แม่เสือ...พาลูกเข้าวัด


นักเรียนต้องรู้จักตนเองก่อนอย่างมีสติ..แล้วจะทำให้เรารู้จักคนอื่นอย่างมีสติเช่นกัน...ฯลฯ

 

       “พรุ่งนี้นักเรียนชั้น ม.4 ทุกคนอย่าลืมไปทำบุญตักบาตรนะคะ 

พบกันที่วัดศรีนวล เวลา 07.00 น. ค่ะ”

เป็นเสียงประชาสัมพันธ์จากกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม

หลังจากประชาสัมพันธ์ประกาศเสียงตามสายเพื่อเตือนนักเรียนก่อนเดินทางกลับบ้านหลังเลิกเรียน

... ปิติพล วิ่งกระหืดกระหอบมาหาผู้เขียนซึ่งนั่งพักผ่อนอยู่ตรงเก้าอี้ยาวลานน้ำตกของโรงเรียน

พอมาถึงปิติพลก็ทำความเคารพแล้วนั่งแหมะลงกับพื้น(ผู้เขียนนึกชมในใจเด็กคนนี้น่ารัก)

ผู้เขียนบอกให้ขึ้นมานั่งเก้าอี้ด้วยกัน ปิติพลก็บอกไม่เป็นไรครับผมนั่งตรงนี้ดีกว่า

ผู้เขียนก็ตามใจ  ปิติพลเป็นเด็กใหม่ คือเป็นเด็กจากโรงเรียนอื่นมาสอบเรียนต่อระดับม.ปลาย

ที่โรงเรียนแห่งนี้

   นี่เป็นครั้งแรกที่เข้าร่วมกิจกรรมทำบุญตักบาตรในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา

ซึ่งกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม

ได้ทำโครงการนี้ทุกปี ...จึงเป็นเรื่องใหม่สำหรับปิติพล ...

ปิติพล: คุณครูครับ ทำบุญตักบาตรพรุ่งนี้ใส่อาหารสดหรืออาหารแห้งครับ...

ปิติพลถามพร้อมกับเงยหน้ามองครู เพื่อรอคำตอบ 

ผู้เขียน:  เขาไม่ได้กำหนดนะลูกว่าให้ใส่อาหารสดหรืออาหารแห้ง

ปิติพล :ครับ

ผู้เขียน : แล้วตกลงจะเลือกประเภทไหนหละลูก

ปิติพล :  ผมว่าผมจะเลือกใส่อาหารแห้งครับ...

ผู้เขียน : เพราะ...

ปิติพล : นักเรียนไปทั้งระดับ ม. 4 ...นักเรียนม. 4. มี 15 ห้อง โดยเฉลี่ย ห้องละ 40

รวมก็ประมาณ 600 คน ผมว่าอาหารที่นำมาตักบาตรต้องเยอะมากครับครู

ถ้าเป็นอาหารสด กลัวพระท่านจะฉันท์ไม่หมด จะเน่าเสียเปล่าๆ 

ผมว่าถ้าใส่บาตรอาหารแห้งที่สามารถเก็บไว้ได้นานๆ 

ถ้าวันใดฝนตกหนักๆพระท่านมาบิณฑบาตไม่ได้ ก็จะได้ฉันอาหารที่เก็บไว้ได้ครับ...

ผมจะใส่บาตรข้าวสาร อาหารแห้งครับครู...

ผู้เขียน: หนูคิดได้รอบคอบดีจังเลยลูก...หนูรู้ไหมที่วัดศรีนวลเปิดโรงเรียนสอนสามเณร

และพระภิกษุด้วย...เณรเยอะมากเดี๋ยวหนูก็จะเห็นวันพรุ่งนี้...ข้าวสาร อาหารแห้ง

คงเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลเลยหละ...

            ปิติพลนั่งสนทนากับครูพอสมควรก็ขออนุญาตไปเตรียมของเพื่อทำบุญตักบาตรในวันรุ่งขึ้น...

ในวันรุ่งขึ้น วันที่ 14  สิงหาคม 2556  ตรงกับวันพุธ  ผู้เขียนต้องแต่งเครื่องแบบลูกเสือ

เพราะว่าวันนี้มีสอนเนตรนารีระดับชั้น ม. 1 (เพื่อนครูแซวว่าวันนี้แม่เสือพาลูกเข้าวัด)

ผู้เขียนถึงวัดศรีนวลเวลา 06.45 น.  พร้อมกับสำรับที่จะใส่บาตร

และถุงปัจจัยที่นักเรียนแต่ละห้องบริจาค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินเหรียญ

เป็นจำนวนเงิน2,578.50 บาท (หนักพอสมควรแต่หนักบุญค่ะ) 

สามเณรกำลังจัดเตรียมสถานที่เพื่อรอรับนักเรียนที่จะมาทำบุญตักบาตร 

...ปิติพลมาถึงวัด ประมาณ 07.10 น. พร้อมกับถุงพลาสติกขนาดใหญ่ในนั้นมีสำรับที่จะใส่บาตร

จำนวน 5 ชุด ประกอบด้วย ข้าวสาร มาม่า ขนมปังอบ ซึ่งทั้งสามอย่างแพ็ครวมในถุงเดียวกัน

จัดเป็นชุด 5 ชุดอย่างสวยงาม ผู้เขียนทักว่าจัดได้สวยจัง ปิติพลยิ้ม แล้วตอบว่า 

แม่เป็นคนจัดให้ครับ ... แต่ของใส่บาตรทั้งหมดผมซื้อเองครับ...  

ผมเป็นคนกรอกข้าวสารใส่ถุงครับ แต่ที่จัดเป็นชุดแม่จัดให้ครับ

แม่บอกว่าถ้าหยิบทีละอย่างใส่บาตรจะช้า เพราะว่านักเรียนมีจำนวนมาก

จัดเป็นชุดเวลาใส่บาตรจะใช้เวลาน้อยและสะดวกครับ” ครูครับทำไมนักเรียนมาน้อยจังครับ

...ผู้เขียนตอบว่า  เจ็ดโมงครึ่งก็เต็มศาลาแล้วลูก ...หนูขึ้นไปนั่งรอเพื่อนบนศาลาเลยนะครับ...


            นักเรียน ม.
4    ปีนี้มาทำบุญกันมากจริงๆ ศาลาวัดขนาดใหญ่มากๆ

นักเรียนยังล้นออกมาข้างนอก ผู้เขียนยิ้มไม่หุบดีใจ สุขใจ

ยิ่งเห็นนักเรียนแต่ละคนมาด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่ใส ผู้เขียนสุขใจจนบอกไม่ถูก ...

วันนี้ตรงกับวันพระพอดี จึงมีชาวบ้านมาทำบุญกันหนาตา

ศาลาใหญ่ดูแคบไปถนัด  หลังจากเสร็จสิ้นพิธีใส่บาตรหลวงพ่อเจ้าอาวาสก็แสดงธรรม

ให้นักเรียนฟังในเรื่อง “ทำบุญอย่างไรให้ได้บุญ” โดยหลวงพ่อให้ความสำคัญ

ที่สิ่งของที่นำมาทำบุญ ท่านว่าการทำบุญที่ได้บุญนั้น คนที่ทำจะต้องไม่เบียดเบียนตนเอง 

มีน้อยก็ทำน้อย มีมากก็ทำมาก  คืออย่าให้ตนลำบาก ถ้าไม่มีเงินจะซื้อของมาทำบุญ

ก็มากับเพื่อนนี่แหละ ยกมือใส่หัว ตั้งจิตตั้งใจฟังธรรมก็ถือว่าได้บุญ 

ไม่ใช่ว่ามาทำบุญตอนเช้าแต่ไม่มีเงินกินข้าวเที่ยง ต้องอดข้าว ปวดท้อง เรียนก็ไม่

รู้เรื่องเพราะหิว  ..แบบนี้เขาเรียกว่าทำบุญได้บาป ...นักเรียนต้องรู้จักตนเองก่อนอย่างมีสติ

..แล้วจะทำให้เรารู้จักคนอื่นอย่างมีสติเช่นกัน...ฯลฯ            รับศีลรับพรเสร็จก็เป็นเวลา 08.10 น. ครูและนักเรียนก็เดินทางกลับโรงเรียนซึ่งระยะทางโรงเรียนกับวัดห่างกันประมาณ  400 เมตร เดินทางถึงโรงเรียนก็ประมาณ 7-10 นาที ...ช่วงเดินทางกลับโรงเรียน ปิติพลเข้ามาคุยด้วย บอกว่าเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้ทำบุญกับคนจำนวนมากขนาดนี้และเป็นครังแรกที่เห็นของใส่บาตรมากมายอย่างนี้ ...ผู้เขียนถามว่า หลังจากทำบุญรู้สึกอย่างไร ...ปิติพลบอกว่า สุขใจครับ ก็เหมือนทุกครั้งที่ได้ทำบุญ แต่ครั้งนี้ดูตื่นเต้นและยิ่งใหญ่ครับ...และผมดีใจครับที่ผมได้ทำเหมือนหลวงพ่อสอนที่ผมทำบุญเท่าที่ผมพอทำได้ ครั้งแรกผมอยากทำสำรับใส่บาตร 9 ชุดครับ เพราะผมได้ยินคนเขาพูดกันครับว่าทำบุญครบ 9 ชุด จะทำให้เรามีความก้าวหน้าในชีวิตครับ  แต่เงินผมมีไม่พอ คือต้องใช้จ่ายซื้ออย่างอื่นด้วยครับ  ผมก็เลยทำมา 5 ชุด ก็ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  บิดรมารดา ครู-อาจารย์ ครบองค์ 5 เหมือนที่ครูเคยสอนในห้องเรียนไงครับ แล้วปิติพลก็หัวเราะ...เป็นเสียงหัวเราะที่ทำให้  ทุกคนอยากได้ยิน...

            ผู้เขียนเองก็ภูมิใจ กิจกรรมที่นักเรียนได้ลงมือทำเอง ได้เรียนรู้กับผู้รู้จริง(หลวงพ่อ)

ทำให้เด็กเกิดความเชื่อมั่นและศรัทธา ...ความศรัทธาเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการดำเนินชีวิต

เพราะถ้าเราศรัทธาในความดี...เราก็มุ่งมั่นที่จะทำดี...ตามคำสอนของพระพุทธองค์...

ลูกๆชาวนางฟ้า  รู้จักและเข้าใจ  คำว่าพอดีสำหรับตน ....

ดั่่งอัตลักษณ์ของนักเรียนโรงเรียนของเรา “ลูกนางฟ้าพอเพียง”

 

 

                                                       แม่เสือพาลูกเข้าวัด

 

หมายเลขบันทึก: 545608เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2013 23:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2013 05:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
  • สวัสดีครับ
  • ตามมาดูปิติพลครับ
  • ธรรมะสวัสดีครับ

...ทำสิ่งที่ดีมีความสุขนะคะ

ขอบคุณค่ะ วศิน ชูมณี ที่เข้ามาเยี่ยมชม

ประมาณ 5 ชั่วโมงที่แล้ว

ขอบคุณค่ะ     ดร. พจนา แย้มนัยนา  ที่เข้ามาเยี่ยมชมค่ะ  มีความสุขไปด้วยกันนะคะ

 

 

 

สวัสดีครับครูมุกครับ

  • ขออนุโมทนาบุญกับนักเรียนทุกคนและคุณครับ
  • ฝากบอกปิติพลด้วยนะครับว่า ตามพระวินัยแล้ว พระสงฆ์จะไม่สะสมอาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหารแห้งหรืออาหารสดครับ  อาหารแห้งที่เรานำมาถวาย ส่วนใหญ่แล้ว ท่านจะนำไปทำทานต่อไป ทำให้เราได้บุญหลายๆ ต่อเดียวครับ  ..... มีของประเคนเช่น น้ำตาล เนยฯ ที่ท่านจะสะสมไว้ไม่เกิน 7 วัน ......  ฝากปิติพล ไปค้นและหาเหตุผล แล้วนำมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังจะดีครับ
  • ฝากถามปิติพลด้วยครับว่า ที่ "เขาว่า" ต้องทำบุญให้ครบ 9 ชุดนั้น จริงหรือเปล่าหนอ ....  เราจะทำบุญอย่างไรให้ประกอบด้วยปัญญา.....  

ขอบคุณครูมุกอีกครับครับ

ขอบคุณ ดร.ต๋อย ฤทธิไกร มหาสารคามที่ให้ข้อเสนอแนะค่ะ แล้วจะบอกปิติพลให้นะคะ

"ตามพระวินัยแล้ว พระสงฆ์จะไม่สะสมอาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหารแห้งหรืออาหารสดครับ  อาหารแห้งที่เรานำมาถวาย ส่วนใหญ่แล้ว ท่านจะนำไปทำทานต่อไป "

มีคำถามค่ะ

1. ถ้าเป็นกรณีที่ เมื่อท่านรับบิณฑบาตรแล้ว  อาหารแห้งที่สามารถเก็บไว้นาน ท่านนำไปมอบให้โรงครัวของวัด ให้โยมที่มีหน้าที่เกี่ยวกับโรงครัวเจ้าหน้าที่โรงครัวทำมาถวายในยามที่จำเป็นเช่น กรณีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน  กรณีน้ำท่วม พระท่านผิดวินัยหรือไม่คะ

2. กรณีที่วัดเป็นสถานศึกษาของสามเณรและภิกษุสงฆ์ที่มีจำนวนมาก ถ้าพระท่านนำไปมอบให้โรงครัว โดยที่ตัวท่านเองไม่ได้สะสมอาหาร ท่านทำผิดพระวินัยหรือไม่คะ

ขอบคุณล่วงหน้าสำหรับทุกคำตอบค่ะ

-สวัสดีครับครู..

-ตามแม่เสือมาเข้าวัดครับ

-น้องๆ  คงสุขใจที่มีแม่เสือพาไปทำบุญ

-ปิติพล...ตั้งใจเรียนนะครับ..รับรอง..ก้าวหน้าแน่นอน...ฮ่า ๆ

-ขอบคุณครับ

ขอบคุณค่ะ 

เพชรน้ำหนึ่ง

 

ปิติพลเป็นเด็กดีและตั้งใจเรียนค่ะ ...น่ารักด้วยค่ะ

 

คุณครูเก่งมากๆๆๆเลยครับ

คุณหมอ เล่า

 

นพ.ประวิทย์ · 12 วันที่แล้ว
                             พระเป็นลม  ....เล่าต่อ เรื่องเก็บอาหารถวายพระครับ...

…วันนี้เช้าวันอาทิตย์ครอบครัวของเราเอาอาหารเช้าไปถวายพระ เณร ทั้งหมด 136 รูป เราเป็นครอบครัวเดียวของเช้านี้ในวัด ไปบ่อยจนพระคุ้นเคยกับครอบครัวเราแล้ว ลูก2 คนก็คุ้นเคยกับการใกล้วัดทำบุญ นี้เป็นกิจกรรมที่ครอบครัวเราตั้งใจจะทำตลอดตราบที่มีพระศาสนาและชีวิตนี้ เมื่อวานวันเสาร์ก็ไป พบ 3 ครอบครัว ดีใจมากเมื่อพบว่ายังมีครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับการทำบุญตามกาลอันสมควรและสั่งสอนทายาทแห่ง ฆราวาสที่ปฏิบัติดี เพื่อเพิ่มศรัทธา เพื่อเป็นอุปถัมภ์ อุปัฏฐากแก่เหล่ากอของพระสมณะเจ้า

    เช้าวันนี้...มีเหตุการณ์ พระภิกษุรูปหนึ่งกำลัง อาพาธเป็นลม ตัวซีด เหงื่อเย็น หลังจากกลับบิณฑบาตร มีพระ 2-3 รูปกำลังปฐมพยาบาล พระเณรที่เหลือนั่งเตรียมฉันเช้าทั้งศาลา แต่ยังไม่เริ่มฉันก็หันมามองแบบส่งใจช่วยกัน ผมไปถึงแต่เช้า7.30 นกำลังเห็นเหตุการณ์ ซักถามประวัติ พบว่าท่านเป็นไข้หวัด มา1 สัปดาห์ ฉันยาหวัด มีโรคตับเป็นโรคประจำ เมื่อวันฉันมื้อเช้าอย่างเดียว และไม่ได้ฉันอะไรอีก 24 ชม. ผมและภรรยา เธอก็เป็นหมอเหมือนกันช่วยกันซักประวัติ เห็นเบื้องต้นว่าท่าน ขาดน้ำและกลูโคสต่ำ ผมรีบเข้าไปในโรงครัวที่เก็บอาหารมองหาเครื่องดื่มรสหวานสักอย่าง เจออยู่1/2 ขวดที่ดูเหมือนเก็บไว้นานแล้ว รีบละลายน้ำแล้วชงให้ท่านดื่ม นอนพักสักครู่ก็ลุกขึ้นนั่งได้และฉันเช้าได้ แจ้งกับโยมที่ดูแลวัดว่าถ้าไป รพ.ให้เบอร์โทร.ตามผมได้ ตรวจเลือดเช็คก็น่าจะเป็นการดี
    
         สิ่งนี้ได้เกิดการเรียนรู้หลายประการ 1.ผมนึกถึงประโยชน์ของการมีโรงครัวไว้สำหรับเก็บอาหาร เครื่องดื่ม น้ำหวาน แต่ต้องมีคนโยมจัดการ เรื่องนี้ผมต้ังใจว่าต้องเล่าให้คุณครูมุก ทราบ

2.ลูกผมเห็นเหตุการณ์ สามัญสำนึกช่วยผู้อื่นเกิดโดยมิรีรอ เรียนรู้จากการเป็นต้นแบบพ่อแม่ (role model) โดยเฉพาะการช่วยพระภิกษุ อาพาธ พระพุทธองค์ท่านเทียบกุศลกรรมเท่ากับการอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าทีเดียว สิ่งนีเด็กๆ เรียนแบบตัวอย่างจากคุณครูและผู้ใหญ่ในสังคมได้เช่นกัน เช่นการไหว้พระภิกษุ ผู้ใหญ่เมื่อเดินผ่าน ช่วยหิ้วถือภาระสิ่งของ

3.เราคิดว่าพระเณร ควรได้ตรวจเช็คสุขภาพบ้างเพื่อ ท่านจะได้แข็งแรง สืบสาน ท่องสาธยาย รักษาพระสัทธรรมไว้ยืนยาว ( ผมกำลังวางแผนให้เป็นโครงการสร้างเสริมสุขภาพประชาชนแก่นักเรียนแพทย์ครับ)

….ทั้งหมดนี้ เป็นกุศลกรรมหรือ อกุศลให้ผล บ้างก็ตาม ในวงเวียน วกวน วุ่นวาย แห่งระบบสังสารวัฏ ที่เรื่องนี้ปรากฎ เพราะ go to know มีส่วนทำใำ้ห้ครูมุก สอบถาม.. อาหารแห้ง.. และผมก็บังเอิญมาอ่านเข้า กุศลอื่นก็เกิดต่อๆ ตามๆ ใครมาอ่านเจอเข้า ก็เป็นสุตะมยปัญญา ( ความรู้จากการเล่าสู่กันฟัง) แต่เป็นกุศลวิปาก(วิบาก แปลว่า ผล ไม่ได้หมายความว่า ลำบาก หรือกรรมไม่ดีแต่อย่างใด) ของท่านเอง ที่อ่านมาถึงวรรคนี้

      พระธรรมวินัยที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้วของพุทธบริษัทหรือชาวโลก คือ ความงดงาม และความสงบ สง่าองอาจ ที่นอกเหนือไปจากความงามและสงบตามธรรมชาติ ...ขอให้ความงดงามที่หยั่งลงในใจท่านแล้วได้ทำงานอย่างองอาจเถิด เพื่อเป็นภาวนามยปัญญา(ความรู้และความสุขที่เกิดจากการปฏิบัติ)
 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท