ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๑๔. อปท. กับการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ของตนเอง


 

วันที่ ๖ ก.. ๕๖ สรส. กับมูลนิธิสยามกัมมาจล ร่วมกันจัดการประชุมโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น ๔ ภาค ระยะที่ ๒ : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว   เพื่อให้ผู้ดำเนินการโครงการนำเสนอต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

เป้าหมายของโครงการนี้ เพื่อฝึกเจ้าหน้าที่ของ อปท. ให้มีทักษะในการทำงานเชื่อมโยงภาคีต่างๆ ในพื้นที่ของตน เพื่อร่วมกันทำงานพัฒนาเยาวชนของตน

ผมเชื่อว่า ทรัพย์สมบัติที่มีค่าที่สุดของแผ่นดิน คือ คน    ไม่ใช่แร่ธาตุ ไม่ใช่ต้นไม้ ไม่ใช่เงิน   สิ่งเหล่านั้นมีค่า แต่ไม่ใช่มีค่าสูงสุด   ที่มีค่าสูงที่สุดคือคน   เพราะคนจะใช้ความสามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้ หากการพัฒนาโดยการศึกษาทำอย่างถูกต้อง    และในทางตรงกันข้าม คนจะทำลายสังคมและสิ่งรอบตัว ได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ หากเขาไม่ได้รับการส่งเสริมให้งอกงามศักยภาพด้านดี   ปล่อยให้สัญชาตญาณอย่างสัตว์ งอกงามและครอบงำ

สรส. เป็นผู้ทำงาน โดยร่วมมือกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น   และ อปท. รับสมัครและคัดเลือก เจ้าหน้าที่ของ อปท. มาฝึกเป็นนักถักทอชุมชนเพื่อพัฒนาเยาวชน   เป็นการฝึกโดยให้ความรู้เชิงทฤษฎี แล้วให้ไปฝึกดำเนินการในพื้นที่ แล้วกลับมา ลปรร. กันในกลุ่มนักถักทอฯ ด้วยกัน   แล้วกลับไปปฏิบัติต่อ และกลับมา ลปรร. ความรู้จากการปฏิบัติกันอีก   โดยโครงการเพิ่งเริ่ม ๖ เดือน   นักถักทอฯ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าฝึกแบบนี้ดี   แตกต่างจากหลักสูตรฝึกอบรมที่เคยผ่านมาก่อน   ที่จัดอบรมแบบ ไปฟังการบรรยายแล้วจบ ไม่ได้อะไร    แต่การฝึกแบบ สรส. เป็นการให้ทั้งทฤษฎี และโค้ชวิธีปฏิบัติ   ได้ผลงานจริงจัง

จึงเกิดความเคลื่อนไหวของฝ่ายต่างๆ ในพื้นที่ ลุกขึ้นมาร่วมกันส่งเสริมให้เยาวชนทำกิจกรรม เพื่อการเรียนรู้ พัฒนาตนเอง และทำประโยชน์ให้แก่สังคมในพื้นที่   การถักทอกันทำให้เกิดพลังอย่างไม่น่าเชื่อ   และเมื่อดำเนินการใช้พลังสร้างสรรค์ของเยาวชน   แทนที่เยาวชนจะเป็นผู้สร้างปัญหา กลับเป็นผู้ทำประโยชน์ให้แก่สังคม   และทำได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ

ผู้บริหารของ อปท. และนักถักทอฯ ที่มาประชุม ได้รับคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย    รวมทั้งได้รับกำลังใจกลับไปทำงานต่อ   โดยผู้ทรงคุณวุฒิเน้นที่ความต่อเนื่อง ดำเนินการเองในพื้นที่ หลังโครงการที่สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจลสิ้นสุดลง

เรื่องการพัฒนาเยาวชน   ป้องกันเยาวชนไม่ให้หลงเดินทางเสื่อม  หรือฟื้นฟูเยาวชนที่หลงผิดชั่วคราว    เป็นเรื่องที่พ่อแม่และคนในชุมชนให้คุณค่า    จึงเป็นเรื่องที่ถักทอพลังชุมชนง่าย   แต่ก็ยังท้าทายว่า เมื่อกลับเข้าไปทำแบบงานประจำของ อปท. จะยังมีพลังอย่างที่เห็นในตอนนี้หรือไม่

ผมแนะคุณทรงพล เจตนาวณิชย์ ครูใหญ่ของโครงการว่า    ควรหาวิธีติดตามประเมินผลกระทบที่เกิด ต่อตัวเยาวชน ทั้งเป็นรายคนและในภาพรวม    เพื่อให้แน่ใจว่า ไม่ใช่เราเห็นความคึกคักที่การดำเนินการ แต่ผลที่ตัวเยาวชนมีน้อย

ท่านที่สนใจ ค้นเรื่องราวด้วย กูเกิ้ล ได้ด้วยคำค้นว่า หลักสูตรนักถักทอชุมชน

เรื่องการพัฒนาเยาวชนในท้องถิ่นนี้ ยังมีช่องทางดำเนินการใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้อีกมากมาย

 

วิจารณ์ พานิช

๗ ก.ย. ๕๖

 

 

หมายเลขบันทึก: 550968เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2013 14:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ตุลาคม 2013 14:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท