พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

รายงานข้อเท็จจริงและวิเคราะห์ข้อกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของน้องมูฮัมหมัด นูกาซิม เด็กชายไร้รัฐไร้สัญชาติวัย ๑๒ ปี และกำพร้าขาดไร้ซึ่งบุพการีอุปการะ (ตอนที่ ๓)


เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ที่จะรายงานข้อเท็จจริงของเด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิม เด็กชายไร้รัฐไร้สัญชาติ ขาดไร้บุพการี วัย ๑๒ ปี ซึ่งปรากฏตัวในประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อกฎหมายซึ่งกำหนด หน้าที่ของหน่วยงานในรัฐที่เกี่ยวข้อง จะต้องรับรอง คุ้มครองและไม่ละเมิดสิทธิของน้องมูฮัมหมัด นูกาซิม ซึ่งสิทธิของน้องมูฮัมหมัด นูกาซิมที่ถูกกล่าวถึงในรายงานฉบับนี้ได้แก่ ๑. สิทธิที่จะไม่ตกอยู่ในข้อหาคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย”ของน้องมูฮัมหมัด ๒. สิทธิที่จะไม่ถูกส่งกลับออกนอกประเทศไทย” ของน้องมูฮัมหมัด ๓. สิทธิในการศึกษาของน้องมูฮัมหมัด ๔. สิทธิที่จะได้รับการดูแลในสถานแรกรับของประเทศไทย ในฐานะเด็กกำพร้าที่ต้องได้รับการสงเคราะห์ ๕. สิทธิที่จะได้รับการจดทะเบียนการเกิด หรือรับรองสถานะคนอยู่ในประเทศไทย เพื่อขจัดความไร้รัฐ ๖. สิทธิที่จะก่อตั้งครอบครัวบุญธรรม หรือครอบครัวอุปถัมภ์

รายงานข้อเท็จจริงและวิเคราะห์ข้อกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของน้องมูฮัมหมัด นูกาซิม
เด็กชายไร้รัฐไร้สัญชาติวัย ๑๒ ปี และกำพร้าขาดไร้ซึ่งบุพการีอุปการะ (ตอนที่ ๓)
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ฉบับวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๖
โดย โครงการบางกอกคลินิก
ภายใต้โครงการวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เผยแพร่ทาง
http://www.gotoknow.org/posts/546691
http://www.gotoknow.org/posts/546692

 

------------------------------------------------------------------------------------------------------------
วิเคราะห์สิทธิของน้องมูฮัมหมัดในฐานะเด็กกำพร้าขาดไร้บุพการีเพื่อนำไปสู่การพัฒนาสิทธิ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
• วิเคราะห์สิทธิที่จะได้รับการดูแลในสถานสงเคราะห์
จากข้อเท็จจริงสืบเนื่องจากการถูกกล่าวหาในความผิดที่มีโทษทางอาญา พึงตระหนักว่าน้องมูฮัมหมัด นูกาซิม คือเด็กที่บิดามารดาได้เสียชีวิต จึงเป็นเด็กกำพร้าและตกอยู่ในความด้อยโอกาสที่จะเข้าถึงสิทธิประการอื่น จึงจำต้องได้รับการสงเคราะห์ภายใต้มาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๖ ดังนั้นบ้านพักเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา หรือสถานสงเคราะห์อื่นที่รับดูแลน้องมูฮัมหมัดอยู่ขณะนี้มีภารกิจต้องดำเนินการตาม ระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ว่าด้วย วิธีการดำเนินงานของสถานแรกรับ สถานสงเคราะห์สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ และสถานพัฒนาและฟื้นฟู พ.ศ. ๒๕๔๗ ออกตามความมาตรา ๕๔ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๖ ประกอบกับ มาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๖

โดยบ้านพักเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา หรือสถานสงเคราะห์อื่นที่รับดูแลน้องมูฮัมหมัดอยู่ขณะนี้ต้องดำเนินการตามหน้าที่ของตนภายใต้หลักการ “คุ้มครองดูแลเด็กทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ” มุ่งเน้นดำเนินการเพื่อวินิจฉัยกำหนดวิธีการที่เหมาะสมในการสงเคราะห์หรือคุ้มครองสวัสดิภาพแก่น้องมูฮัมหมัดแต่ละกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรา ๕๖ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๖ มีเจตนารมณ์กำหนดให้ผู้ปกครองสวัสดิภาพในสถานแรกรับ ต้องพยายามสร้างกระบวนการเพื่อส่งเด็กกลับคืนสู่ครอบครัวหรือผู้ปกครองที่แท้จริงเสียยิ่งกว่าการส่งเด็กไปยังสถานสงเคราะห์อื่น

เพราะฉะนั้นเด็กที่อยู่ในความดูแลของบ้านพักเด็ก อย่างกรณีของน้องมูฮัมหมัด นูกกาซิม ย่อมมีสิทธิเสรีภาพตามที่กฎหมายรับรองไว้ไม่แตกต่างจากเด็กทั่วไป การจำกัดสิทธิเสรีภาพหรือการกระทำอื่นใด ต่อเด็กชายมูฮัมหมัด โดยบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลาในฐานะผู้มีหน้าที่ดูแลเด็ก คงจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าการกระทำดังกล่าวสอดคล้องกับหลักการคุ้มครอง “ประโยชน์สูงสุดของเด็ก” เป็นสำคัญ ตามข้อ ๓ แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๖

• วิเคราะห์สิทธิที่จะได้รับการจดทะเบียนการเกิด หรือรับรองสถานะคนอยู่ในประเทศไทย เพื่อขจัดความไร้รัฐ
จากข้อเท็จจริง คือ น้องมูฮัมหมัด นูกาซิม วัย ๑๒ ปียังคงประสบปัญหาสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎร ทำให้ตกอยู่ในความไร้รัฐ ทั้งนี้สิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานสำหรับมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าผู้นั้นจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่นำไปสู่การวิเคราะห์เรื่องสัญชาติของบุคคลนั้นหรือไม่ก็ตาม โดยข้อ ๖ แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ ๑๖ แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคี และเป็นผู้พบตัวน้องมูฮัมหมัดจึงมีหน้าที่รับรองสถานะบุคคลของน้องมูฮัมหมัด ลงในทะเบียนราษฎรของประเทศไทยเพื่อขจัดความไร้รัฐ

และประกอบกับข้อเท็จจริง คือ น้องมูฮัมหมัด “เด็กกำพร้า” กำลังอยู่ในความดูแลของสถานะแรกรับ บ้านพักเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ดูแลเด็กกำพร้าผู้จำเป็นต้องได้รับการสงเคราะห์ช่วยเหลือ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๖ เมื่อน้องมูฮัมหมัดในฐานะ “เด็กที่ไม่ปรากฏบุพการี” ซึ่งประสบปัญหายังไม่ได้รับการจดทะเบียนการเกิด ตามสิทธิที่จะได้รับการจดทะเบียนการเกิดในข้อ ๗ แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก จึงก่อให้เกิดหน้าที่ตามกฎหมาย มาตรา ๑๙/๑ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ที่กำหนดให้ หัวหน้าหน่วยงานบ้านพักเด็กและเยาวชนสงขลา ต้องแจ้งการเกิดของเด็กต่อสำนักทะเบียนอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา (แจ้งต่อท้องที่อันเป็นที่ตั้งของหน่วยงานที่ดูแลเด็กในขณะนั้น)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะยังไม่สามารถพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของน้องมูฮัมหมัดได้ในขณะนี้ แต่มาตรา ๑๙/๒ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ก็กำหนดให้นายทะเบียนอำเภอเมืองจังหวัดสงขลา จัดทำทะเบียนประวัติและออกเอกสารแสดงตนให้น้องมูฮัมหมัดไว้เป็นหลักฐาน โดยอาศัยมาตรา ๓๘ วรรค ๒ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ประกอบกับระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๘

ดังนั้นเพื่อการพัฒนาสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายของน้องมูฮัมหมัด นูกาซิม ซึ่งอยู่ในความดูแลของผู้ปกครองสวัสดิภาพของบ้านพักเด็กและเยาวชนสงขลา ส่งผลให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงมหาดไทยต้องเข้ามาดำเนินการคุ้มครองสิทธิดังกล่าว

• วิเคราะห์สิทธิที่จะก่อตั้งครอบครัวบุญธรรม หรือครอบครัวอุมถัมภ์
ข้อเท็จจริงของการขาดไร้บุพการี และผู้ปกครองตามกฎหมายของน้องมูฮัมหมัด นูกาซิม วัย ๑๒ ปี
สามารถนำไปสู่ความด้อยโอกาสต่อการได้รับการดูแลทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพเฉกเช่นเด็กวัยเดียวกัน ดังนั้นบ้านพักเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลาหรือสถานสงเคราะห์อื่นใดที่รับดูแลน้องมูฮัมหมัด ย่อมมีหน้าที่ตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๖ ในการส่งเสริมสนับสนุนให้น้องมูฮัมหมัด นูกาซิม มีโอกาสที่จะก่อตั้งครอบครัวบุญธรรม หรืออยู่ในความดูแลของครอบครัวอุปถัมภ์ได้ตามกฎหมายอย่างปลอดภัย ตลอดจนอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

และสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวบุญธรรม หรือสิทธิในการได้รับการดูแลโดยครอบครัวอุปถัมภ์นั้น เป็นสิทธิมนุษยชนของมนุษย์ทุกคน และประเทศไทยได้รับรองสิทธิดังกล่าวไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามบรรพ ๕ ครอบครัว หมวด ๔ บุตรบุญธรรม ไม่ว่าเขาจะประสบปัญหาสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย (ปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ) หรือไม่ก็ตาม และไม่ว่าน้องมูฮัมหมัด นูกาซิมจะต้องตกอยู่ในฐานะผู้กระทำผิดกฎหมายหรือไม่ก็ตาม เพียงฐานความเป็นมนุษย์ของน้องมูฮัมหมัด ได้กำหนดให้รัฐไทยโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่อาจเพิกเฉยหรือปฎิเสธต่อสิทธิในครอบครัวตามพันธกรณีที่ผูกพันประเทศไทย กล่าว คือข้อ ๑๖ วรรค ๓ แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ ๒๓ วรรค ๑ แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

เพราะฉะนั้นเมื่อปรากฏข้อกล่าวอ้างว่านายซุลกิฟลีคือญาติเพียงคนเดียวของน้องมูฮัมหมัด นูกาซิม หากบุคคลทั้งสองประสงค์จะก่อตั้งครอบครัวบุญธรรมตามกฎหมาย บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลาในฐานะผู้ปกครองผู้ดูแลน้องมูฮัมหมัดขณะนี้ก็คือผู้ทำมีหน้าที่ต้องตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่า กระบวนการรับบุตรบุญธรรมหรือการมอบให้อยู่ในความดูแลของคอบครัวอุปถัมภ์นั้น จะเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์สูงสุดของน้องมูฮัมหมัด นูกาซิมจริง ตามข้อ ๒๑ แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เพราะหากพบข้อเท็จจริงที่ยืนยันได้ว่านายซุลกิฟลี ไม่มีคุณสมบัติต่อการอุปถัมภ์เด็ก การดูแลคุ้มครองน้องมูฮัมหมัด นูกาซิมโดยบ้านพักเด็กฯ สถานแรกรับ หรือสถานสงเคราะห์อื่นก็เป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่พึงดำเนินการต่อไป

 


หมายเลขบันทึก: 546693เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2013 18:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 สิงหาคม 2013 18:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท