ศีรษะปฐพี สถานที่ตรัสรู้แห่งพระพุทธเจ้าทุกพระองค์


นำเรื่อง

ศีรษะ แปลโดยตรงคือ หัว ปฐพี คือ พื้นแผ่นดิน แปลความหมายรวม หมายถึง หัวของแผ่นดิน บางตำราเรียก ศีรษะปฐพีว่า โพธิบัลลังก์ รัตนบัลลังก์ จะเรียกอย่างไรก็ตาม ความหมายก็คือ สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์

พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันมีพระนามว่า พระพุทธศรีศากยมุนีโคดม เป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 4 ในภัทรกัลป์นี้ (ภัทรกัลป์ผมจะอธิบายในหัวข้อ กัลป์ ต่อไป) โดยภัทรกัลป์นี้มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติ 5 พระองค์ คือ 1. พระพุทธเจ้ากกุสันธะ 2. พระพุทธเจ้าโกนาคมน์ 3. พระพุทะเจ้ากัสสป 4. พระพุทธเจ้าศรีศากยมุนีโคดม 5. พระพุทธเจ้าศรีอาริยเมตไตรย์ (อนาคตกาล) 

กำเนิดโลกกับศีรษะปฐพี

ศีรษะปฐพี ปรากฏในวรรณกรรมโลกศาสตร์หลายฉบับ เช่น โลกทีปกสาร ของพระสังฆราชเมธังกร โลกบัญญัติของพระสัทธรรมโฆษะเถระ ไตรภูมิกถาของพระญาลิไทย ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถาของพระยาธรรมปรีชา (แก้ว) เป็นต้น เป็นเรื่องราวหลังจากกำเนิดโลก ศีรษะปฐพีนี้จะเกิดขึ้นก่อนภพภูมิใดๆ ทั้งหมด บริเวณศีรษะปฐพีนี้ถ้ามีพระพุทธเจ้ามาอุบัติจะมีดอกบัวเกิดขึ้นแล้วแต่จำนวนพระองค์ (ซึ่งในภัทรกัลป์นี้มีดอกบัวเกิดขึ้น 5 ดอก ซึ่งหมายถึงมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 5 พระองค์)  หมู่พรหมชั้นอกนิษฐพรหม (พรหมชั้นปัญจสุทธาวาส) ลงมาดูจำนวนดอกบัวที่เกิดขึ้นแล้วทำนายจำนวนพระพุทธเจ้าตามดอกบัวที่เกิดขึ้น

ลักษณะพิเศษของดอกบัว

ดอกบัวที่เกิดขึ้นนั้นมีลักษณะพิเศษคือ เป็นดอกบัวที่ติดอยู่ในก้านเดียวกัน แล้วแยกออกไปแต่ละดอก ในดอกบัวแต่ละดอกจะมีอัฐบริขาร (สิ่งของ 8 ประการสำหรับการมหาภิเนษกรมณ์) เมื่อพรหมลงมาดูดอกบัวก็จะนำอัฐบริขารเหล่านี้ไปประดิษฐานยังพรหมโลกและนำมาถวายพระโพธิสัตว์ในตอนออกมหาภิเนษกรมณ์ 

สถานที่แห่งศีรษะปฐพี

เป็นที่ทราบกันดีว่า พระพุทธเจ้าโคดมของพวกเรานี้ทรงตรัสรู้บริเวณแม่น้ำเนรัญชรา ปัจจุบันคือ พุทธคยา เมืองมคธ ประเทศอินเดีย หากเราพิจารณาตามคัมภีร์แล้ว บริเวณนี้เองจึงหมายถึง ศีรษะปฐพี และดอกบัวที่เกิดขึ้นก็จะต้องเกิดบริเวณนี้แน่นอน

(ภาพเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย จาก http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%84%E0%B8%A2%E0%B8%B2 เข้าถึงเมื่อ 24 กันยายน 2556)

ศีรษะปฐพีกับอดีตพุทธเจ้า 4 พระองค์

ดังนั้นหากพุทธคยาคือ ศีรษะปฐพี จะต้องเคยเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้ามาแล้ว 4 พระองค์ คือ พระพุทธกกุสันธะ พระพุทธโกนาคมน์ พระพุทธกัสสป และพระพุทธโคดม ส่วนพระศรีอาริยเมตไตรย์ จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 5 ในอนาคตกาลและจะต้องเป็นที่พุทธคยาแห่งนี้ 

ศีรษะปฐพีกับไฟบรรลัยกัลป์

ไฟบรรลัยกัลป์ แปลตามความ หมายถึง ไฟที่ทำให้กัลป์ฉิบหาย ไฟบรรลัยกัลป์นี้จะเกิดขึ้นเมื่อจะสิ้นกัลป์จะมีพระอาทิตย์ขึ้นทีละดวงจนครบทั้งหมด 7 ดวง (รายละเอียดผมขอไปเล่าในเรื่องกัลป์) ศีรษะปฐพีนี้จะไหม้ท้ายที่สุดหลังจากภพภูมิต่างๆ ไหม้หมดสิ้นแล้ว ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ศีรษะปฐพีเป็นสถานที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งทางพระพุทธศาสนา คือ เมื่อกำเนิดโลกก็เกิดก่อนภพภูมิอื่นๆ เมื่อโลกถึงคราวบรรลัย ก็ถูกไหม้ท้ายที่สุด

  แนวคิดเรื่องศีรษะปฐพีนี้ปรากฏมาตั้งแต่สมัยอดีตกาล เป็นความรู้ชุดหนึ่งที่คนในอดีตใช้อธิบายสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ สายธารแห่งวัฒนธรรมภารตะส่งผ่านตามกาลเวลามาสู่ ชาวสยามแห่งดินแดนสุวรรณภูมิ ร่องรอยเหล่านี้ยังปรากฏในคัมภีร์ทางจักรวาลวิทยาดังที่กล่าวมาแล้ว "การมองโลกของคนโบราณ" เป็นการมองชนิดที่มีวัตถุดิบ (ความเข้าใจ) เท่าใดก็มองเท่าที่เห็น การมองของคนอดีตจึงเป็น "ตรรกะ" คนละชุดกับความเข้าใจของคนปัจจุบัน การที่ "บางคน" ตัดสินความคิดเหล่านี้ว่าเป็นความ "โง่้เขลา" ของคนโบราณแล้ว ผมเชื่อเหลือเกินว่า บางคนเหล่านั้นจะต้องเป้นผู้โง่เขลากว่าคนโบราณแน่นอน ผมคิดเสมอว่า ผู้ที่ดูถูกรากเหง้าของตนเอง คือ ผู้ที่ไร้ราก แน่นอนอยุ่แล้วว่าเมื่อ ไร้ราก ย่อมจะต้องล้มลงแน่นอน

(การเรียบเรียงของผมอาจไม่เป็นวิชาการมากนักเพราะพยายามจะทำให้เข้าใจได้ง่าย และบางตอนผมอาจจะอธิบายไม่ชัดเจน ผมขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ และแน่นอน ผมมีประสบการณ์ในการอ่านที่น้อยมากจึงกลั่นกรองความรู้ได้เพียงเท่านี้ หากมีผู้รู้ท่านใดต้องการเสริมแต่งเพื่อแก้ไข ผมยินดีน้อมรับความคิดเห็นทุกท่านครับ)

 

เรื่องถัดไปที่ผมตั้งใจจะเขียนคือเรื่อง กัลป์ เพื่อประกอบความเข้าใจในเรื่องศีรษะปฐพีเพิ่มมากขึ้นครับ                  

หมายเลขบันทึก: 549186เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2013 19:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กันยายน 2013 19:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เพิ่งเรียนรู้ครั้งนี้แหล่ะจร้า...ที่เรียนมา ก็เรื่อง "คน" กับการบริหารจัดการกับ "คน" คร้า...ความรู้เรียนไม่หมดจริง ๆ ได้ความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นคร้า วันนี้...Thank you so much. พาหลานสาวมาเยี่ยมคร้า คริ ๆ ๆ

 ชอบวรรคนี้มากครับ

ผมคิดเสมอว่า ผู้ที่ดูถูกรากเหง้าของตนเอง คือ ผู้ที่ไร้ราก แน่นอนอยุ่แล้วว่าเมื่อ ไร้ราก ย่อมจะต้องล้มลงแน่นอน

ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท