รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วิรัช วุฒิภูมิ ผู้เป็นตำนานของภาควิชาสูติฯ แห่งสงขลานครินทร์


รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วิรัช วุฒิภูมิ
ผู้เป็นตำนานของภาควิชาสูติฯ แห่งสงขลานครินทร์
 
 
ค่ำคืนดึกดื่น ราตรีที่แสนสั้นของใครหลายๆคนที่กำลังซุกตัวอยู่อย่างสุขสบายภายใต้ผ้้าห่มอันอบอุ่น ยิ่งถ้าได้เปิดแอร์เย็นเฉียบด้วยแล้ว มันก็คือสวรรค์ดีๆนี่เอง แต่ท่ามกลางความมืดมิดที่มีเพียงแสงไฟจากพื้นถนนส่องลงมานั้น ก็ยังคงปรากฏแสงจากกลุ่มอาคารแห่งหนึ่งที่ถูกเรียกขานว่าโรงพยาบาลสงขลานครินทร์อยู่ตรงหน้าผม อาคารแห่งนี้ใหญ่โต เก่าแก่และดูขรึม แสงไฟถูกเปิดอย่างมากมายในโรงพยาบาลเพื่อการส่องสว่างแก่คนทำงาน แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้การเดินเล่นในโรงพยาบาลยามค่ำคืนดึกดื่นราวสองยามของผมในตอนนี้มันน่าพิศสมัยนัก ไหนจะมีกลิ่นของน้ำยาทำความสะอาดพื้น ไหนจะเป็นความเงียบ ไหนจะกลัวผี ไหนจะง่วง แต่ผมก็ต้องกึ่งวิ่งกึ่งเดินเพื่อไปให้ถึงห้องคลอดโดยเร็ว
ชีวิตของหมออย่างพวกเราอาจจะเกิดมาเพื่อเดินกลางคืนจนเกือบชิน กิจกรรมยามวิกาลในโรงพยาบาลมีอยู่ทุกที่ หลายๆคนกำลังดีใจที่จะได้เห็นหน้าลูกที่เพิ่งถูกเบ่งออกมา ทั้งๆที่เบื้องหลังก่อนหน้านี้ไม่นานเป็นการกรีดร้องอย่างสุดชีวิตของแม่ที่พยายามเบ่งลูกน้อยออกมาให้ได้ หลายๆคนกำลังถูกยื้อชีวิตไว้อย่างเต็มความสามารถของเหล่าหมอเวร บ้างก็สมหวัง บ้างก็พ่ายแพ้ แต่วัฏจักรของการเกิด แก่ เจ็บ และตาย ก็ยังคงเป็นสัจธรรมที่พบเห็นได้อย่างง่ายในโรงพยาบาล
“อาจารย์ครับ คนไข้รายนี้ตกเลือดมาก เป็นเพราะ placenta previa totalis ผมจัดการเบื้องต้นทุกอย่างหมดแล้ว ตามหมอเด็กแล้ว หมอดมยาก็พร้อมแล้วครับ” คุณหมอใช้ทุนรายงานผมพร้อมๆกับเริ่มเข็นเตียงผู้ป่วยรายนี้ไปห้องผ่าตัดทันที
เจ้าหนูน้อยคลอดออกมาด้วยความทุลักทุเลแต่ก็ปลอดภัย หมอทุกคนยิ้มออกเมื่อทีมหมอเด็กมารับตัวเด็กไปกระตุ้นและเจ้านั่นร้องไห้ออกมาเสียงดัง แต่ปัญหาบางอย่างที่เราคาดเดาไว้แล้วก็เกิดขึ้นมาจริงๆ คนไข้ของเราตกเลือด และมันก็มีทีท่าว่าจะไม่หยุดลงได้ง่ายๆ และหลังจากที่ใช้หลายกลวิธีในการจัดการ ผมจึงสั่งไปว่า “โทรหาอาจารย์วิรัชเร็ว”
“ฮัลโหล หมอวิรัชครับ” เสียงปลายสายตอบรับออกมาในลักษณะที่ทำให้คนต้นสายอย่างผมคาดเดาได้ว่า ผ้าห่มและแอร์ที่บ้านอาจารย์คงกำลังทำหน้าที่อย่างดี แต่ผมก็เริ่มทำหน้าที่ของผมต่อไปเช่นเดียวกัน “อาจารย์ครับ แป๊ะนะครับ อาจารย์มาช่วยกันหน่อย case placenta previa เลือดออกหนัก ผมจัดการไม่ไหวแล้ว คนไข้เป็นท้องแรกด้วย เขาและสามีอยากให้เราเก็บมดลูกไว้ ถ้าช้ากว่านี้ผมจะตัดมดลูกแล้วนะครับ” 
 
................................................................................................................................................
 
เริ่มรู้จักอาจาร์วิรัช ปี พ.ศ.๒๕๓๕
 
สมัยก่อน สโมสรนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์จะจัดกิจกรรม “กีฬาอาจารย์-นักศึกษา” ขึ้นทุกปี นัยว่าเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกันระหว่างอาจารย์และลูกศิษย์ และเสน่ห์ของกิจกรรมนี้อยู่ตรงที่การแข่งขัน “วิ่งแรลลี่” ในช่วงเช้ามืด โดยแต่ละทีมจะมีสมาชิกจำนวน ๓ คน และทุกทีมต้องมีอาจารย์แพทย์รวมอยู่ด้วย แน่นอนว่าผมต้องไม่พลาดกิจกรรมอันนี้ โอกาสที่จะได้เจออาจารย์แพทย์ของนักศึกษาแพทย์ชั้นพรีคลินิกในสมัยนั้นมีไม่มากนักหรอก ผมจึงมาจดจ่อรอตั้งแต่ดวงตะวันยังไม่ขึ้น “พี่ล้ง” พี่รหัสของผมตามมาสมทบและบอกว่า ทีมเราจะมีอาจารย์วิรัช เป็นอาจารย์หมอสูติฯมาร่วมวิ่งด้วย นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่ผมได้พบและรู้จักอาจารย์วิรัช
อาจารย์หมอที่สวมเสื้อโชว์กล้ามแขน ผิวคลำ ร่างใหญ่ และหน้าตาคมสันมาร่วมทีมกับผมทำให้ในวันนั้นผมกลายเป็นจุดด้อยของทีมไปในทันที เพราะอาจารย์ก็มีรูปร่างใหญ่ ส่วนพี่ล้งก็สูงกว่า ๑๘๐ เซนติเมตร คนแคระแกร็นผอมโซอย่างผมจึงมีตำแหน่งการวิ่งอยู่ตรงกลาง วิ่งไปพูดไป คนในทีมเราล้วนพูดเก่ง การวิ่งจึงสุนทรีย์ยิ่งนัก ผมจำไม่ได้ว่าในวันนั้นผมชวนอาจารย์คุยเรื่องอะไรไปบ้าง แต่ผมจำได้แม่นยำ ว่าอาจารย์ได้เล่าเรื่องกิจกรรม “extern admission round” ของภาควิชาสูติฯให้ฟัง อาจารย์บอกว่า ทุกๆเช้าเวลา ๗ โมงครึ่ง พี่ๆ extern ที่กำลังปฏิบัติงานอยู่ในกองสูติฯทุกคน จะต้องลงมาร่วมกิจกรรมนี้ เป็นช่วงเวลาการเรียนการสอนซึ่งรวบรวม case ที่เข้าโรงพยาบาลในเวรกลางคืนก่อนหน้านั้นมาพูดคุยกัน สำหรับอาจารย์ซึ่งออกกำลังกายสม่ำเสมอก็จะมาโรงพยาบาลในชุดกีฬา เมื่อสอนกันเสร็จแล้วค่อยกลับไปอาบน้ำแล้วค่อยกลับมาทำงาน 
นั่นเป็นช่วงเวลาเพียงสองสามชั่วโมงสั้นๆที่ได้เริ่มรู้จักอาจารย์ ผมจำได้แค่นั้น จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าทีมเราวิ่งเก็บคะแนนได้เป็นที่เท่าไหร่ของการแข่งขัน แต่ผมจำอาจารย์แพทย์คนนี้ได้แล้ว และผมได้มาเจอท่านอีกครั้งตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ๕ ช่วงที่ผมขึ้นกองสูติฯเป็นกองสุดท้ายของการเป็นนักศึกษาแพทย์ (ทั้งๆที่เป็นกองที่อยากเรียนมากที่สุดในชีวิต!) อาจารย์วิรัชอยู่สาย ๕ ส่วนผมอยู่สาย ๓ ผมไปทักทายอาจารย์ และแทบจะไม่อยากเชื่อว่าอาจารย์ยังจำผมได้ “เป็นไงแป๊ะ” ให้ตายสิ อาจารย์จำได้กระทั่งชื่อเล่นของเรา 
นั่นทำให้ผมค่อนข้างจะแน่ใจ ว่าอาจารย์วิรัชมีความละเอียดอ่อนในด้านการจดจำบุคคล จดจำเหตุการณ์ต่างๆ และคงไม่แปลก ที่ทุกวันนี้เรายังสามารถคุยกันเรื่องวิ่งแรลลี่ในครั้งนั้นได้เสมือนหนึ่งเพิ่งลงแข่งขันไปเมื่อวานนี้นี่เอง
 
ครูนรีเวช “อาจารย์วิรัชเป็นครูของพวกเรา”
เมื่อครั้งที่ตัดสินใจแน่แท้แล้วว่าจะเรียนต่อเฉพาะทางสูตินรีเวช มี ๒ ท่านที่ผมเดินเข้าไปหา เพื่อแจ้งให้ทราบและขอให้อาจารย์ช่วยเขียนหนังสือเพื่อ recommend ท่านหนึ่งคืออาจารย์เรืองศักดิ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำสายขณะที่เรียนในกองสูติฯชั้นปีที่ ๕ และอีกท่านหนึ่งก็คืออาจารย์วิรัช ผู้ซึ่งเคยตกหลุมลงวิ่งแรลลี่ร่วมกับทีมของผม “เอาจริงเหรอแป๊ะ ยินดี เดี๋ยวอาจารย์จัดการเรื่องเขียนใบ recommend ให้” 
อาจารย์วิรัชเป็นครูของพวกเรา
ผมคิดว่าความเป็นครูนั้นลึกซึ้ง การที่เราจะนับถือคนที่สอนเราว่าเป็นครูได้นั้น คงประกอบด้วยหลายสิ่ง หนึ่งนั้นคือการที่ท่านเป็นผู้สอนวิชาเรา อีกหนึ่งคืออบรมบ่มนิสัยเรา และการเป็นที่ปรึกษาได้ทุกเรื่องคงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราสามารถเรียกท่านว่า “ครู” ได้อย่างสนิทใจ
ผมทราบมาว่า ครั้งหนึ่ง อาจารย์วิรัชเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสตรีมีบุตรยากมาตั้งแต่สมัยที่ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยยังไม่มีการแบ่งความเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านต่างๆ ๔ ด้านเหมือนสมัยนี้ ตราบจนมาถึงยุคกลาง (หรือผมติ๊ต่างเอาเองว่าเป็นยุคที่ผมเริ่มมาเป็นแพทย์ใช้ทุนสาขานี้) อาจารย์วิรัชได้ผันตัวเองมาเป็นหมอมะเร็งนรีเวชอย่างเต็มตัวแล้ว ท่านต้องดูแลผู้ป่วยทั่วไปทั้งสูติและนรีเวช ท่านต้องสอนหนังสือนักเรียนแพทย์ชั้นปี ๕ ท่านต้องสอนแพทย์ใช้ทุน และในช่วงหลังท่านต้องทุ่มเทเวลาส่วนมากในการสอนเพื่อถ่ายทอดวิทยายุทธให้กับเหล่าบรรดาแพทย์ต่อยอดสาขามะเร็งนรีเวช 
อาจารย์เป็นคนจู้จี้และมีระเบียบ 
ใครที่เคยเข้าผ่าตัดกับอาจารย์จะเข้าใจดี กว่าจะได้ผ่าตัดจริงๆเราต้องไหว้ครูหลายขั้นตอนมาก ไหนจะต้องปูผ้าให้เป็นระเบียบ ดูสะอาดตา ผ้าไม่ยับยู่ยี่ (นี่ถ้ามีเตารีดแบบ sterile มาให้ใช้ คงได้หามาใช้กัน เพราะต้องรีดผ้าปูผ่าตัดให้เรียบก่อนการถ่ายรูปเก็บไว้สอนหนังสือ) การกรีดผิวหนังก็ต้องเนี๊ยบ จี้หยุดเลือดทุกขั้นตอนเพื่อความสะอาดเรียบร้อยและลดการสูญเสียเลือดที่ไม่จำเป็น ต้องเย็บปากแผลให้เรียบร้อยเพื่อจะได้ไม่มีส่วนเกินต่างๆเข้าไปบังระยะของการผ่าตัด การใช้ผ้าจุกช่องท้องต้องใส่อย่างเป็นระเบียบ มีแบบแผนที่แน่นอนทำซ้ำๆได้ เรียกได้ว่า กว่าจะได้เริ่มผ่าตัดมดลูกกันจริงๆ พวกเราต้องผ่านการสอนสั่งแบบนี้มาโดยตลอด ผมไม่แน่ใจนักว่าลูกศิษย์ทุกคนจะชอบหรือไม่ชอบ หรือเบื่อหน่ายกับการถูกสอนผ่าตัดเช่นนี้อย่างไร แต่ผมยังเคยแอบอิจฉาเหล่าบรรดาแพทย์ต่อยอดมะเร็งอยู่เสมอๆที่ได้เข้าผ่าตัดร่วมกับอาจารย์ เพราะหมอกลุ่มนั้นจะมีลักษณะท่าทางการผ่าตัดที่มีระเบียบแบบแผนเช่นเดียวกับที่อาจารย์คอยจ้ำจี้จ้ำไช และท้ายที่สุดพวกเขาก็ผ่าตัดได้อย่างสมาร์ทเฉกเช่นอาจารย์
ความเป็นครูไม่ใช่เพียงการสอนสั่ง อาจารย์เป็นที่ปรึกษาเรื่องชีวิตได้เป็นอย่างดี และโดยส่วนตัวผมคิดว่าดีที่สุด ใครที่มีปัญหาและได้คุยกับท่านจะเข้าใจว่าผมหมายถึงอะไร เพราะอาจารย์เป็นผู้ฟัง เคยสังเกตุไหม ว่าอาจารย์จะใช้ตาฟัง ฟังไปพยักหน้าไปและใช้ความเป็นครู (กับความเก๋าของประสบการณ์ชีวิต) มาช่วยกันแก้ปัญหา ผมเชื่อว่า การที่อาจารย์เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งก็คงเพราะบุคลิกอย่างที่อาจารย์เป็น บุคลิกที่ดูอบอุ่นและน่าไว้วางใจ (อันนี้เป็นคุณสมบัติส่วนตัวที่เล้ยนแบบได้ยากนัก) ส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะอาจารย์มักจะยกตัวอย่างปัญหาต่างๆมาให้เราได้ทราบและเข้าใจร่วมกัน
หากจะให้ระลึกถึงครูแพทย์ท่านใดที่มีอิทธิพลต่อชีวิตผม ครูท่านนี้ก็เป็นท่านหนึ่ง
 
 
หลายชีวิตรอดตายเพราะอาจารย์ 
ในบทบาทของความเป็นหมอในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลที่ใหญ่และมีความพร้อมมากที่สุดในภาคใต้ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักที่ถูกส่งต่อมารับการรักษา ที่ว่าอาการหนักนั้นคงไม่เกินเลยความจริงที่จะบอกว่า “หนักมาก” บางคนอาจจะบอกว่าหนักปางตาย บางรายเราเอง (ในฐานะของผู้รักษาให้เอง) ยังรู้สึกว่าโอกาสรอดชีวิตมีเพียงแสงเทียนที่มองเห็นได้ในระยะไกลเท่านั้น แต่หลายชีวิตกลับรอดตายมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ และหนึ่งในปัจจัยแห่งการรอดชีวิตนั้นคงจะไม่เกินเลยไปหากจะนับรวมอาจารย์วิรัชเข้าไปด้วย พวกเรารู้สึกได้ว่า เมื่อไหร่ที่อาจารย์ถูกตามให้มาช่วยกัน คนนั้นเริ่มมีโอกาสรอดตาย บางคนถูกนวดหัวใจมาก่อนแล้ว ทีมของเราและอาจารย์ก็ยังดึงชีวิตคนไข้ให้กลับมาได้ 
ทำไมจึงรู้สึกได้อย่างนั้น
เพราะอาจารย์ผ่าตัดเก่ง ใจเย็นและไม่ละเลย “ค่อยๆทำไป เปิดแผลให้กว้างให้เห็น anatomy ชัดๆ หาจุดเลือดออกให้เจอ และจัดการจุดเลือดออกนั้นให้เรียบร้อย” คาถาสั้นๆง่ายๆเช่นนี้ถูกสอนกันมาจากอาจารย์จากรุ่นสู่รุ่น สอนด้วยวาจาและทำให้ดูไปพร้อมๆกัน เมื่อไหร่ที่ภาควิชาเรามีผู้ป่วยภาวะวิกฤติ อาจารย์จะมาช่วยได้เสมอเมื่อเราร้องขอ จะดึกดื่นแค่ไหนอาจารย์ก็จะมา จะผ่ากันจนถึงเช้าอาจารย์ก็ไม่บ่นไม่ง่วงให้เห็น และหลายชีวิตก็รอดพ้นความตายมาได้จริงๆ แต่หากใครจะต้องเสียชีวิตไป ผมสามารถเชื่อได้อย่างสนิทใจว่านั่นเป็นเพราะโรคมันรุนแรงมาก และทีมของเราและอาจารย์ได้ใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุดแล้ว ผมยังจำวันหนึ่งได้ในฐานะที่ได้เป็นอาจารย์เจ้าของเวรและมีผู้ป่วยรายหนึ่งกำลังตกเลือดมนช่องท้องเนื่องจากเนื้องอกที่รังไข่แตก คืนนั้นผมกับอาจารย์ได้ตัดสินใจ่าตัดผู้ป่วยเป็นการด่วน เพื่อหวังว่าเราจะสามารถจัดการกับอาการเลือดออก แต่วันนั้นเราทั้งคู่แพ้ครับ หลังจากพยายามหยุดเลือดที่ออกจากเนื้องอกอยู่นาน อาจารย์ก็บอกว่า เราคงทำได้เพียงเท่านี้ ว่าแล้วอาจารย์ก็จัดการเย็บปิดช่องท้องแล้วก็เดินออกไปหาลูกชายของผู้ป่วยด้วยตัวท่านเอง พูดคุยด้วยภาษาอาจารย์วิรัชให้ทุกคนเข้าใจ อาจารย์ใหม่เยี่ยงผม (ในขณะนั้น) ได้มีโอกาสเรียนรู้อะไรมากมายจากอาจารย์ การสู้กับโรค การเข้าใจโรค การถอย (ไม่ใช่ถอดใจ) และการสื่อสารกับญาติด้วยภาษาอย่างที่ญาติพึงจะคุยกัน ผมจึงเรียกภาษาชนิดที่อาจารย์พูดคุยในวันนั้น ว่าคือ “ภาษาอาจารย์วิรัช”
ผมพอจะหลับตานึกรวบรวมถึงสิ่งที่อาจารย์วิรัชจะต้องถูกตามมาช่วยผ่าตัดได้ ไม่ว่าจะเป็น ภาวะตกเลือดหลังคลอด รกเกาะต่ำ การผ่าตัดเมื่อการเลือดออกนั้นรุนแรงจนเริ่มมีภาวะเกร็ดเลือดต่ำ การผ่าตัดที่มีพังผืดในช่องท้องหนาแน่น ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ชนิดที่รอยโรคกินลึก เนื้องอกชนิดแปลกๆที่เราไม่เคยเห็น นี่ยังไม่รวมการผ่าตัดมะเร็งนรีเวชอย่างยากที่เป็นงานประจำของอาจารย์ และที่จะลืมไม่ได้ก็คือ การเย็บผูกมดลูกแบบ B Lynch ซึ่งช่วยรักษาภาวะตกเลือดจากมดลูกที่ไม่แข็งตัว ถ้าผมจะบอกว่า อาจารย์วิรัชเป็นเจ้าพ่อ B Lynch ของสถาบันเราก็คงไม่มีใครเถียง และท่านยังคงถ่ายทอดวิทยายุทธนี้ให้แก่เหล่าบรรดาลูกศิษย์ลูกหาไว้มากมาย ที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คงจะเป็นคุณหมอไอยลดาแห่งโรงพยาบาลทุ่งสง ที่บัดนี้กลายเป็นกำลังสำคัญหรือทัพหน้าที่ช่วยชีวิตผู้หญิงตกเลือดหลังคลอดไว้ได้หลายรายแล้ว นี่ก็ศิษย์อาจารย์วิรัช
ยังครับ ยังไม่หมด สิ่งที่น่าตลกอีกเรื่องหนึ่งสำหรับผมก็คือ อาจารย์ยังเป็นหมอมะเร็งที่ทำคลอดที่ใช้คีมคีบและใช้เครื่องดูดสุญญากาศที่เก่งหาตัวจับยากอีกเสียด้วย จึงไม่แปลกนักที่จะเห็นอาจารย์เดินเข้าออกห้องคลอดเพื่อสอนแพทย์ใช้ทุนทำคลอดด้วยหัตถการอยู่เนืองๆ (ถ้าจะหาใครที่เป็นหมอมะเร็ง ที่ทำคลอดด้วยเครื่องดูดสุญญากาศเก่งอีกคนก็น่าจะเป็นอาจารย์รักชาย ซึ่งผมค่อยเขียนให้เมื่อท่านจะเกษียณนะครับ)
 
 
วิรัชไม่ตกยุค
ครั้งหนึ่งในงานเลี้ยงสังสรรค์ปีใหม่ของภาควิชา จำได้ว่าเรามีคำถาม “ใครเอ่ย” ตอนนั้นมีอาจารย์ถูกเล่นไปหลายคน ไม่ว่าฉายาครูไหว ซึ่งถูกยกให้กับอาจารย์ฐิติมา แม่ของเด็กๆในยุคนั้น (บัดเดี๋ยวนี้เป็นอาจารย์จิตเกษม และต่อด้วยอาจารย์ศรันญาตามลำดับ) ฉายาพระสังกัจจายน์ ซึ่งอาจารย์เรืองศักดิ์เป็นคนที่ทุกคนตอบถูกต้อง มาถึงท่านนี้ พิธีกรก็เริ่มด้วยการเอาเสาอากาศมาเหน็บไว้ที่หัวแล้วเรียกท่านว่า Mr wireless ว่าแล้วทุกคนก็ร้องอ๋อ และตอบว่า อาจารย์วิรัช
อาจารย์วิรัชเป็นคนทันสมัย เทคโนโลยีอะไรที่ว่าใหม่ ท่านจะต้องมีและเล่นกับมันจนปรุ เขาเล่ามาว่า สมัยที่โทรศัพท์เคลื่อนที่เข้าเมืองไทยมาในยุคแรกๆ ท่านก็เป็นคนแรกๆในโรงพยาบาลที่ได้ถือมัน ผ่านมาถึงยุคนี้ สมัยที่โทรศัพท์แทบจะทำกับข้าวให้กินได้แล้ว ท่านก็มีมันมาปัดๆๆหน้าจอให้เราเห็นเป็นท่านต้นๆ คนที่นั่งมองอาจจะสงสัยเล็กน้อย ว่าอาจารย์พิมพ์ลงบนหน้าจอได้อย่างไรในเมื่อนิ้วและฝ่ามือของอาจารย์ก็มิใช่เล็กๆ แต่ท่านก็ทำได้ หนำซ้ำ เทคโนโลยีเหล่านี้กลับช่วยให้อาจารย์ได้ใช้มันมาช่วยสอนหนังสือลูกศิษย์ได้อย่างดี รูปถ่าย วิดีโอคลิป ต่างก็มาโลดแล่นบนจอห้องเรียนทุกครั้งที่อาจารย์ได้นำเสนอ เนื้องอกแปลกๆ มดลูกเปื่อยๆ เราก็ได้นั่งมองผ่านโน๊ตบุ๊คของอาจารย์
บอกตรงๆ ว่าผมสนุกมากเวลาอาจารย์นำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆให้ดู ขอบคุณนะครับอาจารย์ไร้สาย (แน่ะ!) 
 
 
หล่อทุกวัน 
“อาจารย์วิรัชหล่อทุกวัน” เป็นเรื่องแน่แท้
ทุกเช้า เราจะเห็นท่านมาทำงานพร้อมการแต่งกายที่เป็นระเบียบ เสื้อผ้าเรียบแปร้ ผูกเนคไท steth คล้องคอ พวงกุญแจคล้องหูกางเกง เดินหิ้วกระเป๋าใบใหญ่ ดูเป็นหมอมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่ผมเริ่มรู้จักมาจนถึงวันนี้ท่านก็ยังแต่งกายหล่อเนี๊ยบอยู่อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ครั้นมีงานรื่นเริงที่ต้องเข้าร่วม อาจารย์ก็จะแต่งกายให้เข้ากับ theme ของงาน ไม่ว่าจะเป็นคาวบอยท่านก็มีชุด ชาวบ้านสไตล์กังนัม (ผมหมายถึงทันสมัยสไตล์คนเมือง) ท่านก็มี ชาวบ้านตกยุคท่านก็ใส่ได้ หรือกระทั่งไปร่วมงานเลี้ยงท่านรัฐมนตรีสาธารณสุขที่ประเทศภูฏาน ท่านก็สวมใส่ชุดโฆ (Kho) มาร่วมงาน ร้องรำทำเพลงได้อย่างไม่เคอะเขิน เรียกว่า แต่งกายอย่างมีรสนิยมและถูกกาลเทศะเสมอมา
 
................................................................................................................................................
 
เพียงชั่วอึดใจ อาจารย์วิรัชก็เข้ามาถึงห้องผ่าตัด ผม ซึ่งกำลังเอามือนวดและบีบมดลูกลดการตกเลือดอยู่จึงรู้สึกคลายกังวล เพราะหลังจากที่ท่านเริ่มเข้ามาช่วย เครื่องมือถ่างบาดแผลต่างๆถูกนำมาใช้ ไฟส่องเข้ามาในช่องท้องจนเห็นแนวเส้นเลือดใต้เยื่อบุช่องท้อง อาจารย์บรรจงผูกเส้นเลือด internal iliac artery ทีละข้างอย่างใจเย็น และการตกเลือดก็สิ้นสุดลง
สองถึงสามปีที่ผ่านมา ผม อาจารย์จิตเกษม และอาจารย์กรัณฑรัตน์ มักจะพูดคุยเล่นๆกันเสมอ ว่าหากอาจารย์วิรัชเกษียณอายุราชการไป ใครจะมาช่วยเราผ่าตัดคนไข้หนักๆกันหนอ แต่นั่นก็คงจะเป็นเพียงการพร่ำบ่น เพราะถึงตอนนั้น เหล่าบรรดาลูกศิษย์ของอาจารย์วิรัชก็เก่งไปหลายคนเรียบร้อยแล้ว ทีมมะเร็งของอาจารย์นั้นมีฝีมือในการผ่าตัดขั้นเทพ พวกผมซึ่งเป็นหมอรุ่นเริ่มเก่าจึงค่อยคลายกังวลลงได้ คนไข้เราจะปลอดภัยไปอีกนาน ทั้งนี้หากแม้นไม่ใช่ฝีมือของอาจารย์วิรัชมาช่วยผ่าตัดยื้อชีวิตเขา แต่คนไข้เหล่านั้นก็จะได้รับการช่วยชีวิตจากผลผลิตของความพยายามในการขัดเกลามาจากอาจารย์วิรัชนั่นเอง
 
 
หมายเลขบันทึก: 548999เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2013 20:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กันยายน 2013 20:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ดูแล้วท่าทางอาจารย์ใจดีมากครับ

สมเป็นครูแพทย์ครับ

เป็นเช่นนั้นครับ อาจารย์ขจิต

ทำหมันแล้วอยากแก้ที่นี้มีหมอที่ทำได้ไหมค่ะแต่หนูมีงบน้อยเลยอยากถามดูที่นี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท