เติบโตไปด้วยกัน : การสร้างสมรรถนะของกลุ่ม PLC โรงเรียนทางเลือก (๓)


 

โรงเรียนปัญญาประทีป

ก่อตั้งขึ้นด้วยเจตจำนงและความร่วมมือร่วมใจ ของคณะบุคคลในชุมชนโรงเรียนทอสี ซึ่งมุ่งหมายที่จะสานต่อการศึกษาวิถีพุทธ จากระดับอนุบาลและประถมของโรงเรียนทอสี ให้ต่อเนื่องไปจนถึงระดับมัธยมศึกษา ในรูปแบบของโรงเรียนบ่มเพาะชีวิต (Boarding School)

 

 

คุณครูแจ๊ด - พัชนา มหพันธ์  รองผู้อำนวยการโรงเรียน และ คุณครูกิ๊ฟครูชุติยา ศรีเศรษฐการ ฝ่ายบ่มเพาะชีวิตนักเรียนเล่าว่าจากครั้งก่อนที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทำให้ได้แนวความคิดเรื่องการทำความสะอาดทั้งโรงเรียน สัปดาห์ละ ๒ วัน จากโรงเรียนรุ่งอรุณมาใช้

 

กิจกรรมที่ทางโรงเรียนทำอยู่แล้ว

 

ห้องเรียนครูคนแรกของลูก จัดให้ผู้ปกครองทุก ๒ เดือน เพื่อให้เกิดความตื่นรู้ในคุณค่าของตนและความเป็นมนุษย์  ตื่นรู้ในกายและวินัยของตน  ตื่นรู้ในเรื่องอคติ ๔ และโลกธรรม ๘  ซึ่งพ่อแม่จำเป็นต้องรู้เรื่องพวกนี้ 

 

โรงเรียนอยากให้ครูรู้อะไร  อยากให้เด็กรู้อะไรก็อยากให้ผู้ปกครองรู้ด้วย เช่น หัวข้อ “I  LOVE YOU”  ที่จัดขึ้นเพราะรู้ว่าผู้ปกครองรักลูกมาก แต่ไม่เคยสื่อสาร และสื่อสารไม่เป็น รูปแบบกิจกรรมจึงเป็นการพาให้ผู้ปกครองได้รู้จักกับ Active Listening ตามที่ได้ไปเรียนรู้มาจาก อ.พนม  เกตุมาน   และมีกิจกรรม I  Message  “จี๊ดถึงใจ”  ที่พาให้ผู้ปกครองมีวิธีพูดคุยกับลูกในแบบที่ไม่ทำร้ายใจกัน  แล้วปิดท้ายด้วยการนำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันว่าทำอย่างไรลูกจึงจะสามารถดูแลตัวเองได้

 

เด็กแนว เป็นกิจกรรมแนะแนวที่จะพาให้เขารู้จักตัวเอง รู้จักผู้อื่น และรู้จักการทำชีวิตให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง และผู้อื่นโดยใช้พุทธปัญญาเป็นหลัก  พระอาจารย์ชยสาโรจะมาสอนธรรมะทุกวันพุธ  เป็นธรรมะที่อิงอยู่กับชีวิตจริง เพราะชีวิตเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ

 

วิธีการแนะแนวของปัญญาประทีปจะดูแลทั้งพฤติกรรม ความคิด ความเชื่อ ทั้งกลุ่ม และรายบุคคล โดยเอาชีวิตจริงเป็นโจทย์  มาอยู่ที่นี่ (จ.นครราชสีมา) เด็กต้องฝึกฝืนมาก และเมื่อมาใหม่ๆ  เขาแตกต่างกันมาก  ครูแจ๊ดจึงชวนเด็กผู้หญิงทุกคนมานั่งดื่มช้อกโกแล๊ตร้อนกันที่ห้องนอนของครูแจ๊ด แล้วชวนให้เด็กๆ ตอบคำถาม  ชวนให้ร้องเพลง  จนได้พบจุดร่วมกันคือทั้ง ๘ คนรักเสียงเพลง  ครูแจ๊ดเลยชวนพวกเขาตั้งวง Girl Band วงแรกของโรงเรียนขึ้น ซึ่งการเกิดวงนี้เป็นความลับมาก จะเปิดวงครั้งแรกในงาน “โตก่อนโต” วันพรุ่งนี้

 

 

 

โตก่อนโต  เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นพิเศษเพื่อให้เด็กๆ ได้พบปะพูดคุย และได้รับแรงบันดาลใจจากคนในแต่ละอาชีพ โดยจัดเป็นตารางให้นักเรียนกลุ่มย่อยๆ ได้มาพบกับบุคคลเหล่านั้นได้  กลุ่มละ ๑๕ นาที  เพื่อให้พวกเขาได้เติบโตทางสติปัญญา ได้รับรู้ความมุ่งมั่นตั้งใจ  และได้ซัถถามปัญหาที่แต่ละคนมีความสนใจใคร่รู้

 

 

เด็กแนวปกติ  มีกิจกรรมให้นักเรียนเลือกหนังสือที่ชอบอ่าน ๓ เล่ม  และเลือกหนังสือที่ส่งเสริมอาชีพในอนาคต  ในขณะเดียวกันทางโรงเรียนจะมีแบบฟอร์มใกล้ชิด ให้ผู้ปกครองทำด้วยเพื่อสอบถามความสนใจของลูกในเรื่องต่างๆ  เช่น ให้ระบุชื่อของสื่อสิ่งพิมพ์  สื่อโทรทัศน์   สื่อออนไลน์ ที่ลูกสนใจ   ชื่อเพื่อนสนิท และเล่าถึงเพื่อนสนิทของลูก เป็นต้น

นักเรียน ม.๓  เริ่มทำหัวข้อศึกษาเอกเทศเป็นเวลา ๑ ปี  ด้วยการตั้งเป้าหมายของตัวเอง เช่น ตั้งเป้าว่าจะดูภาพยนต์ ๓๐ เรื่อง  เพราะอยากเป็นนักวิเคราะห์ภาพยนต์ เมื่อจบปีมีการประเมินว่าทำได้แค่ไหน  เพราะเหตุใด

 

เด็กแนวภาคค่ำ  เป็นกิจกรรมสอนบทบาทชายหญิงโดยแยกกลุ่มกันพูดคุยในเรื่องต่างๆ เช่น พาดูมิวสิควิดีโอเพลงฟิเจอริ่ง ของเกิร์ลลี่ เบอร์รี่  แล้วถามว่าหนูคิดอย่างไร  ไม่มีคำตอบให้  แต่การอี๊ (ปฏิเสธ) ของเด็กแต่ละคนจะช่วยสอนกันเอง

 

หรือการมีตัวอย่างของ สุภาพบุรุษจุฑาเทพ   VS   สมบุรุษปัญญาประทีป (คุณครูผู้ชายของโรงเรียน)  และ สุภาพสตรีจุฑาเทพ   VS   สมสตรีปัญญาประทีป (คุณครูผู้หญิงของโรงเรียน) มาให้ดู เป็นต้น

 

ระบบต่อเทียน”  pay it forward  เป็นการมอบหมายให้พี่น้องดูแลกันเอง  พี่น้องเมตตาต่อกันด้วยพรหมวิหาร ๔  มีการตั้งกลุ่ม  หาน้องมาเข้ากลุ่ม  ตั้งชื่อที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับชีวิตที่โรงเรียน พบว่าชื่อที่พวกเขาตั้งออกมาสะท้อนถึงคุณค่าที่ครูคาดไม่ถึง

  • กลุ่ม “พิราบติดดิน”  คุณค่าแท้ของสมาชิกคือ ชีวิตนี้ต้องลุย
  • กลุ่ม “ระเจ้า*...หญ้าเจ้าชู้”   ถึงหญ้าจะเจ้าชู้ แต่หนูถือศีล คุณค่าแท้ของสมาชิกคือ มีความยับยั้งชั่งใจ ไม่หวั่นไหวไปกับสิ่งเร้า
  • กลุ่ม “ข้าวเห็ดน้ำร้อน”  คุณค่าแท้ของสมาชิกคือ ไม่อร่อย แต่มีคุณค่า
  • กลุ่ม “ตัวแดง แรงฤทธิ์”  (ตำนานแบบผี)  คุณค่าแท้ของสมาชิกคือ เมื่อไหร่ในชีวิตที่กลัวอะไร ให้คิดถึงตัวแดง นั่นก็คือถังดับเพลิงซึ่งเป็นที่มาของความกลัวที่ไม่มีอะไรน่ากลัว

พี่ต้องใช้พลังความสามารถที่มีทั้งหมดร่วมกัน  เมื่อเขาได้พลัง เขาก็จะดูแลน้องได้ด้วยการแบ่งรับ แบ่งสู้   คือต้องแบ่งหน้าที่กันทำ และสู้ด้วยกัน กลุ่มพี่จะจัดกิจกรรมทานข้าวกับน้อง  ทำเวรกับน้อง  และอื่นๆ พวกเขาได้มาเล่าให้ฟังว่าเหนื่อยมากที่ต้องตามน้องตอนน้องหนีเวร

 * ระเจ้า  เป็นศัพท์ของกลุ่มวัยรุ่นใน พ.ศ.นี้ กร่อนมาจากคำว่า พระเจ้า

 

กิจกรรมตื่นรู้  

  • อรุณรุ่ง  ตีห้าครึ่ง  ทำสมาธิ ตอนเช้า ทำด้วยกัน ชวนเด็กๆ ทำด้วย  เดินจงกรม ๑๕ นาที  นั่งสมาธิ ๑๕ นาที  แผ่เมตตา
  • ทอจิต เจริญสติ   เดินจงกรมรอบโรงเรียน  ทำก่อน dear time  (drop everything and read)
  • Dharma  Café  ทำกับครู  ในหัวข้อต่างๆ เช่น “กิจกรรมถามชีวิต”  มีเป้าหมายอะไร  ยังเดินตามแนวทางนั้นอยู่หรือเปล่า / อ่านหนังสือ “โรงเรียนที่ท่านยังไม่รู้จัก”  ท่านพุทธทาส  เรื่อง ตัวตน  กาย ใจ  การลดตัวตน  / กิจกรรม “ดูจิตพิชิตตัวตน”  กล่าวชมคนนั้น  แล้วกราบคนตรงหน้า แล้วดูใจตัวเอง

 

 

Open  Approach  และ Lesson  Study  เป็นแนวทางที่เรียนรู้มาจากโรงเรียนรุ่งอรุณ และโรงเรียนเพลินพัฒนา เมื่อนำ Open approach และ Lesson Study มาทดลองใช้ ทำให้เข้าใจกระบวนการชัดเจนขึ้น แต่ก็เกิดปัญหาติดขัดหลายประการ เพราะที่โรงเรียนปัญญาประทีปยังไม่มีคนที่รู้จักและเข้าใจใน Open  Approach และ Lesson  Studyในขั้นที่แนะนำคนอื่นได้

 

คุณครูปาด – ศีลวัต ศุษิลวรณ์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ โรงเรียนเพลินพัฒนา ได้ให้ข้อเสนอแนะในประเด็นนี้ว่าสามารถเลือกเส้นทางที่จะดำเนินด้วยการลุยเองอย่างที่โรงเรียนเพลินพัฒนาทำอยู่  หรืออาศัยเส้นทางที่ผู้เชี่ยวชาญวางเอาไว้อาศัยโจทย์สถานการณ์  ทำไปบนแบบเรียน ด้วยกระบวนการ OA อย่างที่โรงเรียนรุ่งอรุณทำอยู่ก็ได้ แต่ตอนนี้ปัญญาประทีปไม่ได้เริ่มจากศูนย์ เพราะสามารถเริ่มไปบนทุนเดิมของทั้งสองโรงเรียนที่นำร่องไปก่อนหน้าแล้ว

 

Lesson Study

  • ในกรณีครูมีจำนวนน้อยสามารถทำได้หลายวิธี สามารถค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากวิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิตของ ชาริณี ตรีวรัญญู ที่ทางเพลินพัฒนามีไฟล์อยู่ และอาจขอให้มีการเปิดชั้นเรียนโดยเชิญครูจากโรงเรียนเพลินพัฒนาและโรงเรียนรุ่งอรุณเข้าไปช่วยกัน โดยหาคนที่แข็งที่สุด ๒ คนมาเรียนรู้อย่างเข้มข้น แล้วทุ่มพลังเพื่อสร้างเขาก่อน เพื่อให้เขาไปสร้างเพื่อนครูต่อไป
  • ศึกษาจากคู่มือการจัด Lesson Study ของโรงเรียนเพลินพัฒนา
  • ศึกษาการทำ Lesson Study ของ TIMMS ซึ่งมีตัวอย่างของวิชาคณิตศาสตร์ ระดับมัธยม เพิ่มเติม เพราะมีตัวอย่างการสอนโดยใช้ open approach จำนวนมาก

 

Open approach

  • จุดสำคัญคือ เลือกแบบเรียนหรือทางเดินที่ชัดเจน เนื้อหาแต่ละคาบจำเป็นต้องมาจากผู้เชี่ยวชาญ(รุ่งอรุณ ใช้ของญี่ปุ่น)
  • ครูต้องเข้าใจความคิดของเด็กแต่ละคน เพื่อการนำเอา Open approach มาใช้ได้อย่างเหมาะสม
  • การมาช่วยกันคิดออกแบบแผนการเรียนรู้เอง จะได้แผนที่มีพลังมาก เพราะเกิดขึ้นจาก met before ของเด็กในชั้นเรียนนั้นจริงๆ  แต่ก็สามารถใช้ได้ทั้ง ๒ แบบ ทั้งแบบมีแผนมมาให้ และแบบคิดแผนขึ้นเอง ขึ้นอยู่ที่ความหลากหลายของผู้ใช้
  • โจทย์ดีๆ สามารถหาได้จากประเทศสิงคโปร์ ควรนำมาใช้ แต่ต้องทำความเข้าใจกับกลุ่มครูให้ชัดเจนก่อนที่จะนำลงสู่นักเรียน 

 

คุณครูอ้อ – ชัชฎาภรณ์  ศิลปสุนทร  ผู้ช่วยครูใหญ่ฝ่ายประถมโรงเรียนรุ่งอรุณ เสนอแนะเพิ่มเติมว่าจากประสบการณ์ในการทำ BBL ในวิชาภาษาไทย ที่ครูต้องมาตีความหลักการเอาเอง  พบว่า กลุ่มครูภาษาไทยเหนื่อยกว่ากลุ่มครูคณิตที่มีตำรา และมีโจทย์การเรียนรู้จัดไว้ให้แล้ว ทำให้ครูสามารถมุ่งไปทำงานพัฒนาตัวเองเพียงอย่างเดียว

 

 

หมายเลขบันทึก: 545985เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2013 13:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 สิงหาคม 2013 21:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท