มข้นและพลังสูงมาก  ชาวพุุทธจึงไม่อยากแสดงตัวเพราะกลัวมีปัญหา

ส่วนหลานชายของผมตอนนี้เรียน อยู่ที่คณะครุศาสตร์ เอกการสอนวิศวกรรมด้านอิเลคทรอนิค  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ลาดกระบัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท