ท้องผูกความจริงเป็นอย่างไร? โดยนพ.ศักดา อาจองค์


ท้องผูกไม่ควรกินยาจนติดเป็นนิสัย ต้องระวังให้มากเพื่อไม่ให้ทีโรคอื่นเพิ่มขึ้นในร่างกาย

ท้องผูกเรื่องเล็กที่ไม่เล็ก

ถ่ายไม่ออกหลายวัน..สงสัยจะท้องผูก? หลาย ๆ คนคงจะงงกันว่า

อาการถ่ายไม่ออกหลายวันแบบนี้..ใช่อาการท้องผูก หรือไม่

แล้วอาการท้องผูก ความเป็นจริงแล้วมันเป็นยังไงกันแน่?ในผู้ใหญ่ส่วนมากก็จะกล่าวสืบต่อกันมาว่า หากถ่ายน้อยกว่าสามครั้งต่อสัปดาห์ และถ่ายแข็ง แห้ง ถ่ายครั้งละน้อย ๆ เป็นเม็ดแข็ง หรือที่คนสมัยก่อนเรียกว่าขี้แพะ ซึ่งพบได้บ่อยในเด็ก หรือถ่ายเป็นก้อน ลำอุจจาระขนาดใหญ่ หรือมีอาการถ่ายยาก ต้องเบ่งในขณะขับถ่าย บางคนอาจมีอาการปวดท้อง โดยมีลักษณะปวดบิด ๆ เมื่อมีการเคลื่อนตัวของลำไส้ บางคนมีอาการท้องอืด เรอบ่อย หรือมีกลิ่นปาก เหม็นเปรี้ยวเวลาหายใจ บางรายจะรู้สึกไม่สบายท้อง ท้องอืด แน่น กินไม่ค่อยได้ ไม่รู้สึกอยากอาหารเหมือนอิ่มอืดอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้น ความเชื่อที่ว่าร่างกายต้องถ่ายทุกวันหากไม่ได้ถ่ายหมายถึงว่าเราท้องผูก จึงเป็นความเชื่อที่ผิด อย่างไรก็ตามบางคนอาจขับถ่ายปกติ ได้บ่อยถึงสองถึงสามครั้งต่อวัน หรือบางคนอาจถ่ายเฉลี่ยราวสามครั้งต่ออาทิตย์เท่านั้น นั่นก็ขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัยการขับถ่ายของแต่ละคนที่แตก ต่างกันไป

อย่างไรก็ตามภาวะท้องผูกนั้นเป็นแค่อาการ..ไม่ใช่โรค แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงชีวิตหนึ่งของคนเราอาจต้องพบกับปัญหาท้องผูกบ้างไม่มากก็น้อย สาเหตุส่วนมากเกิดจากการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ส่วนใหญ่ภาวะท้องผูกมักเป็นแค่ชั่วครั้งชั่วคราว และมักไม่รุนแรง สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจถึงสาเหตุ การป้องกัน และการรักษาที่ถูกต้องจะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ในระยะยาวได้

อะไรเป็นสาเหตุของอาการท้องผูก?

เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ขออธิบายดังต่อไปนี้ในระบบทางเดินอาหารเป็นลักษณะท่อกลวง ที่ภายในมีเยื่อหุ้มรายล้อมเพื่อเพิ่มพื้นที่ผิว ในการย่อย ดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เมื่อรับประทานอาหารผ่านช่องปาก ผ่านไปยังกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ผ่านทวารหนักแล้วขับถ่ายเป็นอุจจาระออกจากร่างกายแล้ว ในระหว่างที่อาหารผ่านส่วนต่าง ๆ จะถูกย่อยและดูดซึมน้ำที่เป็นส่วนประกอบออกไป ส่วนที่เหลือจึงขับถ่ายออกมาเป็นกากอาหารในอุจจาระดังที่เห็นกัน

ส่วนของกล้ามเนื้อเรียบเล็ก ในลำไส้ส่วนโคลอนจะบีบตัวพร้อมกัน เป็นการดันกากอาหารที่ย่อยแล้วเป็นอุจจาระดันไปยังส่วนของทวารหนัก จึงจะเห็นได้ว่าอุจจาระจะเป็นของแข็ง เนื่องจากน้ำได้ถูกดูดซึมไปก่อนแล้ว หากลำไส้ส่วนที่เป็นลำไส้ใหญ่ ดูดซึมน้ำกลับเป็นปริมาณมาก การบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้ใหญ่จะทำงานและบีบตัวน้อยลง ยิ่งทำให้กากอุจจาระเคลื่อนที่ผ่านลำไส้ใหญ่ไปอย่างช้า ๆ ลำไส้ใหญ่ก็จะดูดซึมน้ำที่เป็นส่วนประกอบออกไปมากขึ้น อุจจาระจึงยิ่งแข็ง แข็งมาก และยิ่งแห้งมาก ทำให้เกิดภาวะท้องผูก ขับถ่ายได้ยาก

สาเหตุส่วนใหญ่ที่พบของปัญหาท้องผูกสาเหตุส่วนใหญ่ที่พบมีดังต่อไปนี้


การกินอาหารประเภทใยอาหาร (ไฟเบอร์) ไม่พอเพียง

พบว่าการรับประทานอาหารประเภทเส้นใยที่พอเพียง ทำให้พบภาวะท้องผูกได้น้อย และหากบริโภคอาหารประเภทไขมันสูง เช่น เนย ชีส ไข่ เนื้อ หรือหมู มากเกินไปก็อาจทำให้ท้องผูกมากขึ้นได้ อาหารประเภทเส้นใยหรือไฟเบอร์ที่มักเรียกกันทับศัพท์บ่อย ๆ จะมีทั้งชนิดที่ละลายน้ำและไม่ละลายน้ำ ซึ่งใยอาหารชนิดที่ละลายน้ำจะเปลี่ยนรูปเป็นก้อนและนิ่ม ช่วยป้องกันไม่ให้อุจจาระแข็ง แห้ง และสามารถขับถ่ายได้ง่ายโดยไม่ต้องออกแรงเบ่งมาก

การดื่มน้ำไม่พอเพียง

จากการศึกษาวิจัยพบว่า การดื่มน้ำมากขึ้นอาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการช่วยรักษาอาการท้องผูก แต่ยังมีปัจจัยอื่นเสริม เช่น การดื่มน้ำผลไม้ น้ำลูกพรุน น้ำแอปเปิ้ล น้ำส้มค้น น้ำฝรั่ง เป็นประจำและสลับกันไปจะช่วยทำให้อุจจาระนิ่มตัว และการผ่านของอุจจาระสามารถทำได้ง่าย ช่วยรักษาภาวะท้องผูกได้ดีกว่า แต่ข้อควรระวังคือ น้ำหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ กาเฟอีน จะไม่ช่วยรักษาภาวะท้องผูก แต่จะทำให้ปัสสาวะบ่อยและขาดน้ำมากขึ้น ทำให้อาการท้องผูกแย่ลง

ไม่มีกิจกรรมหรือเคลื่อนไหวร่างกายอย่างพอเพียง

การขาดกิจกรรม ขาดการเคลื่อนไหวของร่างกาย ก็อาจเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดอาการท้องผูก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ป่วยนอนติดเตียง และในคนชรา มักพบได้มาก

ยาหลายประเภทก็เป็นสาเหตุให้เกิดท้องผูก

ยาหลายชนิดที่ใช้ในการรักษาการเจ็บป่วย อาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของระบบลำไส้ โดยเฉพาะยาที่มีผลกับระบบประสาทอัตโนมัติ ซิมพาเทติคและพาราซิมพาเทติค ซึ่งควบคุมการเคลื่อนไหวของลำไส้ได้โดยตรง

ถึงเวลาถ่ายแต่อั้นไว้ ไม่ยอมถ่าย

พบภาวะนี้ในเด็กที่ห่วงเล่น มีสมาธิสั้น ในคนที่ไม่อยากขับถ่ายนอกบ้าน เครียดจนไม่อยากขับถ่าย หากเกิดกระบวนการดังกล่าวนี้ จะทำให้การขับถ่ายไม่เป็นไปตามปกติ โอกาสเกิดท้องผูกจึงเกิดได้ง่าย แล้วจะเกิดได้อยู่บ่อยครั้ง รักษายังไงก็ไม่หาย เพราะสาเหตุเกิดมาจากพฤติกรรมไม่ได้เกิดจากพยาธิสภาพของทางเดินอาหาร

นอกจากนี้โรคจำเพาะบางโรคเช่น โรคทางสมองและระบบประสาท ต่อมไร้ท่อ โรคทางเมตาบอลิก โรคต่าง ๆ ตามระบบอวัยวะ ซึ่งโดยส่วนใหญ่โรคเหล่านี้ทำให้ลำไส้เคลื่อนตัวช้าลง อุจจาระจึงผ่านไปช้า ๆ และเกิดกากอุจจาระที่แข็งได้ง่าย

มีปัญหาที่ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก หรือมีความผิดปกติในหน้าที่การงาน

ที่พบบ่อย เช่น การอุดตันของลำไส้จากแผลเป็น การผ่าตัด หรือเนื้องอก การตีบของลำไส้ มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือทวารหนัก

ปัญหาท้องผูก อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่หากพบว่าตัวเอง เป็นอยู่บ่อยครั้งเกินไป ก็อาจเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า มีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นภายในร่างกาย ซึ่งควรได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษา

อาจารย์นายแพทย์ศักดาอาจองค์

อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล

(ขอบคุณ เรื่องท้องผูกจากหนังสือพืมพ์เดลินิวส์คอลัมน์ หมอรามาไขปัญหาสุขภาพ)

ผัก ผลไม้ เมล็ดธัญญพืช นำเป็นอาหารก็จะช่วยเรื่องท้องผูกได้มาก และปลอดภัยต่อสุขภาพ แต่ละวันแต่ละมื้ออย่าลืมกินอาหารที่มีกากใยด้วยให้หลากสียื่งดี ดื่มน้ำพอดีกับน้ำหนักตัว เรายังเดินได้ก็ไม่ควรนั่งทำอะไรนานๆ เช่น นั่งหน้าจอคอมฯหลายชั่วโมง นั่งดูหนังดูละครหน้าจอทีวีจนจบเรื่อง ฯ ลุกเดิน ยืนบ้าง ถ้าปวดท้องถ่ายก็รีบถ่ายไม่เก็บไว้พลัดเวลา เป็นดินพอหางหมูอยู่ในลำไส้ การกินยาหรือมีโรคที่ทำให้ท้องผูกก็ควรปรีกษาหมอนะคะ

หรือหาวิธีกินสมุนไพรที่ทำให้ถ่ายง่ายร่างกายถูกกับสมุนไพรชนิดไหน ก็กินบ่อยๆเพื่อจะได้ขับถ่ายได้ทุกวันดีกว่ากินยาให้ถ่าย เช่น เมล็ดมะรุม ยอดใบอ่อนมะรุม ใบตำลึง มะขามเปรี้ยว ดอกชมจันทร์ เนื้อในฝักคูณ แก่นตะวัน ฯลฯ ลองกินแล้วสังเกตว่าชนิดไหนทำให้ระบายขับถ่ายดี ก็หามาไว้ประจำบ้านหรือปลูกเป็นต้นไว้เลย ซึ่งการปวดเบ่งในการถ่ายบ่อยๆเนื่องจากท้องผูก โรคที่จะตามมาได้คือ โรคริดสีดวงทวาร ก็ต้องระวังกันให้มากด้วยนะคะ

ด้วยความปรารถนาดี กานดา แสนมณี

วันพุธที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ ๒๕๕๖

หมายเลขบันทึก: 550011เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2013 07:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2013 20:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีจังเลย ผมไม่ค่อยท้องผูกเนื่องจากกินผักมากๆครับ

ขอบคุณพี่มากๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท