(50) น่าเชื่อว่าอนาคต .. เขาจะสมาร์ทอย่างนุ่มนวล


จากบทความที่เขาเขียน ดิฉันประเมินว่าเมื่อถึงเวลาที่ 'องค์' ในตัวเขาจะพัฒนาขึ้น มันจะต้องต่อสู้กับสิ่งที่เขาถูกปลูกฝังจากครอบครัว และดิฉันเชื่อว่าเขาจะชนะ .. "มาอยู่พระศรีฯ ด้วยกันนะคะ"
22 ก.ค.56 ที่ผ่านมา ดิฉันได้อ่านบทความหนึ่งที่ประทับใจมาก เขียนโดย นศพ. รหัส 5630700xx-x
มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชื่อเรื่อง 'ประสบการณ์การพัฒนาทักษะการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพของ
ข้าพเจ้า'
อ่านจากผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นแล้วเดาว่าน่าจะเป็น นศพ.ปี 1 ซึ่งยังมีความเป็นแพทย์
หรือมี 'องค์' น้อยมาก เมื่อเทียบกับความเป็นเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่รักครอบครัว และไม่มีความรู้สึกอายที่
เขียนบอกว่าตนเองเป็นเพียงลูกพ่อค้าจากห้องแถวเล็กๆ
(ประเมินจากภาพประกอบ) ดิฉันเล่าเรื่องนี้
ให้คนใกล้ตัวฟัง เขาพึมพำว่า "เขาเข้ามาเขียนเรื่องแบบนี้ด้วยหรือ" ใช่.. ดิฉันจึงรู้สึกชื่นชม

นศพ.เล่าถึงประสบการณ์การช่วยผู้ปกครองขายของ หลักการที่พ่อสอน วิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
โดยเฉพาะสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการช่วยกิจการในครอบครัว

ดิฉันอ่านแล้วรู้สึกชื่นชม จึงเขียนแสดงความเห็นไปว่า
"น่ารักจังเลย เรียนหนังสือแล้วยังช่วยผู้ปกครองขายของอีก
คุณรู้หรือไม่ว่าคุณมีโอกาสฝึกทักษะชีวิตมากกว่าผู้อื่น
มีโอกาสฝึกเป็นพ่อค้าในกิจการของครอบครัว
ใช้หลักบริการ 'ถูก เร็ว ดี' ไม่แตกต่างจากบริษัทข้ามชาติ
แต่เหนือกว่าด้วยการ 'ผูกใจ' ลูกค้าจนเชื่อถือศรัทธา"


แล้วดิฉันก็บอกถึงสถานภาพที่เขาจะได้รับภายหลังเรียนจบเป็นนายแพทย์เต็มตัว โดยอ้อมว่า
ที่ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ที่ดิฉันทำงานอยู่ เมื่อแพทย์จบใหม่ถูกพามาแนะนำตัว (ในขั้นตอนปฐมนิเทศ
บุคลากรใหม่) ดิฉันจะขอ(พร)จากแพทย์ 1 ประการ (เหมือนกันหมดทุคน) ว่า
"พี่ขอนะคะ ไม่ว่าพยาบาลจะทำผิดพลาดอะไร แค่ไหน อย่าดุพยาบาลเลยนะคะ"
"พยาบาลที่นี่อาจจะดูโง่ เซ่อ ในสายตาคุณหมอ แต่เธอรักคนไข้ด้วยหัวใจเลยนะคะ"

ดิฉันต้องรีบฉวยโอกาสขอตอนคุณหมอยังด้อยวิทยายุทธ เพราะต่อจากนี้เพียง 3 เดือน ดิฉันจะไม่มี
โอกาสขออะไรจากคุณหมออีก

จากบทความที่เขาเขียน ดิฉันประเมินว่า เมื่อถึงเวลาที่ 'องค์' ในตัวเขาจะพัฒนาขึ้น มันจะต้องต่อสู้
กับสิ่งที่เขาถูกปลูกฝังจากครอบครัว และดิฉันเชื่อว่าเขาจะชนะ ดิฉันจึงบอกเขาว่า
"ดิฉันเชื่อมั่นว่าจะไม่ต้องขอ(พร)นี้จาก นพ. ... อย่างแน่นอนค่ะ"
"มาอยู่พระศรีฯ ด้วยกันนะคะ"


ไม่ค่ะ ดิฉันไม่ได้อคติกับแพทย์.. ดิฉันเป็นพยาบาล มีลูกสาวเป็นแพทย์ จึงเข้าใจทั้งความรู้สึกของ
แพทย์และพยาบาล วิชาชีพคู่ขนานที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมานาน แสนนาน ต่างรู้สึกเข้าอกเข้าใจกัน
และกัน จนแต่งงานเป็นครอบครัวเดียวกันก็มาก


แต่.. มีปัญหาทีไร พยาบาลต้องรับอารมณ์แพทย์เสมอ
อย่างนี้ต้องเรียกร้องสิทธิ์!
ไม่ทำอย่างนั้นหรอกค่ะ ดิฉันล้างแค้น .. เอ๊ย ไม่ใช่ ดิฉันถ่ายทอดความรู้สึกของพยาบาลให้ลูกสาว
ค่อยๆ ซึมซับเป็นระยะเวลายาวนาน ถึงกับบอกว่าเธอจะเรียนอะไรก็ได้ในต่างประเทศ ถ้าไม่ทำงาน
แม่จะหาเลี้ยงเธอเอง แต่ถ้าจะเรียนในเมืองไทยเธอต้องเรียนแพทย์เท่านั้น หากเรียนจบแล้วไม่ชอบ
ค่อยเปลี่ยนใจไปเรียนอย่างอื่น

เมื่อเธอเป็น นศพ. ดิฉันสอนให้เธอมองพยาบาลทุกคนเหมือนแม่ เธอจะได้ไม่กล้าดุ
แต่ถ้าเธอถูกพยาบาลดุก็ให้เธอเดินเข้าไปกอด

ตอนนี้เธอเรียนจบทำงานแล้ว เธอเข้าใจแล้วค่ะ เพราะเธอโทรศัพท์กลับมาหาแม่บ่อยๆ น้ำเสียงเธอ
จะแสดงความยินดีมากเมื่อพูดพาดพิงถึงพยาบาลว่า ชมเธอว่าตามตัวง่าย รายงานง่าย ไม่เรื่องมาก
จัดหาอาหารเช้า ของว่างให้ทานบ้าง ..
เอ๊ะ! ดูมันแปลกๆ ไหมคะ
รู้แล้วว่าทำไมเธอไม่ค่อยกลับบ้าน.

ดิฉันเขียนบันทึกนี้ด้วยความชื่นชมนะคะ แม้จะแทรกทัศนคติส่วนตัวมากไปหน่อย
บันทึกนี้จะถูกลบออกทันทีหากเป็นความประสงค์ของผู้ถูกพาดพิง
ด้วยความเคารพค่ะ
ดารนี ชัยอิทธิพร.
หมายเลขบันทึก: 545113เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2013 22:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2015 08:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

 

แวะมาทักทายก่อนนอนจ้ะ ฝันดี ราตรีสวัสดิ์นะจ๊ะ

ชอบบันทึกแบบนี้ครับพี่

เข้าใจว่าลูกสาวคงมีงานยุ่งเลยไม่ค่อยได้กลับบ้าน

คุณแม่จะน้อยใจไปนะครับ

555

-สวัสดีครับ

-อ่านบันทึกแล้วชอบมาก ๆ ครับ

-อ่านง่าย เข้าใจง่าย รับรู้ถึงความรู้สึกผู้เขียน/เล่าผ่านบันทึกได้มากทีเดียวครับ

-ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท