วันที่ 4 กรกฎาคม 2556 ทีมขับเคลื่อน PLC กาฬสินธุ์ เดินทางไปเยี่ยมศึกษานิเทศก์ ที่สำนักงานเขตฯ กาฬสินธุ์ เขต 1 ไปถึงประมาณเกือบ 09:00 ตามที่ได้นัดหมายพิเศษ (เพราะไม่ได้อยู่ในแผนตาม TOR) เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการออกนิเทศเยี่ยมยืนโรงเรียนทั้ง 14 โรงเรียนในโครงการ
การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ รอง ผู้อำนวยการเขตฯ (ท่านสมหวัง พันธะลี) และศึกษานิเทศ (ดูบุคลากรกลุ่มนิเทศได้ที่นี่) ทำให้ทีมได้เรียนรู้เกี่ยวกับ กระบวนทัศน์ กระบวนการ และประสบการณ์ จากงานนิเทศที่ผ่านมา ผมคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ ควรจะนำมาโพสท์บันทึกไว้
กระบวนทัศน์ หรือหลักคิดในการนิเทศ
- แบ่งเป็นสายนิเทศ 4 สาย 12 กลุ่ม โดยยึดกลุ่มเป้าหมายตามภูมิสังคม คือ พิจารณาทั้งมิติ "ชนบท" และ "บริบท" ชนบทคือแบ่งสายให้สะดวกในการลงพื้นที่ในโซนเดียวกัน บริบทหมายถึง การคำนึงถึงลักษณะขนาดจำนวนเพื่อให้ง่ายต่อการ ทบทวน รีวิว วิจัย พัฒนาต่อไป
- แต่ละสายมี รอ.ผอ.เขตฯ เป็นประธาน ศึกษานิเทศก์เป็นเลขานุการ มีประธานของแต่กลุ่ม และเลขานุการณ์ของแต่ละกลุ่มเป็นกรรมการ แสดงว่ามีการทำงานเป็นทีม คือไม่ได้ทำงานแบบเดี่ยว ไม่ได้ไปคนเดียวแต่ไปเป็นทีม ผมคิดเองว่าสายการนิเทศแบ่งเขตกันสายละ 3 กลุ่ม ทราบว่าตอบออกนิเทศ 2-3 กลุ่มจะออกนิเทศร่วมกัน เพื่อที่จะได้แบ่งปันแลกเปลี่ยน เมื่อได้เรียนได้รู้จากการไปดูก็นำกลับมาพัฒนากลุ่มตนเองต่อไป
- มีการวางแผนการนิเทศอย่างเป็นระบบ มีการพัฒนาเครื่องมือนิเทศติดตาม ในลักษณะฟอร์มถามเติมติ๊กเขียนตอบ แม้ไม่ได้ส่งมอบไปยังโรงเรียนก่อน แต่ก็มีการแจ้งสื่อสารไปยังโรงเรียนก่อน เพื่อให้รับทราบเป้าหมายของการลงนิเทศ
- ผมจับประเด็นได้ว่า วัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการหลักคือ 1) นิเทศตาม "จุดเน้น" 2) นิเทศเพื่อแก้ไข ท่าน ศน.ดุสิต ใช้คำว่า นิเทศเพื่ออุดช่องโหว่ และ 3) นิเทศเพื่อพัฒนาแบบกัลยาณมิตร
กระบวนการในการนิเทศ
- ท่าน ผอ.กลุ่มนิเทศฯ สังเคราะห์ให้ฟังว่า กระบวนการนิเทศโดยทั่วไป ที่ใช้กันอยู่มี 5 ขั้นตอนได้แก่
- ศึกษา ศึกษาตั้งแต่นโยบายจุดเน้นที่ต้องไป "ชี้ให้เห็น สื่อสารให้เข้าใจ" ปัญหาที่ต้องการแก้ไขซึ่งต้องไป "เติมให้" และเรื่องอื่นใดๆ ที่ต้องไป "ฟัง" และช่วยเป็นพลังในการพัฒนา
- วางแผน ขั้นตอนนี้ ท่านบอกว่า จะมีการประชุมผู้บริหาร เพื่อแจ้งรายละเอียดกระบวนการ กำหนดการ วันเวลา ที่ผ่านมา ใช้เวลานิเทศแต่ละโรงเรียน "ครึ่งวัน"
- สร้างเครื่องมือ ขั้นตอนนี้ "ผู้นิเทศ" เป็นผู้พัฒนา และจะมีการบอกล่วงหน้าให้กับทางโรงเรียน
- ลงนิเทศ ตามที่เรียนไว้ข้างต้น แบ่งเป็น 4 สายเดินทาง โดยมีคณะเดินทางจาก 2-3 กลุ่มโรงเรียน
- สรุปผลการนิเทศ ขั้นนี้มีการจัดประชุมอย่างเป็นทางการ โดยทุกสายจะนำผลที่ได้มา "รายงาน"
- ลักษณะของกิจรรมการนิเทศโดยทั่วไป อาจแบ่งได้เป็น 4 สเต็ป คือ
- เข้าพบผู้บริหารและครู
- สังเกตการสอน เข้าเยี่ยมห้องเรียน ศน.ท่านหนึ่งบอกว่า จะถามว่า ใช้อะไรสอน เตรียมการสอนไหม ได้อะไรบ้าง กระบวนการสอนเป็นอย่างไร ผลเป็นอย่างไร ฯลฯ ท่านบอกว่า หากพบว่าครูกำลังสอนอยู่ ก็จะให้สอนไปก่อน เมื่อเสร็จแล้วค่อยมา "นั่งคุยกัน"
- ตรวจสอบร่องรอย และตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการต่างๆ
- ประชุมสะท้อนผล เปิดโอกาสให้ครูถาม
เรียนรู้จากประสบการณ์การนิเทศ
- ศึกษานิเทศ "ถอดประสบการณ์" ให้ฟังว่า จากการลงนิเทศ ปัญหาที่มักพบ ได้แก่
- ไม่มีแผนการสอน
- สอนยึดตามหนังสือ
- ไม่ให้ความหมายของเรื่องที่สอน .... ผมซักถามท่านต่อนิดหน่อย จนสรุปได้ว่า หากเราแบ่งเป็น 3 ขั้นการสอน (ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้ที่นี่) ได้แก่ นิยาม ตีความ และนำไปใช้ สื่งที่ไปเห็นคือ ครูทำไม่เป็นทั้ง 3 ขั้น
- ครูไม่ครบชั้น
- สอนไม่ตรงสาระ
- ไม่สอนแบบเด็กเป็นศูนย์กลาง
- ครู "ล้า" หมดแล้ว.......
- อีกข้อสังเกตที่ผมได้ฟังหลายครั้ง คือ ศึกษานิเทศมักนิเทศในเรื่องที่ตนเองถนัด
ระหว่างการเดินทางกลับมา มมส. เราทำ AAR กันว่า
- ศึกษานิเทศยังไม่ได้ "ปรับกระบวนคิด" หรือ "ปรับกระบวนการในการนิเทศ" การขับเคลื่อนเรื่องการนิเทศแบบกัลยาณมิตร ที่ ศน. จะไม่ไป "บอก สอน ป้อน สั่ง" แต่จะไปนั่งฟัง แล้วช่วยแก้ไข นั้น ยังไม่ได้รับการกล่าวถึง หรือนำมาเป็นหัวเรื่องสำคัญ
- มีศึกษานิเทศบางท่าน ที่ท่านทำดีอยู่แล้ว ทำอยู่แล้ว ซึ่ง สพป. ยังขาดแนวทางชัด ที่จะค้นหา "แนวปฏิบัติที่ดี" นั้น และทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันภายใน
- เราตกลงว่า เราจะกลับไป คุยกับเพื่อนพี่ศึกษานิเทศอีกโดยด่วน เพื่อที่จะ "ทบทวน" สิ่งที่เราได้พูดไว้ ในกิจกรรมเวทีครู (อ่านได้ที่นี่)
พักไว้ที่นี่ก่อนครับ
ผมได้เสนอแนวคิดและหลักการในการนิเทศไว้ที่นี่ครับ (เพิ่มเติมวันที่ 11 สิงหาคม 2556)
ผมได้เสนอแนวคิดและหลักการในการนิเทศไว้ที่นี่ครับ (เพิ่มเติมวันที่ 11 สิงหาคม 2556)
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย อ.ต๋อย ใน ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก