นักวิชาการพึงระมัดระวังเรื่องเป็นโจรวิชาการ


 

โจรกรรมวิชาการที่เกิดง่ายที่สุดในสายตาของผมมี ๓ อย่าง    คือการขโมยตนเอง (self-plagiarism),    ขโมยลูกศิษย์, และขโมยเพื่อนร่วมงาน 

ขอยกตัวอย่างเรื่องจริงมาเตือนใจ

ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ฝ่ายบริหารนำเรื่องมาเสนอขอคำตัดสินจากสภาฯ    กรณีผู้ช่วยศาสตราจารย์ท่านหนึ่ง สมมติว่าชื่อ ก. ยื่นขอตำแหน่ง รศ.   โดยเสนอผลงานวิชาการจำนวนหนึ่ง ประกอบการขอตำแหน่ง

ผลงานวิชาการมีคุณภาพสมควรเป็น รศ. ใสสะอาด    แต่อยู่ๆ ก็มีคนเขียนร้องขึ้นมาโดยไม่ลงชื่อ ว่า  อาจารย์ ก. เอาผลงานที่ตนเคยตีพิมพ์ไปแล้ว ร่วมกับผู้ร่วมงานในต่างประเทศอีก ๒ ท่าน ไปนำเสนอในการประชุมวิชาการต่างประเทศ และมีการตีพิมพ์ด้วย

เท่ากับอาจารย์ ก. ขโมยผลงานวิชาการของตนเอง และของเพื่อนร่วมงานอีก ๒ คน    เรื่องไปถึงคณะกรรมการจริยธรรมของมหาวิทยาลัย   มีการตัดสินว่ามีการทำผิดจริง ให้ลงโทษตักเตือน   โดยที่ผลงานที่ก่อปัญหาไม่อยู่ในรายการผลงานที่ยื่นขอ รศ.   

คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งวิชาการไม่มั่นใจว่า กรณีนี้จะเข้าข่ายการทำผิดจริยธรรมลอกเลียน ผลงานวิชาการ มีผลให้ต้องระงับการขอตำแหน่งวิชาการ ๕ ปี ตามกฎของ ก.พ.อ. หรือไม่   จึงเสนอให้สภามหาวิทยาลัยตัดสิน

สภามหาวิทยาลัยเสียเวลามากในการโต้เถียงกัน    ในที่สุดก็มีฉันทามติว่า มีความผิด และต้องระงับ การขอตำแหน่งวิชาการไป ๕ ปี นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการจริยธรรมตัดสินว่ามีความผิด    เป็นการตัดสินที่ไม่มีใครอยากทำ เพราะมันก่อความเจ็บปวดในใจของผู้ตัดสิน

โปรดสังเกตว่า ผลงานวิชาการเจ้าปัญหา ไม่อยู่ในรายการผลงานที่ยื่นขอตำแหน่งวิชาการ    แต่ก็เป็นตัวหลักฐานที่บอกว่า อาจารย์ ก. ทำผิดจริยธรรมของนักวิชาการ

ผมไม่ต้องการเล่าเรื่องของตัวบุคคล   ที่นำมาเป็นตัวอย่างเพื่อจะบอกว่า    คนเราไม่ว่าอยู่ในฐานะใด ต้องระมัดระวังปกป้องตนเองจากการมุ่งร้ายของศัตรู   โดยต้องไม่ทำอะไรที่ศัตรูเอามาเป็นจุดอ่อน   เอามาประจานหรือร้องเรียนในภายหลัง

คนที่เป็นนักวิชาการ ก็ต้องระมัดระวังเรื่อง plagiarism สามกรณีที่กล่าวข้างต้น

๑.               ขโมยตนเอง  ดังตัวอย่างที่เล่านี้

๒.               ขโมยเพื่อนร่วมงาน ดังตัวอย่างนี้เช่นเดียวกัน

๓.               ขโมยลูกศิษย์   โดยมีตัวอย่างเกิดขึ้นบ่อย   คือ อาจารย์คุมวิทยานิพนธ์ลูกศิษย์    จนลูกศิษย์จบไปเรียบร้อยแล้ว    เวลาอาจผ่านไปหลายปี ต่อมาอาจารย์ก็หยิบเอาผลงานนี้ ไปนำเสนอในการประชุมวิชาการในชื่อของตนเองคนเดียว    ลูกศิษย์ส่วนใหญ่คงจะไม่รู้  และที่รู้ส่วนใหญ่ก็คงไม่โวยวาย   แต่นานๆก็จะมีลูกศิษย์ที่ไม่ชอบใจอาจารย์โวยวายขึ้นมา    หรือมีมือที่สามที่ต้องการทำลายอาจารย์ผู้นั้น โวยวายขึ้น   อาจารย์ผู้นั้นก็ย่อมถูกตัดสิน ว่าทำผิด ฐานขโมยผลงานของลูกศิษย์   ที่จริงวิธีป้องกันก็ง่ายนิดเดียว คือใส่ชื่อลูกศิษย์ด้วย    และจะยิ่งดี หากจะเขียนไปบอกลูกศิษย์ด้วยว่าอาจารย์ขอนำเรื่องนี้ไปเสนอที่นี่นะ โดยขอใส่ชื่อของเธอด้วย 

 

 

เหตุที่การขโมยผลงานวิชาการแบบนี้เกิดง่าย ก็เพราะจริงๆแล้วตนเองเป็นเจ้าของผลงานด้วย    หลายคนอาจไม่คิดว่าจะเกิดปัญหาภายหลังได้    ผมจึงนำมาบันทึกเผยแพร่เพื่อเตือนใจให้ระมัดระวัง

 

ที่จริงในชีวิตคน ต้องระวังศัตรูใช้จุดอ่อนที่เราสร้างไว้เองทำร้าย   ยิ่งคนที่เด่นดังมาก จะยิ่งมีศัตรูมาก    จึงต้องระมัดระวังตนเองทุกฝีก้าว

 

ผมเคยบันทึกเรื่องโจรกรรมวิชาการไว้ ที่นี่

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓ ส.ค. ๕๖

 

 

หมายเลขบันทึก: 547462เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2013 09:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2013 09:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท