สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ
มูลนิธิสยามกัมมาจล สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ มูลนิธิสยามกัมมาจล

นักถักทอชุมชน กับภารกิจแก้ไขปัญหาเยาวชน


นักถักทอชุมชน

กับภารกิจแก้ไขปัญหาเยาวชน

 

 

 

ปัญหาเด็กและเยาวชน เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่มีความซับซ้อน และเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของสังคมที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างตรงจุดและทั่วถึง ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะ การเปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็ว ของสังคมไทย และโลก ซึ่งอาจจะเห็นชัดขึ้นจากการที่ประเทศไทยเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี พ..2558 ที่จะถึงนี้ ซึ่งแน่นอนว่าหากคนไทยไม่สามารถตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างเท่าทัน ก็จะทำให้มี สถานการณ์ปัญหาใหม่ๆ รวมถึงปัญหาเด็กและเยาวชนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในทุกขณะ

และหากจะมองปัญหาเด็กและเยาวชนให้ใกล้ตัวเข้ามา คงต้องย้อนกลับไปถามคนที่ใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชน นั่นก็คือ ผู้เป็น พ่อ เป็น แม่ รวมถึงคนที่เลี้ยงดูพวกเขาเหล่านั้นว่า จริงไหม ที่ในปัจจุบัน พ่อ แม่  มักตามลูกไม่ทัน คือไม่รู้ความต้องการจริงๆ ของเด็ก จึงไม่สามารถปรับตัวเพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของเด็กอย่างเหมาะสมได้ ซึ่งเป็นที่คุ้นชินกันอยู่แล้วสำหรับในสังคมไทย หากลูกหลานมีพฤติกรรมที่ทำให้ไม่พอใจ พ่อ แม่ รวมถึงปู่ ย่า ตา ยาย และคนเลี้ยงดูคนอื่นๆ ส่วนมากอาจใช้การว่ากล่าว ดุด่า ซึ่งก็มักไม่ได้ผล เด็กส่วนมากก็ไม่ได้มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในทางที่ต้องการ ซึ่งจากกรณีเหล่านี้ พ่อ แม่ หรือผู้ปกครองในปัจจุบันอาจต้องย้อนกลับมาคิดว่า วิธีคิดและทักษะการจัดการชีวิตแบบเดิม อาจใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

 

ปัญหาเด็ก....ปัญหาของผู้ใหญ่

งานเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องใหญ่ที่จะทำกัน 2 – 3 คนคงจะไม่ประสบความสำเร็จ หากแต่ต้องได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชน เพื่อเป็นแรงผลักดันให้พลังเยาวชนเข้มแข็งมากขึ้น

นี่คือแนวคิดด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนของ นายประเสริฐ สุขจิต นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองลีง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์  ที่กล่าวไว้ในที่ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาชุมชนในท้องถิ่น 4 ภาค  หลักสูตรนักถักทอชุมชนเพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัวโดยความร่วมมือของ สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เมื่อไม่นานมานี้

ทั้งนี้วิถีชีวิตของคนอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นเป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว บนพื้นฐานของการพึ่งพาอาศัยกัน  ซึ่งวิถีชีวิตเช่นนี้ สอดคล้องกับวิถีทางของอาชีพเกษตรกรรมที่ใช้ระบบการพึ่งพาอาศัยกัน

แต่ในปัจจุบันภาพของการพึ่งพาอาศัยกันถูกบดบังด้วยปัญหาสังคมที่เพิ่มขึ้นความเจริญ ค่านิยมใหม่ๆ  ทำให้คนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ เริ่มมีช่องว่างระหว่างกันมากขึ้น เช่น การที่คนในครอบครัวใช้เวลาพูดคุยกันน้อยลงทำให้เด็กไม่มีผู้ใหญ่เป็นที่ปรึกษาและไปปรึกษาเพื่อนแทน  ซึ่งท้ายที่สุดปัญหา อาจจะไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที   ทำให้ปัญหาเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มกลายเป็นปัญหาลูกโซ่ ดังจะเห็นได้จากข่าวรายวันตามสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เด็กถูกทอดทิ้ง เด็กเร่ร่อน ขาดความอบอุ่น ทะเลาะวิวาท ยกพวกตีกัน ขาดการศึกษา ติดเพื่อน ติดเที่ยว ติดเกม หรือแม้กระทั่งเข้าไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นต้น

            ซึ่งข้อมูลจากการอบรมนักถักทอชุมชน ภายใต้โครงการพัฒนาชุมชนในท้องถิ่น 4 ภาค ที่ จ.สุรินทร์ โดยความร่วมมือของสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้มีความรู้ความสามารถไปพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะงานด้านเด็กและเยาวชนระบุว่า ปัญหาเด็กและเยาวชน ในพื้นที่ จ.สุรินทร์ ยังไม่สามารถแก้ได้อย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพมากพอ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ท้องถิ่นยังมีจุดอ่อนอยู่ที่ตัวพนักงาน ซึ่งเป็นกลไกในการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างท้องถิ่นและองค์กรในพื้นที่

สำหรับสถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ นายกอบต.เมืองลีง กล่าวว่า ปัญหาที่ประสบคล้าย ๆ กันคือ เรื่องของเด็กว่างงาน และไปรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมเสี่ยง  ปัญหาเด็กท้องก่อนวัยเรียน หรือที่เรียกว่าแม่วัยใส ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยที่ผ่านมาก็พยายามหาแนวทางแก้ไขกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการส่งเจ้าหน้าที่ลงไปทำงานใกล้ชิดกับกลุ่มเด็ก จัดอบรมอาชีพ แต่แนวโน้มก็ไม่ได้ดีขึ้นมากนัก

         เช่นเดียวกับที่ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองสนิท  จินตนา แกล้วกล้า หัวหน้าสำนักงานปลัด องค์การบริหารส่วนตำบลหนองสนิท อำเภอท่าตูม จังหวัดสุเดีรินทร์ กล่าวว่า ปัญหาเด็กและเยาวชนที่พบมากที่สุดในขณะนี้คือ ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งเป็นผลมาจากค่านิยมผิดๆ ของกลุ่มวัยรุ่น

            “ขณะนี้พบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี กลายเป็นแม่วัยใสไปแล้ว ซึ่งปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรนั้นยังส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ตั้งครรภ์และคนใกล้ชิด  โดยผลที่ตามมาก็คือ การเลี้ยงดูบุตรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากเยาวชนเหล่านั้น ขาดความรู้ หรือความเอาใจใส่ต่อเด็กที่กำลังจะเกิดมา

ขณะที่ ตัวแทนเจ้าหน้าที่จากอบต. หนองอียอ  และ เทศบาลตำบลเมืองแก   จังหวัดสุรินทร์ ระบุตรงกันว่า ทั้ง 2 พื้นที่ พบปัญหาแม่ทอดทิ้งบุตรจากความไม่พร้อม และขาดความใส่ใจในการเลี้ยงดู จนทำให้เกิดปัญหากับเด็กที่จะเติบโตมาเช่นกัน

 

การแก้ไข...ต้องการใช้มีส่วนร่วม

            ในส่วนของการแก้ไขปัญหา นายสุรศักดิ์ สิงห์หาร ปลัดเทศบาล ต. เมืองแก อ. ท่าตูม จ. สุรินทร์ กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขคือการให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับวิธีการทำงานในพื้นที่ร่วมกับชุมชน ซึ่งขณะนี้ตนได้สนับสนุนให้บุคลากรในองค์กร เข้ารับการฝึกอบรมกับโครงการนักถักทอชุมชน

            “ผมมองว่าความรู้จากโครงการนี้ โดยเฉพาะทักษะการทำงานในหน้าที่ประจำ ให้เจ้าหน้าที่ในส่วนท้องถิ่น ของเทศบาล อบต. ซึ่งจะไปพาชาวบ้านคิด ชาวบ้านทำ เป็นโครงการที่คล้ายๆ “On the job training” ที่ผู้เข้ารับการอบรมจะได้เรียนรู้ไปพร้อมกับการปฏิบัติจริง  ซึ่งน่าจะเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลกับพนักงานมากขึ้น

ทั้งนี้ นายสุรศักดิ์ ยังกล่าวด้วยว่า หากจะแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนในชุมชนให้ได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากเครือข่ายเยาวชนในชุมชนที่ทำงานร่วมกันกับกำนันและผู้ใหญ่บ้านอยู่แล้ว อาจยังจะต้องมีเครือข่ายเยาวชนนอกระบบ ที่เป็นเยาวชนกลุ่มเป้าหมายมาร่วมให้มากขึ้นด้วย เพราะจะสามารถเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยพัฒนาให้เกิดการแก้ปัญหาที่ดีขึ้น

 

สำหรับที่ อบต. เมืองลีง นายกฯ นายประเสริฐ สุขจิต บอกว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ทำงานกั
นแบบขาดการมีส่วนร่วม  เมื่อมีปัญหา อบต.ก็คิดกิจกรรม วางแผน และส่งเจ้าหน้าที่ลงไปทำงานกับเด็ก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ...

“จนเริ่มมีหลักสูตรนักถักทอชุมชน ที่มูลนิธิสยามกัมมาจลจัดร่วมกับสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข  ผมก็เห็นว่าเป็นหลักสูตรที่ดี และเป็นเรื่องใหม่ จึงอยากที่จะให้ตัวนักถักทอเองมีความรู้ และเครื่องมือที่ได้จากการอบรมหลักสูตรนักถักทอชุมชนไปปรับใช้ เพื่อนำไปถักทอคนในชุมชนให้มีภูมิคุ้มกันในสังคม

นายกฯ อบต. เมืองลีงยังกล่าวอีกว่า เพราะนักถักทอจะเป็นเปรียบเสมือน เบ้าหลอมสำคัญในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชนให้มีความแข็งแรง ซึ่งหากนักถักทอไม่มีความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่และขาดทักษะในการจัดการของตัวเองแล้ว ก็จะไม่มีความต่อเนื่องในการทำงานและไม่สามารถกลับมาพัฒนาคนในชุมชนของตนเองให้เกิดความแข็งแรงได้ทั้งนี้ก็รวมไปถึงการที่ผู้นำเห็นคุณค่าและความสำคัญที่จะผลักดัน พร้อมที่จะสนับสนุนนักถักทอชุมชน อีกด้วย

 ผมมองเห็นประโยชน์โครงการนักถักทอชุมชน เพราะอบต.เมืองลีงเอง ถ้าไม่สามารถที่จะเชื่อมต่อกับชุมชนได้ การพัฒนาต่างๆ จะทำได้ยากมากเพราะถ้าหากชุมชนไม่สามารถมองเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับตัวชุมชนเอง ก็จะไม่เกิดการให้ความร่วมมือแต่ถ้ามีนักถักทอชุมชนมาอบรมหลักสูตรต่างๆที่ได้รับจากโครงการนักถักทอชุมชนก็จะสามารถถักทอร้อยต่อกันเป็นเครือข่ายเดียวกันกับชุมชนได้ซึ่งถ้าหากมีเป้าหมายชัดเจน ก็จะทำให้มีการพัฒนาชุมชนที่ดียิ่งขึ้นต่อไป แต่ทั้งนี้ตัวนักถักทอเองก็ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในเชิงของนโยบาย การสนับสนุนและการประสานงานด้วย

อนึ่งหลักสูตรนักถักทอชุมชนยังคงจะดำเนินต่อไป เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เข้าร่วมอบรมรู้จัก เข้าใจ ชุมชนของตนเอง ทำให้คนในท้องถิ่นมีแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ สามารถลุกขึ้นมาร่วมคิด ร่วมขับเคลื่อนงานชุมชน พร้อมยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นกลไกพัฒนาเด็กในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนต่อไป

 

 ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูความเคลื่อนไหวของหลักสูตรฯ เพิ่มเติมได้ที่ หน้าแฟนเพจ หลักสูตรนักถักทอชุมชนhttps://www.facebook.com/For.Youth.In.Community  หรือแฟนเพจ “มูลนิธิสยามกัมมาจล https://www.facebook.com/SCBFOUNDATION 

 

หมายเลขบันทึก: 549031เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2013 10:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2013 10:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาชื่นชมการทำงานของทีมงาน

ชอบหลักสูตรนี้ครับ

หลักสูตรนักถักทอชุมชนhttps://www.facebook.com/For.Youth.In.Community  หรือแฟนเพจ “มูลนิธิสยามกัมมาจล https://www.facebook.com/SCBFOUNDATION 

ขอบคุณที่ช่วยกันเผยแพร่เรื่องดีๆเช่นนี้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท