วันนี้ (24 กันยายน 2556) เมื่อ 5 ปีที่แล้ว (24 กันยายน 2551)


ปรากฏการณ์น้ำท่วมเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ได้สร้างรอยเชื่อมต่อระหว่าง “ผม” กับ “ชุมชน” สืบมาจนปัจจุบัน ผมมีโอกาสได้พบปะมักคุ้นกับแกนนำชาวบ้าน ทั้งในระบบองค์กรท้องถิ่น และกลุ่มคนอิสระจำนวนมาก ซึ่งในที่สุดแล้วก็กลายเป็น “กลไก” อันสำคัญในการหนุนเสริมให้กระบวนการจัดกิจกรรมระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนเป็นไปอย่างราบรื่น และมีประเด็นแจ่มชัดขึ้น จนเป็นที่มาของกิจกรรมหลายกิจกรรม

วันสองวันนี้นึกอยากทบทวนความเป็น “วันนี้” เมื่อ “หลายปีที่แล้ว”
         แน่นอนครับ-วิถีแห่งความรู้สึกเช่นนั้น เป็นประหนึ่งการถอดบทเรียนชีวิตไปในตัวด้วยเหมือนกัน

        วันนี้ (24 กันยายน 2556) เมื่อ 5 ปีที่แล้ว (24 กันยายน 2551)  เป็นวันที่ผมและทีมงานตะลุยภาคสนามอย่างสุดฤทธิ์ตั้งแต่เช้ายันดึกดื่น
         เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่น้ำชีเอ่อล้นเข้าท่วมหมู่บ้านหลายหมู่บ้านในเขตตำบลขามเรียง และตำบลใกล้เคียง อาทิ  ตำบลท่าขอนยาง ตำบลเขวาใหญ่

 



วันนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว
         ผมพาทีมงานที่เป็นทั้งเจ้าหน้าที่และนิสิตลงหมู่บ้าน เพื่อสำรวจเส้นทาง หรือแม้แต่การไป “เยี่ยมยามถามข่าว” เสริมหนุนกำลังใจให้กับชาวบ้าน
         ครับ-ไม่ถึงกับทำตัวเป็นนักสังคมสงเคราะห์ หรือนักบุญหรอกนะครับ หากแต่ทำกันด้วยใจ และใช้วิกฤตนี้เป็นการปลูกฝังให้นิสิตได้เรียนรู้หลักแห่งการเป็น “ผู้ให้” หรือ “จิตอาสา” ดีๆ นั่นเอง




         เช้าของวันนั้น  ผมและทีมงานตะลุยไปหลายพื้นที่ อาทิ บ้านห้วยชัน, บ้านหนองแข้, บ้านมะกอก  ซึ่งถนนหนทางเจิ่งนองท่วมท้นไปด้วยน้ำ  การสัญจรด้วยเท้า หรือรถเครื่องเล็กๆ อยู่ในสถานะก้ำกึ่งที่จะต้อง “เทียวทาง”

          ครั้นตกบ่าย ผมและทีมงานตะลุยเข้าสู่บ้านกุดหัวช้าง อันเป็นหมู่บ้านที่อยู่ลึกเร้นสุดในเขตนี้ก็ว่าได้

          พอตกเย็นก็ตีกลองร้องเต้นขอรับบริจาคในบริเวณ “ตลาดน้อย” อันเป็นพื้นที่ชีวิตของชาว “มมส”  ขณะที่อีกกลุ่มก็สัญจรออกไปขอรับบริจาคนอกมหาวิทยาลัย



 

วันนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว
          ยอมรับว่าทำงานกันหนักมาก  ตื่นเช้า และนอนดึก
          เจ้าตัวเล็กทั้งสอง เลิกเรียนก็ต้องมาจ่อมจมอยู่ในเวทีเหล่านี้ร่วมกับพี่ๆ นิสิต
         เรียกได้ว่าเอาการบ้านมาทำกันในตลาดน้อยเลยทีเดียว ก็ได้พี่ๆ นิสิตนั่นแหละช่วยสอนการบ้าน -
          ย้อนกลับไปยังภาพชีวิตเหล่านั้นอีกครั้ง

 


          
ย้อนกลับไปยังภาพชีวิตเหล่านั้นอีกครั้ง
            ผ่านมา 5 ปี เรื่องราวทุกอย่างแจ่มชัด และทรงคุณค่าอย่างมหาศาล

         ปรากฏการณ์แห่งการรวมตัวของผู้คน ได้ปลุกเร้าวาทกรรมแห่งยุค “จิตอาสา” ขึ้นมาอย่างคึกคัก และทรงพลัง
         การทำงานจิตอาสา อาจไม่ได้ถูกจุดประกายจาก "ระบบ" ที่หมายถึงองค์กร หรือหน่วยงานในเป็นหลัก  หากแต่ถูกสานสร้างจากกลุ่มคนอิสระที่มีชื่อว่า “กลุ่มไหล”  ซึ่งต่อมาพวกเขาได้เติบโต งอกงามไปตามเส้นทางชีวิต
          กลุ่มน้องๆ นิสิตจาก “วงแคน” (ชมรม
นาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมือง) หรือแต่นิสิตในโครงการส่งเสริมเยาวชนดีเด่นด้านศิลปวัฒนธรรมหลายต่อหลายคน กระโจนมาช่วยงานอย่างไม่อิดออด ผ่านการดีดสีตีเป่าทั้งในและนอกสถานที่  โดยนั่นเป็นการเรียนรู้และการลงมือทำที่มากกว่าที่ “เคยทำมา”

          เช่นเดียวกับ องค์การนิสิต ที่นำโดย ธนิส ปุลันรัมย์ (นายกองค์การนิสิต)  ก็ขันอาสาเป็นหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้  นำพาผู้นำองค์กร ทั้งในระดับชมรม สภานิสิต หรือแม้แต่สโมสรคณะต่างๆ มาเป็นส่วนหนึ่งในการรับผิดชอบต่อสังคม

 

 

 

ปรากฏการณ์น้ำท่วมเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ได้สร้างรอยเชื่อมต่อระหว่าง “ผม” กับ “ชุมชน” สืบมาจนปัจจุบัน
          ผมมีโอกาสได้พบปะมักคุ้นกับแกนนำชาวบ้าน ทั้งในระบบองค์กรท้องถิ่น และกลุ่มคนอิสระจำนวนมาก 
          ซึ่งในที่สุดแล้วก็กลายเป็น “กลไก” อันสำคัญในการหนุนเสริมให้กระบวนการจัดกิจกรรมระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนเป็นไปอย่างราบรื่น และมีประเด็นแจ่มชัดขึ้น
จนเป็นที่มาของกิจกรรมหลายกิจกรรม อาทิ 
                กฐินโบราณ (จุลกฐิน,กฐินแล่น) 
                ธรรมะในสถานศึกษา
                หนึ่งคณะหนึ่งหมู่บ้าน
                ทอดเทียนพรรษา
                หนึ่งชมรมหนึ่งชุมชน 
                หอพักสู่ชุมชน ฯลฯ


 

          ยิ่งในปัจจุบันนี้ กลุ่มดังกล่าวได้ขยับมาเป็น “ทีมวิจัยไทบ้าน” (สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น)  ร่วมกับ “ผมและน้องๆ”   ซึ่งเรามีมติตั้งชื่อกลุ่มให้สอดคล้องกับระดับจังหวัดว่า “ฮักแพงเบิ่งแญงขามเรียง”

          ครับ-นี่คือการทบทวนกลับสู่อดีตเมื่อ
5 ปีก่อน
          หยาดเหงื่อกลางสายฝน และแสงดาวที่ทอประกายบนฟ้าสูงมิได้สูญปล่าเลยแม้แต่น้อย

          ผู้คนที่เคยร่วมชะตากรรมเพื่อสังคมด้วยกัน ยังคงเดินทางในถนนสายแห่งจิตอาสา

          หลายต่อหลายคน เติบโตเป็นครูบาอาจารย์ เป็นนายร้อย เป็นนักพัฒนาท้องถิ่น
          บางคนยังคงปักหลักเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยฯ
          ขณะที่ชาวบ้าน ก็เติบโตและกล้าหาญที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับการสร้างสรรค์สังคมแห่งการอยู่ร่วมระหว่าง “มหาวิทยาลัยกับชุมชน” อย่างน่ายกย่อง –

          และที่สำคัญวันนี้ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประกาศเอกลักษณ์ชัดแจ้งว่า “เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน : เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน” 
          รวมถึงประกาศอัตลักษณ์นิสิตว่า “เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน”

 


          ครับ-ผมมีความสุขเมื่อได้หวนคิดถึง "วันนี้เมื่อห้าปีที่แล้ว"
          รู้และสัมผัสได้ว่า ไม่มีอะไรสูญเปล่าจริงๆ...
          อย่างน้อย ก็เห็นการเติบโตเล็กๆ จากผู้ที่เกี่ยวข้องเมื่อ
5 ปีก่อนอย่างเป็นรูปธรรม

        และวันนี้  ชาวบ้านจากชุมชนขามเรียง ก็กำลังทะยอยเข้ามาร่วมกิจกรรม "ศิลปวัฒนธรรมอีสาน"
       ทีมฮักแพงเบิ่งแญงขามเรียง ขนอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องไม้อันเป็นมรดกวัฒนธรรมเข้ามาจัดแสดง
       มีเพลงกล่อมลูกมาฝากนิสิต,
       ...และอื่นๆ อีกมากมาย 

หมายเลขบันทึก: 549141เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2013 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กันยายน 2013 19:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

แสดงความยินดีกับความสำเร็จครั้งนี้ค่ะ^___^

-สวัสดีครับ....

-ตามมาชมภาพบรรยากาศ...

-ผ่านมาหลายปี...แต่ความทรงจำ...ยังคงมีให้ได้ระลึกถึง...

-ขอบคุณครับ..

ชื่นชมค่ะอาจารย์ ได้อ่านก็สุขใจค่ะ เป็นแรงบันดาลใจที่จะให้ ที่จะทำสิ่งดีๆให้สังคมค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณ บันทึก ดี ดี ของคุณแผ่นดินมากนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท