อาจารย์คณะเกษตรฯ มข. ตามผลงานวิจัยการปลูกพริกของเกษตรกร จังหวัดชัยภูมิ


ฝึกอบรมเกษตรกรขยายเชื้อรา พบปัญหาเรื่องโรครากเน่า-โคนเน่าและแมลงเข้าทำลาย ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ปลูกพริกหลายสายพันธุ์ แต่ราคาขายพริกป๊อปสูงกว่า ฝนตกมากแสงแดดน้อย เกษตรกรแก้ปัญหาโดยทำกระโจมอบพริกแบบง่ายๆ

             อาจารย์วีระ ภาคอุทัย อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าโครงการ การพัฒนาระบบการตัดสินใจและจัดการโซ่อุปทานพริกปลอดภัย จังหวัดแพร่ น่าน และชัยภูมิ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)ได้จัดฝึกอบรมการขยายเชื้อราไตรโคเดอร์มาและเชื้อราเมตตาไรเซียมให้แก่เกษตรกรบ้านโคกหินตั้ง จำนวน 25 คน เนื่องจากบ้านโคกหินตั้ง เป็นที่ตั้งของโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากจังหวัดชัยภูมิ และมีกลุ่มอาชีพแปรรูปอาหารโดยเฉพาะน้ำพริกสูตรต่างๆ โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกพริกพันธุ์จินดา ซึ่งพบปัญหาเรื่องโรคและแมลงเข้าทำลายพริก ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 6 บ้านโคกหินตั้ง ตำบลโคกเริงรมย์ อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2556
          อาจารย์วีระ ภาคอุทัย กล่าวว่า หลังจากทำการฝึกอบรมเกษตรกร บ้านโคกหินตั้งแล้ว ได้ออกติดตามการปลูกพริกของเกษตรกร ตำบลวะตะแบก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ที่มีการปลูกพริกกันมากที่บ้านยางเกี่ยวแฝก บ้านป่าขนุน บ้านซับเจริญ บ้านเขากี่ บ้านหนองกระโจม และบ้านซับไทร โดยเกษตรกรส่วนมากปลูกพริกพันธุ์ลูกผสม และการให้น้ำเป็นระบบน้ำหยด เนื่องจากในปีที่ผ่านมาเกษตรกรขายพริกได้กิโลกรัมละ 50-80 บาท ทำให้ปีนี้มีการปลูกพริกเพิ่มเป็นจำนวนมาก แต่กลับขายได้กิโลกรัมละ 27-40 บาทเท่านั้น อีกทั้งปีนี้ฝนตกต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน ดินชุ่มน้ำตลอดเวลา จึงเกิดปัญหาเรื่องโรครากเน่า-โคนเน่า ต้นพริกใบเหลืองร่วง ลำต้นพริกดำเนื่องจากปัญหาเชื้อรา และโรคกุ้งแห้ง แม้ว่าเกษตรกรจะฉีดพ่นสารเคมีรักษาโรคต่างๆ แต่เพราะฝนตกตลอด น้ำฝนล้างสารเคมีไปหมด ทำให้มีปัญหาเรื่องโรคมาก ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ราคาที่ขายได้ก็ต่ำ ทำให้มีรายได้ต่อไร่ลดต่ำลงไปด้วย

          อาจารย์วีระ ภาคอุทัย กล่าวต่ออีกว่า สำหรับ บ้านซับไทร ตำบลวะตะแบก เป็นหมู่บ้านที่ราบเชิงเขา มีการเลี้ยงโคนม ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลูกมันสำปะหลังและการปลูกพริกหลายพันธุ์ ทั้งพริกส้ม พริกส้มยาว พริกป๊อป พริกจินดา และพริกพันธุ์ลูกผสม โดยเฉพาะพริกป๊อปที่รสชาติเผ็ด-ร้อนนั้น เป็นที่ต้องการของตลาดจังหวัดอุดรธานี ที่มีพ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงสวนพริก การเก็บพริกป๊อปจะเลือกเก็บเป็น 4 สี คือ สีเขียวอ่อน สีเหลือง สีส้มและสีแดง และราคาขายพริกป๊อปจะสูงกว่าพริกพันธุ์ลูกผสมกิโลกรัมละ 10-20 บาท ซึ่งวิธีการเก็บเมล็ดพริกป๊อปไว้ทำพันธุ์นั้น เกษตรกรจะเลือกเก็บผลพริกสีส้มจากต้นที่ผลดก ไม่เป็นโรค ทรงของพริกตรงตามสายพันธุ์ นำมาตำเบาๆให้เปลือกพริกแตก แต่เมล็ดพริกไม่ป่น แล้วนำไปร่อนให้เมล็ดพริกแยกออกจากเปลือกหรือเนื้อพริก นำเมล็ดพริกไปตากแดดจนแห้ง แล้วเก็บไว้ปลูกในปีต่อไป
         “ในขณะที่เกษตรกรบ้านยางเตี้ย ตำบลห้วยยายจิ๋ว ปลูกพริกพันธุ์ลูกผสมและพริกพันธุ์พื้นเมืองพันธุ์ยอดสน ซึ่งช่วงนี้เป็นปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว ราคาพริกสดราคาตกต่ำ กิโลกรัมละ 27 บาท อีกทั้งฝนตกเกือบทุกวัน การตากพริกโดยอาศัยแสงแดดทำได้ยาก เกษตรกรจึงแก้ปัญหาโดยการทำกระโจมอบพริกแบบง่ายๆ โดยเลือกพื้นที่ใกล้ๆบ้าน บริเวณที่ดอน น้ำไม่ท่วมขัง ใช้แกลบดิบรองพื้นหนาประมาณ 15 เซนติเมตร ใช้ตาข่ายมุ้งเขียวปูทับพื้นแกลบ ขึ้นโครงไม้ไผ่เป็นรูปครึ่งวงกลม กว้างประมาณ 2 เมตร ยาว 4 เมตร สูงประมาณ 1 เมตร หรือกว้างยาวตามความต้องการ คลุมโครงไม้ไผ่ด้วยพลาสติกใสให้มิดทุกด้าน พื้นที่ 8 ตารางเมตร อบพริกสดได้ 10  กิโลกรัม ใช้เวลา 3 วัน 2 คืน จะได้พริกแห้งประมาณ 4 กิโลกรัม” อาจารย์วีระ ภาคอุทัย กล่าวในที่สุด

          อาจารย์วีระ ภาคอุทัย ข้อมูลข่าว/ภาพ
          กิตติศักดิ์ สิงหา วิเคราะห์ สังเคราะห์และเผยแพร่


                        เกษตรกรบ้านซับไทรเก็บพริกส้ม


                                 สีพริกส้มที่เก็บขาย


                                พริกป๊อปบ้านซับไทร

                           
                                     พริกจินดาบ้านโคกหินตั้ง


                                   พริกส้มยาวบ้านซับไทร


                     พริกยอดสนระบบน้ำหยด บ้านหนองไฝ่ล้อม


                           กระโจมอบพริก บ้านยางเตี้ย


                  เกษตรกรบ้านซับไทรตากเมล็ดพันธุ์พริก


 โรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ บ้านโคกหินตั้ง อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ

 

หมายเลขบันทึก: 550963เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2013 11:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ตุลาคม 2013 14:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท