การบูรณาการการเรียนรู้แบบเรียนรวม


การบูรณาการการเรียนรู้แบบเรียนรวม

  ในสมัยก่อนการศึกษาแบบเรียนรวมยังไม่เป็นที่แพร่หลาย แต่เมื่อนักการศึกษาทำการทดลองโดยการนำเด็กพิเศษ คือ เด็กพิการหรือเด็กที่ไม่สามารถศึกษาได้ในระบบปกติทั่วไป มาลองเรียนกับเด็กปกติ ผลปรากฏว่า เด็กพิเศษสามารถเรียนได้เหมือนกับเด็กปกติและมีแนวโน้มในการพัฒนาได้มาก จึงเกิดการศึกษาแบบเรียนรวม

การศึกษาแบบเรียนรวมจึงเป็นการศึกษาสำหรับรับทุกคนเข้ามาเรียนรวมกัน และจัดให้มีบริการพิเศษตามความต้องการ

แนวคิดของการศึกษาแบบเรียนรวม

1.  โอกาสเท่าเทียมกัน ทุกคนควรได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเขาจะยากดีมีจน หรือพิการหรือไม่ก็ตาม

2.  ความหลากหลาย การให้การศึกษาต้องยอมรับความแตกต่างในคนหมู่มาก

3.  ทุกคนมีความปกติอยู่ในตัว เราต้องยอมรับความปกติของแต่ละคน ทุกคนจึงควรได้รับการศึกษาที่แหมือนกัน ไม่แยกเหล่า

4.  สังคมที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย ในหนึ่งสังคมย่อมมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย เราจึงต้องยอมรับความหลากหลายนั้น

5.  ศักยภาพ มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะโง่หรือฉลาดย่อมมีศักยภาพ เพียงแต่ศักยภาพนั้นไม่เท่ากัน การให้การศึกษาจึงต้องคำนึงถึงความสามารถในการรับได้ของแต่ละคนด้วย

หลักการของการเรียนรวม

1.  ความยุติธรรมในสังคม เด็กที่มีความต้องการเป็นพิเศษก็ต้องการสิ่งเดียวกันกับที่เด็กปกติต้องการ การกีดกันไม่ให้เด็กพิเศษเรียนในโรงเรียนเดียวกันกับเด็กปกติจึงเป็นความไม่ยุติธรรมในสังคม เด็กพิเศษบางคนเรียนในบางเรื่องบางวิชาได้เก่งกว่าเด็กปกติเสียอีก การจัดการศึกษาแบบนี้จึงมุ่งเน้นความสามารถของเด็ก และการยอมรับของสังคม

2.  การคืนสู่สภาวะปกติ เป็นการจัดสภาพการใด ๆ เพื่อให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านต่าง ๆ สามารถได้รับบริการเช่นเดียวกับคนปกติ เช่น ในด้านที่อยู่อาศัย กิจกรรมกีฬา ดนตรี ศิลปะ วัฒนธรรม การให้บริการแก่ผู้พิการในรูปแบบต่างๆ เด็กที่ถูกส่งไปเรียนโรงเรียนสำหรับคนพิการเฉพาะ จึงกลับมาเข้าเรียนรวมกับเด็กที่เรียนปกติ

3.  สภาพแวดล้อมที่มีข้อจำกัดน้อยที่สุด โรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษเฉพาะด้านถือว่ามีสภาพแวดล้อมที่เป็นข้อจำกัด โรงเรียนแบบเรียนร่วมเป็นโรงเรียนที่เปิดโอกาสให้กับทุกคนรวมทั้งเด็กที่มีความต้องการพิเศษทางการศึกษาด้วย เปิดโอกาสให้ครูได้เข้าใจเด็ก จึงถือว่าการเรียนรวมมีสภาพแวดล้อมที่มีข้อจำกัดน้อยที่สุด

4.  การเรียนรู้ มีความเชื่อว่า เด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ ไม่ว่าเด็กนั้นจะเป็นเด็กปกติ หรือเด็กที่มีความต้องการทางการศึกษาก็ตาม การเรียนรู้ที่ดีอาจพิจารณาได้จากการที่เด็กมีความพึงพอใจในการเรียน มีความพึงพอใจในงานที่ตนเองทำ ดังนั้นโรงเรียนที่จะจัดการเรียนรวมได้ดี ส่งเสริมการเรียนรู้ได้ดี ควรปรับกระบวนการใหม่ตั้งแต่ปรัชญาการศึกษา หลักสูตรการเรียนการสอน การประเมินผล ให้สอดคล้องกับลักษณะการเรียนรู้ที่แท้จริง

รูปแบบของการเรียนรวม

1.  รูปแบบครูที่ปรึกษา ในรูปแบบนี้ครูการศึกษาพิเศษจะได้รับมอบหมายให้สอนทักษะแก่เด็กที่มีความต้องการพิเศษ เนื่องจากครูที่สอนชั้นเรียนรวมสอนเด็กแล้ว แต่ทักษะยังไม่เกิดกับเด็กคนนั้นครูการศึกษาพิเศษต้องสอนทักษะเดิมซ้ำอีก จนกระทั่งเด็กเกิดทักษะนั้น สำหรับรูปแบบนี้ครูการศึกษาพิเศษจะรับผิดชอบเด็กจำนวนหนึ่ง เป็นจำนวนจำกัด ครูปกติและครูการศึกษาพิเศษต้องมีการพบปะเพื่อประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับทักษะของเด็ก และมีการวางแผนร่วมกัน รูปแบบนี้เหมาะกับโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนเด็กที่มีความต้องการพิเศษไม่มากนัก

2.  รูปแบบการร่วมทีม ในรูปแบบนี้ครูการศึกษาพิเศษจะได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในการร่วมทีมกับครูที่สอนชั้นปกติ การปรับวิธีสอบการจัดการด้านพฤติกรรม มีการวางแผนร่วมกันสม่ำเสมอ เช่น สัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง ครูที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงานวางแผนร่วมกันเป็นทีมในการให้ความช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

3.  รูปแบบการร่วมมือ , การร่วมสอน ในรูปแบบนี้ทั้งครูการศึกษาพิเศษและครูปกติร่วมมือกันในหลายลักษณะในการสอนเด็กทุกคน ทั้งเด็กที่มีความต้องการพิเศษและเด็กปกติในห้องเรียน ร่วมกันรับผิดชอบด้านระเบียบวินัย การทำงานร่วมกัน ลักษณะการเรียนการสอน

การจัดชั้นเรียนรวม

1. บรรยากาศของความเป็นมิตร ทุกคนเป็นมิตร จนไม่สนใจคำว่าพิการหรือปกติ
2. นักเรียนประกอบกิจกรรมการเรียนที่หลากหลายตามศูนย์การเรียนต่าง ๆ ตามความสนใจและความสามารถของตน
3. ครูผู้สอนมีความพึงพอใจในการร่วมกิจกรรมของนักเรียนและเฝ้ามองดูการร่วมกิจกรรมของนักเรียนและเฝ้ามองดูการร่วมกิจกรรมของนักเรียนด้วยความยินดี
4. ผู้เรียนมีโอกาสเลือกที่จะประกอบกิจกรรม มีทั้งกิจกรรมที่ง่ายและกิจกรรมที่ยาก ๆ ให้เลือก
5. บรรยากาศห้องเรียนที่มีเพื่อนคอยช่วยเหลือเกื้อกูล ซึ่งกันและกัน

6. บรรยากาศของการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เด็กทุกคนได้สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกัน

 7. บรรยากาศของการเรียนการสอนที่มีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง


คำสำคัญ (Tags): #การเรียนรวม
หมายเลขบันทึก: 544826เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2013 20:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 สิงหาคม 2013 20:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท