การวิจัยแบบผสมผสานวิธีการฯ


เมื่อวานนี้ (23 สค. 56) ผู้เขียนได้เข้าร่วมรับฟังการบรรยายพิเศษเรื่อง

"การวิจัยแบบผสมผสานวิธีการ : หลักการและวิธีการออกแบบอย่างถูกวิธีการ"

บรรยายโดยรศ.ดร.องอาจ นัยพัฒน์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2556 จัดเป็นการบรรยายพิเศษในส่วน Twilight Program คือ บรรยายตอนเย็นๆ เริ่มตั้งแต่ 18.00 น. ถึง 20.00 น. ถือเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ดีที่ทำให้สามารถเข้าร่วมประชุมรับฟังงานวิจัยดีๆ ใหม่ๆ ได้ (เพราะถ้าตอนกลางวันก็จะติดภารกิจการสอน)

หลักสำคัญของการออกแบบวิธีวิจัยให้เป็นแบบผสมผสานนั้น ส่วนใหญ่วิทยากรท่านได้แนะนำว่า ขึ้นอยู่กับ "การเลือกอย่างมีเหตุมีผล" ของตัวนักวิจัยเอง โดยเบื้องต้น ก่อนที่จะมีการออกแบบวิธีการวิจัย เราควรที่จะรู้จักธรรมชาติหรือพฤติกรรมของมนุษย์ในเรื่องที่เกี่ยวข้องนั้นๆ เอาไว้ด้วย เช่น การหาความรู้เรื่อง "วัฒนธรรมการเรียนรู้" ซึ่งวัฒนธรรมการเรียนรู้ของคนไทยและคนต่างชาติจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน หากเราอ้างอิงถึงแต่งานวิจัยจากต่างประเทศ อาจทำให้เรามองข้ามบริบทของวัฒนธรรมคนไทยไปได้ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อผลงานวิจัยของเรา ที่อาจจะได้ผลลัพธ์ที่คลาดเคลื่อนหรือผิดจากความเป็นจริง

สำหรับเรื่อง วัฒนธรรมการเรียนรู้ของคนไทย นั้น ท่านวิทยากรได้กล่าวถึงไว้นิดหน่อยพอให้เก็บไปขบคิดได้ต่อว่า สำหรับคนไทย ยังมีความจำเป็นที่จะต้องปลูกฝังหรือบ่มเพาะความเป็นคนที่ต้องการการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง หรือสอนให้เป็นคนที่ใฝ่รู้โดยตนเอง เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ทั้งนี้เป็นเพราะวัฒนธรรมการอ่านของคนไทยนั้น ยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ ยังอ่านกันน้อย และเมื่อเรียนจบแล้ว มักจะเลิกอ่านไปโดยปริยาย วัฒนธรรมการเรียนรู้ของคนไทยจึงยังต้องการการพัฒนาอีกมาก

สำหรับการเริ่มต้นออกแบบวิธีวิจัยอย่างถูกหลักนั้น

วิทยากรท่านแนะนำไว้พอสรุปได้ดังนี้

- ควรเริ่มตั้งคำถาม โดยให้เริ่มจาก > What? > Why? > Who? > When? > Where? > How? โดย How นั้น คือการหาวิธีว่า เราจะรู้วิธีที่จะหาคำตอบจากโจทย์วิจัยที่เราตั้งขึ้นหรือค้นพบนั้นได้อย่างไร

- ผู้วิจัยควรมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) เพราะมีหลักทฤษฏีหนึ่งที่บอกว่า คนเราจะชอบในสิ่งที่ตรงกับกระบวนทัศน์เดิมที่ตนมี ดังนั้น จึงมีแนวโน้มว่า ทฤษฏีไหนที่ต้องรสนิยมตามกระบวนทัศน์ที่ผู้วิจัยมีอยู่เดิมนั้น มีแนวโน้มสูงว่า ผู้วิจัยก็จะเลือกทฤษฏีนั้นๆ มาเป็นกรอบแนวคิดการวิจัย ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปรากฎการณ์ดังกล่าว ผู้วิจัยควรเลือกที่จะปรับกระบวนทัศน์บางประการก่อน เพื่อให้สามารถเปิดรับแนวคิดทฤษฏีใหม่ รวมถึงอาจค้นพบสิ่งใหม่ขึ้นมาได้เช่นกัน

การเลือกใช้วิธีวิจัยแบบผสมผสานวิธีการนั้น มีข้อพึงคำนึงถึง 2 ประการ คือ

1. ถ้าผู้วิจัยเลือกผสมผสานวิธีการโดยใช้ลักษณะตามลำดับกาลเวลา คือ ทำอย่างหนึ่งเสร็จก่อน จึงเริ่มทำด้วยวิธีการอีกอย่างหนึ่ง อันนี้ เหมาะสำหรับทำงานวิจัยคนเดียว / การผสมผสานวิธีการแบบตามลำดับกาลเวลานี้มีได้ 2 แบบคือ

1.1 เมื่อแรกเริ่มวิจัยก็ใช้วิธีเชิงคุณภาพก่อน จากนั้นจึงใช้เชิงปริมาณ

1.2 เมื่อแรกเริ่มงานวิจัย ใช้วิธีเชิงปริมาณก่อน จากนั้นจึงวิเคราะห์ข้อมูลควบคู่ไปกับการวิจัยเชิงคุณภาพ 

2.  ถ้าผู้วิจัยเลือกผสมผสานวิธีการโดยใช้ลักษณะพ้องกาลเวลา คือ ทำทั้งสองวิธีการทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพในช่วงเวลาเดียวกัน แล้วนำมาวิเคราะห์แบบผสมผสาน วิธีนี้จะเหมาะสำหรับการทำเป็นทีม โดยผู้ร่วมวิจัย อาจจะถนัดกันคนละอย่าง การวิจัยลักษณะนี้ก็จะได้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจ  โดยแบบพ้องกาลเวลานี้ มีได้ 2 แบบคือ

2.1 แบบสามเส้าพ้องกาลเวลา

2.2 แบบสนับสนุนภายในพ้องกาลเวลา

- การจะเลือกวิธีการวิจัยแบบใดก็ตาม ควรเลือกให้เหมาะสม เช่น ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ควรเริ่มจากการวิจัยเชิงคุณภาพ จากนั้นจึงค่อยทำเชิงปริมาณ เพื่อให้เข้าใจในปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ถ้าปัญหาหรือโจทย์วิจัยมันซับซ้อนมากกว่านั้น เราก็ควรเลือกใช้แบบผสมผสานวิธีการ เพื่อเรียนรู้ในแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น วิเคราะห์ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

 

///////////////////////////////////////////

Link ที่น่าสนใจ / ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

http://enep610.blogspot.com/2011/01/paradigm-shift.html

http://sitawan112.blogspot.com/2011/04/blog-post_4117.html

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 546447เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2013 19:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 สิงหาคม 2013 09:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณที่แบ่งปันนะครับ น่าสนใจมากเลย

คงต้องช่วยกันขบคิดต่อไปเรื่องวัฒนธรรมการเรียนรู้ของบ้านเรา...

ขอบคุณค่ะคุณแว้บ คิดในแง่ดีก็คือ ตอนนี้เรามีเครื่องมือดีๆ ให้เลือกใช้มากขึ้น โดยเฉพาะ classstart ถึงแม้จะเพิ่งได้ทดลองใช้ในการเรียนการสอนจริง แต่ก็พบแล้วว่า มันช่วยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงภายในตัวนักศึกษาในทางที่ดีขึ้นเกี่ยวกับการอ่านค่ะ เราคงต้องช่วยกันหาทางที่ส่งเสริมกันได้ในหลายๆ ทาง

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท