สุขใจในวัยสูงกาล..สูงประสบการณ์


เจริญใจ..ในวัยสูงกาล..สูงประสบการณ์

สังคมของไทยเราหรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านรอบๆตัวของเราทุกวันนี้ถือเป็นสังคมที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างสังคมที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาทั้งทางด้านวัตถุและทางปัญญา มีการแสวงหาความสำเร็จในการดำรงชีวิตอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ การแข่งขันทางเศรษฐกิจ การยอมรับทางสังคม แสวงหาโอกาสพัฒนา ตลอดจนมุ่งเน้นความปลอดภัยในชีวิตอนาคตของแต่ละบุคคลหรือแต่ละองค์กร ปัจจุบันประชากรของโลกเพิ่มขึ้น ขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติก็มีความจำกัดเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว และมีท่าทีจะเกิดความผกผันกันอย่างสูงในอนาคต ทำให้เกิดปัญหาของศีลธรรมในมนุษย์จำนวนมาก โดยมีเหตุผลเพื่อความอยู่รอดอย่างผาสุกของตนเอง ทั้งนี้กระบวนการสั่งสมเพิ่มพูน ความขัดแย้ง และความผิดหวังจึงเป็นสภาวการณ์สำคัญของคนในสังคมไทยที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ความทุกข์ที่เกิดจากการใช้ชีวิต การทำงาน การอยู่อาศัย ปัญหาสุขภาพต่างๆจะปรากฎให้เห็นได้ไม่ยากอีกต่อไป

สาธารณสุขและสุขภาพจิต เป็นสิ่งที่เราทุกคนในสังคมควรให้ความสนใจไม่ควรนิ่งดูดายแล้วในเวลานี้ เทคโนโลยีต่างๆที่สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกอาจจะเป็นเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อมโทรมของสังคมตามมาได้หากไม่ถูกกำกับด้วยปัญญา จากการศึกษาและการสำรวจทางสังคมศาสตร์ นายแพทย์มาซาโตชิ ทาเคดะ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสมองเสื่อมและที่ปรึกษาทางการแพทย์ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวในงานประชุมวิชาการจิตเวชศาสตร์โลกเมื่อ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๖ ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ ว่าประเทศญี่ปุ่นถูกจัดขึ้นเป็นลำดับที่ ๑ ของโลกในเรื่องของสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)เนื่องจากมีอัตราส่วนของประชากรผู้สูงอายุต่อประชากรวัยอื่นๆสูงมาก และได้มีความพยายามจะดูแลภาวะนี้ให้ได้ในขณะนี้ โดยมุ่งเน้นให้เกิดสังคมของผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแบบองค์รวม โดยให้มีลักษณะของความสำเร็จคือ วัยสูงอายุที่ถึงพร้อม มีความสามารถ และสร้างสรรค์ (Successful, Active and Creative Aging) โดยมุ่งพัฒนาปัจจัย ๔ ด้าน ได้แก่ ทางร่างกายและสมอง (Physical Health)ทางด้านความคิดและอารมณ์ (Cognitive Health)ทางด้านสังคม (Social Activity and Productivity) และทางด้านความเป็นอยู่อย่างสมศักดิ์ศรี (Life Satisfaction, Well Being)ซึ่งถือเป็นงานที่ท้าทายมากในปัจจุบันและอนาคตของประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม มีหลายการศึกษาทั้งในและต่างประเทศได้ให้การทำนายว่าในอีก 20-30 ปีต่อจากนี้ สังคมไทยเองกำลังจะเข้าสู่ยุคของ Aging Society เทียบเคียงประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน  ทั้งนี้เนื่องจากฐานประชากรผู้สูงอายุจะสูงขึ้นมาก รองลงมาเป็นวัยรุ่น เด็กและเยาวชน และส่วนที่สัดส่วนน้อยที่สุดคือวัยทำงาน จะเห็นได้ว่าความพร้อมของประชากรวัยอื่นๆ ในการดูแลตนเองอาจจะกลายเป็นปัญหาได้ไม่น้อยโดยเฉพาะประชากรวัยทำงานที่มีสัดส่วนน้อยที่สุดซึ่งจำเป็นต้องสามารถดูแลตนเองและประชากรอีก ๒ วัยได้อย่างเหมาะสมด้วย

              จากการสำรวจการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุไทยในปัจจุบัน พบว่ามีการลดลงของความเป็นอยู่แบบครอบครัวขยายและแสดงถึงการเพิ่มขึ้นของครอบครัวเดี่ยว หรือการอาศัยโดยไม่มีสมาชิกในครอบครัวอยู่ด้วย ทำให้เราสามารถเข้าใจและตระหนัก ถึงบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไปและมีผลกระทบต่อการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุโดยตรงในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างไม่ต้องสงสัย

หากกล่าวถึงปัญหาสุขภาพร่างกายของผู้สูงอายุซึ่งมีมากมายที่จำเป็นต้องดูแลรักษาให้คงที่ ได้แก่ โรคที่เกิดจากความเสื่อมของอวัยวะตามวัย หรือได้วินิจฉัยว่าเป็นโรคทางอายุรกรรม (กรรมของผู้มีอายุ) หรือจากการทำงาน จากอุบัติเหตุ หรือจากการเปลี่ยนแปลงทางสารพันธุกรรม เช่น โรคมะเร็ง เราอาจจะสังเกตได้ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงในทางกายภาพเหล่านี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้สูงอายุได้อย่างต่อเนื่องและแยบคาย หลายครั้งความเสื่อมของสมอง หรือความเสื่อมของอวัยวะ จะแสดงออกมาในอาการต่างๆ เช่น ภาวะความจำเสื่อม อารมณ์เปลี่ยนแปลงเร็ว ระบบการนอนการพักผ่อนเปลี่ยนไป ระบบการย่อยการขับถ่ายขาดความสอดคล้อง ผู้ดูแลหลายท่านพิจารณาให้การรักษาด้วยยาขนานต่างๆทางระบบประสาท จิตเวชและทางอายุรกรรม เพื่อให้ท่านสามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติ ใช้ชีวิตแบบเดิมให้ได้มากที่สุดเท่าที่มากได้ ก็เป็นที่เข้าใจได้ของความรักที่ผู้ดูแลมีให้ผู้สูงอายุ หากแต่จำเป็นต้องเพิ่มความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงของวัยร่วมด้วย เนื่องจากการใช้ความพยายามต่างๆเพื่อเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ โดยขาดความเข้าใจ ยอมรับและไม่มีมุมมองอย่างเหมาะสมกับการดูแลชีวิตแบบองค์รวม ก็อาจจะกลายเป็นปัจจัยหลักต่อการสูญเสียสมดุลกายและจิตใจอีกมากมายตามมา

ปัญหาทางสุขภาพจิตของผู้สูงอายุโดยตรง ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ๑. ภาวะสมองเสื่อม ซึ่งอาจจะแสดงออกมาเป็นปัญหาความจำ การควบคุมอารมณ์ และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ๒. ภาวะทางอารมณ์ ได้แก่ อารมณ์ซึมเศร้า อารมณ์วิตกกังวล อารมณ์โกรธ เป็นต้น ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบจากความเสื่อมของสมอง และการตีความหมายในชีวิตของตนเองในหลายๆด้าน เช่น การตีความหมายตนเอง ลูกหลาน การทำงาน เพื่อน การสูญเสีย ความเจ็บป่วย การใช้ชีวิตที่ผ่านมา ๓. ภาวะทางสังคม ได้แก่ การสูญเสียบทบาทหน้าที่ทางครอบครัวและสังคม การขาดความสามารถในการดูแลตนเองหรือการต้องอยู่ในภาวะที่ต้องพึ่งพา และ ๔. ภาวะความเชื่อมั่น ศรัทธาตนเองต่ำ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของทุกเพศทุกวัย ไม่ใช่เพียงในผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ผู้สูงอายุอาจจะมีโอกาสสูญเสียความเชื่อมั่นได้มากและพบได้บ่อยกว่าวัยอื่นๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่เคยเตรียมพร้อมตนเองก่อนเข้าสู่ภาวะสูงอายุมาก่อน และที่สำคัญภาวะสุดท้ายนี้สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและสุขภาพร่างกายทุกชนิดของผู้สูงอายุได้ตลอดเวลา     

สาเหตุของปัญหาทางสุขภาพจิตในผู้สูงอายุก็ไม่แตกต่างจากสาเหตุของปัญหาสุขภาพจิตในวัยอื่น หากแต่เป็นผลสืบเนื่องของความทุกข์ทางใจ พื้นฐานของความสุขทางใจ และความเชื่อมโยงระหว่างทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจ ซึ่งสามารถอธิบายได้ชัดเจนกว่าวัยอื่นเนื่องจากสภาพของความทนได้ทางกายนั้นลดน้อยลงตามวัย ดังนี้

ผลสืบเนื่องของความทุกข์ทางใจ หมายถึง สถานการณ์ หรืออารมณ์ในอดีตที่เป็นทุกข์ ที่บั่นทอนจิตใจ ทำให้ผู้สูงอายุคิดมากฟุ้งซ่าน หรือย้ำคิดไปมาแต่เรื่องไม่ดี เนื่องจากโดยทั่วไปในวัยสูงอายุ จะเริ่มมีเวลาว่างเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต หากมีครอบครัวมีลูกก็มักจะถึงช่วงเวลาที่ลูกเติบโตพอที่จะมีครอบครัว หรือมีหน้าที่ความรับผิดชอบในงาน หรือมีการใช้ชีวิตอย่างอิสระซึ่งมักจะไม่ได้อยู่อาศัยด้วยกันกับผู้สูงอายุ เวลาว่างที่เพิ่มขึ้น ความรับผิดชอบที่ลดลง ความห่างไกลจากคนที่รักมากขึ้น กับประสบการณ์ทางลบที่เคยมีในอดีต ย่อมแสดงออกมาในความคิดทางลบของผู้สูงอายุมากขึ้น เช่น คำพูดไม่ดีของคนที่ตนรัก ความผิดหวังในอดีตของตนเองหรือคนที่ตนรัก การสูญเสียสิ่งที่รัก การได้พบกับประสบการณ์ที่ไม่ชอบไม่พอใจ เป็นต้น ซึ่งเป็นธรรมดาที่ความคิดทางลบเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยกว่าความคิดทางบวก และคงอยู่ได้นานกว่า พร้อมจะเกิดขึ้นเสมอในผู้สูงอายุทุกคน ดังนั้นความสามารถของผู้สูงอายุแต่ละคนในการวางใจต่อความคิดและความรู้สึกที่เป็นทุกข์ในอดีตนั้นมีความสำคัญมาก และสมควรมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

พื้นฐานของความสุขทางใจ หมายถึง สถานการณ์ หรืออารมณ์ในอดีตที่เป็นสุข เหตุการณ์ที่เป็นประโยชน์ ความประทับใจ ความภาคภูมิใจแห่งตนไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ชีวิต การผ่านอุปสรรคได้ ความสำเร็จด้านการเรียน การงาน และชีวิต ความอบอุ่นในครอบครัว ความมีมิตรภาพและการเป็นที่รัก ความเชื่อมั่นในตนเอง การวางแผนชีวิตที่ดี ความรักความสามัคคีของลูกหลาน ตลอดจนความสำเร็จชีวิตของลูกหลาน ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสริมความสุขของผู้สูงอายุ เมื่อใดก็ตามที่คิดถึงขึ้นมาก็จะสามารถช่วยทอนกำลังของความทุกข์ทางใจได้ดี แต่หากมีน้อยโอกาสในการสร้างความคิดทางบวกก็ย่อมน้อยกว่าความคิดทางลบซึ่งถือเป็นภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถสร้างขึ้นได้อย่างสม่ำเสมอหากผู้สูงอายุท่านนั้นยังมีสติสัมปชัญญะต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ไม่ยึดมั่นกับอดีตที่เลวร้าย เพื่อให้จิตใจมีกำลังมากพอที่จะเพิ่มพื้นฐานของความสุขทางใจต่อไปนั่นเอง 

ความเชื่อมโยงระหว่างทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจ หมายถึง การแสดงออกของความทุกข์ทางร่างกายที่มีผลสืบเนื่องจากความทุกข์ทางจิตใจ ในผู้สูงอายุอาจจะพบกับภาวะเสื่อมลงของอวัยวะต่างๆของร่างกาย ตลอดจนภาวะเปลี่ยนแปลงของระบบฮอร์โมน และระบบประสาท ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสองส่วนนี้มีความสำคัญต่อการเชื่อมโยงด้านจิตใจให้แสดงออกทางร่างกายเพิ่มขึ้น รวดเร็วขึ้น และยาวนานขึ้น ธรรมชาติของความเสื่อมนี้เป็นผลสืบเนื่องจากความสมดุลในอดีต ด้านสารอาหาร การใช้อารมณ์ สมดุลการใช้งานร่างกายและการพักผ่อน และการแสดงออกทางพันธุกรรม การเร่งแก้ไขในส่วนนี้อาจจะทำได้แต่เห็นผลได้ช้าและเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้ผู้สูงอายุสามารถประคับประคองไม่ให้ได้รับความทุกข์เพิ่มเติมมากเกินไปจากความทุกข์ทางร่างกายที่เกิดขึ้นตามหลังจากทุกข์ทางใจได้โดยการฝึกฝนจิตใจให้ตีความทางลบ ต่อสถานการณ์ที่เป็นทุกข์ให้น้อยลง ตีความทางบวกเพิ่มขึ้น และทำความเข้าใจกับความเป็นจริงของชีวิตสม่ำเสมอ ตัวอย่างเช่น ผู้สูงอายุมีกรรมพันธุ์มะเร็งในรุ่นปู่-ย่าของตนเอง มีการใช้ชีวิตที่ผ่านมาอย่างไม่สมดุลในด้านต่างๆ เกิดความผิดหวัง และโกรธลูกหลานของตนเองที่ทำให้ตนเองเสื่อมเสียชื่อเสียง แม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านไปและได้รับการแก้ไขและขอโทษแล้วก็ตาม ความทุกข์ใจนี้ไม่ว่าคิดขึ้นมาทีไรก็ถอนหายใจทุกครั้ง ปวดศีรษะนอนไม่หลับบ่อยๆ อ่อนเพลียมากขึ้น ปัจจัยต่างๆส่งผลให้เกิดทุกข์ทางกาย คือทำให้ล้มป่วยเป็นโรคมะเร็งในที่สุด การแก้ไขคือการฝึกจิตให้สามารถปล่อยวางเรื่องราวในอดีตอย่างเข้าใจ ซึ่งการฝึกจิตนี้ต้องอาศัยเวลา และความเพียรในการให้อภัย พร้อมการดูแลสมดุลด้านต่างๆในรูปแบบที่ตรงกันข้ามจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ซึ่งถือเป็นการรักษาแบบองค์รวม ที่มีความท้าทายมากในแต่ละบุคคล

วิธีการฝึกฝนจิตใจของผู้สูงอายุ จำเป็นต้องมีวิตามินใจช่วยเหลือเนื่องจากความเสื่อมของอวัยวะต่างๆโดยเฉพาะระบบประสาทซึ่งจัดว่าเป็นอวัยวะที่สำคัญในการปรุงแต่งเรื่องราวทางลบ และทำให้เกิดความทุกข์ตามมาได้โดยตรงวิตามินใจนี้มี ๔ ตัว คือ L-O-V-E ซึ่งขยายความได้ดังนี้

L = Loving kindness คือ ความเมตตาที่จะมีให้ต่อตนเองและผู้อื่น ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง อยู่ใกล้หรืออยู่ไกล การให้นี้จะไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ไม่ใช่การติดสินบน ไม่ใช่การให้สิ่งหนึ่งแล้วขออีกสิ่งหนึ่งแลกเปลี่ยน หรือการขอก่อนแล้วค่อยให้เมื่อได้มาเมื่อสำเร็จ หากฝึกฝนจนมีวิตามินตัวนี้ได้ จะมีความอบอุ่นใจ ไม่มีความหวาดระแวงไปในสถานที่ใด อาศัยอยู่ที่ไหนก็รู้สึกปลอดภัย เป็นที่รักของทุกคนรอบข้างไม่เพียงแต่ลูกหลาน หรือผู้ดูแล แต่ยังเป็นที่รักของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ตัวเล็กหรือใหญ่ก็ให้ความเกรงใจ และให้การต้อนรับ

O = Out of hand คือ ความสามารถของจิตในการปล่อยวางอดีตหรือ สิ่งที่ตนเองได้มอบให้ หรือแสดงต่อผู้อื่นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในทางรูปธรรมหรือนามธรรม และจะเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีก็ตามเนื่องจากสิ่งนั้นเป็นอดีตไปแล้ว และตนเองได้ทำไปแล้วด้วยเหตุผล ปัจจัยที่มีอยู่ในขณะนั้น และด้วยเหตุนี้จึงไม่มีประโยชน์ใดๆ หากจะต้องนำกลับมาคิดปรุงแต่งให้เกิดความสุขหรือความทุกข์จนเกินพอดี ซึ่งอาจจะเสียเวลาในการทำความดีต่อเนื่อง และอาจจะขัดขวางการเข้าถึงความดีที่ยิ่งขึ้นไป เช่น ความผิดในอดีตที่ตนเคยสร้างขึ้น เมื่อมีการขอโทษและพยายามแก้ไขอย่างเต็มที่แล้ว ผลของมันจะเป็นอย่างไรควรปล่อยวาง หรือ กรณีความผิดที่ผู้อื่นสร้างขึ้นมีผลกระทบต่อท่าน เมื่อท่านได้ให้อภัยแล้ว ก็ไม่ควรนำมาเป็นสาระในชีวิตให้บั่นทอนความเชื่อมั่นในบุคคลเหล่านั้นอีกต่อไป

V = Vigilance คือ ความสามารถของจิตในความไม่ประมาท รับรู้สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะเสมอๆ ไม่ว่าจะลืมตาอยู่หรือหลับตาอยู่ ควรมีการฝึกฝนการรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ พร้อมการสังเกตและวิเคราะห์เหตุปัจจัยต่างๆอย่างรอบคอบ เพื่อการตัดสินใจที่เหมาะสม มีการปฏิบัติต่อสิ่งตรงหน้าอย่างมีเหตุผล ณ ปัจจุบัน ไม่ปล่อยให้การตัดสินใจใดๆเป็นไปจากความเคยชินในอดีต เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ท่านอาจจะกำลังสั่งสมเพิ่มพูนความเป็นอคติอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการตัดสินใจนั้นไม่ได้ทำในสิ่งที่ผิดหรือชั่ว แต่หากการกระทำนั้นสามารถเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ถือว่าเป็นการตัดสินใจด้วยสติปัญญา ไม่ใช่ประสบการณ์แต่เพียงอย่างเดียว

และE= Equanimity คือ ความสามารถของจิตในการวางใจให้เป็นกลาง ปล่อยวางอย่างเข้าใจเหตุผล สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงตามธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น มุมมองต่อการเจ็บป่วยของตนเองและผู้ดูแล ที่หลายครั้งผู้สูงอายุ มีความรู้สึกเกรงใจ คิดเสมอว่าตนเองเป็นภาระของผู้อื่น สร้างความลำบากต่อคนที่ตนเองรัก บั่นทอนจิตใจ เชื่อว่าตนเองควรปล่อยวางได้แล้ว ไม่อยากมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้อีกแล้ว ขอให้แพทย์พยาบาลช่วยให้ยาอะไรก็ได้ให้ตนเองหัวใจหยุดเต้น หรือวิงวอนขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ตนเองจากโรคและโลกนี้ไปอย่างสงบ ความคิดเช่นนี้ไม่สามารถเชื่อได้ว่าท่านผู้นี้มีวิตามิน E เพราะไม่ใช่การปล่อยวางอย่างเข้าใจเหตุผลของชีวิตอย่างแท้จริง ความจริงแล้วไม่มีความตายใดที่น่าพึงพอใจ เป็นที่อยากได้ของมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตใดก็ตาม หากแต่ความตายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และก็เหมือนความเจ็บป่วยทางร่างกายเช่นเดียวกัน หากเรียนรู้และปล่อยวางแล้ว ความเจ็บป่วยทางกายที่ต้องอาศัยผู้ดูแลนั้นจะกลายเป็นบุญและการตายนั้นจะเป็นการตายที่สูงค่าอย่างแน่นอน มีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยได้มีแนวคิดเรื่องการให้โอกาสในการทำบุญแก่ลูกหลานของตนเองเนื่องจากเป็นธรรมดาที่ตนเองทุ่มเทชีวิตเพื่อความผาสุกของทุกคน มาบัดนี้ตนเองล้มป่วยย่อมเป็นไปได้ที่คนที่ตนรักจะพยายามตอบแทนคุณของท่านได้ จึงยิ้มรับและเอ่ยปากชื่นชม ขอบคุณลูกหลานอยู่เสมอ พร้อมทั้งพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะไม่ให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นด้วยการดูแลตนเองด้าน อาหาร อารมณ์ อิริยาบท อยู่อาศัย ออกกำลัง และพักผ่อนให้เหมาะสมกับวัย เตรียมพร้อมจิตใจเรื่องความตายเป็นธรรมดาไว้ไม่ให้ตื่นกลัว ยอมตายได้เมื่อเวลามาถึง หมั่นพัฒนาวิตามิน LOVE ในใจตนอย่างถึงที่สุด

จงอย่าให้อายุนั้นเป็นเพียงตัวเลข โปรดจงทำให้ตัวเลขนั้นศักดิ์สิทธิ์ ขอท่านเชื่อมั่นในลมหายใจที่มีอยู่ ให้อากาศที่ผ่านเข้า-ออก อันบริสุทธิ์นี้ เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาจิตพัฒนาใจ เสมอไปไม่ว่าจะเป็นขณะที่หายใจเข้าหรือออก และตราบเท่าที่ยังมีสติสัมปชัญญะ ขอท่านอย่าท้อแท้ในการเผื่อแผ่ความรัก ความปรารถนาดีต่อเนื่องถึงลูกหลานและสรรพชีวิตในรุ่นต่อๆไป..ขออนุโมทนา สุดท้ายนี้ขอเสนอข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่ละเอียดอ่อนกล่าวถึงเหตุและผลของกรรมว่ามีอยู่จริง ดังนี้

 

ขี้โลภไม่หยุดหย่อน มักอยู่เดียวดายไร้เพื่อนฝูง                       ฝึกสติ ไม่ประมาทและรู้จักพอ มักไม่ค่อยเจ็บไข้ได้ป่วย

ขี้ระแวงขี้สงสัย มักไม่มีใครเชื่อถือศรัทธา                               ชมเชยคนอื่นเป็น มักเป็นคนน่าเชื่อถือ มีคนฟัง

ขี้โกรธโทษผู้อื่น มักไม่มีใครให้อภัย                                       เป็นคนใจเย็นและใจดี มักมีเพื่อนมากมายคอยช่วยเหลือ

ขี้กังวล โทษตนเอง มักไม่ได้รับโอกาสและถูกเอาเปรียบ         ชอบให้ชอบแบ่งปัน มักไม่อดตาย มีคนเกรงใจ

ขี้บ่น ชอบพูดมาก มักจะได้ยินได้ฟังสิ่งดีๆ เล็กน้อย                พูดน้อยแต่ฟังมาก มักจะได้ยินได้ฟังสิ่งดีๆ เสมอๆ

ขี้เกียจ รักสบาย มักจะต้องรับทุกข์นาน                                 ขยันพัฒนาจิต มักจะรับทุกข์ไม่นาน

 

อ.นพ.ลัญฉน์ศักดิ์  อรรฆยากร ศูนย์ชีวาภิบาล รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

 

 

หมายเลขบันทึก: 549046เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2013 12:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2013 12:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท