ปัญหาหนอนชอนกิ่ง ชอนใบ ใช้จุลินทรีย์ชีวิภาพ


ดังที่ได้ทราบกันดีอยู่แล้วนะครับว่าการปลูกมะนาวได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในขณะนี้ และการป้องกันแก้ไขปัญหาที่เกิดกับมะนาวก็มักจะเป็นที่สนใจอกสนใจแก่ผู้ปลูกมะนาวอยู่เสมอ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องหนอนชอนใบที่มักจะทำลายสร้างความเสียหายให้แก่ใบมะนาวเป็นอย่างมาก อีกทั้งการดูแลป้องกันก็ทำได้ยากลำบาก เพราะหนอนตัวจิ๋วเกือบเท่าเส้นด้ายนั้นได้มุดเล็ดลอดเข้าไปซ่อนตัวในผิวเคลือบใบ เมื่อฉีดพ่นยาฆ่าแมลงปราบศัตรูพืชก็มักจะไม่ได้สัมผัสกับตัวของหนอนโดยตรงทำให้หนอนไม่ตายและบางครั้งผลของฤทธิ์ยาฆ่าแมลงทำให้หนอนมีอาการดื้อยาทำให้ปราบได้ยากเย็นยิ่งขึ้นไปอีก

ในแนวทางของชมรมเกษตรปลอดสารพิษ ก็ยังคงยืนยันกับท่านสมาชิกและท่านผู้อ่านอยู่เหมือนเดิมว่าการป้องกันดูแลรักษานั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยแนวทางที่ปลอดสารพิษไม่ต้องใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ได้ผลในระยะสั้นๆ ในระยะยาวนั้นถือว่าเป็นการกระหน่ำซ้ำเติมทำให้อายุของมะนาวสั้นลง  สิ้นเปลืองปุ๋ยยาเพิ่ม อายุความยั่งยืนในอาชีพสั้น เพราะสวนมะนาวจะพบกับความเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว จากการที่ระบบนิเวศน์โดยรวมถูกทำลาย ทั้ง ดิน น้ำ อากาศ จุลินทรีย์ แมลง ตัวห้ำ ตัวเบียน
ที่ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสร้างความสมดุลมิให้มีโรคและแมลงเกิดการเจริญเติบโตอย่างมากเกินไป การใช้สารพิษและยาฆ่าแมลงทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งตัวดี ตัวร้ายตายไปพร้อมกันทั้งหมด

เกี่ยวกับการดูแลรักษาหนอนชอนใบในแนวทางแบบปลอดสารพิษนั้น คือเน้นหลักการที่ทำให้แม่หนอนหรือผีเสื้อกลางคืนนั้นเข้ามาอยู่อาศัยและวางไข่ให้น้อยๆ ลงไปเรื่อยๆ ด้วยการใช้สมุนไพรทั้ง ขมิ้นชัน ไพล ฟ้าทะลายโจร ตะไคร้หอมและกานพลู ฉีดพ่นเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปรสกลิ่นของมะนาวให้มีรสชาติและความอร่อยสำหรับหนอนน้อยลง ด้วยรสชาติที่ขม ฝาด เฝื่อน กลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ของหนอนและแมลง แต่มิได้หมายถึงว่าจะทำให้ไม่เกิดการวางไข่ในไร่หรือสวนมะนาวเลยนะครับ เพียงแต่ให้มีจำนวนลดน้อยลง หลังจากนั้นให้ใช้เชื้อบีทีชีวภาพปราบหนอน 5 กรัม หมักกับน้ำเปล่า 20 ลิตร ใส่ไข่ไก่ 5 ฟอง มะพร้าวอ่อน 1 – 2 ผล น้ำมันพืช 5 ช้อนแกง  ไคลน็อพติโลไลท์ (หินแร่ภูเขาไฟ)  5 ช้อนแกง และอัดเครื่องเป่าอากาศให้อ๊อกซิเจน (แบบที่ใช้ในตู้ปลาสวยงาม)  ให้ได้ 24-48 ชั่วโมง เมื่อได้ตามระยะเวลาที่กำหนดให้นำไปผสมกับน้ำเปล่าอีก 80 ลิตร รวมเป็น 100 ลิตร ฉีดพ่นทุก ๆ 7 วัน กลิ่นหมักของมะพร้าวอ่อนกับไข่ จะช่วยดึงดูดให้หนอนออกมาเลียกินในเวลากลางคืนทำให้หนอนชอนใบตายเพิ่มขึ้นมากกว่าปรกติเมื่อเทียบกับสูตรการหมักขยายแบบธรรมดาและยาฆ่าแมลงศัตรพืช

 

มนตรี  บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com

 

หมายเลขบันทึก: 546618เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2013 10:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 สิงหาคม 2013 10:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท