สร้างครูให้เป็นครูฝึก : ตอนที่ ๗ จากแผนกระดาน สู่การจัดโครงสร้างวิธีคิด


 

เปิดทัศนวิสัยการเรียนรู้

 

การเปิดชั้นเรียนในครั้งนี้เป็นการนำพาตัวเองไปสู่การเปิดวิธีคิดเชิงการเรียนรู้สู่ความเข้าใจการเรียนรู้ของตัวครูผู้สอนสู่ตัวผู้เรียนอย่างเป็นลำดับขั้นและเป็นระบบระเบียบ  และนำพาให้ครูหนึ่งเกิดความเข้าใจในแนวคิดของคอนสตัคชั่นนิสซึ่ม จากการจัดวางแผนกระดานอย่างเป็นระบบระเบียบ  ที่มีการร้อยเรียงเนื้อหาอย่างเป็นลำดับขั้น  การเรียนรู้เรื่องดังกล่าวส่งผลให้เกิดการไตร่ตรองอย่างใคร่ครวญถึงการจัดวางแผนการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูจะต้องมีการจัดระเบียบ  และร้อยเรียงทักษะความรู้อย่างดี  เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในเนื้อหาได้อย่างเป็นลำดับขั้น ไม่สับสน  ที่สำคัญคือสามารถสร้างความรู้ได้ขึ้นมาด้วยตนเองได้

 

 

จากแผนกระดาน สู่การสร้างระบบและโครงสร้างวิธีคิด 

 

การให้ผู้เรียนได้นำความรู้สะสมมาต่อยอดกับประสบการณ์ใหม่หรือความรู้ใหม่  เพื่อสร้างเป็นความรู้ด้วยตนเองอย่างไรนั้น จะปรากฏชัดก็ต่อเมื่อครูได้ลงมือทำแผนการใช้กระดานอย่างละเอียด การทำแผนกระดานก็คือการกำหนดการใช้พื้นที่บนกระดานว่าแนวคิดใดจะปรากฏขึ้นก่อนหลัง และเรียงตัวกันอย่างไร ที่สำคัญคือการนำพาให้นักเรียนทั้งห้องค่อยๆ เดินทางไปตามเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงกับชั้นเรียนในแต่ละคราว 

 

หลังจากที่ออกแบบแผนการเรียนรู้แล้ว  แผนการใช้กระดานจะเกิดตามมาเพื่อให้ครูผู้สอนเห็นภาพความเป็นไปของการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น  หากมีเวลามากพอ การเตรียมการสอนควรมีการทดลองใช้กระดานในพื้นที่จริงด้วย  เพราะเรื่องราวที่ปรากฏอยู่บนกระดานทั้งหมดจะทำหน้าที่เป็น story board ที่ช่วยให้

 

ก่อนสอน

 

·      ครู  มีความแม่นยำในแนวคิดของเรื่องจะสอน สามารถแยกย่อยความคิดออกมาอย่างเป็นลำดับขั้น

·     ครูฝึก  ได้เห็นอย่างชัดเจนว่าครูมีความชัดเจนในเรื่องที่จะสอนเพียงใด แม่นยำเพียงใด  หากพบว่ามีการข้ามขั้นตอนใดไปก็จะสามารถเพิ่มเติมได้ในทันที

 

ระหว่างสอน

 

·     ครู  นำเสนอขั้นตอนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้เห็นไปทีละลำดับ เพื่อพาให้ผู้เรียนได้เกาะติดกับสถานการณ์การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนของตนในวันนั้น 

·     ครู  ช่วยเน้นในจุดที่เป็นแนวคิดสำคัญที่นักเรียนด้วยการล้อมกรอบ  เขียนให้ตัวใหญ่ขึ้น  หรือเปลี่ยนสีชอล์กให้มีความแตกต่าง  เพื่อกันไม่ให้ผู้เรียนพลาดการเรียนรู้จากข้อสรุปที่สำคัญ

·      ผู้เรียน ได้ตั้งเค้าโครงความคิดไปพร้อมๆ กัน และค่อยๆ สร้างความเข้าใจตามบทเรียนในวันนั้นไปเรื่อยๆ  จากการเขียนกระดานของครูที่มีการวางแผนมาอย่างดี และเมื่อจบชั่วโมง ผู้เรียนก็จะได้พบกระดานที่มีการร้อยเรียงความเข้าใจเอาไว้อย่างชัดเจน เป็นลำดับ พร้อมทั้งข้อสรุปที่เกิดขึ้นร่วมกันในวันนั้น

 

หลังสอน

 

·     ครู สามารถประเมินการสอนของตนเองได้จากการใช้กระดาน

·     ครูฝึก  สามารถอ่านการเรียนรู้ที่ร่วมกันของชั้นเรียน จากการดำเนินไปของแนวคิดที่ปรากฏให้เห็นอยู่บนกระดานได้

 

แผนการใช้กระดานครั้งนี้

 

ครูฝึก คือ ครูปาด - ศีลวัต  ศุษิลวรณ์  ได้ช่วยสร้างให้ครูหนึ่งเกิดความเข้าใจในการวางแผนการใช้กระดาน  เพื่อให้ผู้เรียน

๑.     สามารถระบุได้ว่ารูปใดเป็นมุม  และอธิบายได้ว่าเพราะเหตุใด

๒.    สามารถระบุได้ว่ารูปใดไม่ใช่รูปสามเหลี่ยมและอธิบายได้ว่าเพราะเหตุใด

๓.    สามารถระบุได้ว่ารูปใดไม่ใช่รูปสี่เหลี่ยมและอธิบายได้ว่าเพราะเหตุใด

 

การจัดวางแผนกระดานมีการจัดวางขั้นตอนอย่างเป็นลำดับ โดยเริ่มตั้งแต่การให้เรียนได้ทบทวนความรู้สะสมของตนเอง  ซึ่งเกิดจากความรู้และสมรรถนะที่สร้างขึ้นในคาบเรียนที่ผ่านมา  ผ่านโจทย์ขั้นภาวะพร้อมเรียนรู้ ๒ โจทย์  (ในกระดานที่  ๑ – ๒)  จากแรงส่งจากโจทย์ภาวะพร้อมเรียนรู้  นำเข้าสู่โจทย์สถานการณ์ปัญหาที่ท้าทาย ๒ โจทย์ (ในกระดานที่  ๓ – ๔)  และก่อให้เกิดการสร้างความรู้ได้ด้วยตนเองจากการปฏิสัมพันธ์ความรู้เดิมกับสภาพแวดล้อมใหม่หรือสถานการณ์ใหม่  สู่การนำเสนอแลกเปลี่ยน (ในกระดานที่  ๕)  และร่วมกันสรุปความรู้  ทักษะ  รวมถึงสมรรถนะที่สร้างขึ้นจากการเรียนรู้ในห้องเรียน  (ในกระดานที่  ๖)

 

 

จากการสร้างแผนกระดานนี้ทำให้ครูหนึ่งผู้เปิดชั้นเรียนเกิดความเข้าใจยิ่งขึ้นทั้งเนื้อหา  ทักษะคณิตศาสตร์  ทั้งกระบวนการให้เกิดการเรียนรู้ในตัวผู้เรียน   โดยครูปาดทำให้ความรู้ใหม่ที่มีการจัดเรียงอย่างเป็นระบบระเบียบได้ปฏิสัมพันธ์กับสิ่งใหม่  ความรู้ใหม่  ซึ่งทำให้ผู้เปิดชั้นเรียนเริ่มที่จะมีการปรับแต่ง  ปรับความแตกต่างระหว่างของใหม่กับความคิดเดิมจนเกิดความเข้าใจว่าควรจะทำอย่างไรกับสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น   ซึ่งการโค้ชของครูปาดไม่ใช่การสอนที่ผู้เรียนเป็นผู้รับแต่เพียงฝ่ายเดียว  แต่ความรู้จะเกิดขึ้นจากการสร้างขึ้นด้วยผู้เรียนเอง  โดยความรู้ที่ดีนั้นจะต้องรวมถึงปฏิกิริยาระหว่างความรู้ในตนเอง  กับประสบการณ์ต่าง ๆ จากภายนอก  หรือความรู้ใหม่และเก็บผสมผสานกับความรู้ภายในที่มีอยู่สร้างเป็นโครงสร้างของความรู้ในสมองของตนเอง  แล้วแสดงความรู้ออกมา    

 

 

การเรียนรู้ที่เกิดขึ้น

 

การเปิดชั้นเรียนในครั้งนี้ทำให้ผู้เปิดชั้นเรียน คือตัวครูหนึ่งเองได้ตระหนักว่า  การเรียนรู้ของผู้เรียนจะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงไรนั้นขึ้นอยู่กับการสร้างแรงบันดาลใจ  การวางเงื่อนไขให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการจัดวางรูปแบบวิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นลำดับขั้น  โดยอาศัยวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เป็นตัวสร้างความรู้ให้เกิดขึ้นภายในตัวผู้เรียนเอง  โดยมีการจัดกระบวนการเรียนการรู้ที่เอื้อให้ผู้เรียนได้ใช้ความรู้เดิมมาต่อยอดกับความรู้ใหม่ แล้วนำเสนอวิธีคิดของตัวเองออกมา เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เรียนคนอื่นๆ  เพื่อยกระดับความเข้าใจของทุกคนขึ้นไปเรื่อยๆ  การเรียนรู้ในรูปแบบนี้จึงเป็นเรียนรู้ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจในวิธีคิดของตัวเอง และวิธีคิดของเพื่อนไปพร้อมกัน

 

 

หมายเลขบันทึก: 550887เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2013 14:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2013 15:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ถ้ามีรูปแผนกระดานประกอบ จะเข้าใจง่ายขึ้นครับ วิิจารณ์

เรียน อาจารย์วิจารณ์ ที่เคารพ

 

ครูหนึ่งได้ทำรูปแผนกระดานหายไป จึงไม่อาจนำมาแสดงไว้ในที่นี้ได้ค่ะ

 

ด้วยความเคารพ

ครูใหม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท