องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการจัดการศึกษา


การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศเรื่อยมาที่ส่งผลผลักดันให้หมู่บ้านร้างเร็วขึ้น ชุมชนแตกสลายมากขึ้น กลายเป็นคนเมือง เป็นคนของรัฐและเป็นข้าราชการ ดังนั้น หนทางแก้ปัญหาดังกล่าวคือการกระทำที่ต้องกลับหัวกลับหางกับการพัฒนาในปัจจุบัน โดยจะต้องมุ่งเน้นการพัฒนาคนเป็นสำคัญ และกระจายอำนาจที่เป็นจริงแก่ประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดวิถีชีวิตและการพัฒนาของชุมชน

คำว่า การกระจายอำนาจ” (Decentralization) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงของอำนาจและการควบคุมจากศูนย์กลางไปยังส่วนปลาย เป็นการปรับเปลี่ยนอำนาจและความรับผิดชอบจากส่วนกลางไปยังกลุ่มวิชาชีพใน ชุมชน 

ในทางการศึกษา การกระจายอำนาจทางการบริหารและการจัดการศึกษาหมายถึง การถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบและการตัดสินใจจากส่วนกลางหรือศูนย์รวมอำนาจไปสู่ส่วน ต่าง ๆ ขององค์กรโดยให้ทุกส่วนขององค์กรได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การบริหารและกระบวนการทางกฎหมายที่จะมอบอำนาจขั้นต้นและความรับผิดชอบให้แก่ท้องถิ่นในการตัดสินใจเกี่ยวกับ การบริหารสถานศึกษาทั้ง 4 โครงสร้างงานสถานศึกษาตั้งแต่การบริหารงานวิชาการ งานบุคลากร งานงบประมาณ และงานบริหารทั่วไป เพื่อให้สถานศึกษาและชุมชนมีอิสระในการบริหารจัดการศึกษา

การกระจายอำนาจทางการบริหารการศึกษาสู่ท้องถิ่น มีเป้าหมายหลักในการมุ่งลดบทบาทของรัฐในส่วนกลางให้เหลือแต่ภารกิจหลักที่ต้องทำเท่าที่จำเป็น และเพิ่มบทบาทให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าดำเนินการแทน โดยให้เป็นไปตาม พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 ได้กำหนดว่าการบริหารและการจัดการศึกษาของรัฐแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือระดับกระทรวง ระดับเขตพื้นที่การศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระดับสถานศึกษา (วารสารเส้นทางปฏิรูปการศึกษาไทย .(2542).ปีที่ 1 ฉบับที่ 3) ดังนั้นความสัมพันธ์ของส่วนกลาง(กระทรวง) กับส่วนภูมิภาค(เขตพื้นที่การศึกษา, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, สถานศึกษา)จะแบ่งบทบาทและหน้าที่ในการดำเนินงานทางการจัดการศึกษาอย่างชัดเจน ดังนี้

กระทรวง(ส่วนกลาง)มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการศึกษาทุกระดับทุกประเภทกำหนดนโยบายแผน ตลอดจนมาตรฐานการศึกษาสนับสนุนตรวจสอบติดตาม ประเมินผลการจัดการศึกษา

เขตพื้นที่การศึกษา รับแนวทางในการกระจายอำนาจด้านการบริหารการจัดการศึกษาทั้งในด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารบุคคล การบริหารงานทั่วไป

องค์กรบริหารการปกครองท้องถิ่น มีสิทธิในการจัดการศึกษาทุกระดับตามความพร้อม เพื่อให้สถานศึกษาได้จัดการศึกษาตรงความเหมาะสม และความต้องการของผู้เรียน

หน้าที่จัดการศึกษา ขององค์กรปกครองส่วนท้อง

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐

มาตรา ๔๙  บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่า ๑๒ ปี ที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย          

ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ต้องได้รับสิทธิตามวรรคหนึ่ง และการสนับสนุนจากรัฐ เพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น

           การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชน  การศึกษาทางเลือกของประชาชน การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต  ย่อมได้รับความคุ่มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐ

มาตรา ๘๐  รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านสังคม การสาธารณสุข การศึกษา และวัฒนธรรม  ดังต่อไปนี้

                    ๑) คุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชน สนับสนุนการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาปฐมวัย ส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงและชาย เสริมสร้างและพัฒนาความเป็นปึกแผ่นของสถาบันครอบครัวและชุมชน  รวมทั้งต้องสงเคราะห์และจัดสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ และผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก  ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและพึ่งพาตนเองได้

๒) ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาระบบสุขภาพที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพอันนำไปสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนของประชาชน  รวมทั้งจัดและส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้เอกชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาพและการจัดบริการสาธารณสุข  โดยผู้มีหน้าที่ให้บริการดังกล่าวซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรม  ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

๓) พัฒนาคุณภาพ และมาตรฐานการจัดการศึกษาในทุกระดับและทุกรูปแบบให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม  จัดให้มีแผนการศึกษาแห่งชาติ  กฎหมายเพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติ  จัดให้มีการพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ก้าวหน้าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก  รวมทั้งปลูกฝังให้ผู้เรียนมีจิตสำนึกของความเป็นไทย มีระเบียบวินัย คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

๔) ส่งเสริมและสนับสนุนการกระจายอำนาจเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ชุมชน  องค์การทางศาสนา และเอกชนจัดและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนามาตรฐานคุณภาพการศึกษาให้เท่าเทียมและสอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

๕) ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยในศิลปะวิทยาการแขนงต่าง ๆ และเผยแพร่ข้อมูลผลการศึกษาวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนการศึกษาวิจัยจากรัฐ

                    ๖) ส่งเสริมและสนับสนุนความรู้รักสามัคคีและการเรียนรู้  ปลูกจิตสำนึก  และเผยแพร่  ศิลปวัฒนธรรม  ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ  ตลอดจนค่านิยมอันดีงามและภูมิปัญญาท้องถิ่น

2. พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542

มาตรา 16 ให้เทศบาล เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองดังนี้

(9) การจัดการศึกษา

มาตรา 17 ภายใต้บังคับมาตรา 16 ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง ดังนี้

(6) การจัดการศึกษา

3. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

มาตรา 41องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิจัดการศึกษาในระดับระดับหนึ่งหรือทุกระดับตามความพร้อม  ความเหมาะสม  และความต้องการภายในท้องถิ่น

มาตรา 42 ให้กระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินความพร้อมในการจัดการศึกษาของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีหน้าที่ในการประสานและส่งเสริม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถจัดการศึกษา สอดคล้องกับนโยบายและได้มาตรฐานการศึกษา  รวมทั้งการเสนอแนะการจัดสรรงบประมาณอุดหนุน การจัดการศึกษาของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นการจัดการศึกษาตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542

การจัดการศึกษามี 3 รูปแบบ

1. การศึกษาในระบบ(Formal Education) เป็นการศึกษาที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน

การศึกษาในระบบมี 2 ระดับ

1.การศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย การศึกษาซึ่งจัดไม่น้อยกว่า 12 ปี ก่อนระดับอุดมศึกษา มี 3 ระดับ ได้แก่                                 

1.1 การศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา (3-6 ปี)                                  

1.2 การศึกษาระดับประถมศึกษา             

1.3 การศึกษาระดับมัธยมศึกษา มี 2 ระดับ

1) การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (3 ปี)                                         

2) การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (3 ปี) มี 2 ประเภท

- ประเภทสามัญศึกษา                         

- ประเภทอาชีวศึกษา

2. การศึกษาระดับอุดมศึกษาการศึกษาระดับอุดมศึกษา แบ่งออกเป็น 2 ระดับ

2.1 การศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญา

2.2 การศึกษาระดับปริญญา

2. การศึกษานอกระบบ(Non-formal Education) เป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม การจัดการศึกษานอกระบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ การฝึกอบรมอาชีพให้แก่ราษฎร การฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็นต้น

3. การศึกษาตามอัธยาศัย(Informal Education)เป็นการศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อม และโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม สื่อ หรือ แหล่งความรู้อื่น ๆ การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้านห้องสมุดชุมชน จัดการสอนให้กับเด็กเร่ร่อนตามชุมชนเมืองใหญ่การอนุรักษ์และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศูนย์คอมพิวเตอร์ท้องถิ่น ศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ เป็นต้น

การจัดการศึกษาท้องถิ่นมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วย ความสามารถในการพึ่งพิงตนเองได้ทางเศรษฐกิจ  ความสามารถในการแก้ไขปัญหาของตนเอง  และการมีเอกลักษณ์และความยั่งยืนของท้องถิ่น ดังนั้น  อาจกล่าวได้ว่า  เป้าหมายของการจัดการศึกษาท้องถิ่น คือ

1.  ถ่ายทอดความรู้  ทักษะ  ภูมิปัญญา  ในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตบนพื้นฐานของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นนั้น

2. ถ่ายทอดความเชื่อและค่านิยมของท้องถิ่น  และทำให้สมาชิกมีลักษณะคล้ายคลึงกัน  จนเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้น ๆ  และทำให้คุณลักษณะเอกลักษณ์ของท้องถิ่นได้สืบสานต่อเนื่อง  ยั่งยืน

3. เป็นการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของสมาชิกในท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาของตนเองและท้องถิ่น  โดยใช้ภูมิปัญญาของตนเองได้

 

 

 

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  กระทรวงมหาดไทย มาตรฐานการจัดการศึกษาท้องถิ่น 

หมายเลขบันทึก: 548601เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2013 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กันยายน 2013 10:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท